บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำบทสรุปการใช้งาน Social Media ของ 2,000 แบรนด์ชั้นนำ ใน 20 ภาคธุรกิจ โดยวิเคราะห์จากข้อมูล 3 ล้านข้อความ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2564 นำเสนอผ่าน 2 มุมมอง ได้แก่ 1.) ภาพรวมของการใช้งานโซเชียลมีเดียชื่อดัง 4 แพลตฟอร์ม (Facebook, Twitter, Instagram, และ YouTube) เช่น การเคลื่อนไหวตลอดทั้งปี, ธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูง และ 2.) บทวิเคราะห์เจาะลึกการใช้งานของธุรกิจที่โดดเด่นในแต่ละแพลตฟอร์ม โดยมี 10 ประเด็นที่โดดเด่นและน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอย่างไรด้วย ดังนี้
10 ประเด็นที่น่าสนใจจาก “INSTANT REPORT BUSINESS USAGE 2021”
-
Social Media เอ็นเกจเมนต์แบรนด์ ลดลงจากปีที่แล้ว
ในภาพรวมการพูดถึงภาคธุรกิจบนโซเชียลมีเดีย แบรนด์ได้รับเอ็นเกจเมนต์ รวม 467 ล้านครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 24% และมีการโพสต์รวม 3 ล้านครั้ง โดยส่วนใหญ่เน้นใช้พื้นที่บน Facebook เป็นหลักเช่นเดิม คิดเป็นสัดส่วน 86% จากโพสต์และ 82% จากเอ็นเกจเมนต์ รองลงมาคือ Instagram คิดเป็นสัดส่วน 10% จากโพสต์และ 11% จากเอ็นเกจเมนต์
-
ธุรกิจร้านอาหาร ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด
ในปี 2564 ธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงสุด คือ ธุรกิจร้านอาหาร รองลงมาคือ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่วนธุรกิจที่มีการโพสต์บ่อยที่สุดยังคงเป็นของห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์เช่นเดิม
-
แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำเอ็นเกจเมนต์ได้ดีบน Twitter
ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ยังครองอันดับ 1 ที่ทำเอ็นเกจเมนต์ได้สูงสุดบน Twitter เช่นเดิม อีกทั้งยังแซง ธุรกิจร้านอาหารขึ้นมาเป็นอันดับ 1 บน Instagram ได้อีกด้วย
-
Facebook ยังครองใจแบรนด์ เลือกใช้งานมากที่สุด
การใช้งานของแต่ละแพลตฟอร์มใกล้เคียงกับปี 2563 คือ แบรนด์เลือกใช้ Facebook มากที่สุด (99%) รองลงมาคือ Instagram (66%), YouTube (50%) และ Twitter (29%) ตามลำดับ
-
Brand เปิดมากกว่า 2 แพล็ตฟอร์ม
82% ของแบรนด์ มีบัญชีทางการมากกว่า 2 แพลตฟอร์ม โดยยังคงใช้ Facebook เป็นหลัก ส่วนแพลตฟอร์มที่เลือกใช้รองลงมาจะเลือกจากไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในธุรกิจนั้น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การท่องเที่ยว หรือช้อปปิ้ง จะใช้ Instagram ส่วนธุรกิจรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะใช้ YouTube
-
ธุรกิจแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หันมาใช้ Twitter และ Instagram
เอ็นเกจเมนต์บน Facebook และยอดเข้าชมบน YouTube ยังคงลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่โพสต์จาก Twitter และ Instagram ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จะโดดขึ้นในช่วงกลางปีและปลายปีอย่างชัดเจนจากแคมเปญส่งเสริมการขายต่าง ๆ
-
กลุ่มธุรกิจ โดยภาพรวมเอ็นเกจเมนต์ต่างลดลง
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมสูงสุดบน Facebook คือ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง รองลงมาคือ ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจเครื่องดื่ม ตามลำดับ แต่ทั้งสามกลุ่มดังกล่าว มียอดเอ็นเกจเมนต์ลดลงจากปีที่แล้ว 25-35% ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว เกือบทุกกลุ่มธุรกิจต่างลดลงกันทั้งสิ้น
-
Twitter มีเอ็นเกจเมนต์ เพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ
ขณะที่ Facebook ภาพรวมลดลง แต่ Twitter กลับมีเอ็นเกจเมนต์เพิ่มขึ้นในหลายธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมสูงสุดบน Twitter คือ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รองลงมาคือ ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจโทรคมนาคม ตามลำดับ
-
ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สร้างเอ็นเกจเมนต์ได้ดีบน Instagram
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมสูงสุดบน Instagram คือ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รองลงมาคือ ธุรกิจเครื่องสำอาง และธุรกิจร้านอาหาร ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมชิงรางวัล x ศิลปินหรือคู่จิ้นที่ได้รับความนิยม
-
ธุรกิจเครื่องดื่ม ได้ยอดวิวดีบน Youtube
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับยอดเข้าชมรวม (View) บน YouTube คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม รองลงมาคือ ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ตามลำดับ โดยทั้งสามกลุ่มนี้ มาจากการโปรโมชั่น และกิจกรรมชิงรางวัล ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่มียอดเข้าชมที่ลดลง ยกเว้น ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจสกินแคร์, ธุรกิจห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์และธุรกิจการเงิน (สินเชื่อ) เท่านั้น
ข้อมูลพื้นฐาน
- ช่วงเวลาของการเก็บข้อมูล: 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564
- เก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย 4 ช่องทาง: Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube
- บทวิเคราะห์จากข้อมูลโซเชียลจำนวน 2,936,679 ข้อความ
- เก็บข้อมูลจาก 2,188 แบรนด์
สามารถดาวน์โหลด “INSTANT REPORT BUSINESS USAGE 2021” ฉบับเต็มฟรี! : https://link.wisesight.com/biz-usage2021-Media