ต้องยอมรับว่า กรณีที่เฟดมีนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น บวกกับความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังแม้จะมีการผ่อนคลายเปิดเมืองแล้วก็ตาม ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนยังเกิดความไม่มั่นใจทำให้ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับที่ทรงตัว
จากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 83.91 ปรับตัวลดลง 12.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้ข้อมูลว่า นักลงทุนมองการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด
รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED รองลงมาคือ ความกังวลต่อสถานการณ์ Covid-19 ที่อาจระบาดอีกครั้งหลังรัฐบาลเปิดประเทศ และความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซีย—ยูเครน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
• ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (สิงหาคม 2565) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ลดลง 12.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 83.91
• ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคล และ กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ “ซบเซา
• หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
• หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
• ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว
• ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED
ผลสำรวจ ณ เดือนพฤษภาคม 2565 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 7.1% อยู่ที่ระดับ 105.32 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ทรงตัว อยู่ที่ระดับ 75.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 2.8% อยู่ที่ระดับ 82.61 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 40.0% มาอยู่ที่ระดับ 60.00
ในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม 2565 SET Index ปรับตัวลดลงตามตลาดโลก จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตลาดทุนไทยปรับตัวได้ดีขึ้น จากการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยที่ออกมาดีกว่าคาด ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวต่อภาคท่องเที่ยวหลังรัฐบาลผ่อนคลายนโยบาย และนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคม มีมูลค่าซื้อสุทธิ 20,938 ล้านบาท และซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 139,058 ล้านบาท ส่งผลให้ SET index ปิดที่ 1,663.41 จุด ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.2% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ วิกฤติการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ รวมถึงสถานการณ์รัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ วิกฤติพลังงานซึ่งส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ วิกฤติการขาดแคลนอาหารโลก แนวทางการรับมือกับเงินเฟ้อของ FED รวมถึงติดตามนโยบาย Zero-Covid ของรัฐบาลจีนซึ่งกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มนโยบายการเงินของ ธปท. ที่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น มาตรการของภาครัฐในการบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายนนี้
กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% หวังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. รายงานผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. (8 มิ.ย.65) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50 % เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และได้เพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้เป็น 3.3% จากเดิมอยู่ที่ 3.2% จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีเกินคาด โดยเฉพาะในหมวดบริการรวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% และ 2.5% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ
ซึ่งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างความเปราะบาง และยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง ว่าหลังจากนี้สถานการณ์หลังจากเปิดเมืองแล้วจะมีการขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน