นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน และล่าสุดคือ สถานการณ์ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทั้งต่อภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเศรษฐกิจ ทั้งระดับ Macro และ Micro ที่เวลานี้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ พยายามหาทางออกท่ามกลางปัจจัยลบ
มายด์แชร์ ประเทศไทย (Mindshare Thailand) มีเดียเอเยนซี่ในเครือกรุ๊ปเอ็ม (GroupM) นำโดย คุณปัทมวรรณ สถาพร และทีมงาน ได้ทำการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์ไวรัสโคโรนา และความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อ “ธุรกิจสื่อ” ในประเทศไทย พร้อมด้วยแนวทางการรับมือของธุรกิจ
เมื่อโลกเผชิญสถานการณ์ท้าทายตั้งแต่ต้นปี 2020
เพียงแค่เดือนแรกของปี 2020 ก็มีสถานการณ์และเหตุการณ์ระดับโลกเกิดขึ้นมากมาย เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในประเทศออสเตรเลีย การปะทุของภูเขาไฟในประเทศฟิลิปปินส์ เหตุเครื่องบินตกในประเทศอิหร่าน การจากไปของตำนานแห่งวงการบาสเกตบอล ความขัดแย้งระหว่างประเทศอิหร่านและสหรัฐฯ
และล่าสุดคือการมาเยือนสุดระทึกโลกของไวรัสโคโรนาที่เริ่มแพร่กระจายมาตั้งแต่สิ้นปี ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่ยังคงคุกรุ่นจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การระบาดของไวรัสโคโรนานั้นเริ่มต้นมาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ ประเทศอื่น ๆ ทั้งในแถบเอเชีย – แปซิฟิก รวมถึงทั่วโลกล้วนแต่ได้รับผลกระทบเองก็ไ้รับผลกระทบเช่นกน โดยเห็นได้จากการที่ภาครัฐของแต่ละประเทศได้เร่งออกนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ มายด์แชร์ ได้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารอย่างใกล้ชิดผ่านเครือข่ายและแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะสามารถให้คำแนะนำและมุมมองต่าง ๆ ต่อการวางแผนการสื่อสารและการตลาดแก่ลูกค้าของเราได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
4 สถานการณ์ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา “สื่อสนามบิน–โรงแรม–ท่องเที่ยวซบเซา” – “สินค้าสุขภาพขาดตลาด”
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีนโยบายห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางเข้าราชอาณาจักร แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินการคาดเดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนชาวจีนหลังพบว่ามีการเลื่อนเที่ยวบินในทุกวัตถุประสงค์ ทั้งเพื่อธุรกิจและท่องเที่ยว โดยเหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรกดังนี้
1. ส่งผลกระทบโดยตรงกับร้านค้า รวมทั้งสื่อโฆษณาในสนามบิน ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจการท่องเที่ยว
2. จากการสำรวจพบว่างานอีเวนท์ที่วางแผนจัดในช่วงเดือนมกราคมจนถึงมีนาคม โดยส่วนมากได้ถูกเลื่อนไปจัดในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
3. สินค้าเพื่อสุขภาพต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มขาดตลาดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าคนไทยเริ่มมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
4. สินค้าจากการซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนเริ่มมีการค้างจัดส่งและเกิดความล่าช้า คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งถึงมือผู้รับประมาณ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย
ผู้บริโภคอยู่กับบ้าน – ใช้สื่อทีวี และดิจิทัลติดตามข่าวสารเพิ่มขึ้น
ความตื่นตัวทางด้านความปลอดภัยในสุขภาพและอนามัยทำให้เริ่มเกิดพฤติกรรมที่ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ดังนั้นการบริโภคสื่อประเภททีวีและสื่อดิจิทัลจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
-
ยอดผู้ชมเพิ่มขึ้นบนสื่อทีวีด้วยแรงหนุนจากผู้รับชมรายการข่าวที่เพิ่มขึ้นถึง 11% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2019
-
การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นบน “สื่อดิจิทัล” รวมถึงบรรดาข่าวปลอมก็มีส่วนสร้างความสับสนและตื่นตระหนกในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
-
ที่ประเทศจีนพบว่ายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมอยู่ที่บ้านมากขึ้น รวมถึงยอดผู้เล่นเกมประเภทที่เล่นคนเดียวก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
สำหรับงานอีเวนต์และกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ ฝ่ายจัดงานควรให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
-
ระบุรายละเอียดการตรวจวัดความปลอดภัยและสุขอนามัย อย่างชัดเจนบนหมายเชิญ
-
การปรับรูปแบบการจัดงานเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมงานผ่านเทคโนโลยี เช่น การถ่ายทอดสดงานผ่านระบบออนไลน์
-
หากมีความจำเป็น ควรเลื่อนการจัดงาน
ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าไม่เกิน 45 วัน – แบรนด์ควรลงทุนด้านภาพลักษณ์ เพื่อสร้างการจดจำ และเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจสุขภาพ
จากการเกิดขึ้นของสถานการณ์ไวรัสโคโรนา “Mindshare” คาดการณ์ว่าแม้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลื่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าในบางประเภท แต่เชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะอยู่ไม่นานเกิน 40 – 45 วัน
ดังนั้น การลงทุนทางด้าน “ภาพลักษณ์ในเชิงบวก” และ “การสร้างความน่าจดจำ” ถือเป็นโอกาสที่น่าลงทุนสำหรับแบรนด์ เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีเวลาที่จะใช้พินิจและตัดสินใจ
ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ และการให้บริการที่จะลงมือทำการตลาดด้วย “ความจริงใจ” และ “แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์”
โดยสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพอย่างโรงพยาบาล สินค้าเภสัชกรรม บริการประกันสุขภาพ รวมไปถึงสินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัย จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากการตื่นตัวของผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัยจากโรคร้ายและมีสุขอนามัยที่ดี
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือผลิตภัณฑ์สบู่ แบรนด์ “Lifebuoy” จากอินเดีย ที่ให้ความสำคัญในการสื่อสารแนวทางปฏิบัติเพื่อสุขอนามัย เพื่อให้ปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา
นอกจากนี้ จากความล่าช้าของการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีน ถือเป็นโอกาสทองของแบรนด์ในประเทศที่มีความพร้อมในการใช้อีคอมเมิร์ซ และบริการจัดส่งถึงบ้านได้อย่างทันท่วงที