สร้างโอกาสในวิกฤต! วิเคราะห์ท่าที SCB WEALTH ผ่าน 5 กลยุทธ์แนวใหม่ และ การเล่นหุ้นกำไรแกร่ง ราคาไม่แรง ดับซ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2022 SCB WEALTH ได้จัดงาน SCB WEALTH HOLISTIC EXPERTS ขึ้น นำโดยหัวเรืออย่างคุณยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมทั้งคุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment office and product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO office และคุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) 

 

ความน่าสนใจของงานอยู่ที่ การเผยถึง ‘วิธีสร้างโอกาสในวิกฤต’ แบบ ‘แตกต่างไม่เหมือนใคร’ เป็นสำคัญ โดยฝ่าย CIO คุณศรชัยแนะนำให้นักลงทุนเปลี่ยนวิธีคิด โดยต้อง ‘ละทิ้ง’ ปัจจัยด้านความผันผวนของตลาดและเศรษฐกิจออกไปก่อน และมองหา ‘การทำกำไรล้วนๆ’ ผ่าน ‘5 กลยุทธ์’ ที่เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาแบบใหม่แทน และฝ่าย SCBS คุณสุกิจเสริมให้ลงทุนในหุ้น ‘กำไรแกร่ง’ และ ‘ราคาไม่แรง’ เพราะมีความมั่นคงสูงและได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้อย ซึ่งทั้งสองประการเป็นไปเพื่อการสร้างข้อได้เปรียบแก่นักลงทุนทุกระดับ หรือจะว่าเป็นการ ‘ดับซ่า’ วิกฤตเศรษฐกิจย่อมได้

 

CIO จัดไป 5 กลยุทธ์การลงทุนลับดับซ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังเผชิญ ‘วิกฤต’ อย่างหนักหน่วง ทั้งปัญหาสงคราม นโยบาย zero-covid เงินเฟ้อต่อเนื่อง ความกลัวต่อ Recession (สภาวะเศรษฐกิจถดถอย) รวมถึงปัญหาจากภาครัฐที่ ‘ตามไม่ทันตลาด’ ไม่สามารถกำหนดนโยบายทางการเงินที่แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้ทันท่วงทีหรือตรงจุด (ดูเพิ่มที่ จุดคบไฟใต้ฟ้าคะนอง: วิเคราะห์ผลสำรวจ EIC ‘ท่องเที่ยวและบริการ’ ช่วยเศรษฐกิจไทยได้ระยะสั้น แต่ ‘เงินเฟ้อและ Recession’ ทั่วโลกอาจเป็นผลเสียในระยะยาว) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ‘การตัดสินใจลงทุน’ เป็นอย่างมาก นั่นคือ ผู้ลงทุนมองไปทางไหนก็พบพานแต่ปัญหาไปหมด มีความผันผวนไปหมด เหมือนตลาดเป็น ‘ไบโพลาร์’ อย่างไรอย่างนั้น 

 

เช่นนี้ ทำให้ คุณศรชัย ยีนกรานอย่างหนักแน่นว่า ‘ทางออก’ ของการตัดสินใจลงทุนในช่วงวิกฤตนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่อาจต้อง ‘ละทิ้ง’ ปัจจัยด้านความผันผวนของตลาดและเศรษฐกิจออกไปเสียก่อน หากมัวแต่กังวลถึงความเป็นไปของตลาด ณ ตอนนี้ รังแต่จะทำให้เกิด ‘ความกลัวและกังวล’ เสมอ เมื่อละทิ้งสิ่งดังกล่าวไปได้หมด ในขั้นต่อไป คุณศรชัยได้เน้นย้ำข้อเสนอถึง ‘5 กลยุทธ์’ เพื่อเข้ามาเป็น ‘เครื่องมือใหม่สำหรับการลงทุน’ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ประการแรก สร้างกระแสเงินสดในพอร์ต โดยการทะยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพสูง (Build income streams) พันธบัตรคุณภาพสูง (Investment Grade) หรือการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนระยะยาว เนื่องจากตอนนี้ สงครามยังคงระอุ ราคาพลังงาน อาหาร เงินเฟ้อยังคงสูงลิ่ว ทำให้ต้องกระทำการแบบ wait and see ไปก่อน นอกจากจะทำให้ ‘เงินในพอร์ตเคลื่อนไหว’ แล้ว การลงทุนกับสิ่งข้างต้นเป็นการเลือกลงทุนกับสิ่งที่มี ‘คุณภาพสูง’ ยังทำให้นักลงทุนคาดหวังถึง ‘กำไร’ ยามเศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตไปแล้วย่อมได้ 

 

ประการที่สอง การจายการลงทุนสู่ผลิตภัณฑ์ที่ ‘ได้กำไร’ แบบไม่ ‘อิงตลาด’ เพราะตอนนี้ตลาดผันผวนมาก การลงทุนในตลาดอาจได้รับผลกระทบจาก ภาวะแรงฉุดจากความผันผวน (Volatility drag) ต่อพอร์ตก็เป็นได้ หรือก็คือ นักลงทุนควรลงทุนในผลิตภัณฑ์แล้ว ‘ได้กำไร’ โดยไม่จำเป็นต้อง ‘จับตาหรือจับจังหวะ’ การลงทุน ซึ่งตอนนี้ อาจเน้นหนักไปที่ ผลิตภัณฑ์ ‘นอกตลาด’ เป็นสำคัญ โดยสินทรัพย์ประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมคือ Private Assets (อาจรวมถึง Private equity, Private credit, และ Private real estate) เพราะให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอและเป็นเชิงบวกเป็นประจำ (ราวร้อยละ 6-10) 

 

ประการที่สาม ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (Derivative) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง (Structure notes) เพราะสินทรัพย์เหล่านี้มีการวางหลักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ‘Downside Risk’ โดยตั้ง Maximum ไว้ก่อนหน้า หากระดับราคาลงมาถึงจุดหนึ่ง สินทรัพย์ประเภทนี้จะ ‘ตัดขาด’ การซื้อขายทันที หรืออาจบอกได้ว่าเป็นการ ‘ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด’ เช่นนี้ ทำให้นักลงทุนสามารถ ‘คาดการณ์ล่วงหน้า’ เพื่อจัดการ ‘คุมทิศทาง’ พอร์ตของตนเองได้ 

 

ประการที่สี่ ลงทุนแบบ Thematic หรือก็คือ วิธีการลงทุนแบบที่ตอนนี้เสี่ยงขั้นสุด แต่ในระยะยาวอาจได้ผลตอบแทนเกินคาด วิธีการดังกล่าวนี้ คล้ายกับการลงทุนแบบ ‘หวังน้ำบ่อหน้า’ การจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ ต้องเป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างยั่งยืนได้ อาทิ อุตสาหกรรมในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะธีม Renewable Energy & Decarbonization ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าเป็นเทรนด์อุตสาหกรรมที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ สามารถคิดไปถึงอุปสงค์ที่ตามมาอย่างมหาศาลได้

 

ประการที่ห้า ปลุกทรัพย์หลับให้ตื่น ด้วย Lombard Loan หรือก็คือ การนำทรัพย์สินที่ ‘คงคลัง’ อยู่ในพอร์ต ดึงออกมาเป็น ‘สินทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้’ เพื่อนำเม็ดเงินที่กู้มาได้ไปลงทุนต่อ วิธีการเช่นนี้จะช่วย ‘หมุน’ เศรษฐกิจ เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น หรือกระตุ้น ‘ภาคการลงทุน real sector’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

SCBS สะกิด เน้นลงทุนหุ้นกำไรแกร่ง ราคาไม่แรง

 

ในส่วนตลาดหุ้น คุณสุกิจได้เสนอเสริมกลยุทธ์ทั้ง 5 ไปอีกขั้น โดยการเสนอให้เน้นให้ลงทุนในหุ้น ‘กำไรแกร่ง’ และ ‘ราคาไม่แรง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มหุ้นในภาคส่วน ธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม การสื่อสาร และธนาคาร นั่นเพราะ กลุ่มเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย และมีแน้วโนมปรับขึ้น (Upside) ให้คิดตามว่า แม้จะมีปัญหาหลายอย่าง แต่ผู้คนก็ยังต้องทานอาหาร/เครื่องดื่ม โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เน้นเรื่องการเป็น ‘ครัวโลก’ ส่งออกสินค้าปฐมภูมิเป็นสำคัญ ก็ยิ่งได้เปรียบ หรือธุรกิจการสื่อสารยิ่งไม่ต้องสงสัย การเกิดโควิด ผู้คนเริ่มติดต่อกันออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงการพัฒนารูปแบบการติดต่อใหม่ๆ เสมอๆ ยิ่งเป็นส่วนเสริมให้ลงทุนในภาคส่วนนี้เป็นเท่าทวี ณ จุดนี้ ต่างจาก กลุ่มขนส่ง การแพทย์  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  อสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยว ที่ไม่ควรเข้าไปข้องแวะ เพราะมีแนวโน้มปรับลง (Downside) รวมถึง ‘ราคาแรง’ ดีดตัวพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว จากการเปิดประเทศ เงินทะลักเข้ามาในระบบจนเกินควบคุม 

 

ทั้งนี้ คุณสุกิจ ยังได้ชี้ให้เห็นถึง ‘ความพิเศษ’ ของตลาดหุ้นไทยว่า ปัจจัยพื้นฐานยังคงดีเยี่ยม ผลประกอบการไม่ได้ปรับลด กรอบ SET Index อยู่ในระดับคงเดิม ที่  1,550 -1,750 จุด และ SCBS ประเมินเป้าหมายของ SET Index ปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐและประเทศเพื่อนบ้านที่ปรับลดในระดับสูง นั่นทำให้คิดได้ว่า ยังสามารถดำเนินการลงทุนได้ เพียงแต่ต้อง ‘พิจารณา’ ธุรกิจสำหรับการเลือกลงทุนอย่างถี่ถ้วน ควรเลือกธุรกิจที่มีความมั่นคงทางกำไร หรือสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว หรือหากวิกฤตยังคงอยู่ยาวๆ ก็ไม่หวั่น โดยคุณสุกิจ ได้แอบ ‘สะกิด’ นักลงทุนเบาๆ ว่า ‘ธุรกิจพลังงาน’ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับการลงทุน เพราะอย่าลืมว่า สงครามจะดำเนินได้ การขนส่งจะดำเนินได้ หรือแม้กระทั่งการผลิตจะดำเนินได้ จำเป็นต้องมี ‘พลังงาน’ ขับเคลื่อนทั้งสิ้น 

 

ประเมิน ‘ข้อเสนอ’ สำหรับการลงทุนในวิกฤตเศรษฐกิจ

 

จากที่กล่าวในข้างต้น นับเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถือว่า ‘วิธีสร้างโอกาสในวิกฤต’ แบบ ‘แตกต่างไม่เหมือนใคร’ แต่อย่างไรเสีย สิ่งที่น่าขบคิดหรือพึงกระทำต่อไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ การหวนกลับมา ‘ประเมิน’ ข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง โดยข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับการประเมินมากที่สุด นั่นคือ กลยุทธ์ทั้ง 5 แบบ ที่คุณศรชัยได้เสนอไว้ โดยเน้นประเมินไปที่ การสร้างกระแสเงินสดในพอร์ตโดยการลงทุนกับสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง และ การลงทุนแบบ Thematic เป็นสำคัญ

 

อย่างแรก การลงทุนกับสินทรัพย์ที่มี ‘คุณภาพสูง’ โดยเมื่อตั้งข้อสังเกตไปที่ หุ้นกู้เอกชนระยะยาว คำถามที่ตามคือ หุ้นกู้ดังกล่าว ต้องเป็นหุ้นกู้ของเอกชนแบบใดถึงทำให้คิดได้ว่าเหมาะสมสำหรับการลงทุนในระยะยาว? เอกชนแบบ ‘ผูกขาด (Monopoly)’ ดีหรือไม่? เพราะการมี back-up จากภาครัฐ อาทิ กลุ่มแชโบล (Chaebol) ของเกาหลีใต้ หรือกลุ่มเคเรตซึ (Keiretsu) ของญี่ปุ่น ทำให้หมดกังวลวงเรื่อง ‘ความมั่นคง’ รัฐไม่มีทางให้บรรดาทุนเหล่านี้ ‘ล้ม’ ได้ง่ายๆ คำถามที่ตามมาคือ หากนักลงทุนมุ่งลงทุนบนฐาน ‘ความมั่นคงและผลตอบแทน’ เพียงอย่างเดียว จะทำให้ ‘การแข่งขัน’ เพื่อ ‘เพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจให้สูงสุด’ หมดความสำคัญลงไปหรือไม่? และมีผลให้เศรษฐกิจ ‘หยุดการพัฒนาศักยภาพ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามวิกฤตเช่นนี้ ตามไปด้วยหรือไม่? 

 

ต่อมาคือ การลงทุนแบบ Thematic โดยตั้งข้อสังเกตไปที่ การลงทุนในอุตสาหกรรมในกลุ่ม ESG คำถามที่ตามมาคือ ท้ายที่สุดจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจริงหรือไม่? เพราะปัจจุบัน ผู้คนต่างหัวหัวเรือไปหาพลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดอยู่ก่อนหน้า ขนาดที่ว่าทำให้เกิด Greenflation (เงินเฟ้อเพราะกระแสพลังงานทางเลือก ผู้ผลิตน้ำมันกลัวคนไม่ซื้อ เลยชิงขึ้นราคาสูงๆ) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันด้วยเช่นกัน 

 

คำถามจากการประเมินในข้างต้น อาจตอบได้ยากยิ่ง หรือ อาจยังไม่สามารถตอบได้ ณ ตอนนี้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในฐานะนักลงทุน ผู้สามารถ ‘กุมชะตา’ ตนเองได้อยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ‘วิธีคิด’ ที่หลากหลาย เพราะหากลงทุนไปแล้ว ‘เสียหาย’ ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ย่อมไม่คุ้มเสียเป็นแน่แท้

 

ที่มา:

  • SCB WEALTH Press Release (22/6/2022)

 

 


  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  
Hayden Wiesz
A rookie of Tech columnist with disciplined from Faculty of Political Science, Thammasat University. Writing related with Metaverse, Cryptocurrency, Digital Asset, Financial Technology, Fiscal/ Monetary Policy, Macroeconomics and any Current Affairs. Fully passionate with Political Theory, Political (Ontological) Turn, Agonistic Democracy, Post-marxism, and Korean Studies.