E-Sport ถูกพูดถึงในช่วงปีสองปีนี้ เพราะทั้งวงการกีฬาและธุรกิจต่างก็ให้ความสนใจ ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Alisports ที่แจ็ค หม่าออกมาให้ข่าวร่วมกับฝ่ายของ OCA (Olympic Council of Asia) บรรจุให้ E-Sport อยู่ในเอเชี่ยนเกมในปี 2022
ซึ่งว่ากันตามตรง E-Sport นั้นเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2543 แล้ว แต่ในขณะที่บ้านเราไม่สนับสนุนกับอย่างจริงจังส่วนหนึ่งอาจเพราะคนที่เล่นเกมจริงจังยังถูกมองว่าเป็นเด็กติดเกม เป็นปัญหาสังคม ต่างประเทศโดยเฉาพะในแถบเอเชียกลับสนับสนุนให้เล่นจนกลายเป็นกีฬา มีการแข่งขันเป็นเรื่องเป็นราว
E-Sport เหมือนกับกีฬาตรงที่มันเป็นเกมเหมือนกัน มีกฎกติกาเหมือนกัน ตัวกีฬาเดิมยังมีอยู่ แต่ E-Sport จะทำลายข้อจำกัดของการเข้าถึงและการเล่น ทำให้คนที่อายุน้อยกว่าก็เล่นได้ คนดูก็ไม่ต้องไปดูที่สนามกีฬา แค่หยิบสมาร์ทดีไวซ์ก็ดูถ่ายทอดสดได้ เราอาจจะมองว่ามันก็เป็นแค่เกม แต่เกมออนไลน์นี่แหละที่ทำลายข้อจำกัดของกีฬาเดิมๆจนถูกยอมรับว่าเป็น E-Sport และกำลังเป็นที่นิยม นี่ยังไม่พูดถึงเทคโนโลยีอย่าง AR (Augmented Reality) VR (Virtual Reality) และ AI (Artificial Intelligence) ที่จะมาเสริมประสบการณ์ให้ทั้งคนเล่นและคนดูในอนาคตอีก – Andy Mitten จาก ESPN ในงาน Web Summit 2017
1. ธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์สปอนเซอร์สร้างแบรนด์เป็นหลัก
จากรายงานของ Newzoo บอกชัดว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคนสนใจ E-Sport อยู่ 9.5 ล้านคน มีคนไทยอยู่ 1.1 ล้านคน ตอนนี้มีคนดู E-Sport เป็นประจำทั่วโลกกว่า 190 ล้านคน มีคนดูเป็นครั้งคราวอยู่ที่ 194 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 20% ทุกปี เกมอย่าง League of Legend กลายมาเป็น E-Sport โดยเฉพาะในจีนที่มีคนดูในรอบชิงแชมป์ทัวร์นาเมนท์ที่สเตเดี้ยมกว่า 60,000 คน
ฉะนั้นไม่มีจังหวะไหนที่เหมาะกับการสปอนเซอน์อีเวนท์ E-Sport หรือทีมกีฬา ได้เท่าตอนนี้อีกแล้ว
ปี 2016 Coca Cola ออกมาสนับสนุน eSport อย่าง League of Legend
Intel ก็เข้ามาในวงการ eSport
กระทิงแดงสนับสนุนอีเวนท์แข่ง Starcraft 2
Samsung ที่สนับสนุนนักกีฬา eSport
หรือในบ้านเราก็มี Acer ที่เคยจัดแข่ง DotA 2 คัดเลือกนักกีฬาไปแข่งที่อินโดนิเซีย มีสมาคมไทยอีสปอร์ตสนับสนุนอยู่ หลังจากที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเห็นชอบว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง
ในวงการ eSport เม็ดเงินส่วนใหญ่จะมาจากโฆษณาและสปอนเซอร์เป็นหลัก
2. ธุรกิจ Gaming Gear และอินเตอร์เน็ตคาเฟ่
ไม่ว่าจะเป็นเมาส์เล่นเกม Logitech G Pro ที่เปิดตัวกลางปีนี้ ที่เป็นรุ่นต่อจาก Logitech G100S ที่หมู่นักแข่ง E-Sport ใช้กัน BenQ ที่มีเกมมิ่งเกียร์และจอมอนิเตอร์ใต้แบรนด์ Zowie ที่มีข่าวเมื่อกลางปีที่แล้วก็สนใจบุกตลาดคนเล่น E-Sport ส่วนแบรนด์อื่นๆที่บรรดาคอเกมเมอร์รู้จักดีอย่าง Razer, Roccat, CM Storm และ Tt E-Sport ก็มีโอกาสทำยอดขายในกระแส E-Sport
ส่วนร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่เล็กใหญ่ก็มีแนวโน้มกลับมาคึกคักอีกครั้งเพราะมันไม่ใช่แค่ร้านสำหรับคนที่ถูกมองว่าเป็นเด็กติดเกม แต่มันกลายเป็นสถานที่ไว้ฝึกซ้อม E-Sport ด้วย (นี่ยังไม่รวมพวกธุรกิจเล็กน้อยๆอย่างทำเสื้อทีมกีฬาขายนะ)
3. ธุรกิจผู้ให้บริการเกม
ซึ่งก็หนีไม่พ้นเกมยอดฮิตอย่าง League of Legends (LoL), HoN, Fifa Online, Pointbreak GSL, Blade & Soul, Starcraft 2, Hearthstone, NBA 2K และอื่นๆอีกเพียบ ซึ่งงานนี้ธุรกิจหลักอย่าง Ailsport, Tencent และ Garena ก็เข้ามาช่วยจัดการแข่งขันในวงการ E-Sport ซึ่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม Garena เปิดเผยว่า การแข่งขันอย่าง GarenaStar League เป็นการแข่ง E-Sport ที่ใหญ่ที่สุดในแถบอาเซียน มีคนร่วมงานกว่า 150,000 คนมีคนดูออนไลน์อีก 250,000 คน
และแน่นอนคือพวกที่เล่นเกมจนกลายเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวได้ ซึ่งต่างจากเด็กติดเกมตรงที่นักกีฬาพวกนี้ไม่ได้เล่นเกมกันจนลืมเวลา แต่ตรงกันข้ามคือแบ่งเวลา มีวินัยในการฝึกซ้อมและศึกษาวิธีการเล่นการเอาชนะกันอย่างจริงจัง เงินเดือนก็ใช่ย่อย ตกอยู่เดือนละ 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสัญญาของต้นสังกัด (อารมณ์เหมือนสโมสรฟุตบอล)
คนเล่นก็เพิ่มขึ้น คนดูก็เพิ่มขึ้น บรรดาธุรกิจก็ทยอยสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์ไม่แพ้กีฬาเดิม ใครที่กำลังมองว่าเด็กติดเกมเป็นปัญหาสังคม ใช้ความรุนแรง ฯลฯ บอกตรงๆว่าคุณกำลังทำเงินเป็นแสนเป็นล้านหล่นหายอย่างน่าเสียดาย ถึงเวลาที่ต้องก้าวข้ามอคติกับเด็กติดเกม หันมาเปิดใจสนับสนุนเป็นนักกีฬาและทำแบรนด์กับแหล่งผู้ชมขนาดใหญ่ได้แล้วหรือยัง?
Copyright © MarketingOops.com