นั่งเขียนตั้งนาน คนไม่อ่านก็เซ็งไปสิ ยิ่งในยุคที่ Content is King ในโลกที่ธุรกิจต้องพึ่งพาโซเชียล มีเดีย ไม่ว่าจะว่าเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ กูเกิล และเว็บบล็อกต่างๆ ที่มีอยู่มากมายให้เลือกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับสื่อสารและสร้าง Engagement กับลูกค้ายุคใหม่
แต่ก็ใช่ว่าจะนั่งลงหน้าจอเขียนอะไรก็ได้ลงบนโลกโซเชียล แล้วลูกค้าจะเข้ามาหาถล่มทลาย เพราะมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
เพราะถึงมีพื้นที่นำเสนอ Content ที่ดีแต่ตัว Content ขาดความดึงดูด โอกาสที่จะเรียกลูกค้าหรือต่อยอดทางธุรกิจก็ยากยิ่งตามไปด้วย แต่ก็อย่าเพิ่งถอดใจสำหรับนักการตลาดหรือแบรนด์ที่ทำ Content เท่าไรก็ไม่เปรี้ยงสักที ลองมาดูคำแนะนำจากเซียนบล็อกเกอร์จากฝั่งสหรัฐที่เขาว่าถ้าทำตามนี้แล้ว คนกดแชร์แน่นอน
อันดับแรกก็ต้องหาให้เจอก่อนว่า “เป้าหมายของเรา เขาอยากอ่านอะไร” โดยเมื่อเริ่มคิดจะเขียน Content ที่ดึงดูดทราฟฟิกจาก Search Engine การเลือกหัวข้อส่วนใหญ่ก็มักจะขึ้นอยู่กับ Keywords ที่จะใช้ค้นหา ดังนั้นหากเราลองดูข้อมูลจากผลสำรวจ Keyword ที่ได้รับความนิยม หรือคนในกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจค้น เราก็สามารถเขียน Content ที่มีส่วนเฉพาะเจาะจงให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสค้นเจอและกดเข้าไปอ่านในสิ่งที่กำลังสนใจได้ ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ย่อมดีกว่า เขียน Content หว่านให้คนเข้ามาอ่าน แต่แค่เห็นหัวข้อก็รูดหน้าจอข้ามไปแล้ว
แต่สำหรับ Content บนโซเชียล มีเดีย การหา Keyword เป้าหมายก็อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญมากเท่ากับการหาหัวข้อ หรือเรื่องประเภทที่กลุ่มเป้าหมายของเราต้องการอ่านบนโซเชียล มีเดีย ซึ่งก็โชคดีที่ไม่ต้องจ้างคนทำวิจัยสำรวจความต้องการอ่านของผู้บริโภคบนโซเชียล มีเดียให้ยุ่งยาก เพราะยุคนี้มีเครื่องมือเสริมที่ง่ายแสนง่ายให้เลือกใช้แล้ว เช่น Quora และ BuzzSumo ให้ลองเข้าไปค้นดู Content ที่ถูกแชร์มากที่สุดตาม Keyword หรือเว็บไซต์ที่เฉพาะเจาะจง
รวมถึงการเข้าไปสำรวจดูตามกรุ๊ปต่างๆบนเฟซบุ๊ค และลิงค์อิน ให้พอเห็นกระแสที่คนสนใจหรือมีคำถามเยอะๆ ก็สามารถนำมาเป็นไอเดียเขียน Content ที่คนจะให้ความสนใจได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้หากเป็นธุรกิจที่มีทีมขาย หรือทีมลูกค้าสัมพันธ์ ก็ลองเข้าไปสำรวจดูฟีดแบ็กจากลูกค้าหรือคำถามที่มีเข้ามาจากลูกค้าดูบ้างว่า คำถามที่ถามเข้ามาบ่อยๆคืออะไรหรือเกี่ยวข้องกับอะไร จากนั้นก็จัดการหาข้อมูลสำหรับ Content ที่เจาะจงกับความต้องการได้ ซึ่งนอกจากจะลดเวลาลูกค้าและพนักงานที่ต้องคอยตอบคำถามแล้ว ยังแสดงถึงความใส่ใจที่แบรนด์เตรียมพร้อมข้อมูลในสิ่งที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการทราบไว้หมดแล้ว เพราะอย่าลืมว่ามากกว่า 60% ของผู้บริโภคยุคนี้มักจะหาข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการจากช่องทางออนไลน์ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ดังนั้นหากมี Content ที่ตอบโจทย์ทุกคำถามอยากรู้แล้วโอกาสปิดการขายก็ไม่ยากเย็น
ทั้งนี้รูปแบบของ Content ก็มีส่วนสำคัญที่คนจะสนใจ เพราะถึงแม้เนื้อจะดีคนอยากรู้ แต่ถ้าเขียนออกมาเป็นสารคดียาวยืดก็ยังไม่มีคนกดอ่าน กดแชร์อยู่ดี
โดยสามารถพิจารณาเลือกรูปแบบการเขียนได้ตามความเหมาะสม เช่น การเขียนในรูปแบบ List ให้เห็นเป็นข้อๆชัดเจน, เป็นบทความ How to, คลิปวิดีโอ หรือทำเป็นภาพ Infographic ให้เข้าใจง่าย สีสันสวยงามน่ากดแชร์
ขั้นถัดมา ไม่ว่าจะเขียน Content ลงสื่อไหนๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โซเชียล มีเดียหรือเว็บบล็อก แต่การเขียน “พาดหัว” ก็ยังจำเป็นต้องให้สะดุดและเตะตาคนอ่านไม่แตกต่างกัน ไม่เชื่อก็ลองสำรวจตัวเองเมื่อเข้าไปเปิดหน้า News Feed บนเฟซบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ที่ส่วนใหญ่ก็จะรูดผ่านหน้าจอไปจนกว่าจะเห็นเพื่อนโพสต์เรื่องที่สะดุดความสนใจจึงจะหยุดและกดเข้าไปอ่านจริงจัง
นอกจากนี้จะสังเกตว่า “พาดหัว” และ “ภาพประกอบ” มีความสำคัญไม่ต่างกัน และเป็นจุดสำคัญที่ดึงดูดให้คนกดเข้าไปอ่านที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม
โดยกูรูรวบรวมเคล็ดสำคัญของพาดหัวที่ดีไว้ว่า
- ต้องเป็นเรื่องที่คนอยากอ่าน
- เห็นแล้วอยากคลิกทันที
- มีข้อมูลจำเพาะที่ผู้อ่านจะได้จากการกดเข้าไปอ่าน
- เลี่ยงการทำ Clickbait ที่ใช้พาดหัวเรียกคนเข้าไปกดอ่าน แต่กลับไม่เจอสิ่งที่ต้องการหรือมีแต่โฆษณา
มาถึงใจความสำคัญของเรื่อง การเขียน Content ที่ประสบความสำคัญมีคนกดอ่าน กดแชร์มาก นอกจากองค์ประกอบที่ว่ามาแล้ว ก็ต้องแน่ใจว่าแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นดีแท้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงลึกที่คัดกรองมาอย่างดี ภาพหรือสื่อเพื่ออธิบายขั้นตอนของเรื่องให้เข้าใจง่าย ตลอดจนถึงข้อมูลและสถิติที่ยืนยันว่า Content ไม่ได้เขียนขึ้นมาลอยๆ แต่มีข้อมูลที่ยืนยันความเป็นจริงเพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งตามสถิติแล้วยังพบว่า “คนจำนวนมากชอบกดแชร์ข้อมูลที่เป็นสถิติ และตัวเลขที่เห็นภาพได้ง่าย”
ทั้งนี้ทั้งนั้นจะให้ดีก็ควรวางโครงเรื่องคร่าวๆ เพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดของเนื้อหาได้ครบถ้วนไม่ตกหล่นอะไรไป เพราะบ่อยครั้งที่เขียนเพลิน แต่สรุปสุดท้ายแล้วเนื้อหาไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่พาดหัวไว้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในเชิงสถิติที่น่าสนใจสำหรับการทำ Content ที่มีโอกาสจะโดนใจสูง
- ค่าเฉลี่ยของ Visitor จะอ่านเพียง 20% ของตัวอักษรทั้งหมดบนหน้าเพจ
- คนจะอ่าน Content ออนไลน์ได้นานกว่าการอ่านบนกระดาษราว 20-30%
และโดยรวมคนส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมอ่านแบบผ่านๆ ดังนั้น Content ที่เหมาะก็คือ ควรเขียนให้กระชับ แบ่งพารากราฟให้สั้นลง และแบ่งเป็นข้อๆ หรือทำเป็นซับเฮดให้อ่านได้ง่ายๆ และต้องไม่ลืมตรวจคำผิด และการใช้ภาษาที่ถูกต้องด้วย
เคล็ดไม่ลับประการอีกประการถ้าต้องการให้ Content ของเราโดนใจหรือถูกแชร์มากๆ ก็ควรจะต้องอำนวยความสะดวกเครื่องมือที่จะให้คนกดไลค์ กดแชร์แนบให้ด้วย ซึ่งควรติดตั้งไว้ทุกจุดที่คนจะเห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะก่อนเริ่มเข้าสู่เนื้อหา หรือด้านล่างหลังอ่านจบ เพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากกดแชร์ ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมือช่วยสนับสนุนการแชร์เนื้อหาออนไลน์ได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องเขียนโค้ดให้ยาก เช่น AddThis, ShareThis และ Shareaholic ที่บางรายยังรวมรวมข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกแถมให้ด้วยเพื่อดูทิศทาง Content ที่ถูกกดแชร์มาก
นอกจากนี้การใส่ไฮไลต์ หรือ Mention ถึงผู้ทรงอิทธิพลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก (influencers) ในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้ช่วยแชร์หรือ Retweet ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเรียกความน่าสนใจให้กับ Content ที่คนอยากกดแชร์มากขึ้นอีก โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาเพิ่ม
แหล่งที่มา: www.sproutsocial.com