“Ipsos” (อิปซอสส์) บริษัทวิจัยการตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคระดับโลก ได้เปิดรายงานการศึกษาชุดใหญ่ “Ipsos Global Trends 2023” ชี้ให้เห็นถึงภาวะวิกฤตโลก ก้าวเข้าสู่ “ยุคโลกไร้ระเบียบ” (A New World Disorder) เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย หรือเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็ว่าได้ เนื่องจากหลัง COVID-19 ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกทั้งคนไทยยังเจอกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำให้ผู้คนต้องรับมือกับความเสี่ยงและวิกฤต Polycrisis ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายงานชุดนี้ทำการสัมภาษณ์ 48,000 คน ใน 50 ตลาดสำคัญ ครอบคลุม 70% ของประชากรโลก และ 87% ของ GDP รวมถึงตลาดเอเชียถึง 11 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม โดยทำการสำรวจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2014 เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความคิดเห็นของประชากรในแต่ละปี
วิกฤตเศรษฐกิจ: คนไทยกังวลเงินเฟ้อ – รายได้ไม่พอใช้ – รู้สึกต้องดิ้นรนต่อสู้ สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
การสำรวจครั้งนี้ ได้ถามถึงจากสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ส่งผลให้ต้องใช้จ่ายรัดกุมมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร พบว่า
– 34% ของค่าเฉลี่ยโลก บอกว่ารู้สึกว่ามีความยากลำบากในการหารายได้ และต้องดิ้นรนต่อสู้
– ขณะที่ประเทศไทย อยู่ที่ 27% ที่รู้สึกมีความยากลำบากในการหารายได้ และต้องดิ้นรนต่อสู้ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม
ส่วนประเด็นที่ว่า ผู้คนยังคงมีความกังวลกับรายได้ที่ใช้จ่ายหรือไม่นั้น พบว่า
– 53% ของคนไทยกังวลปัญหาเงินเฟ้อ
– 48% ของคนไทยกังวลรายได้ของตัวเอง จะไม่เพียงพอในการใช้จ่าย
ทั้งนี้พบว่าช่องว่างระหว่างทัศนคติ กับความเป็นจริง แทบไม่มี Gap แล้ว (-5pts) สะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติ หรือมุมมองของผู้บริโภคนั้น สอคดล้องกับสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้น
โดยผู้คนมองว่าหลังจาก COVID-19 เริ่มคลี่คลาย คาดหวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่กลับยังต้องเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน, เงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น ในขณะที่ปี 2023 รัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้แล้ว จึงกระทบทั้งกระเป๋าเงิน ที่ค่าของเงินลดลงอีก และมีผลกับสภาวะจิตใจเช่นกัน
วิกฤต Globalization vs De-globalization: คนส่วนมากเชื่อว่าโลกาภิวัฒน์ยังดีสำหรับประเทศและตัวเอง
ในยุคหลัง COVID-19 มีการพูดถึง De-globalization มากขึ้น อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจครั้งนี้พบว่า ประชากร 6 ใน 10 คนทั่วโลก ยังเชื่อว่าโลกาภิวัฒน์ หรือ Globalization ยังเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา และประเทศของพวกเขา
– 66% ของคนทั่วโลกเห็นว่า Globalization ดีสำหรับประเทศของตนเอง
– 72% ของคนไทยเห็นว่า Globalization ดีสำหรับประเทศไทยเอง ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยของโลก
– 62% ของคนทั่วโลกเห็นว่า Globalization ดีในส่วนของตัวเขาเอง
นอกจากนี้สำหรับในไทย ยังพบว่า นอกจากคนไทยเปิดรับสินค้าแบรนด์ต่างประเทศแล้ว ยังชอบซื้อสินค้าไทยด้วยเช่นกัน
– 73% ของคนไทยบอกว่าหันมาซื้อสินค้าของไทยมากกว่าสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋า และเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็น – คุ้มค่าคุ้มราคา
– 75% ของคนไทยพึงพอใจซื้อในช่องทางออนไลน์ที่เสนอเงื่อนไขดีกว่า มากกว่าช่องทางการขายดั้งเดิม
วิกฤตสิ่งแวดล้อม: โลกเข้าสู่ยุคภัยพิบัติทางธรรมชาติ
รายงานนี้ได้ทำการสำรวจมุมมองของผู้คนทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า
– 8 ใน 10 คน มีความเห็นตรงกันว่า เรากำลังมุ่งหน้าสู่ภัยพิบัติด้านสภาวะแวดล้อม เว้นแต่ว่าผู้คนต้องมีการเปลี่ยนนิสัยอย่างเร่งด่วน โดยมีอัตราสูงถึง 80%
– ในตลาดภูมิภาคเอเชีย มีความกังวลใจสูงกับการเผชิญกับหายนะด้านสิ่งแวดล้อม โดยอินโดนีเซีย กังวลเป็นอันดับ 1 (92%) ตามมาด้วยเวียดนาม (91%) ฟิลิปปินส์ (88%) ไทย (86%) เกาหลี (85%) และอินเดีย (85%)
– สำหรับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมของไทย พบว่าในช่วง 2 – 3 ปีนี้คนไทยกังวลปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5
– อย่างไรก็ตาม 75% ของคนทั่วโลกเชื่อว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์ขณะนี้ยังไม่เห็นทางที่จะแก้ไขในจุดนี้ได้
วิกฤตด้านข้อมูล และเทคโนโลยี (Data Dilemmas & The Tech Dimension): กังวลสูญเสียความเป็นส่วนตัว
คนในเอเชียแปซิฟิก เริ่มมีความกังวลว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการพูดคุยกันผ่านแชทมากขึ้น ทำให้ Human Interaction น้อยลง, ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ และการกลั่นแกล้งบนออนไลน์ (Digital Bully)
– 60% ของคนในเอเชียแปซิก มีความกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิต
– 61% ของคไนทยมีความกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิต ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
– 81% รู้สึกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการควบคุมเทคโนโลยีขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และภัยทางเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกก็บอกเหมือนกันว่า จินตนาการไม่ได้เลย หากอยู่โดยปราศจากอินเทอร์เน็ต สะท้อนให้เห็นว่าชาวเอเชียเองก็ติดการใช้เทคโนโลยี และ Gadget ต่างๆ
– 71% ของคนเอเชียแปซิฟิกบอกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าขาดอินเทอร์เน็ต
– 73% ของคนไทยบอกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าขาดอินเทอร์เน็ต
ความเชื่อมั่นคนทั่วโลกต่ำสุดในรอบ 10 ปี – 80% ของคนไทยกังวลรัฐบาลไม่ดูแลอนาคต
ในโลกยุค A New World Disorder หรือโลกไร้ระเบียบเช่นนี้ ทำให้ทัศนคติของผู้คนทั่วโลก มองในเชิงลบมากขึ้น โดยพบว่า
– 65% ของกลุ่มตัวอย่างจากทั่วโลกเชื่อมั่นว่าปี 2023 จะดีกว่าปี 2022 ถือเป็นอัตราค่าเฉลี่ยต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากเดิมในปี 2022 อยู่ที่ 70%
สำหรับประเทศไทย ประชาชนเห็นว่าวิธีการต่างๆ ในปัจจุบันของผู้นำธุรกิจ ไม่ได้ทำเพื่อคนไทย พบว่า
– 80% ของคนไทยกังวลว่า รัฐบาลและบริการสาธารณะ จะไม่ดูแลอนาคตของพวกเขา ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ APAC ถึง 9%
– 36% ของคนไทย คิดว่ารัฐบาลทำงานได้ดีในแง่ของการวางแผนระยะยาวภายใน 10 ปีข้างหน้า
“ผลวิจัยพบว่าทัศนคติของผู้คนทั่วโลกมองโลกในเชิงลบมากขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเจอกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจริงๆ ทั้งโรคระบาด ไม่เคยคิดจะเกิด ก็เกิดขึ้น ตามมาด้วยสงคราม ไม่คาดคิดว่าจะลากยาวมาเป็นปี และยังเจอกับปัญหาเงินเฟ้อ ราคาข้าวของสูงขึ้น อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ภัยพิบัติต่างๆ และตอนนี้ยังมีสถานการณ์การเงินทั่วโลกอีก
ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจในความมั่นคง ปลอดภัย ซึ่งประชาชนรอดูว่าภาครัฐบาล และภาคเอกชนจะให้การช่วยเหลือและตั้งรับอย่างไรต่อวิกฤตต่างๆ เหล่านี้” คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และคุณพิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด ร่วมขยายความเพิ่มเติม
โอกาสและแนวทางของแบรนด์ รับมือท่ามกลางโลกยุควุ่นวาย
เมื่อทัศนคติและความเชื่อมั่นของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งไทยต่ำสุดในรอบ 10 ปี คนจึงเริ่มมีความคาดหวังที่จะเห็นความชัดเจนของแบรนด์และภาคธุรกิจมากขึ้น โดยผลสำรวจสำหรับประเทศไทยพบว่า
– 81% ของคนไทยเชื่อว่าแบรนด์สามารถให้การสนับสนุนและดูแลสังคมได้ ในขณะที่ธุรกิจก็มีกำไรด้วยเช่นกัน
– 71% ของคนไทยยินดีซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบ ถึงแม้จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม
– 57% ของคนไทยไม่เชื่อว่าผู้นำธุรกิจจะพูดความจริง แต่ในส่วนของไทยอยู่ในอัตรา 50% ที่ไม่เชื่อใจ
– 74% ของประชากรโลกรู้สึกว่า รัฐบาลและบริการสาธารณะยังทำน้อยมากให้กับผู้คนสำหรับอนาคตอันใกล้นี้
เพราะฉะนั้นแนวทางการดำเนินการของแบรนด์ รับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นคือ
1. วิกฤตเศรษฐกิจกระทบกระเทือนกระเป๋าสตางค์ของผู้คน แบรนด์ หรือธุรกิจมีโอกาสที่จะคิดใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างและวัตถุประสงค์ของธุรกิจและระบบ – เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
2. ผู้บริโภคต้องการให้มีใครมาช่วยแก้ปัญหาสภาวะวิกฤตของดินฟ้าอากาศ ไม่ใช่แค่เพียงออกนโยบาย แต่เป็นการลงมือทำ
3. หน้าที่ของธุรกิจและองค์กรที่มีบทบาทในการเชื่อมช่องว่างระหว่างความคาดหวังของผู้บริโภค และการตอบสนองของรัฐบาล
4. จากวิกฤตและความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้มูลค่าเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดน้อยลง กลายเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ไทยท้องถิ่น (Local Brand) เนื่องจากในยุคเงินเฟ้อ และสินค้าราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคไทยพิจารณาเลือกซื้อสินค้าไทยมากขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันแบรนด์ไทยมีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเช่นเดียวกับแบรนด์ต่างประเทศ ดังนั้นหากแบรนด์ไทยเข้าใจ sentiment จะเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยในการตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้
5. แบรนด์ที่สนันบสนุน-ร่วมดูแลสังคม แสดงความจริงใจ และสื่อสารอย่างชัดเจน จะเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ แม้แบรนด์นั้นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่ปรับขึ้นก็ตาม เพราะผู้บริโภคมองว่าในทางกลับกัน การอุดหนุนแบรนด์ที่ดูแลสังคม ถือเป็นการตอบแทนคืนสู่สังคมเช่นกัน
ทั้งนี้ “Ipsos” ได้จัดสัมมนา “Global Trends – Thailand Webinar” ผ่านช่องทางออนไลน์ ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาได้ที่ https://www.ipsos.com/en-th/ipsos-global-trends-2023-thailand-webinar