วิวัฒนาการ 4,000 ปี Stand-Up Comedy สู่ปรากฏการณ์ “โน้ส อุดม” เดี่ยว สเปเชียล ซุปเปอร์ซอฟท์พาวเวอร์

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายคนคงได้ดู เดี่ยว สเปเชียล ซุปเปอร์ซอฟท์พาวเวอร์ การแสดงเดี่ยวไมโครโฟน (Stand-Up Comedy) ของ โน้ส อุดม แต้มพานิช คอนเทนต์ exclusive ที่เผยแพร่ทาง Netfix และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางดันให้คอนเทนต์ “เดี่ยว สเปเชี่ยล ซุปเปอร์ ซอฟท์พาวเวอร์” ครองอันดับ 1 ในหมวด รายการทีวีอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เผยแพร่ในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ปรากฎการณ์นี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางกันไปแล้ว แต่บทความนี้จะมาเล่าถึงวิวัฒนาการที่นำมาสู่อุตสากรรม Stand-Up Comedy ในยุคปัจจุบันแบบย่อๆ ซึ่งก็น่าสนใจว่าวิวัฒนาการนี้สามารถย้อนไปถึงต้นตอยาวนานถึงเกือบ 4,000 ปี พัฒนาเรื่อยมาสู่ยุคกลาง วิวัฒนาการในสังคมอเมริกันก่อนจะส่งอิทธิพลไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เกิดนักพูดระดับตำนานตามมามากมาย

“ความฮา” คือเรื่องจำเป็นในอารยธรรมมนุษย์

เรื่องโจ๊กหรือมุกตลกที่สร้างเสียงหัวเราะอยู่คู่กับอารยธรรมมนุษย์มาอย่างยาวนานหลายพันปีและมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเพราะ “เสียงหัวเราะ” มีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะกับตัวมนุษย์ เช่นการสร้างสารเคมีแห่งความสุขช่วยลดความตึงเครียดเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ ช่วยลดความตึงเครียดในสถานการณ์ขัดแย้ง สามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงช่วยให้มนุษย์สามารถก้าวผ่านความยากลำบากในชีวิตได้ง่ายขึ้น

แผ่นจารึกยุคก่อนคริสตกาล

เชื่อกันว่า “ความฮามีขึ้นพร้อมๆกับสังคมมนุษย์” อย่างไรก็ตามความฮาแรกหรือมุกตลกแรกที่ถูกบันทึกไว้เป็นรายลักษณ์อักษรถูกสลักไว้บน แผ่นหินจารึกในยุคสุเมเรียน ในช่วง 1,900 ปีก่อนคริสต์กาลหรือเกือบ 4,000 ปีก่อน เป็นมุกเกี่ยวกับการ “ผายลม” ในขณะที่มุกตลกที่เก่าแก่รองลงมาที่ถูกบันทึกไว้อยู่ในอารยธรรมอียิปต์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “วิธีแก้เบื่อให้ของฟาโรห์” ซึ่งจะว่าไปก็นับว่าเป็น ”มุกเสียดสีทางการเมือง” มุกแรกของโลกก็ว่าได้

Jesters ตัวโจ๊กในราชสำนักแห่งยุคกลางผู้มาพร้อมอภิสิทธิ์

คนที่ทำอาชีพให้ความบันเทิงที่เป็นต้นแบบของ Stand-Up Comedy อาจย้อนกลับไปสู่กลุ่มอาชีพ Jesters หรือตัวโจ๊กในราชสำนักในช่วงยุคกลาง โดย Jesters ไม่ได้มีหน้าที่ให้ความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการแต่งตั้งและมีบทบาทสำคัญในราชสำนักยุคนั้นด้วย

ภาพจำลอง Jesters ในราชสำนักยุคกลาง / AI Generated

Jesters นับว่าเป็นตำแหน่งที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนในราชสำนักจำนวนมาก เช่นมีสิทธิ์ที่จะพูดทุกอย่างได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ถูกลงโทษ แม้กระทั่งมีกฎหมายคุ้มครองในบางยุคสมัย Jesters มักจะใช้ความฮามาประกอบการบอกเล่าข่าวสารหรือแถลงการณ์บางอย่างที่คนอื่นๆในราชสำนักไม่กล้าพูด ส่วนวิธีสื่อสาร Jesters จะให้ความบันเทิงด้วยการเสียดสี เล่นคำ ใช้ตลกสังขารและมาพร้อมกับดนตรีและบทกลอนประกอบ ในช่วงศตวรรษที่ 12 Jesters ที่มีทั้งหญิงและชายถึงขั้นได้รับการปูนบำเหน็ดด้วยที่ดินจากการรับใช้ราชสำนักด้วยความภักดีเลยทีเดียว

พัฒนาการ Jesters สู่ fools 3 รูปแบบ

หลังจากยุคกลางเป็นต้นมาตัวโจ๊ก หรือตลกที่เป็นต้นแบบ Stand-Up Comedy มีพัฒนาการอยางต่อเนื่องในสังคมเริ่มเกิดนิยามใหม่ที่เรียกว่า fools ที่หมายถึงผู้ที่สามารถให้ความบันเทิงผู้คนได้โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบก็คือ

  1. Profesional Fools คือตลกแบบมืออาชีพ ที่อยู่ในราชสำนักหรือได้รับการว่าจ้างจากเศรษฐีให้แสดงตลก เสียดสีสังคมสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ว่าจ้าง
  2. Innovent Fools หรือ Naural Fools แบบที่ 2 คือ ตลกโดยธรรมชาติ คนกลุ่มนี้น่าสงสารเพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนพิการทางกายหรือพิการทางสมองที่กลุ่มคนรวยเลี้ยงเอาไว้เพื่อความบันเทิงในยุคนั้น
  3. Amatur Jesters หรือ ตลกสมัครเล่น นักแสดงตลกที่สร้างความบันเทิงในอีเวนท์ต่างๆ ไม่ได้จ้างเล่นตลกเป็นอาชีพแต่มีพรสวรรค์ในการสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คน

Stand-Up comedy ในสหรัฐสู่อุตสาหกรรมระดับโลก

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมองว่า Stand-Up Comedy มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมโรงละครในสังคมอเมริกัน ที่มีการแสดงที่เรียกว่า Menstrel Show การแสดงของคนขาวทาหน้าดำ ล้อเลียนคนผิวสีที่เรียกได้ว่าเป็นการ เหยียดผิวอย่างรุนแรงหากมองด้วยแว่นในสังคมยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามรูปแบบของการแสดงที่เรียกเสียงหัวเราะ ใช้คำเสียดสีสังคมเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นต้นกำเนิดพัฒนาการมาสู่ Stand-Up Comedy ในยุคปัจจุบัน

บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Stand-Up Comedy คนแรกของสหรัฐอเมริกาและอาจนับได้ว่าเป็นคนแรกของโลกก็คือ Charles Farrar Browne นักเขียนนิยายสุดฮาชื่อเรื่องว่า “Artemus Ward” ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Plain Dealler เมื่อกว่า 160 ปีก่อน มีผลงานการแสดงและโด่งดังอย่างมากในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

โปสเตอร์โปรโมท Sandow Trocadero Vaudevilles ในสหรรัฐอเมริกา เมื่อปี 1894 หรือเมื่อ 130 ปีก่อน /ภาพ: United States Library of Congress

อย่างไรก็ตามอีกหลายทฤษฎีก็มองว่า Stand-Up Comedy นั้นเกิดขึ้นมาจาก American Vaudeville (อเมริกันโวเดอวิลล์) ซึ่งก็คือการแสดงบนเวทีประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ต้นปีค.ศ. 1880-1930 โดย “โวเดอวิลล์” เป็นรูปแบบความบันเทิงที่มี การเต้นรำ การเล่นดนตรี การเล่นละครละคร มายากล กายกรรม ละครสัตว์ รวมถึงการแสดงตลก เป็นโชว์เพื่อความสนุกสนานที่ไม่ต้องคิดถึงเหตุผล และเวทีนี้เองที่นักแสดงตลกเริ่มสร้างความแตกต่างได้ด้วยการพูด การเล่าเรื่อง ที่ตลกขบขัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การแสดงที่สร้างนักแสดงที่มีชื่อเสียงออกมามากมาย ก่อนที่ในเวลาต่อมา American Vaudeville จะค่อยๆได้รับความนิยมลดลงเพราะการเกิดขึ้นของสื่อบันเทิงแบบใหม่อย่างโรง ภาพยนตร์ รวมถึงทีวีนั่นเอง

วัฒนธรรม Stand-Up Comedy เติบโตขึ้นเรื่อยๆและขยายตัวไปในหลายประเทศด้วยเช่นกันเช่นสเปน บราซิลในช่วงทศวรรษที่ 50-60 ก่อนจะได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปี 90 และเติบโตมาสู่ Stand-Up Comedy แบบที่เรารู้จักกันในยุคปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆแม้เทคโนโลยีหรือสื่อจะมีพลวัตรไปมากแค่ไหน โดยมีทั้งการแสดงสดรวมถึงผ่านทางระบบออนไลน์ โดยล่าสุดหากมองไปที่ตลาดสหรัฐอเมริกาตลาด Stand-Up Comedy นี้เติบโตขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2017 ที่ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปถึง 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ที่ผ่านมา

วิวัฒนาการในไทยจาก “นักพูด” สู่กลุ่ม “ยืนเดี่ยว”

สำหรับในประเทศไทยการแสดงแบบยืนพูดคนเดียวเริ่มต้นขึ้นจาก อาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ต้นตำรับนักพูดเมืองไทย” ผู้ที่จบหลักสูตรการพูดในที่ชุมชนจากสถาบันเดล คาร์เนกี ประเทศอังกฤษ สร้างชื่อจนกลายเป็นที่รู้จักและจัดโชว์พูดคนเดียวในชื่อว่า “Life Talk Show การแสดงสาระชีวิต” ขึ้นครั้งแรกในปี 2529 เป็นการแสดงที่เล่าเชิงวิชาการแทรกเรื่องสไตล์ขำขันและมีการร้องเพลงขั้นบ้าง โดยโชว์ของอาจารย์ทินวัฒน์ มีการเปิดการแสดงหลายครั้งจนถึงปี 2541 ก่อนจะห่างหายไป

หน้าปกเทปบันทึกการแสดง Life Talk Show การแสดงสาระชีวิต ครั้งแรกในปี 2529

นอกจาก “เดี่ยวไมโครโฟน” ของโน้ส อุดม แต้พานิช ในปี 2538 ที่สร้างตำนานต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลานั้นก็มีนักพูด แจ้งเกิดขึ้นมามากมายด้วยไม่ว่าจะเป็น อาจารย์จตุพล ชมภูนิช ที่จักทอล์กโชว์ ต่อเนื่องหลายครั้ง นอกจากนั้นยังมีนักพูดที่แจ้งเกิดจากรายการโต้วาทีอย่าง อาจารย์เสรี วงษ์มณฑา, อาจารย์เสน่ห์ ศรีสุวรรณ รวมไปถึง “อาจารย์แม่” สุนีย์ สินธุเดชะ ก็หันมาจัดการแสดงทอล์กโชว์ด้วย ไม่เว้นแม้แต่นักแสดงตลกอย่าง โน้ต เชิญยิ้ม และโย่ง เชิญยิ้ม หรือพิธีกรชื่อดังอย่าง น้าเน็ก เองก็หันมาทำทอล์กโชว์ด้วยเช่นกัน

ถัดมาในยุคปัจจุบันนอกจากโน้ส อุดม แล้ว ยังมีกลุ่มชุมชน Stand-Up Comedy ที่เติบโตขึ้นอย่างกลุ่ม “ยืนเดี่ยว” โดยคุณกตัญญู สว่างศรี ที่ปัจจุบันโด่งดังกับรายการ Katanyu Tonight ทางช่อง Youtube จับมือกับ คณีณัฐ เรืองรุจิระ ผู้บริหาร G village สร้างกลุ่มที่รวมตัวคนที่ชื่นชอบการเดี่ยวไมโครโฟนขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันก็จัดการแสดงอย่างต่อเนื่อง มีคอมเมเดี้ยนชื่อดังให้ติดตามมากหน้าหลายตา โดยปัจจุบัน ยืนเดี่ยว มีผู้ติดตามผ่านช่อทาง facebook ยืนเดี่ยว มากกว่า 8 แสนคน ในขณะที่ช่องทาง YouTube ก็มีมากกว่า 4 แสนซับแล้ว

“โน้ส อุดม” กับมุมมองวงการ Stand-Up Comedy ไทย

แน่นอนว่าคนที่เป็นตำนวนแห่งวงการ Stand-Up Comedy ของไทยย่อมต้องพูดถึง “โน้ส” อุดม แต้พานิช ที่เติบโตในวงการบันเทิงในฐานะหนึ่งในเสนาของรายการยุทธการขยับเหงือก ก่อนจะผันตัวมาเริ่มทำ Stand-Up Comedy ในชื่อ “เดี่ยว” ครั้งแรกในปี 2538 ซึ่งจุดเริ่มต้นการเดี่ยว โน้สเล่าในรายการ “ซิทดาวน์ วิท สแตนด์อัพ อุดม แต้พานิช” ที่มี “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญอ้อม เป็นพิธีกรออกเผยแพร่ทาง Netflix ก่อนหน้านี้เอาไว้ว่า การแสดงเดี่ยวเกิดขึ้นจากคำแนะนำของครูสอนการแสดงอย่าง “ครูแอ๋ว” อรชุมา ยุทธวงศ์’ และ “ครูช่าง” ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ที่มองเห็นความสามารถในการเล่าเรื่องของโน้สที่เล่าได้สนุกสนานน่าจะไปทำ Stand-up Comedy เป็นของตัวเอง ทำให้โน้สเริ่มศึกษาวิธีการจากเทปวิดีโอ Stand-Up Comedy จากประเทศอังกฤษ ลองเขียนบทด้วยตัวเอง จนกลายเป็นการแสดง “เดี่ยว” ที่เดินทางมานานกว่า 28 ปี สู่เดี่ยวสเปเชี่ยลครั้งล่าสุด

ซิทดาวน์ วิท สแตนด์อัพ อุดม แต้พานิช’ ภาพ: Netflix

สำหรับคำว่า “เดี่ยว” นั้นโน้สเล่าเอาไว้ว่าเกิดขึ้นจากการพยายามหาชื่อที่ทำให้คนจำได้มากกว่าการใช้คำว่า Stand-up Comedy ที่คนไทยไม่เคยรู้จักในเวลานั้น จนได้ไอเดียจากประกาศการแข่งขันเทนนิสที่มีทั้งการแข่งขันหญิงเดี่ยวและชายเดี่ยว จนกลายมาเป็นที่มาของชื่อ “เดี่ยวไมโครโฟน One Stand up Comedy”

ส่วนการเลือกเรื่องราวในการนำไปเล่าบนเวทีนั้น โน้ส เล่าว่าตัวเองก็มีเส้นแบ่งเอาไว้อยู่เช่นกัน “เราจะมีเส้นนึงอยู่ในใจ อย่างเล่าเรื่องนี้กูเดือดร้อน เล่าเรื่องนี้อาจไม่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมของเรา เพราะผมเป็นนักแสดงตลก ในประเทศเราไม่มีแบ่งเรท บางเรื่องไม่เหมาะกับเด็ก” เป็นต้น

โน้ส อุดม พูดถึงแวดวง Stand-Up Comedy ในไทยที่ไม่ได้มีคนยืนอยู่ได้มากนักว่า “ผมว่าเพดานในการพูดของชาติเรา มันเป็นส่วนสำคัญอันนึงที่ทำให้ไม่ค่อยเจริญเติบโต มันเป็นธรรมดา ที่ไหนไม่มีแดด ต้นไม้ก็ไม่งอกงามอยู่แล้ว ยิ่งทุกวันนี้มีความเข้มข้นเรื่องการเหยียด การบูลลี่ การด้อยค่า เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่แตะไม่ได้ มีเรื่องเพศสภาพ และอีกหลายเรื่องที่แตะยาก และสังคมตอนนี้ก็อ่อนไหวมาก ๆ ผมเอาใจช่วยมากเลยนะพวกแก๊งยืนเดี่ยว ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนะในประเทศนี้ ไหนต้องมีคดี เพราะมีนักฟ้องเยอะ มันเกร็งไปหมด”

สำหรับโน้ส อุดม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ คอมเมเดี้ยนที่ทำ Stand-Up Comedy เท่านั้นแต่ยังเป็นนักแสดง คนเขียนบท เคยเป็นพิธีกรหลายรายการ เคยเล่นภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น โคตรรักเอ็งเลย, อีติ๋มตายแน่, ฝันโคตร ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังทำวงดนตรีชื่อ “DKL” ร่วมกับ ก้อง ห้วยไร่ และสิงโต นำโชค ด้วย

ปัจจุบันโน้ส อุดม เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 5 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เมดอินแฮปปี้แลนด์ จำกัด ที่จัดการแสดง “เดี่ยว” และ “ทอล์กโชว์” ต่าง ๆ บริษัท เอ็ม.โอ.ดี. ช็อป จำกัด จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกทุกชนิด บริษัท ทุเรียน จำกัด (เดิมชื่อบริษัท ปกติ จำกัด) จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่, บริษัท พอดีพานิช จำกัด รับออกแบบผลิตภัณฑ์ รับจ้างการแสดงและเขียนหนังสือเพื่อจำหน่าย และ บริษัท ลองรวย จำกัด ทำธุรกิจขายปลีก ตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในปี 2565 ทั้ง 5 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 249 ล้านบาท

ที่มา: blog.fouthwallticket , Business Insider , กรุงเทพธุรกิจ, ThaiPBS , Netflix


  •  
  •  
  •  
  •  
  •