“ทุเรียน” ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ (King of Fruit) และเป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ยิ่งในยุคอีคอมเมิร์ซ ทำให้การส่งออกทุเรียนไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจัยสำคัญมาจาก Demand ตลาดจีน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตทุเรียนรายใหญ่ และมีหลายสายพันธ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับไทย แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้ตลาดทุเรียนไทย มี “ทุนจีน” หรือที่รู้จักกันว่า “ล้งจีน” เข้ามาอยู่ในระบบ Supply Chain ของตลาดทุเรียนไทยมากขึ้น
โดยเฉพาะในกระบวนการกลางน้ำ ที่รับผลผลิตมาจากเกษตรกร และปลายน้ำ ที่ส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค และขณะนี้ “ล้งจีน” กำลังต่อยอดไปสู่กระบวนการแปรรูป ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อเสีย
ไม่เพียงเท่านี้สถานการณ์ “ทุเรียนไทย” กำลังเผชิญกับความท้าทาย เมื่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กำลังพัฒนาตลาดทุเรียนของตนเองเช่นกัน
มาดูบทวิเคราะห์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กันว่าทิศทางของ “ทุเรียนไทย” ทั้งในวันนี้ และอนาคตจะเป็นเช่นไร ?!?
ตามดูสถานการณ์ทุเรียนไทยในวันนี้
“ส่วนเศรษฐกิจภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) ได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนของไทย พบว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2559 หลังจากราคา และผลตอบแทนสุทธิเพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยผลผลิตส่วนใหญ่เป็น “พันธุ์หมอนทอง” อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร และสามจังหวัดชายแดนใต้
ที่น่าสนใจคือทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้มี yield ต่ำที่สุด ส่วน yield สูงที่สุดคือภาคกลาง (จันทบุรี) ทำให้ผู้รับซื้อทุเรียนสดรายใหญ่จะรับซื้อทุเรียนทั้งในจังหวัดจันทบุรีและชุมพรตามฤดูกาลเป็นหลัก
ส่วนประเภททุเรียนที่ไทยส่งออกทั้งหมด แบ่งเป็น ผลสด 95.8% แปรรูปแบบแช่เย็นแช่แข็ง 3.9% และอื่น ๆ 0.3% โดยตลาดใหญ่ของทุเรียนผลสดของไทย 77% ส่งออกไปยังตลาดจีน
บทบาทของจีนในตลาดทุเรียนไทย
จากข้อมูลพบว่า ระยะหลัง Demand จากจีน โตแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันมีผู้รับซื้อทุเรียนสด (ล้ง) กว่า 600 ล้ง ที่ทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนจากไทย สาเหตุที่ล้งจีนนิยมนำเข้าทุเรียนของไทย เนื่องจากคนจีนชอบทุเรียนหมอนทองของไทย เพราะรสชาติหวานมัน และราคาจับต้องได้
รูปแบบการเข้ามาของทุนจีน
กลุ่มทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับทุเรียนในไทยเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่เร่งตัวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มแรกจะเข้ามาในธุรกิจกลางน้ำ (ล้ง) แต่ปัจจุบันเริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมแปรรูปมากขึ้น
ผลดีที่เกิดขึ้นคือ จีนเข้ามาอยู่ใน Supply Chain ตั้งแต่ขั้นตอนกลางน้ำ ปลายน้ำ และหาตลาดมาให้ไทย เอา Demand เข้ามาให้ ทำให้ราคาทุเรียนทรงตัวได้ในระดับสูง นอกจากนี้ กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการลงทุนในพื้นที่
แต่ก็มีผลเสียคือ “ล้งจีน” จะเป็นผู้แจ้งราคาที่ต้องการรับซื้อในแต่ละวัน ทำให้ไทยมีอำนาจการต่อรองราคาต่ำ อาจส่งผลลบต่อรายได้เกษตรกรในอนาคต
แล้วอนาคตทุเรียนไทยจะเป็นอย่างไร ?!? เมื่อคู่แข่งมากขึ้น – Demand สูงขึ้น
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ทุเรียนไทยยังมีตลาดรองรับต่อเนื่อง แต่ต้องรักษามาตรฐานผลผลิต โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
-
Demand มีต่อเนื่อง โดยในจีนยังสามารถขยายได้อีกหลายมณฑล
-
ประเทศคู่แข่งยังไม่ได้สิทธิส่งออกทุเรียนสดไปจีนถาวรเหมือนไทย
-
คุณภาพทุเรียนหมอนทองของเวียดนามยังสู้ไทยไม่ได้ ส่วนทุเรียนของมาเลเซีย (Musang King) มีราคาสูงกว่าไทย 3 – 4 เท่า ทำให้มีตลาดจำกัด
-
โรงงานแปรรูปช่วยรองรับผลผลิต และช่วยพยุงราคา
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
-
ผลผลิตโลกจะเพิ่มขึ้นมากใน 4 – 5 ปีข้างหน้า ไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง ขณะที่คู่แข่งก็แข็งแรงขึ้น
-
ไทยพึ่งพาความต้องการจากตลาดจีนเป็นหลัก ยังไม่มีตลาดใหม่ๆ
-
ผลผลิตไทยเพิ่มต่อเนื่อง แต่ขาดการควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอ
-
เวียดนามกำลังพัฒนาสายพันธุ์หมอนทองให้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐของคู่แข่งอื่น ๆ ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่
ตลาดทุเรียนไทยจะปรับตัวอย่างไรให้ยั่งยืน
แม้ตลาดทุเรียนไทยในปัจจุบันยังดูสดใส แต่ไทยก็ประมาทไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการกระจายตลาดส่งออก การพัฒนาคุณภาพ และลดต้นทุน ซึ่งแต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมาจาก 3 ฝ่ายร่วมกันคือ
– ภาครัฐ ต้องหาตลาดส่งออกอื่น เช่น อินเดีย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียว อีกทั้งต้องส่งเสริม R&D (Research and Development) ครบวงจร ควบคู่กับให้ความรู้เกษตรกร เพื่อพัฒนาพันธุ์ (Yield) ไปจนถึงการนำเปลือกไปใช้ประโยชน์เพื่อลดขยะนอกจากนี้ ภาครัฐต้องสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เหมาะสม และสนับสนุนเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการไทยในช่วงฤดูผลผลิตออก
– เกษตรกร ต้องยกระดับการปลูกให้ได้ตามมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี Good Agricultural Practice (Good Agricultural Practice : GAP หมายถึง ระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม โดยพิจารณาตั้งแต่พื้นที่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีลักษณะตรงตามความต้องการ และมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ในประเทศไทยได้มีการเริ่มจัดทำระบบ GAP ของแต่ละพืช) และลดปัญหาสารเคมีตกค้าง พร้อมทั้งเรียนรู้และปรับใช้วิธีการใหม่ ๆ เพื่อพัฒนา Yield โดยเฉพาะในภาคใต้ และที่สำคัญเกษตรกรต้องรวมกลุ่มขายผลผลิต เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองราคา
– ผู้ประกอบการ ควรประกาศราคากลางในการรับซื้อรายวัน เพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนขายผลผลิตทุเรียนได้อย่างเหมาะสม