Fidelity บริษัทและศูนย์วิจัยทางการเงินยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ ได้ออกเปเปอร์วิจัยอย่าง The Business Cycle Approach to Equity Sector Investing ซึ่งมีใจความว่า ในแต่ละช่วงเวลาของเศรษฐกิจ ไม่ว่าขึ้นหรือลง ย่อมมีความพิเศษเฉพาะตัว สามารถเปิดช่องทางแก่การลงทุนได้เสมอ ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนจะต้อง ‘รู้แกว’ เลือกลงทุนให้ถูกช่วงเวลา และถูก sector เพื่อส่งผลต่อทั้งในแง่กำไรระยะสั้น-ยาว การเก็งกำไร หรือปรับพอร์ตท่านๆ ให้กลับมาสีเขียวอีกครั้งหนึ่ง เช่นนี้ ก็จะเป็นผลทำให้นักลงทุนทุกท่านสามารถคาดการณ์การงทุนให้ถูกที่ถูกเวลาได้ตลอด เพราะช่วงเวลาของเศรษฐกิจจะวนเวียนเป็นวัฏจักร (Cycle) ไปเรื่อยๆ เสมอๆ หรือก็คือ เศรษฐกิจนั้นมี pattern เป็นของตัวเอง และเป็นเช่นนี้เสมอไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม โดยช่วงเวลาดังกล่าวมี 4 แบบ ดังต่อไปนี้
Early-cycle phase
แบบแรก เป็นช่วงเริ่มฟื้นตัวจาก Recession (Early-cycle phase) เป็นช่วงเวลาประมาณ 1 ปี โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มมีมากขึ้น เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทำให้รายได้ต่อหัวมีมากขึ้น GDP ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย และจะทำให้รัฐกำหนดนโยบายการเงินแบบปล่อย กำหนดดอกเบี้ยต่ำลง ส่งผลให้ออกสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ช่วงเวลานี้ จึงควรลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอ่อนไหว (Sensitive Industry) อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรม การเงิน และสินค้าฟุ่มเฟือย ให้คิดตามว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มได้รับการปล่อยมากขึ้น ลดดอกเบี้ยลง คนเริ่มมีเงินในมือมากขึ้น คนจับจ่ายกันมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้อานิสงส์จากการขายของได้ สินค้าฟุ่มเฟือยก็เป็นผลพลอยได้ และจากการที่มาตรการทางการเงินผ่อนคลายลง ก็จะทำให้เป็นโอกาสแห่งการ ‘ตักตวง’ ในภาคส่วนการเงินตามไปด้วย
Mid-cycle phase
ต่อมา เป็นช่วงฟื้นเรื่อยๆ ไปจนถึงจุดสุดยอด (Mid-cycle phase) เป็นช่วงเวลาประมาณ 3-4 ปี เหมือนส่วนต่อขยายจากข้างต้น แต่จะเป็นแบบเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไม่ได้เปรี้ยงปร้าง การจ้างงาน รายได้ต่อหัว GDP จะเริ่มอยู่ในระดับกลางค่อนสูง หรือก็คือ ช่วงเศรษฐกิจนี้ เป็นช่วงที่ทุกอย่างจะ ‘กลางๆ’ ไปเสียหมด
ช่วงเวลานี้ ค่อนข้างตอบยากที่จะบอกว่าควรลงทุนในภาคส่วนใด เพราะช่วงเศรษฐกิจนี้ แต่ละภาคส่วนจะสลับกันขึ้นมามีบทบาท บางทีก็น่าลงทุน บางทีก็ไม่น่าลงทุน แต่หากจะลงทุน ควรลงทุนในภาคส่วนที่ ‘กลาง’ ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อาทิ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะการจับจ่ายใช้สอยก็ยังคงมีต่อเนื่อง การผลิตก็ยังคงไปต่อได้ รวมถึงมนุษย์ยุกดิจิทัลไม่สามารถขาดเทคโนโลยีได้ ทำให้เกิดการ play save สำหรับการลงทุนมากที่สุด
Late-cycle phase
ขั้นต่อไป เป็นช่วงเบรกความร้อนแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (Late-cycle phase) เป็นช่วงเวลาประมาณ 1-2 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจโดยภาพรวมเติบโตขึ้นมาจนถึงขีดสุด ส่งผลให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ มีเงินไหลเวียนในระบบมากขึ้น จากสองช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐและธนาคารกลางต้องออกนโยบาย ‘รัดเข็มขัด’ ดึงเงินกลับสู่ระบบ โดยการขึ้นดอกเบี้ย หรือลดการขายพันธบัตรลง ส่งผลให้การทำกำไรลดลงตามไปด้วย
ช่วงเวลานี้ จึงควรลงทุนในภาคส่วนที่เงินเฟ้อไม่สามารถทำอะไรได้ อาทิ พลังงาน สาธารณูปโภค สินค้าอุปโภค เพราะภาคส่วนเหล่านี้ เป็นสินค้าจำเป็นสำหรับการดำรงชีพ ราคาไม่ค่อยแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจ
Recession
และท้ายสุด เป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่ง ณ เวลานี้ ผู้คนต่างคุ้นเคยกันดี เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยในระยะยาว เศรษฐกิจชะงักงัน หรือเคราะห์ร้ายอาจกลายเป็นสภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจย่ำแย่ (Stagflation) ช่วงวัฏจักรนี้ ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน หากดำเนินนโยบายผิดพลาด ย่อมหมายถึงเศรษฐกิจ ‘เกม’ เช่นกัน
ช่วงเวลานี้ ที่จริงไม่ควรลงทุน ควรเก็บเงินของท่านไว้ แต่หากต้องการลงทุน ควรลงทุนในภาคส่วน การแพทย์ และการสื่อสาร เพราะถือได้ว่า ปลอดภัยที่สุด มั่นคงที่สุด และสามารถหากำไรในวิกฤตได้ (โปรดดู สร้างโอกาสในวิกฤต!)
ข้อควรระวัง
ทั้งนี้ แม้จะสามารถ คิดครอบคลุม (Generalise) ได้ว่า เศรษฐกิจมีรูปแบบวัฏจักรเป็นแบบนี้เสมอๆ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ‘แต่ละประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเดียวกัน’ หรือก็คือ ในแต่ละช่วงวัฏจักร อาจจะเกิดขึ้นกับอีกประเทศหนึ่ง แต่อีกประเทศหนึ่งกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง อาทิ ตอนนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วง Recession แต่สหรัฐอาจจะอยู่ในช่วง Mid-cycle phase ส่วนบรรดาประเทศยุโรปอาจอยู่ในช่วง Late-cycle phase ก็เป็นได้
หรือบางครั้ง การ take action ระหว่างรัฐด้วยกัน ก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนช่วงวัฏจักรในประเทศนั้นๆ อย่างฉับพลันทันที หรือจากหน้ามือเป็นหลังมือ อาทิ หากสหภาพยุโรปตั้งกำแพงภาษีหรือกีดกันทางการค้าการนำเข้าข้าว ก็จะทำให้ไทยส่งออกข้าวไปลำบาก อาจทำให้ไทยทวีการเกิด Recession ขึ้นได้ หรือหากเกาหลีใต้ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่เวียดนามมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานในเวียดนาม อาจทำให้เวียดนามเข้าสู่ช่วง Mid-cycle phase เร็วขึ้น
ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจจะต้องหรือควรมีความรู้ทางด้าน ‘การต่างประเทศ และการระหว่างประเทศ (Foreign/International Affairs)’ ร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการ ‘รู้เท่าทัน’ และ ‘ตามให้ทัน’ ความเป็นไปของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนอย่าง ‘ลื่นปรื๊ด’ ไม่มีสะดุด ลงทุนอย่างไรก็มีแต่ ปัง ปัง ปัง!!!
ที่มา: