“เงินเฟ้อ” ความกังวลอันดับ 1 คนทั่วโลก – ธุรกิจใช้เทคนิค “Shrinkflation” ผู้บริโภคจ่ายมากขึ้น แต่ได้ของน้อยลง

  • 335
  •  
  •  
  •  
  •  

Inflation and Shrinkflation

Ipsos” (อิปซอสส์) เปิดรายงานการศึกษาชุดพิเศษ What worries the World – What worries Thailand H 2 & Inflation Monitor 2023 เป็นผลสำรวจเกี่ยวกับความกังวลของคนทั่วโลก และคนไทยชุดที่ 2 ของปี 2023 พบว่า ”ภาวะเงินเฟ้อ” ครองอันดับหนึ่งความกังวลคนทั่วโลกต่อเนื่องกว่า 20 เดือน ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดภาวะ Shrinkflation เทคนิคลดขนาด หรือปริมาณสินค้า ในราคาเท่าเดิม กลายเป็นเทคนิคที่ธุรกิจทำกัน จนกลายเป็นกระแสพาดหัวข่าวไปทั่วโลก ซึ่งผู้บริโภครู้สึกไม่ยอมรับการลดขนาดสินค้า แม้ราคาจะคงเดิม

Ipsos-What worries Thailand H2 2023

ในส่วนของแนวโน้มความกังวลใจสูงุสุด 5 อันดับของประชากรไทยยังคงเป็น ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม (43%) ตามมาด้วย การทุจริตทางการเงินหรือการเมือง  (40%), ภาวะเงินเฟ้อ (35%), การว่างงาน (24%) และความรุนแรงและอาชญากรรม (23%)

Ipsos-What worries Thailand H2 2023

 

50% ของคนไทยเชื่อว่าปี 2024 ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอีกอย่างแน่นอน

เมื่อถามถึงสภาวะเศรษฐกิจในประเทศพบว่า ความเชื่อมั่นในมุมมองของประชากรไทยต่อ “สภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอยในอัตรา 72% ลดลงเป็น 61% ในปัจจุบัน

คนไทย 50% เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศในปัจจุบันเข้าขั้นแย่ ซึ่งลดลงจาก 57% ในเดือนเมษายน 2023

และแม้ว่า 6 ใน 10 (61%) ของคนไทยกล่าวว่า มีคนในครอบครัว หรือคนที่พวกเขารู้จักเป็นการส่วนตัว ได้ตกงาน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ 50% ของคนไทยก็คาดว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของตน รวมถึงสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

Ipsos-What worries Thailand H2 2023Ipsos-What worries Thailand H2 2023

ส่วนในแง่ “การใช้จ่ายและการครองชีพ” พบว่า 50% ของประชาชนคนไทยมองว่า “ราคา” สินค้าและบริการในปี 2024 จะสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน

โดยคนไทยคาดการณ์ว่ากลุ่มสินค้าต่างๆ เหล่านี้จะมีราคาสูงขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าคือ

– อาหาร (61%)

– ของใช้ในครัวเรือน (61%)

– ค่าสาธารณูปโภค (59%)

– ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (59%) 

– รับประทานอาหารนอกบ้าน (41%)

– ค่าสมาชิก Streaming Service (31%)

– ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน/ค่าเช่าบ้าน (36%)

Ipsos-What worries Thailand H2 2023

คนไทยเชื่อว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น มาจากปัจจัยหลักเหล่านี้

– 77% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
– 77% นโยบายของรัฐบาลแห่งชาติ
– 76% สภาวะของเศรษฐกิจโลก
– 75% คนงานเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น
– 74% ธุรกิจทำกำไรมากเกินไป

Ipsos-What worries Thailand H2 2023 

 

เกิดภาวะ “Shrinkflation” เทคนิคปรับลดขนาด/ปริมาณสินค้า ทำผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ได้น้อยลง

สถานการณ์  Shrinkflation เป็นภาวะ “ผู้บริโภคจ่ายมากขึ้น แต่ได้ของน้อยลง” กลายเป็นทั้งประเด็นใหญ่ในหมู่ผู้บริโภค และเป็นกระแสพาดหัวข่าวในปี 2023 โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในยุควิกฤตค่าครองชีพสูงขึ้น

Shrinkflation เกิดจากภาคธุรกิจต้องการลดต้นทุน และรักษาความสามารถด้านการทำกำไร จึงใช้วิธีปรับลดขนาดสินค้า ลดปริมาณ หรือปรับส่วนผสม แต่ขายในราคาเท่าเดิม

แม้แบรนด์ หรือผู้ผลิตจะตรึงราคาไว้ แต่เมื่อเทียบกับปริมาณ หรือขนาดสินค้าที่ลดลงจากเดิมที่เคยได้ในราคาเท่ากัน นั่นเท่ากับว่าสินค้านั้นมีราคาสูงขึ้น โดยที่ผู้บริโภคได้ของน้อยลง ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “เทคนิคการตลาดที่หลอกลวง” ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับการแจ้งเตือนหากมีการลดขนาดลง

ในกรณีนี้ จากการสำรวจในไทยพบว่า
– 39%  ของผู้บริโภคชาวไทยสังเกตเห็นขนาดสินค้าเล็กลง แต่ราคาคงเดิม

– 57% ทราบว่าต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ขนาดสินค้าเท่าเดิม

– 29% สังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลงของส่วนผสมที่ใช้ในอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยที่ราคาคงเดิม

Ipsos-What worries Thailand H2 2023

สินค้า 10 อันดับที่คนไทยสังเกตว่ามีการลดขนาดหรือปริมาณ ได้แก่

– 52% ขนมขบเคี้ยว  (มันฝรั่งทอดกรอบ เพรทเซล ฯลฯ)

– 50% กลุ่มอาหารสำเร็จรูป   (อาหารแช่แข็งหรืออาหารสด พิซซ่า ฯลฯ)

– 46% ช็อคโกแลตและขนมหวาน

– 40% ผักสด / ผลไม้

– 36% ของว่างแช่แข็ง / ไอศกรีม / ของหวานแช่แข็ง

– 34% เครื่องดื่มไม่อัดลม (น้ำผลไม้ น้ำหวาน ฯลฯ)

– 34% ขนมปัง

– 31% เนื้อสดหรือแช่แข็ง

– 31% นม / เครื่องดื่มนม

– 30% กาแฟ

Ipsos-What worries Thailand H2 2023

ทั้งนี้  50% ของคนไทยคิดว่าการที่ธุรกิจและผู้ค้าปลีกทำการลดขนาดผลิตภัณฑ์  โดยยังคงราคาเท่าเดิม เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 22% อย่างมีนัยสำคัญ

Ipsos-What worries Thailand H2 2023

 

Ipsos ชี้ผลกระทบ 6 กลุ่มธุรกิจจากค่าครองชีพสูงขึ้น

กลุ่มธุรกิจ CPG: แม้จำนวนคนที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ในบ้านจะสูงขึ้นในปี 2024 จะมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ แต่แบรนด์ยังคงต้องระมัดระวังในเรื่องของวิธีการลดต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษากำไร

– 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 33 ประเทศทั่วโลก กล่าวว่าพวกเขารับไม่ได้หากธุรกิจและร้านค้าปลีกต่างๆ ลดขนาดผลิตภัณฑ์ของตนลง ในขณะที่ยังคงราคาไว้เท่าเดิม เพื่อตอบสนองต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

– 62% เชื่อว่าการที่ “ธุรกิจทำกำไรมากเกินไป” เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติค่าครองชีพ

ดังนั้นแบรนด์จึงต้องให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์” (Experience) ของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะไม่รู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบมากจนเกินไป

กลุ่มธุรกิจบริการ (Hospitality): ผู้บริโภคในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการออกไปสังสรรค์ (ตามร้านอาหาร, บาร์, โรงภาพยนต์, ฯลฯ) จะสูงขึ้นในช่วงปี 2024 ความคาดหมายเหล่านี้ของผู้บริโภค จึงทำให้ “ประสบการณ์” (Experience) มีความสำคัญมากขึ้น

กลุ่มค้าปลีก (Retail): ผู้บริโภคที่คิดว่ารายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) หรือรายรับที่จับจ่ายได้ “จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า” มีจำนวนมากขึ้น ขณะที่จำนวนคนที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ในบ้านในปีหน้า มีสัดส่วนต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ Ipsos Inflation Monitor

ผู้คนเริ่มสังเกตเห็นขนาดสินค้าที่ลดลงตามร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต และมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในหลายประเทศที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้ มีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศที่เข้าข้างผู้บริโภคและเริ่มจับตามองผู้ผลิตมากขึ้น

กลุ่มบริการด้านการเงิน (Financial services): อัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจโลกถูกมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติค่าครองชีพ อย่างไรก็ตามมีคนจำนวนน้อยลงที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศของพวกเขาจะสูงขึ้น ขณะที่คนที่คาดว่าค่าผ่อนหรือเช่าที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้น มีจำนวนไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่

เราอาจเห็นการรีไฟแนนซ์น้อยลงในประเทศที่ “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่” มีความแพร่หลาย มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่คาดว่าจะมีเงินใช้จากรายรับหลังหักภาษีมากขึ้นในปีหน้า แต่ความกังวลทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมยังทำให้พวกเขาออมเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับช่วงคับขันที่อาจเกิดขึ้น

กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities): โดยเฉลี่ย 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน 33 ประเทศ คาดว่าค่าบริการสาธารณูปโภคจะเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งไม่ค่อยต่างจากช่วงเดือนเมษายนแต่ลดลงถึง 9% จากปี 2022

อย่างไรก็ตามมีผู้คนในหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวยุโรปที่คาดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายน

กลุ่มสื่อและบันเทิง (Media and Entertainment): โดยเฉลี่ย 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน 33 ประเทศ คาดว่า “ค่าสมัครบริการ” (Subscriptions) ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า เพิ่มขึ้น 4% จากการผลสำรวจรอบก่อนในเดือนเมษายน และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ Ipsos Inflation Monitor การที่มีสมาชิกบริการ Streaming เริ่มลดลงในหลายประเทศ จึงทำให้ “ความคุ้มค่า” เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการควรคำนึงถึงมากขึ้นในปี 2024

Ipsos Thailand
คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ, Ipsos ประเทศไทย

ทั้งนี้รายงาน What worries the World – What worries Thailand H 2 & Inflation Monitor 2023 เป็นการสำรวจระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2023 ถึง 3 พฤศจิกายน 2023 โดยทำการมอนิเตอร์ความกังวลของประชากรโลก ใน 29 ประเทศ จำนวน 20,570 คน ผ่าน Ipsos Online Panel และสำหรับหัวข้อมอนิเตอร์ภาวะเงินเฟ้อ สำรวจใน 33 ประเทศ จัดทำบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จำนวน 24,792 คน โดยกลุ่มตัวอย่างสำรวจ 500 – 1,000 คนขึ้นไปในแต่ละประเทศ ทำการสำรวจ


  • 335
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ