ปฎิเสธไม่ได้ว่า ในแต่ละช่วงวัยของแต่ละคนนั้น ย่อมมีความต้องการหรือเป้าหมายในการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงความเสี่ยงที่แต่ละวัยจะสามารถรับได้ ฉะนั้นแล้วการวางแผนการลงทุนตามช่วงวัยจึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเรารู้ว่าในช่วงวัยนั้น ๆ เราจะรู้ได้ว่า การลงทุนในรูปแบบใดเหมาะสมกับการจัดพอร์ตการลงทุนของเราในช่วงนั้นได้บ้าง
อายุ 21 – 30 ปี ช่วงเริ่มต้นทำงาน หรือกลุ่ม First Jobber
เป็นช่วงวัยหลังจากเพิ่มจบการศึกษาปริญญาตรี และเพิ่งเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ของการทำงาน ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอะไรมากมายในแต่ละเดือน จึงเหมาะเป็นอย่างมากแก่การเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่ช่วงอายุน้อย ๆ เพราะสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้สูง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีสู่อนาคตได้ ดังนั้นจึงสามารถจัดสรรเงินลงทุนพอร์ตการลงทุนในระดับความเสี่ยงได้สูงถึง 70 – 80% และสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยได้อีกประมาณ 10 – 20% จะทำให้เราได้รับผลตอบแทน คาดการณ์ประมาณ 8 – 12% ต่อปี
ตัวอย่างการจัดพอร์ต
• กระจายความเสี่ยงสูงได้ 70 – 80% เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ หรือคริปโทฯ เป็นต้น
• กระจายความเสี่ยงได้น้อย 10 – 20% เช่น ตราสารหนี้ กองทุนมันนี่มาร์เก็ต กองทุนรวมตราสารหนี้ ประกันชีวิต เป็นต้น
อายุ 31 – 40 ปี ช่วงเริ่มสร้างครอบครัว
เป็นช่วงวัยที่เริ่มก้าวเข้าสู่การก่อร่างสร้างตัว หรือเริ่มอยากสร้างครอบครัวเป็นอย่างตัวเอง ซึ่งถือว่า เป็นช่วงที่เริ่มมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะเริ่มที่จะมองหาทรัพย์สินชิ้นใหญ่เป็นอย่างตัวเอง อาทิ รถยนต์ คอนโดมิเนียม หรือบ้าน เป็นต้น ฉะนั้นการวางแผนการลงทุนในระดับความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 60 – 70% และความเสี่ยงต่ำอยู่ที่ 30 -40% ฉะนั้นแล้วตามแผนการลงทุนแบบนี้ถือว่า มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง ผลตอบแทนคาดการณ์ประมาณที่ 8 – 10% ต่อปี นอกจากนี้แล้วยังต้องกันเงินบางส่วนไว้ใช้สำหรับเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย
ตัวอย่างการจัดพอร์ต
• กระจายความเสี่ยงสูงได้ 60 – 70% เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ บ้าน คอนโด เป็นต้น
• กระจายความเสี่ยงได้น้อย 20 – 30% เช่น ตราสารหนี้ กองทุนมันนี่มาร์เก็ต กองทุนรวมตราสารหนี้ ประกันชีวิต เป็นต้น
อายุ 41 – 50 ปี ช่วงเริ่มใช้ชีวิตอย่างมั่นคง
เป็นช่วงอายุที่เริ่มมีตำแหน่งหน้าที่การงาน เริ่มมีเงินเดือนค่อนข้างสูงขึ้นกว่า 2 ช่วงอายุแรก แต่ก็ยังภาระที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนคอนโด และค่าเล่าเรียนของลูกๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนในช่วงที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็นตังใช้เงินเป็นจำนวนมากก็ต้องมีการเก็บออมไว้ประมาณ 40 -50% และนำมาลงทุนประมาณ 30 – 40% ซึ่งผลตอบแทนคาดการณ์ประมาณที่ 6 – 8% ต่อปี
ตัวอย่างการจัดพอร์ต
• กระจายความเสี่ยงสูงได้ 30 – 40% เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น
• กระจายความเสี่ยงได้น้อย 40 – 50% เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนมันนี่มาร์เก็ต กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุน SSF หรือ กองทุน LTF ประกันชีวิต เป็นต้น
อายุ 51 – 60 ปี ช่วงเตรียมตัวเกษียณอายุ
เป็นช่วงวัยที่เริ่มเตรียมตัวเกษียณอายุ เริ่มเตรียมตัวที่วางมือจากการทำงานมาตลอดตั้งแต่หนุ่ม ๆ สาว ๆ และเริ่มหันมาหาความสุขให้กับตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพ ใช้ชีวิตกับลูกหลาน ฉะนั้นแล้วคนช่วงวัยนี้จะไม่ค่อยเริ่มลงทุนที่มีความเสี่ยงมาก แต่จะเก็บออมที่สามารถเบิกถอนได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็จะมีโอกาสเจ็บป่วยได้มาก ฉะนั้นแล้ว สัดส่วนการรับความเสี่ยงได้น้อยอยู่ที่ประมาณ 60 -70% และความเสี่ยงสูง 30 – 40% เฉลี่ยความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ ผลตอบแทนคาดการณ์ประมาณที่ 4 – 6% ต่อปี
ตัวอย่างการจัดพอร์ต
• กระจายความเสี่ยงได้น้อย 60 – 70% เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนมันนี่มาร์เก็ต กองทุนรวมตราสารหนี้ ประกันบำนาญ เป็นต้น
• กระจายความเสี่ยงสูงได้ 30 – 40% เช่น หุ้น อสังหาฯ ปล่อยเช่าคอนโด เช่าบ้าน กองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เป็นต้น
อายุ 61 – 70 ปี ช่วงเกษียณอายุ
เป็นช่วงวัยที่ไม่ต้องทำงานแล้ว มีความสุขกับการใช้ชีวิต พบปะเพื่อนเก่า ๆ ดูแลสุขภาพ อยู่กับลูกหลาน อยู่กับบ้านทำงานจิปาถะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นการออกกำลังกาย ฉะนั้นแล้วรายได้ย่อมลดน้อยลง มีแต่รายจ่ายที่จะใช้ในแต่ละเดือน ใช้เงินเรื่อย ๆ จากเงินเก็บออมที่ได้สะสมมาตลอดช่วงอายุ ดังนั้นการลงทุนควรเพิ่มในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมากถึง 80 – 90% และความเสี่ยงสูงอยู่ที่ประมาณ 10 -20% ผลตอบแทนคาดการณ์ประมาณที่ 3 – 4% ต่อปี
ตัวอย่างการจัดพอร์ต
• กระจายความเสี่ยงได้น้อย 80 – 90% เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนมันนี่มาร์เก็ต กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
• กระจายความเสี่ยงสูงได้ 10 – 20% เช่น หุ้น อสังหาฯ ปล่อยเช่าคอนโด เช่าบ้าน กองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็จะสามารถทำให้มีเงินเป็นกอบเป็นกำไว้ใช้ในยามเกษียณอายุได้ หรืออาจจะเกษียณอายุก่อนวัยก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องไม่ลืมบวกเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย