“TikTok” แอปฯ วีดีโอสั้นที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดีในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีมาที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดกว้างในการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งก่อให้เกิดกระแสสังคมมาหลายต่อหลายครั้ง อาทิ ปรากฏการณ์ “เจน นุ่น โบว์” เป็นต้น นอกจากนี้ TikTok ยังถูกจับตาให้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญของ Social Media ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่
ทว่า ปรากฏการณ์การถูกระงับให้บริการของ TikTok ในสหรัฐอเมริกาและอินเดียด้วยเหตุผลด้านข้อมูลความมั่นคง หรือเป็นเพียงการกีดกันทางการค้า และจะก่อให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นของการใช้แอปฯ หรือไม่ หรือจะลดทอนความร้อนแรงของ TikTok ลงหรือเปล่า วันนี้มาดูว่านักวิเคราะห์จากต่างชาติมองสถานการณ์ของ TikTok ในเวลานี้อย่างไร
สถานการณ์ TikTok ยังไม่ดีขึ้นในระยะสั้น
สหรัฐอเมริกาและอินเดียถือเป็นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับสามของ TikTok ขณะที่ประเทศจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสอง โดยมีสัดส่วนในตลาดสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 27.6% และในอินเดียมีสัดส่วนอยู่ที่ 8.2% โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2020 มีการดาวน์โหลดแอปฯ TikTok ทั่วโลกจำนวน 596 ล้านครั้ง เฉพาะการระงับให้บริการ TikTok ในอินเดีย ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ TikTok ราว 6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ว่า TikTok จะมีการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนสัญชาติอเมริกัน รวมถึงการให้ข้อมูลวิธีการจัดเก็บ DATA โดย DATA ทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ในเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการ Backup สำรองข้อมูลไว้ที่ Server ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรและคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกา แต่ความกังวลใจในเรื่องของ DATA ก็ยังคงอยู่
Dov Levin ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงชี้ว่า ความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ของ TikTok ในสหรัฐฯ จะลดลงมีน้อยมาก เนื่องจากนโยบายด้านต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศจีนของทั้งสองพรรคมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นแม้จบการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ แล้ว อาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ TikTok ในระยะเวลาอันสั้น
ภาครัฐตรวจสอบข้อมูล Social Media ได้
หนึ่งในหัวข้อที่ TikTok ถูกเพ่งเล็งจากทางการสหรัฐฯ คือเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลการเดินทาง GPS หรือข้อมูลด้านพฤติกรรมกิจวัตรประจําวัน โดย TikTok สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงการตรวจสอบความผิดปกติที่อาจจะก่อให้เกิดการฉ้อโกงและกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมถึงถูกนำไปใช้ในด้านโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์
ขณะที่ Barry Shehadeh ผู้ใช้งาน TikTok ชาวอเมริกันอายุ 24 ปี เห็นว่า การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การติดตามด้วยระบบ GPS และพฤติกรรมความชอบหรือไม่ชอบของแต่ละคนน่ากลัวเลยทีเดียว ด้าน Patrick Jackson อดีตนักวิจัยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ชี้ว่า แค่เพียงเปิดใช้งาน TikTok ระบบก็จะเริ่มทำการจัดเก็บข้อมูลทันที ซึ่งไม่ใช่แค่ TikTok เทานั้นที่ทำเช่นนี้ Facebook และ Google เองก็มีการจัดเก็บ DATA ในแพลตฟอร์มอื่นด้วยเช่นกัน แม้ผู้ใช้จะไม่มีบัญชีของ Facebook หรือ Google ก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านยังระบุว่า แม้ TikTok จะมีการจัดเก็บข้อมูลไว้นอกประเทศจีน แต่ด้วยข้อกฎหมายบางอย่างที่ทำให้รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทสัญชาติจีนได้ “หากมีความจำเป็น” ซึ่งในทางทฤษฎี TikTok ในฐานะบริษัทสัญชาติจีนจะต้องทำตามกฎหมายที่ระบุไว้
ซึ่งเห็นต่างกับ Justin Sherman ในฐานะสมาชิก The Atlantic Council’s Cyber Statecraft Initiative ที่เห็นว่า เป็นความเข้าใจผิดที่เกินจริง ถ้าคิดว่า TikTok ส่งมอบข้อมูลให้กับรัฐบาลจีนโดยอัตโนมัติ เนื่องจากการส่งข้อมูลแบบ Realtime จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและไม่สามารถปกปิดการกระทำได้ในแผ่นดินสหรัฐฯ ที่สำคัญ Facebook ยังเคยส่งมอบข้อมูลหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ร้องขอข้อมูล 51,121 รายการในช่วงครึ่งหลังของปี 2019
Nathaniel Rushforth ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะสามารถทำการร้องขอข้อมูลจาก Social Media ในประเทศตัวเอง ซึ่งหาก Social Media ไม่ปฏิบัติก็อาจนำมาสู่การต่อสู้ทางกฎหมายของแต่ละประเทศ
TikTok ยังคงเป็นแอปฯ ยอดนิยมในกลุ่ม Gen Z
ถึงอย่างนั้นนักวิเคราะห์หลายคนก็ยังมองว่า TikTok ยังเป็นแอปฯ คลิปวีดีโอสั้นที่ไม่มีแอปฯ ไหนมาทดแทนได้ แม้ในปัจจุบันจะยังมีการใช้งาน Snapchat อยู่ก็ตาม หรือแม้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Instagram และ YouTube จะเริ่มหันมาทำรูปแบบคลิปวีดีโอสั้นๆ บ้างแล้ว แต่ TikTok ก็จะยังเป็นแอปฯ ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ TikTok สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่ม Gen Z ได้แบบที่ไม่มีแอปฯ อื่นทำได้
ขณะที่แบรนด์เองก็จะยังคงสนับสนุน TikTok ต่อไป เพราะเป็นสื่อช่องทางหลักในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย Gen Z ฉะนั้นความร้อนแรงของ TikTok จึงยังไม่น่าจะลดลง และสำหรับความคิดที่ว่าจะให้บริษัทสัญชาติจีนขาย TikTok ให้กับบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะโอกาสของ TikTok ยังไปได้อีกไกลและความต้องการใช้งาน TikTok ก็ยังมีอยู่อีกมาก
สำหรับในไทย TikTok ยังถือเป็นแพลตฟอร์ม Social Media น้องใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโต โดยนักการตลาดกำลังหาลู่ทางในการบริหารจัดการด้านการสื่อสาร เพื่อให้ยังคงความเป็น TikTok และเป็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย Gen Z เป็นหลัก
Source: SCMP