8 เทรนด์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2024 พร้อมคำแนะนำทางรอด ด้วย “3 สร้าง 2 กระตุ้น” โดย ศุภจี แห่งดุสิตธานี

  • 148
  •  
  •  
  •  
  •  

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ขับเคลื่อนประเทศ เพราะนำมาซึ่งรายได้ในหลายๆ ส่วนเพิ่มเติมขยายผลจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาเป็นที่จับตาว่า การท่องเที่ยวจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงขึ้นได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่จะมาเล่าถึงทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ดีที่สุด จะเป็นใครไม่ได้นอกจากเธอคนนี้ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT หรือ “พี่แต๋ม” ของทุกคน ซึ่งบทความนี้ “พี่แต๋ม” บอกว่าจัดเต็มให้ Marketing Oops! เจาะลึกเป็นพิเศษเลย

ภาพรวมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ยอดนักท่องเที่ยวหดตัว

คุณแต๋ม ขยายภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เราฟังว่า ในสายตาเหมือนการท่องเที่ยวอาจจะกลับมาแล้ว แต่ยังไม่ใช่ ทั้งนี้ ข้อมูลจากของ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO)

มองถึงการฟื้นตัวของระบบการในธุรกิจการท่องเที่ยวเนี่ยเมื่อเทียบกับก่อนโควิดก็คือปี2019 ในแต่ละภูมิภาคในโลกมีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน ภูมิภาคที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุดแล้วก็ตอนนี้เกินจํานวนหรือว่าเกินระดับก่อนโควิดก็ คือภูมิภาค “ตะวันออกกลาง” โดยตอนนี้สามารถฟื้นตัวได้ประมาณ 20% ภูมิภาคอันดับ 2 ที่ฟื้นตัวได้ดีตามมาก็คือ “ยุโรป” ตามมาด้วย อเมริกา และแอฟริกา โดยภูมิภาคที่ฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนโควิด ได้แก่ “เอเชียแปซิฟิก” ซึ่งพบว่าตัวเลขการฟื้นตัวจนถึงเดือนกันยายน พบว่าทำได้แค่ประมาณ 62% ยังเหลืออีกถึง 38% ถึงจะไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด

ในขณะที่ประเทศไทย เมื่อปี 2022 เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 39.9 ล้านคน (เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ) โดยทำรายได้ให้เราภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่ว่า ปีนี้ 2023  ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยน้อยลง อยู่ที่ประมาณ 20 กว่าล้านคนเท่านั้น ตัวเลขที่ได้มายังไม่ได้เป็นไปตามที่เคยเป็น

“เพราะฉะนั้น การฟื้นตัวมีไหม มีการฟื้นตัวค่ะ แต่ไม่เท่ากับก่อนโควิด เป็นการค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และยังมี gap ที่เราต้องไปต่อด้วย ประกอบกับที่เทรนด์การท่องเที่ยวและการเดินทางเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

 

ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว

สำหรับสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก-ไทย ยังไม่ฟื้นตัว คุณแต๋ม ขยายความว่า ต้องย้อนไปที่ปัจจัยสำคัญของธุกิจท่องเที่ยว อย่างแรกคือ “จำนวนนักท่องเที่ยว” โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2019 มาเที่ยวไทยอยู่ที่ 39.9 ล้านคน เป็นคนจีนประมาณ 11 ล้านคน แต่ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวจีน เข้ามาเที่ยวน้อยลง แค่ 3.5 ล้านคน เท่านั้น หายไปเกินครึ่งเลย เมื่อนักท่องเที่ยวหลักหายไป เราก็ต้องหันมาจับชาติอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลย์ ซึ่งยังติดอันดับท็อปอยู่ แล้วก็ตามมาด้วย “อินเดีย” แต่ไม่ได้ใช้จ่ายนานนักเพราะอยู่ไม่นาน อยู่ไม่กี่วัน แต่หลักที่ดีของการท่องเที่ยวคือ ต้องอยู่นานและใช้เงินเยอะ

อีกสาเหตุคือเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก “เศรษฐกิจชะลอตัว” คนระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจัยเรื่องนี้ก็มาจาก ความขัดแย้งทางภูมิภาคต่างๆ เช่น พอเราจะหันมาจับนักท่องเที่ยวรัสเซีย จากที่คนจีนมาน้อยลง เขาก็มีปัญหาความขัดแย้งกับยูเครน ทำให้ยังได้ไม่เต็มที่ ทำให้เราต้องขยับมาจับคนจากประเทศเพื่อนบ้านแทนตามที่กล่าวไป

ปัจจัยที่ 3 ได้แก่ “การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ” มีน้อย ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม FIT (Free Independent Travellers คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางอย่างอิสระด้วยตัวเอง) ข้อดีของการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ คือคนที่เข้ามามาแบบภาคบังคับ คือต้องมา และส่วนใหญ่อยู่นาน และมีโอกาสที่จะอยู่ต่อด้วยการท่องเที่ยวแบบพักผ่อน ซึ่งทำให้เขาอยู่นานและใช้เงินเยอะ ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งถ้าเทียบกับสิงคโปร์ที่เขาฟื้นตัวเร็วกว่าเราได้ด้วยเพราะเขามีการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากกว่าเรา และระบบหลายอย่างก็เอื้อให้นักธุรกิจเกิดความสะดวกสบายมากกว่าไทย จึงไม่แปลกที่เขาจะไปได้ดีกว่าเรา แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ทำการท่องเทียวเชิงพักผ่อนหย่อนใจ อันนี้เป็นพื้นฐานที่เราทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเพิ่มการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจเข้ามาด้วยก็จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตได้ดีมากขึ้น

“การท่องเที่ยวโดยที่นําเอาเป้าทําธุรกิจนํา เราสารถจะมีแต้มเติมในเรื่องของการให้การท่องเที่ยวแบบพักผ่อนหย่อนใจได้ เช่นมาประชุมสองวันอย่าเพิ่งกลับช่วยมาเที่ยวอย่างอื่นของฉันด้วยนะ ฉันมีตรงนี้นะชั้นมีวัดมีวังมีหาดมีอาหารมีอะไร หลายอย่างที่เป็นเสน่ห์ไทย”

 

“ยืดหยุ่น เพื่อยั่งยืน” นิยามอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปี 2024

นี่คือนิยามด้วย 2 คำสั้นๆ จาก คุณแต๋ม ที่มองว่าปีหน้าจะเป็นปีแห่ง “ความยืนหยุ่น เพื่อยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นที่มาของ 8 เทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2024

8 เทรนด์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

#1 เทรนด์การท่องเที่ยวใกล้และเน้นคุ้มค่า

เป็นการท่องเที่ยวภายใน ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะเที่ยวอยู่ในโซนที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย เช่น คนยุโรปเที่ยวในโซนยุโรป คนเอเชียเที่ยวในเอเชีย ซึ่งนอกจากเรื่องปลอดภัยแล้ว เรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องจ่ายเยอะแต่อยู่ในพื้นที่ได้นานด้วย และทำให้เที่ยวได้คุ้มค่าด้วย คือเม็ดเงินในการเที่ยวเท่าเดิม แต่อยู่ได้นานขึ้นไม่ต้องเดินทางไกล

 

#2 เทรนด์การเที่ยวกลุ่มเล็ก ระดับไมโครไปจนถึงเที่ยวคนเดียว

ดังนั้นภาพของการที่รถบัสคันใหญ่ หรือเที่ยวแล้วมีไกด์ถือธงนำเราก็จะไม่ค่อยเห็นแล้ว มันจะบางตาลง แต่จะกลายเป็นเป็นกลุ่มเล็กลง และเล็กลงถึงระดับไมโคร ตั้งแต่การเดินทางเที่ยวคนเดียว เที่ยวเป็นคู่ และเที่ยวแบบครอบครัวหรือกลุ่มย่อย

เทรนด์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เกิดจากเทรนด์การทำงานสมัยใหม่ที่เรียกว่า Digital nomads หรือ Work form anywhere  หรือ Workation คนเหล่านี้อยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ ดังนั้น คนทำธุรกิจก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้ทัน ว่าจะตอบรับกับคนกลุ่มนี้อย่างไร มันคือบริบทของ “การยืดหยุ่น” อย่างที่บอกไป เช่น ถ้าเขามาทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วย สิ่งที่ธุรกิจอย่างเราต้องจัดหา เช่น WiFi ที่ต้องไม่สุด สปีดแรง อยู่ตรงไหนก็ใช้ได้ พูดง่ายๆ เรื่องของความสะดวกสบายต้องมีให้เขา หรือการที่คู่รักมาท่องเที่ยว ชายหาดยาวเป็นสิบเมตร เราสามารถจัดหาซุ้ม หรือมุมโรแมนติกให้คู่รักได้ไหม หรือจัดแพ็กเกจให้คนเป็นคู่เป็น Romantic package ก็ได้ หรือกลุ่มที่มาย่อยๆ เป็นครอบครัวหรือแก๊งเพื่อน เราจัดหาวิลล่าที่มีความเป็นส่วนตัวให้ แต่มีพื้นที่ตรงกลางที่เขาสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ หรือจัดหา Personal butler หรือ Personal chef หรือ Personal mate ประจําบ้านให้ เขาก็ยังคงได้รับความสะดวกสบายแบบอยู่โรงแรมเช่นกัน

“เราต้องเข้าใจว่ากลุ่มของการท่องเที่ยวมันมันไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่แบบในอดีต และมันเป็นกลุ่มย่อยแล้ว ดังนั้น เราต้องรู้ว่ากลุ่มย่อยเค้าชอบอะไรด้วย เพื่อจะได้มอบบริการที่ตรงและโดนใจให้ได้”

 

#3 เทรนด์เรื่องความสะดวกสบายและความปลอดภัย

เทรนดี้ไม่ได้มีแค่บริบทเดียว สะดวก ปลอดภัย มีทั้งเรื่องของชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เราคงไม่สบายใจถ้าข้อมูลของเราโรงแรมหรือสายการบินทำหลุดออกมา ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

ส่วนเรื่องความสะดวกสบาย เช่น การเข้าคิว Immigration ที่ต้องรวดเร็ว ไม่ใช่ต่อคิวยาวๆ 2 ชั่วโมงยังไม่เสร็จ หรือเรื่องการเดินทาง จากสนามบินสามารถไปต่อยังโรงแรมได้รวดเร็ว เข้าเมืองได้สะดวกสบาย เป็นต้น ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานของการเดินทางจึงสำคัญ หรือเรื่องการดูแลเรื่องสัมภาระ กระเป๋าต้องไม่หาย ไม่ชำรุด ไม่มีปัญหาเรื่องแท็กซี่โกงผู้โดยสาร อย่างนี้เป็นต้น

 

#4 เทรนด์ตามรอย Influencer

เทรนด์นี้มีทั้งบวกและลบ ด้านบวก ก็คงไม่ต้องพูดกันมาก คือการตามรอยคนดัง ไม่ว่าจะเป็น “น้องลิซ่า แบล็กพิงก์” ที่ไปทานเจ๊ไฝ หรือไปเที่ยวอยุธยา แล้วมีคนไปตามรอยกันมากมาย หรือแม้แต่ความโด่งดังของ “บัวขาว” เป็น Influencer คนดังที่มีคนติดตามมากมาย ทำให้มวยไทยเป็น Soft power ของเราได้ ในขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกมุมเราก็มีข่าวของประเทศไม่ดี เช่น ข่าวการกราดยิง ข่าวการหลอกนักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของคนต่างชาติ ดังนั้น ตรงจุดนี้เราต้องบริหารจัดการเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นอย่างเป็นองค์รวม

นอกจากใช้ Influencer ให้เป็นแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือช่องทางในการสื่อสาร อย่างการสื่อสารไปหาคนจีน ไม่ใช่ว่าจะไป Weibo  หรือ Douyin (TikTok จีน) แค่นี้ แต่เขามีแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียอีกมาก เช่น Xiao Hong Shu (เสี่ยว ฮง ซู) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์ไลฟ์สไตล์ที่คน Gen Z ชาวจีนนิยม หรืออีกแพล็ตฟอร์มทที่น่าสนใจคือ Toutiao (โถวเถี่ยว) หรือ LeECo (เล่อชื่อ) เปรียบเป็น Youtube ของจีน ซึ่งถ้าเราไปทำการสื่อสาร Facebook หรือ Youtube ไปหาคนจีนบนนี้ไม่มีทางเจอ แล้วยังมีอื่นๆ อีก เช่น Dazhong-Dianping ฯลฯ ดังนั้น เรื่องของการใช้ช่องทางให้ถูกต้องจึงสำคัญมาก

#5 เทรนด์การเที่ยวแบบประสบการณ์ท้องถิ่น

นักท่องเที่ยวอาจจะเคยมา หัวหิน ภูเก็ต ฯลฯ กันเยอะแล้ว แต่เราจะต้องหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์ท้องถิ่น’ เติมเข้าไปด้วย นอกเหนือจากสิ่งที่พวกเขารู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งประสบการณ์ท้องถิ่น สามารถหาได้ทั้งจากเมืองรอง และเมืองหลัก รวมไปถึงการผลักดันให้ เมืองผ่านเป็นเมืองพัก นอกเหนือจากหาประสบการณ์ท้องถิ่นได้แล้ว ก็ต้องสร้างความสะดวกสบายให้กับเขาด้วยให้เขาจะมาพักอยู่ 2-3 วันแล้วประทับใจ เมื่อเราใส่บริบทประสบการณ์ท้องถิ่น หรือสิ่ง Unseen ลงไป ก็จะทำให้ที่ๆ เขาเคยไปน่าสนใจและมีเสน่ห์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เขาอยู่กับเรานานขึ้นและใช้เงินมากขึ้น

 

#6 เทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน

เรืองความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวด้วย ในหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งในยุโรปและอเมริกา ดังนั้น ถ้าการท่องเที่ยวเราชูเรื่องนี้ขึ้นมา เช่น ท่องเที่ยวแบบกรีนไทยแลนด์ ก็น่าจะทำให้คนอยากสนับสนุน หรือการมาเยือนที่นี่จะช่วยโลกได้ ช่วยทำให้เกิดความยั่งยืนได้แล้วได้รายได้ด้วย เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พร้อมสนับสนุน

 

#7 เทรนด์การท่องเที่ยว Health & Wellness  

เรื่องของ Health & Wellness  เป็นส่วนผสมที่สำคัญของการท่องเที่ยว เช่น เราสนับสนุนว่ามาเที่ยวไทยจะมีโปรแกรมสุขาภาพ หรือมาไทยแล้วพบกับอากาศดีๆ ตรงนี้เราสามารถจับมือกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ ได้ เช่น จับมือกับโรงพยาบาลที่เขามีความเชี่ยวชาญ เราหาสิ่งเหล่านี้มาฝังอยู่ในการท่องเที่ยว เพราะต่างประเทศมองไทยเรื่อง Health & Wellness เป็นผู้นำในด้านนี้อยู่แล้ว เป็นประเทศที่สร้างประสบการณ์ที่โดนใจ

 

#8 เทรนด์การท่องเที่ยวแบบธุรกิจรูปแบบขนาดใหญ่

เป็นเทรนด์ที่ประเทศไทยควรต้องปรับตัวอย่างแรง ที่จะดึงดูดคนได้เป็นพัน หรือเป็นหมื่นคน เราจะต้องทำอย่างไร เช่น จัดงานเอ็กซ์โป งานอีเวนต์ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก จัดงาน MICE ขนาดใหญ่ ซึ่งการจัดงานสัมมนาลักษณะนี้ มันมีพลังมากกว่า ไม่เพียงแค่นัน ถ้าเราสามารถต่อยอด สร้าง engagement ไปได้อีกด้วยการที่เราอาจจะจัด meeting กลุ่มย่อย ให้ได้พบป่ะกัน หารือกลุ่มย่อย ด้วยกันต่อ เช่น มีเจ้าภาพเป็นสมาคมหอการค้า หรือจะจัดเฉพาะภาคธุรกิจย่อยเจอกันเพื่อช่วยกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สิ่งนี้จะเป็นความร่วมมือที่ไม่สิ้นสุด จะทำให้มันอิมแพคมากกว่า และขยายขอบเขตได้ดีกว่า

“3 สร้าง และ 2 กระตุ้น”

ทั้งหมดนี้คือเทรนด์ที่จะเดินหน้าต่อไปในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และคำถมามต่อมาคือว่า แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามเทรนด์ดังกล่าว คุณแต๋ม บอกว่าในความร่วมมือเพื่อให้สำเร็จได้จริง จะต้องมีสิ่งนี้ 3 สร้าง และ 2 กระตุ้น”

#1 สร้างแบรนด์ดิ้งประเทศไทย

สร้างแบรนด์ดิ้งประเทศไทย ให้เป็น Premier Destination ทําให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายที่คุ้มค่ากับการเดินทางมา อย่าให้มองประเทศไทยเป็นแค่ประเทศที่มาเน้นปริมาณ มาเยอะเยอะเหมือนเดิม แต่อยากให้เน้นเรื่องคุณภาพ ซึ่งจะทำได้ต้องสร้างแบรนด์ดิ้ง ดึงเอา Soft power ของไทยออกมา

#2 สร้างความมั่นใจ

ให้คนที่จะเดินทางเข้ามามั่นใจในความปลอดภัย สะดวกปลอดภัยโปร่งใส รวมไปถึงเรื่องความสะอาดถูกสุขอนามัย และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้ดีด้วย ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้

#3 สร้างมาตรฐานที่ดี

ต้องยกระดับความรู้และยกระดับความสามารถแรงงานของเราให้ตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยวได้ คือถ้านักท่องเที่ยวมาเราสามารถให้บริการที่ดีมีมาตรฐานที่ดีได้ ควบคู่ไปกับค่าแรงที่จะได้ยกระดับให้สูงขึ้นด้วย เราต้องมีทั้งทักษะดีและค่าแรงขึ้น เรียกว่า ทฤษฎีสองสูง เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินแล้ว ถ้าขึ้นแค่ข้างใดข้างหนึ่งมันไปไม่ได้

มาที่การกระตุ้นกันบ้าง ควรจะกระตุ้นอะไรบ้าง

#1 กระตุ้นสร้างประสิทธิภาพ

กระตุ้นประสิทธิภาพ การกระตุ้นก็คือว่าถ้าเขาทําดี สร้างมาตรฐานที่ดี อย่างที่เรากล่าวไป เช่น บางบริษัทเทรนด์พนักงานดี พนักงานสามรถสร้างคววามประทับใจให้ลูกค้าได้ หรือเขามีมาตรฐานที่เรียกว่า SHA (SHA – Amazing Thailand Safety & Health Administration) ธุรกิจนั้นก็อาจจะควรได้รับสทธิ์ในการลดหย่อนภาษี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เขาสร้างมาตรฐานที่ดีต่อไป

#2 กระตุ้นการสร้างความยั่งยืน

เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ประกอบการรายใดที่สร้างสิ่งที่เรียกว่า ความยั่งยืน เช่น ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ หรือสามารถลดคาร์บอนได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มันต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม ตรงนี้ก็อาจจะมีการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เขาทำต่อไปด้วยการช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย เช่น การลดภาษี หรือชาวไร่ชาวสวน ปลูกผักออร์แกนิก ผักผลไม้อินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมี ซึ่งดีทั้งกับตัวเขาเองและดีกับคนทานด้วยแล้ว เราก็ควรเข้าไปสนับสนุเขาทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น หาตลาดให้เขา หรือรับซื้อสินค้าเหล่านี้ เขาก็จะสามารถอยู่ต่อได้ และมีกำลังใจที่จะทำสิ่งเหล่านี้ต่อ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้สร้างความยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คือ ต้องลดเรื่องความซับซ้อน และ ซ้ำซ้อน ลงด้วย เช่น ปัจจุบันโรงแรมในประเทศไทย มีประมาณ 84,000 โรง แต่เรามีโรงแรมที่มีใบอนุญาตถูกต้องแค่ 16,683 โรง  แปลว่าเรามีโรงแรมที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเยอะมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนและซับซ้อนในการติดต่อราชการ “ครั้งสุดท้ายที่พี่ติดต่อราชการเพื่อขอใบอนุญาต ต้องใช้เอกสารมากกว่า 18 ใบ และต้องติดต่อหลายหน่วยงานด้วย รวมไปถึงบางกฎมายก็เก่าไปแล้ว ไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ดังนั้น ถ้ามีลักษณะของศูนย์กลางที่ทำเรื่องนี้ได้ โดยไม่ต้องทำให้เสียเวลา ลดความซับซ้อน และ ซ้ำซ้อน ลงได้ก็จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้เร็วกว่าเดิม

 

“คิดใหญ่ทำเล็ก และเดินให้ถูกจังหวะ”

ทั้งหมดนี้ คุณแต๋ม บอกว่าทุกคนสามารถทำได้ โดยฝากหลักคิดในการทำงานให้สามารถไปถึงความสำเร็จได้ว่า “คิดใหญ่ทำเล็ก และเดินให้ถูกจังหวะ” คือหลักการที่ว่า อะไรที่เราทำได้ ตามความสามารถเราให้ทำไปก่อน แล้วทำให้ดีที่สุด ไม่จำเป็นจะต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จ ไม่งั้นจะหมดกำลังใจเสียก่อน แต่ทุกอย่างนอกจากจะทำให้ดีที่สุดแล้ว ก็ต้องทำในจังหวะที่เหมาะสมด้วย เราหาความสวยงามเสน่ห์ของเราเจอเราก็สามารถเอาชนะอุปสรรคไปได้ในแบบของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวใหญ่หรือตัวเล็ก

“ดังนั้น อยากให้กําลังใจทุกคน ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร หรือคุณจะไซส์ไหน เล็ก กลางใหญ่ อย่าท้อถอย คิดใหญ่ได้ แต่ไม่ต้องรีบทำใหญ่ ใช้จังหวะและหาความสวยงามของตัวเอง แก้ปัญหาอย่างองค์รวม เชื่อว่าทุกคนจะสามารถผ่านทุกอุปสรรคไปได้อย่างแน่นอน”

 


  • 148
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!