ปัจจุบันสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ยืดเยื้อยาวนานส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย บวกกับทิศทางของหลายประเทศที่ต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จึงเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจฟื้นตัวค่อยข้างช้า แต่อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงช่วยหนุนขยับการเติบโตขึ้นมาบ้าง
ล่าสุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไตรมาส 1/2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒนา (สศช.) ระบุว่า ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนการประเมิน GDP ทั้งปี 2565 คาดการณ์ว่าจะลดลงจากระดับ 3.5 – 4.5% เหลือ 2.5 – 3.5% หรือค่ากลางที่ 3% เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังสู้รบยืดเยื้อจึงเป็นสาเหตุส่งผลให้กระทบกับเศรษฐกิจโลก
เงินเฟ้อ เดือน พ.ค.65 พุ่ง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี
ต้องยอมรับว่า ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐในบางโครงการได้สิ้นสุดลง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 สูงสุดในรอบ 13 ปี โดยรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 106.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% และเพิ่มขึ้น 1.40% จากเดือนเมษายน 2565 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – พฤษภาคม 2565) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.19% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ค.65 อยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.28% และเพิ่มขึ้น 0.17% จากเดือน เม.ย. 65 ส่งผลให้ CORE CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกอยู่ที่ 1.72%
ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 ของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ซึ่งเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ หรือความต้องการและความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน หรือปริมาณความต้องการในการเสนอขายสินค้า หรือบริการ และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 7.10% มาจากสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 35.89% ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8% จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหาร สูงขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ มีสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาสูงขึ้น 190 รายการเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, เนื้อสุกร, ค่ากระแสไฟฟ้า, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, ก๊าซหุงต้ม, ข้าวสารเจ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง 163 รายการ ได้แก่ มะนาว, พริกสด, ผักกาดขาว, มะม่วง, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และนมสด เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 77 ราย
สำหรับทิศทางอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าและบริการที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเดือนมิถุนายน 2565 เนื่องจากในเดือนนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการหารือกัซาอุดิอาระเบียเพื่อขอให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณที่ช่วยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงได้บ้าง
ส่งออก – ท่องเที่ยว ส่วนกระแสเงินเฟ้อ ดันเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง
แม้ว่า ความกดดันการสู้รบในรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ส่งผลต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานการผลิต และปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ภาคของการส่งออกเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ส่งออกไทยเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 10% จากตลาดคาด 14.6% และส่งออกช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม –เมษายน 2565) มีมูลค่ารวม 97,122.8 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 13.7%
ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก ที่อยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีหลายปัจจัยที่ช่วยให้การส่งออกเติบโตในอนาคตได้อีกเช่น การเร่งรัดการส่งออกข้าว, การขยายความร่วมมือกับตลาดการค้าใหม่ๆ, การลงนามในมินิเอฟทีเอ, การประชุมเจทีซีไทย-เวียดนาม, การเจรจาระดับทวิภาคี, การส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์, ภาคการผลิตโลกยังมีการเติบโต และเงินบาทอ่อนค่า เป็นต้น
ขณะที่ภาคของการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้จากการแรงขับเคลื่อนของภาครัฐที่สนับสนุนการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศก็ตาม โดย โดยสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ข้อมูลว่า การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศประมาณ 6 – 8 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจะยังคงผันผวน ส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อไปทั่วโลกและในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องจับจ่ายใช้สอยมีความระมัดระวังในการซื้อหรือใช้บริการมากยิ่งขึ้น ทำให้ค่าของเงินนั่นลดลงไปด้วย
- 5 วิธีการลงทุน ที่ชนะเงินเฟ้อได้ไม่ยาก
- “ทองคำ” สินทรัพย์ปลอดภัยในยาม วิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลก สงครามรัสเซีย – ยูเครน
- 9 บริษัทมหาชน ตบเท้าออกหุ้นกู้ เดือนมิ.ย.65 ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ เฉลี่ยประมาณเกือบ 7%
- เงินเฟ้อพุ่ง น้ำมันแพง ส่งออกพัง สะเทือนธุรกิจ SME อ่วมหนัก ต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้
- ทำความเข้าใจ ภาวะเงินเฟ้อสูง ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ประชาชน คนทำงาน ต้องรับมืออย่างไร?
- คุมไม่อยู่! ยุควิกฤตเงินเฟ้อพุ่ง สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง กระทบหนักทั่วโลก
-
กองทุนทองคำ หลุมหลบภัยในยามที่ตลาดตึงเครียด ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีโดดเด่นชนะเงินเฟ้อ ประมาณ 13 – 15%