ขึ้นชื่อว่า “ประเทศจีน” อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น! ดังเช่นสถานการณ์ “COVID-19” ที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่น และสินค้า Luxury Brand ระดับโลกปาดเหงื่อกับยอดขายร่วงไปตามๆ กัน! แต่สำหรับที่ดินแดนมังกร “COVID-19” ไม่อาจทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นในจีนหยุดหมุนได้! เพราะพี่จีนมองหา “โอกาสใหม่” เสมอ
กรณีศึกษาล่าสุดคือ “Shanghai Fashion Week” หนึ่งในงานแฟชั่นโชว์ใหญ่ของประเทศจีน ได้จัดงานแสดงคอลเลคชั่น Autumn – Winter 2020 เมื่อวันที่ 24 – 30 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นรายแรกที่กล้าฉีกขนบธรรมเนียมรูปแบบการจัด Fashion Week ที่เราคุ้นเคยกันมา
นั่นคือ แต่ไหนแต่ไรมารูปแบบการจัดงาน Fashion Week หรือแม้แต่งานแฟชั่นโชว์ บางโชว์ที่ไม่ได้เปิดเป็น Public ผู้เข้าชมจะต้องมีบัตรเชิญ หรือตั๋วเข้าชม ถึงจะเข้าไปดูได้ และแต่ละโชว์มีจำนวนที่นั่งจำกัด โดยที่นั่งแถวหน้า หรือที่เรียกว่า Front Row ถูกจัดไว้ให้กับ Buyer, คนที่มีอิทธิพลในวงการแฟชั่น และเหล่า Celebrity ระดับ A-List

ถึงแม้ก่อนหน้านั้นงาน Milan Fashion Week และ Paris Fashion Week ได้ทดลอง Live Streaming แต่ทำเฉพาะบางโชว์เท่านั้น และมีการแสดงแฟชั่นโชว์ของแบรนด์หรูบางแบรนด์เริ่มทำ Live Stream แล้ว เช่น Burberry เปิดตัวคอลเลคชั่น Autumn/Winter 2020 ที่งาน London Fashion Week
ทว่าสำหรับงาน “Shanghai Fashion Week” ในปีนี้ เมื่อตัดสินใจเดินหน้าต่อท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ได้ทำในรูปแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นจนจบโชว์ ประกอบด้วย
-
ใช้เทคโนโลยีสร้าง “Virtual Runway” หรือ “Cloud Fashion Runway”
-
ผนึกกำลังกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ B2C ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง “TMall” ในเครือ Alibaba เพื่อ “Live Streaming” การเดินแฟชั่นโชว์จาก “ดีไซเนอร์และแบรนด์” มากกว่า 150 แบรนด์ จำนวนสินค้ากว่า 1,000 ชิ้น

-
มีฟีเจอร์ “See Now, Buy Now” เมื่อผู้บริโภคเห็นดีไซน์ชุดไหน ก็สามารถ Pre-Order สินค้าได้เลย ทำให้แบรนด์สามารถ connect กับคนที่เป็นแฟนของแบรนด์ และผู้บริโภคได้โดยตรงแบบ “Real-time”
-
ผู้บริโภคสามารถดูการแสดงแฟชั่นย้อนหลังได้
ผลปรากฏว่าเพียงวันแรกที่ Live Stream “Virtual Runway” มียอดผู้ชมกว่า 2.5 ล้านวิว และเมื่อสิ้นสุดมียอดวิวรวมกันทั้งหมดกว่า 11 ล้านวิว สร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“อุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศจีนเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ขณะเดียวกันได้เข้าสู่ยุคใหม่ของพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ และโอกาสที่ไม่มีขีดจำกัด ซึ่งคงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหาก COVID-19 มาเป็นอุปสรรคปิดกั้นแบรนด์ และผู้ที่มีความสามารถด้านแฟชั่น เพื่อแสดงผลงานของพวกเขา ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นเวทีที่สนับสนุนผู้ที่มีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ เราจึงต้องผลักดันงานนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้”Xiaolei Lv รองประธานผู้จัดงาน Shanghai Fashion Week เล่าถึงรายละเอียด
ทางด้าน Mike Hu ผู้บริหาร Tmall Fashion, Luxury และ FMCG เล่าว่า Shanghai Fashion Week ในครั้งนี้ ได้ผสานเข้ากับเทคโนโลยีขั้นแอดวานซ์ของ Alibaba เช่น Live Streaming, Short-form Video, DingTalk แพลตฟอร์มเพื่อการประชุมและสนทนาจากทางไกล และ Tmall Flagship 2.0 เป็นเทคโนโลยีทดลองสินค้าได้แบบเสมือจริง ทั้งหมดนี้เพื่อต้องการยกเวทีแฟชั่นโชว์มาอยู่ตรงหน้าผู้บริโภค และยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้ง
“การเปิดตัว Cloud Launch ในครั้งนี้ ได้สร้างปรากฏการณ์การเปิดตัวสินค้ารูปแบบใหม่ จากแทนที่ผู้ร่วมงานต้องเดินทางไปงานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้าใหม่ และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง แบรนด์สามารถ Engage กับผู้บริโภคได้ต่อเนื่อง และสามารถ Live Broadcast ในงานอีเว้นท์ และสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจหลังงานอีเว้นท์ก็ได้ ในขณะเดียวกันเข้าถึงผู้ชมได้ตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงนับล้านคน จากเดิมงานอีเว้นท์แบบ Physical รองรับคนได้เต็มที่หลักร้อยเท่านั้น”

“Shanghai Fashion Week” จิ๊กซอว์สำคัญต่อภาพเซียงไฮ้ “เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์” ระดับโลก
“Shanghai Fashion Week” เริ่มต้นขึ้นในปี 2001 เจ้าภาพคือนครเซียงไฮ้ โดยมีกระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน และบริษัทที่ดูแลการจัดงานคือ Shanghai Textile Group พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับสถานฑูต – สถานกงสุลประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเซียงไฮ้
“เซียงไฮ้” เป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ, การค้าการลงทุน, การเงิน และยังเป็นเมืองแรกของประเทศจีนที่มี “อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์” (Creative Industry) เช่น เป็นที่ตั้งของสตูดิโอดีไซน์, ภาพยนตร์, เพลง และในปี 2010 “เซียงไฮ้” ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์กับ “UNESCO” (UNESCO Creative Cities Network) ในฐานะ “เมืองแห่งการออกแบบ” (City of Design) เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการนำเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ มาเป็นแกนหลักสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
จาก Purpose ดังกล่าว และการร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ทุกวันนี้ “Creative Industry” ของมหานครเซียงไฮ้เติบโตต่อเนื่องทุกปี
อย่างในปี 2013 มูลค่าอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ของเซียงไฮ้อยู่ที่ 255.5 พันล้านหยวน เติบโต 11.8% จากปีก่อน มาถึงปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 423 พันล้านหยวน เติบโต 8.9% จากปีก่อน ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ หรือการออกแบบ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม และทรานส์ฟอร์มเศรษฐกิจ
ดังนั้น “Shanghai Fashion Week” เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของการต่อภาพความเป็นเมืองแห่งการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ของเซียงไฮ้ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน และแข่งขันได้บนเวทีระดับโลก
ขณะเดียวกันเป็นการสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ของจีน และดึงดูดให้แบรนด์ต่างประเทศ – แบรนด์ระดับโลกแสดงผลงานคอลเลคชันใหม่ จึงเป็นโอกาสของแบรนด์แฟชั่นที่ต้องการเจาะตลาดจีน เพราะเวลานี้ Global Brand ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ลูกค้าจีน” คือ ลูกค้าที่มีศักยภาพและใหญ่สุดของโลก
“4 Big Four” ผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการ Fashion Week ของโลก
ทั้งนี้งาน “Fashion Week” เป็นงานแสดงศักยภาพและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่นของแต่ละประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาในการจัดงานประมาณ 1 อาทิตย์ โดยงานที่จัดต่อเนื่องมายาวนาน มี 4 Big Four ที่ถือว่าทรงอิทธิต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก คือ
-
New York Fashion Week
-
London Fashion Week
-
Milan Fashion Week
-
Paris Fashion Week
ทุกวันนี้ทั้ง 4 มหานครใหญ่นี้ ยังคงเป็น “ศูนย์กลางแฟชั่น” ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

อย่างไรก็ตามนอกจาก 4 Big Four แห่งแฟชั่นวีคระดับโลกแล้ว หลายประเทศก็ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นของตนเอง โดยจะเลือกเมืองหลวง หรือเมืองหลักมาเป็นสถานที่จัดแสดง
สำหรับจุดประสงค์หลักๆ ของการที่แต่ละประเทศต้องการจัดเทศกาล Fashion Week ของตัวเอง นั่นเพราะ
-
เป็นการรวมตัวกันของคนในวงการแฟชั่น และสื่อสารถึงทิศทางเทรนด์แฟชั่น
-
สร้างการรับรู้ในคอลเลคชั่นใหม่ เพื่อนำไปสู่การซื้อขายต่อไป
-
สร้างการเติบโตด้านรายได้ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศนั้นๆ
-
ส่งเสริม Talent ของประเทศตนเอง พร้อมทั้งดึงดูด Talent จากต่างประเทศเข้ามา
-
เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เพื่อสร้างการยอมรับในสายตานานาชาติ ซึ่งแฟชั่นคือหนึ่งในนั้น
-
ดึงดูดบรรดาแบรนด์แฟชั่นระดับโลกเข้ามาลงทุน
-
เป็นกลยุทธ์ Branding เมือง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ปัจจุบัน Fashion Week และงานแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ต่างๆ ในหลายประเทศได้พัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานในการแสดง เพื่อปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งการแข่งขันมากขึ้น, การซื้อขาย, พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ตลอดเวลา และต้องการความรวดเร็ว
เหมือนเช่นวันนี้ได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาสร้าง Virtual Runway และนำ Live Streaming มาเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้บริโภคในวงกว้าง และ Buyer ได้แบบ Real-time เพื่อในที่สุดแล้วช่วยเพิ่มการเข้าถึง และประสิทธิภาพในด้านยอดขาย
Source : Alizila 1, 2 , South China Morning Post
Source : UNESCO , Design Cities
Source : Wikipedia 1, 2 , Lifestyle Asia