จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน เป็นเครื่องชี้วัดถึงความยากลำบากในการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นอีกส่วนที่ทำให้ธุรกิจต้องหันมาใช้กลยุทธ์ในทางการตลาดที่แปลกใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม้กลุ่มเป้าหมายจะอยู่ที่บ้านก็ตาม โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ Push & Pull ที่แตกต่างไปจากเดิม
ในงาน CTC2021 (Creative Talk Conference) ซึ่งมีการพูดถึง Trend Marketing 2021 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยได้รับเกียรติจาก คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ CEO GroupM (Thailand) และ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และ คุณณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com ที่จะมาเป็นผู้ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ของการทำ Marketing ที่จะเกิดขึ้นในปี 2021
สำหรับในมุมมองของคุณศิวัตรมองว่า ปีนี้อาจจะไม่มีอะไรมากนักแต่จะเป็นการดำเนินการต่อจากปีที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขายออนไลน์โตอย่างมากในปีที่ผ่านมา เกิดจากผู้บริโภคมีความต้องการ (Demand) ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากขึ้น รวมไปถึงก่อให้เกิดตลาดออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ในปีนี้การซื้อขายออนไลน์จะขยายไปในหลายช่องทาง ดูอย่างธนาคารก็ทำตลาดด้านออนไลน์หรือผู้ขายเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงานก็มีการขายออนไลน์ด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ธุรกิจ Delivery ก็หันมาขายออนไลน์ในรูปแบบ Grocery Online
ขณะที่คุณณธิดาชี้ว่า การขายออนไลน์คือกาามองหาทางรอดของธุรกิจ (Survivor Mode) ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤติ แต่ธุรกิจไหนที่เข้าไปในโลกออนไลน์แล้ว แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ก็ยังถือว่า ธุรกิจนั้นยังไม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ได้เต็มที่ ซึ่งผู้ประกอบการมีความพร้อมในการรับมือกับปริมาณของลูกค้าที่พุ่งเข้ามาถาโถมอย่างรุนแรงแล้วหรือยัง ทำให้หลายธุรกิจอาจจะเป็นการขายออนไลน์ในรูปแบบของ Direct to Consumer
นอกจากนี้ Influencer ยังคงช่วยให้การขายออนไลน์เติบโตขึ้นและก่อให้เกิดการขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Influencer จะยังคงมีความสำคัญอยู่ในปี 2021 ซึ่งเทรนด์ของ Influencer จะเน้นการสร้าง Content ไปในรูปแบบ Entertainment มากขึ้น ซึ่งในปี 2021 Influencer จะเข้าสู่ Commerce มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปิดการขายได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เนื่องจากเมื่อลูกค้าเข้าถึง Influencer แล้วจะส่งต่อไปยังการขายได้ง่ายๆ
ด้านคุณศิวัตรยังมองว่า TikTok มีส่วนช่วยให้ Influencer สร้างเทรนด์ Content ในรูปแบบ Entertainment เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นๆ เมื่อธุรกิจลดการใช้ Media ลงก็จะไปเน้นการขายแบบ Direct to Consumer เพิ่มขึ้น Influencer จะเป็นตัวช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งธุรกิจสามารถจ่ายค่าตอบแทนในรูป Cost per Click ให้กับ Influencer ได้ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดเงินค่าใช้จ่ายด้าน Media ลงได้
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงต้องเน้นการสร้างแบรนด์ เนื่องจากคู่แข่งจะเน้นกลยุทธ์ลดราคาและโปรโมชันอย่างรุนแรงเพื่อสร้างยอดขาย ซึ่งการที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า แบรนด์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ หากธุรกิจไม่ทำ Branding อาจเสียโอกาสให้กับคู่แข่งรายใหม่ที่สามารถเข้าถึงสื่อได้ง่าย โดยผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อกับแบรนด์ที่ตนเองรู้จักมากกว่าแค่เห็นโปรโมชัน ผู้ประกอบการจึงต้องวัดผลในการสร้าง Brand Awareness ด้วย
ขณะที่คุณณธิดามองว่า ด้าน Data Driven ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น หลายคนเริ่มมองเห็นสินค้าที่เน้น Personalized มากขึ้น ทั้งในรูปแบบสินค้าและบริการ โดยปีนี้ทั้ง 2 ท่านยังมองว่า การระบาดรอบใหม่ในปีนี้ มาตรการรัฐจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง โดยไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการจึงต้องมีแผนรองรับหลายๆ แผน
คุณณธิดายังมองว่า ผู้บริโภคพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์เสมอ โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคิดว่า ใช้เงินกับอะไรใช้เพื่ออะไร ซึ่งการสร้าง Brand Awareness เป็นการสร้างเพื่อให้ลูกค้านึกถึงแบรนด์นั้นอยู่ตลอดเวลา แต่หากลูกค้าจำแบรนด์นั้นไม่ได้ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อกับแบรนด์อื่นทันที หรือหากผู้บริโภครู้สึกไม่ประทับใจกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์นั้นทันที ซึ่งผู้บริโภคต้องการ ราคาที่ใช่ แบรนด์ที่ชอบและประสบการณ์ที่ดี
สุดท้ายคุณศิวัตร ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนสู้ๆ ต่อไปในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ขณะที่คุณณธิดามองว่า เป็นช่วงที่ยากของธุรกิจ จึงต้องมองหาโอกาสที่ดีในการพัฒนาธุรกิจ โดยต้องยังคงใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น เช่น Major ใช้นำป๊อปคอร์นเอามาจำหน่ายนอกโรงภาพยนตร์ หรือบาร์บีคิวพลาซ่าที่ต่อยอดสินค้าน้ำพริก ผู้ประกอบการควรจะต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีในการขยายธุรกิจแทนการปั้นธุรกิจใหม่ขึ้นมาแทน