จับตากระแสตลาด Aging หลังปีหน้าไทยสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ทั้งด้านสุขภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก

  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  

ประเทศไทยกล่าวได้ว่า เตรียมก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aging Society) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิทยาการด้านการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมาก ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของประชากรอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการถือครองสถานะ “โสด” เป็นจำนวนมาก รวมถึงแนวคิดชีวิตคู่ยุดใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีลูกก็ได้ รวมถึงปัจจัยค่าครองชีพและค่าศึกษาเล่าเรียนที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้สังคมผู้สูงอายุเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากผลสำรวจพบว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยวและการอาศัยอยู่คนเดียว ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทยในปี 2565 ทำให้จำนวนผู้สูงอายุทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้แต่ต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นและช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการรักษาเบื้องต้นและอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในไทย จึงมีโอกาสเติบโตตามความต้องการด้านบริการสุขภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ดี ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการรักษาเบื้องต้นและอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุก็ยังมีข้อจำกัด ทั้งทางด้านกำลังซื้อที่ลดลงจากการปลดเกษียณไม่มีงานทำและการพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุ โดยแบ่งประเด็นโอกาสและความท้าทายของธุรกิจนี้แบ่งเป็น

ประเด็นด้านโอกาส ที่พบความต้องการใช้งานอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคธุรกิจ (B2B) และจากผู้บริโภคโดยตรง (B2C) โดยสัดส่วนการใชังานส่วนใหญ่ยังเป็นของภาคธุรกิจ ท้ังในสถานพยาบาลที่เน้นกลุ่มลูกค้าสูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงธุรกิจที่ไม่ใช่สถานพยาบาล อย่างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ และเนิร์สซิ่งโฮม ที่น่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันความต้องการใช้งานของผู้บริโภคโดยตรงก็น่าจะเติบโตได้ตามจำนวนผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันรักษาโรคและอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

โดยตลาดอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุที่จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันรักษาเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดความดัน
เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เป็นต้น และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เช่น เตียง รถเข็น ราวจับช่วยพยุง พื้นกันลื่นลดแรงกระแทก ทางลาด ลิฟท์ยกรถเข็น และอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เซ็นเซอร์แจ้งเตือนการหกล้ม เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุในไทยปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 9,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% – 10% ของตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของไทย โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดส่วนใหญ่ยังคงมาจากภาคธุรกิจ (B2B) เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเฉพาะหน้าในช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนต้องพักรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ตามปกติ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อจึงมีความต้องการอุปรณ์เพิ่มขึ้นในระยะนี้ด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้ มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุน่าจะเติบโตได้เฉลี่ย 7.8% ต่อปี และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยจะเป็นกลุ่มอุปกรณ์ที่คาดว่าน่าจะเติบโตได้มากกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันและรักษาเบื้องต้น โดยเฉพาะการเติบโตตามอัตราการเพิ่มขึ้นของธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุและที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุที่ทำให้มีความต้องการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อได้

ประเด็นด้านอุปสรรค เนื่องจากสินค้าทั้งในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกที่ผลิตได้ในประเทศไทยอาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศได้ทั้งหมด และส่วนใหญ่ยังเป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานและใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายไม่ซับซ้อน ส่งผลให้ในระยะแรกผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศน่าจะได้อานิสงส์ผลประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญมาจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตในภูมิภาค เอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ทั้งนี้ผู้ผลิตในประเทศต้องยกระดับการผลิตไปสู่อุปกรณ์ที่ใชเ้ทคโนโลยีมากขึ้น แต่อาจยังไม่ต้องถึงขั้นระดับซับซ้อนหรือใช้เทคโนโลยี AI มากนักเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ในอนาคต โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าน่าจะมีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศ เช่น เตียงไฟฟ้า รถเข็นไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานสินค้า ราคาที่เข้าถึงได้ และการทำ
ตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ

ทั้งนี้ กลุ่มอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยที่น่าสนใจ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนที่ที่มีระบบอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยสินค้าในกลุ่มนี้จัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งผู้ผลิตภายในประเทศส่วนใหญ่ยังผลิตอุปกรณ์พื้นฐานและมีความซับซ้อนของเทคโนโลยีไม่มากนัก เช่น รถเข็นและเตียงธรรมดา ส่วนอุปกรณ์
ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้าหรือนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในประเทศ ถือเป็นความท้าทายของผู้ผลิตในประเทศที่ต้องยกระดับการผลิต เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อและมองหาอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย อย่างรถเข็นไฟฟ้าที่สามารถปรับยืนหรือช่วยพยุงการลุกขึ้นยืน รวมถึงเตียงไฟฟ้าปรับระดับความสูง ทั้งในท่านั่งและท่านอน รวมถึงมีกลไกช่วยพลิกตัว

ในขณะเดียวกันอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ในที่อยู่อาศัยก็อาจจะได้รับอานิสงส์เติบโตได้เพื่อตอบโจทย์การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการพักอาศัยอยู่ที่บ้านและช่วยสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ราวจับช่วยพยุง ทางลาดกันลื่น พื้นลดแรงกระแทกในที่อยู่อาศัย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีทั้งผู้ผลิตที่อยู่ในธุรกิจการแพทย์ สุขภาพ และธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่

รวมไปถึงอุปกรณ์ติดตามตัวผู้สูงอายุเพื่อแจ้งเตือนและขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่เชื่อมต่อกับผู้ดูแลหรือศูนย์ช่วยเหลือได้ทันที ในรูปแบบอุปกรณ์สำหรับติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งในบ้าน และติดตัวผู้สูงอายุอย่าง Smart IoT Devices เช่น สมาร์ทวอช เซ็นเซอร์ติดตามตัว ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ทันท่วงที โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

และประเด็นความท้าทาย ถึงแม้จะมีผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้งานด้วยตัวเองที่บ้านและอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในประเทศบ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการแข่งขันด้านราคา (Pricing) แต่นอกจากการแข่งขันทางด้านราคาแล้ว ยังมีความท้าทายในการแข่งขันกับกลุ่มสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบรนด์ เทคโนโลยี และความสามารถในการทำการตลาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ผู้ผลิตในประเทษไทยต้องอาศัยจุดเด่นในการเข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของผู้สูงอายุในประเทศไทย และสร้างความแตกต่างของสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการใน 2 เรื่องหลักๆ

ทั้งในด้านความเข้าใจกำลังซื้อของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาสวัสดิการรักษาพยาบาลผ่านระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหลัก ซึ่งมีสิทธิรับอุปกรณ์การแพทย์อย่างรถเข็น ในกรณีเป็นผู้มีปัญหาในการเดินทาง ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจดังกล่าวกลายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้ออุปกรณ์เองและมีรายได้เพียงพอในอนาคต โดยมองว่า สัดส่วนกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มที่มีกำลังซื้อมีเพียง 20%-30% ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2573 หรือประมาณ 3.4 ล้านคน ที่น่าจะมีรายได้สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วยตนเอง

ด้านรูปแบบสินค้าและการให้บริการ โดยสินค้านั้นจำเป็นต้องใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา สะดวกในการพกพา ใช้งานง่าย และสามารถปรับระดับให้เหมาะกับสรีระของผู้สูงอายุในประเทศไทย ขณะที่สินค้าที่จำเป็นต้องมีการติดตั้งภายในที่พักอาศัย เช่น ระบบทางลาด ลิฟท์ยกรถเข็น พื้นกันลื่นลดแรงกระแทก ต้องพร้อมติดตั้งกับที่อยู่อาศัยเดิมของลูกค้า โดยค่าใช้จ่ายต้องไม่สูงเกินไปและไม่ต้องมีการปรับปรุงต่อเติมพื้นที่มากนัก สามารถใช้งานร่วมกับทุกคนในครอบครัว

ส่วนกลุ่มสินค้าประเภทรถเข็นไฟฟ้า เตียงไฟฟ้า อาจต้องมีการขยายระยะเวลาการรับประกันที่ยาวมากขึ้น หรือสามารถซื้อแพ็คเกจการรับประกันเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายระยะเวลารับประกันบริการหลังการขาย ซึ่งจะช่วยลดความกังวลด้านค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุลง ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงความคุ้มค่าในการเลือกซื้อสินค้า และช่วยสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าอื่นๆ ของผู้ประกอบการได้อีกด้วย

 

ข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา