กินมังฯ แล้วไง! เทรนด์การกิน เมื่อคนเริ่มหันมากินมังฯ แบบเป็นครั้งเป็นคราวมากขึ้น

  • 53
  •  
  •  
  •  
  •  

Food Biz

ดูเหมือนว่าเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรงต่อเนื่องจากปี 2019 เห็นได้จากยอดขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น ไม่เพียงแค่นี้ “อาหาร” ก็ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญและใส่ใจในการรับประทานมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกทานอาหารที่ปลอดสารพิษ หรือเลือกทานอาหารเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก

เห็นได้ชัดจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อย่างการเปลี่ยนลานเบียร์ให้กลายเป็นลานนม ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มากมาย เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น หรือแม้แต่การซื้อประกันสุขภาพที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยี Wearable ในการเข้ามาใช้วัดสุขภาพเพื่อเป็นส่วนลดซื้อประกัน

การทานอาหารมังสวิรัติและวีแกน (Vegan) ถือเป็นหนึ่งทางเลือกในการบริโภคอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ แต่การทานมังสวิรัติโดยไม่มีเนื้อสัตว์แบบตลอดเวลาทุกมื้อ (Full-Time) ค่อนข้างจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะยังมีข้อจำกัดสูงมากทั้งการหาทานยาก เมนูค่อนข้างจำเจ รสชาติไม่จัดอาจไม่ถูกปาก เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ที่ทานอาหารมังสวิรัติและวีแกนล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน

Flexitarian Restaurant

ทว่าปัจจุบันแนวคิดใหม่ในวงการอาหารเพื่อผู้ที่ทานมังสวิรัติและวีแกนที่เรียกว่า “Flexitarian” หรือ การทานมังสวิรัติแบบเป็นครั้งเป็นคราว โดยผู้ที่เป็น Flexitarian จะเน้นไปที่การ “ลด” บริโภคเนื้อสัตว์แต่ไม่ใช่การเลิกทานเนื้อสัตว์ ซึ่ง Flexitarian กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน การกินผักโดยไม่ทานเนื้อสัตว์เลย ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก แต่ปัจจุบันมังสวิรัติคือการไม่ทานเนื้อสัตว์แต่ยังทานไข่และนม กับการทานแบบวีแกน (Vegan) คือการไม่ทานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ โดยในปี 2018 ยอดขายอาหารวีแกนเติบโตสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตกว่า 5% เมื่อเทียบปีต่อปี นอกจากการค้นหาคำว่า “Veganism” บน Google ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 26% ต่อปี นับจากปี 2015 – 2019

Vegetable

นอกจากเรื่องของสุขภาพแล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญในการทานมังสวิรัติและวีแกน โดยเฉพาะการตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่งานวิจัยของ Humane Research Council พบว่า 5 ใน 6 ของคนทานมังสวิรัติและวีแกนเลิกทานกลางคัน นั่นเป็นเพราะการทานตลอดเวลาต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก (พอๆ กับคนทานเจ)

ผู้บริโภคส่วนมากจึงหันมาทานแบบ “Flexitarian” คือการทานมังสวิรัติเป็นครั้งเป็นคราว โดยคนกลุ่มนี้จะพยายามลดการทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ทานบางอย่าง ทานบ้างไม่ทานบ้าง เช่น บางคนเลือกไม่ทานเฉพาะเนื้อแดงเท่านั้น บางคนไม่ทานนมหรือไข่ หรือการทานเป็นบางวัน บางเดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการทานเนื้อสัตว์แต่ยังไม่เลิกเด็ดขาด

Flexitarian

สถาบันวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค Mintel ยืนยันว่าการกินแบบ Flexitarian กำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ที่ธุรกิจเนื้อเทียมจากพืชที่ทำจากเห็ด เต้าหู้ เป็นต้น มีรายได้เติบโตถึง 451% จาก 2014 ถึง 2018 ขณะที่มีการรวบรวมผู้ทานมังสวิรัติและวีแกนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 440% ในปี 2012 – 2016

นอกจากชาวต่างชาติที่มีผู้นิยมทานแบบ Flexitarian เพิ่มขึ้นแล้ว คนไทยเองก็ทานเนื้อสัตว์น้อยลงเช่นกัน จากข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า สัดส่วนของคนไทยที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 4ในปี 2013 เป็น 12ในปี 2017 ของประชากรไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป

โดยยอดขายนมและเนื้อที่ทำจากพืชทั่วโลกในปี 2018 แบ่งเป็นยอดขายนมอยู่ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตกว่า 9% เทียบปีต่อปี และยอดขายเนื้อที่ทำจากพืชอยู่ที่ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราเติบโตอยู่ที่ 11% เมื่อเทียบปีต่อปี

 

สำหรับในไทยร้านอาหารทางเลือกสำหรับผู้ไม่ทานเนื้อสัตว์กำลังเติบโตต่อเนื่อง เมื่อดูข้อมูลจาก Google Trends พบว่า ปี 2014 – 2019 มีการค้นหาร้านอาหารมังสวิรัติและวีแกนในไทยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ของทุกปีที่จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยจังหวัดที่มีการค้นหาบน Google สูงสุด 5 จังหวัดคือ กระบี่, ภูเก็ต, เชียงใหม่, สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก

Google Trend Flexitarian

ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงควรจับตาและใส่ใจกับกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะการทานมังสวิรัติแบบครั้งคราวทำได้ง่ายและค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าการทานแบบทุกมื้อ (Full-Time) ส่งผลให้เกิดกระแสทานอาหารมังสวิรัติและวีแกนสูงขึ้น แม้กระทั่งร้านอาหาร Fast Food อย่าง KFC ยังจับกระแสโดยเพิ่มเมนู Veggie Burger ในหลายประเทศ และได้รับการตอบรับและความสนใจอย่างมาก

 

ในประเทศไทยเองร้านอาหารอย่าง Sizzler ยังเพิ่มเมนูเนื้อที่ทำจากพืชเข้ามาตอบรับกระแสนี้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า กระแสดังกล่าวไม่เพียงสนับสนุนให้ร้านอาหารเฉพาะทางสำหรับผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เติบโตแล้ว แต่ยังเป็นทางเลือกสำหรับร้านอาหารทั่วไปให้ปรับตัวรับกับกระแส Flexitarian ได้เช่นกัน

veggie burger

ดังนั้นร้านอาหารที่ให้บริการทั้งคนทานอาหารทั่วไปและคนที่ทานแบบ Flexitarian ช่วยให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น โดยร้านอาหารควรมีเมนูสำหรับผู้ไม่ทานเนื้อสัตว์ด้วย และควรมีการชี้แจงส่วนผสมของอาหารแต่ละจาน พร้อมทั้งแสดงสัญลักษณ์ระบุประเภทของอาหาร เช่น มังสวิรัติหรือวีแกน จะช่วยสร้างความไว้ใจและช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร จึงอยู่ที่การสื่อสารถึงความหลากหลายของเมนูอาหาร และทำให้ร้านกลายเป็นที่สังสรรค์ของคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในไทยในยุคที่การท่องเที่ยวเติบโต ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้บริโภคชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Flexitarian ที่เพิ่มมากขึ้น

 

Source: EIC (Economic Intelligence Center) SCB


  • 53
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา