ทิศทางของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

การพัฒนาเทคโนโลยีการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงในปัจจุบันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 16.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 13.4 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากมุมมองของการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศกลับพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สาเหตุสำคัญที่สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยยังค่อนข้างน้อย เพราะโครงข่ายอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง
 
internet_005ทิศทางและแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น ความต้องการส่วนใหญ่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงมุ่งไปที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของผู้สมัครใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่แนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบธรรมดาในระบบความถี่แคบ (Narrowband) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ (Dial-up) มีปริมาณการใช้งานลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้บริการผ่านการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line) ซึ่งก็คือเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงบนข่ายสายทองแดงหรือคู่สายโทรศัพท์ โดยปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่าร้อยละ 80 ของตลาดการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด นอกจากนั้นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างเห็นได้ชัด และมีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง คือการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Internet) ซึ่งได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี 3G เพื่อให้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถรองรับการให้บริการภาพและเสียง และการรับส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี  WAP, GPRS, EDGE และ Bluetooth เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้วยังมีการพัฒนาจนกระทั่งสามารถใช้เครื่องโทรศัพท์ 3G แทนการใช้โมเดมเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานในต่างจังหวัดจำนวนมากยังคงใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำหรืออินเทอร์เน็ตแบบธรรมดาอยู่ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเทคนิคและอัตราการคุ้มทุนของผู้ให้บริการในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดทางด้านการขยายโครงข่ายและเทคโนโลยีไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการวางโครงข่าย

สำหรับทิศทางการเติบโตของปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  • 1. ปัจจัยทางด้านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้แก่ การขยายความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลหรือปริมาณการขยายแบนด์วิธ (Bandwidth) ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง โดยในเดือนมิถุนายน 2552 ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศอยู่ที่ 62 Gbps และการใช้ภายในประเทศอยู่ที่ 251 Gbps ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 28 สำหรับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ และร้อยละ 100 สำหรับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศทั้งนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ในประเทศไทยปี 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 106 ราย แบ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่ 1 จำนวน 91 ราย แบบที่ 2 จำนวน 13 ราย และแบบที่ 3 จำนวน 2 ราย  ดังจะเห็นได้ว่ามีเพียงผู้ให้บริการบางรายเท่านั้นที่เป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ (IIG) แม้ว่าปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะอนุญาตให้มีการเปิดเสรี IIG แล้วก็ตาม แต่จำนวนผู้ให้บริการก็ยังคงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการแบบที่ 1 สำหรับกลุ่มของ ISP  ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งผู้ให้บริการรายใหญ่และรายย่อย
  • 2. ปัจจัยทางด้านผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ได้แก่ จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Subscribers) ซึ่งปี 2551 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แล้วกว่า 9 แสนราย นอกจากนั้นจาก

รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคมไตรมาส 4 ปี 2551 ของ กทช. ระบุว่า อัตราส่วนประชากรต่อจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ร้อยละ 1.6 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.3 ในปี 2556 จากอัตราส่วนที่ค่อนข้างต่ำนี้เองทำให้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังคงมีโอกาสในการขยายอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากและกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพในที่สุด

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี 3G ซึ่งเริ่มมีการให้บริการเชิงพาณิชย์ในหลายๆ พื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาและขยายโครงข่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้งานในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี 3G แล้วจะไม่พูดถึงเทคโนโลยี WiMAX (Worldwide Interoperability for Microwave Access) คงจะไม่ได้ เนื่องจากเทคโนโลยี 3G เป็นการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ WiMAX เป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และโน้ตบุคทั่วๆ ไป และเป็นเทคโนโลยีหลักที่เกิดมาเพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่นอกเขตเมืองนั่นเอง

จึงคาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย คือ Power Line Broadband ซึ่งเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกรูปแบบหนึ่งผ่านสายไฟฟ้า แต่ก็มีศักยภาพการให้บริการสูงในอนาคต เนื่องจากมีความสะดวกและเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากที่สุด ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป คืออัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีราคาถูกลงและจะยังคงมีแนวโน้มลดลงอีกเมื่อเทียบกับความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

เนื่องจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้ผู้ให้บริการรายใหญ่ใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คือธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขายของออนไลน์ เกมส์ออนไลน์ การให้บริการดาวน์โหลดคอนเทนต์ออนไลน์โดยเฉพาะเพลงและภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและอีเพย์เมนต์ รวมถึงการประชุมทางไกลผ่าน Video Conference และการให้บริการ VoIP เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งเสริมกันและกันเป็นวงจรของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศ โดยยิ่งเทคโนโลยีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องที่ให้บริการโดยอาศัยอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีจำนวนผู้ให้บริการและประเภทบริการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และธุรกิจเหล่านี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เมื่อมีความต้องการใช้งานในปริมาณที่สูงก็ย่อมทำให้ผู้ให้บริการโครงข่ายมีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการมากขึ้นด้วย จนกระทั่งกลายเป็นวงจรของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในที่สุด

ทางด้านของพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ยังคงนิยมการใช้งานเว็บไซต์ Social Networking  ประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยบริการที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ได้แก่ Blogs, Social Web เช่น Hi5, Twitterr, Myspace รวมถึงการติดตามข่าวสารออนไลน์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นิยมใช้บริการวิดีโอออนไลน์ ทั้งแบบดาวน์โหลดและแบบรับชมสด (Streaming Video) ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาหลีใต้ปัจจุบัน คือ UCC Site ซึ่งตามรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศเกาหลีใต้ปี 2008 จัดให้เป็นไฮไลต์ของปีที่สั่นสะเทือนวงการโทรทัศน์และวงการโฆษณาออนไลน์ของเกาหลีได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม บริการดังกล่าวยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในประเทศไทย  แต่หากในอนาคตอันใกล้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพในเรื่องของความเร็วและความเสถียรของการรับ-ส่งข้อมูล คาดได้ว่าบริการในรูปแบบเดียวกันนี้จะได้รับความนิยมด้วยเช่นเดียวกัน

บทความดีๆ จาก Ecommerce Magazine
logo_ecommerce


  •  
  •  
  •  
  •  
  •