ตามมหานครเมืองใหญ่ของโลก จะมี “ย่าน” (District) หลายแห่ง แต่ละย่านมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น ย่าน Fifth Avenue ในนิวยอร์ก, ย่านกินซ่า, ชินจุกุ, ฮาราจูกุ, โอโมเตะซันโด ในญี่ปุ่น, ถนนออชาร์ด ในสิงคโปร์, อ็อกซ์ฟอร์ด สตรีท ที่ลอนดอน
ในขณะที่กรุงเทพฯ ในอดีตมี “ย่านธุรกิจการค้า” ไม่กี่แห่ง เช่น ย่านสาทร – สีลม ย่านธุรกิจสำคัญของไทย / ย่านสยามสแควร์ เป็นทั้งย่านช้อปปิ้ง สถาบันการศึกษา และไลฟ์สไตล์ใหม่ / ย่านราชประสงค์ เป็นทั้งย่านช้อปปิ้ง และแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ และย่านสุขุมวิท เป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย ทั้งคนไทย และคนทำงานชาวต่างประเทศ (Expat) อาคารสำนักงาน และช้อปปิ้ง
แต่ผลจากโครงการรถไฟฟ้าขยายเส้นทางใหม่ ทำให้เมืองขยายตัวตาม เกิดย่านแห่งใหม่ ที่มาจากกลุ่มทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ได้ปักหมุดสร้างโครงการบนทำเลศักยภาพแห่งใหม่ โดยที่โครงการของตนเองเป็นผู้ Dominate ในย่านนั้นๆ
ดังนั้น กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในเครือ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดลงทุนตั้งแต่ “สามย่าน – ย่านพระราม 4” ให้เป็น “New CBD” ด้วยการลงทุนพัฒนา 5 โครงการใหญ่ ได้แก่
-
โครงการ Mixed-use Development “สามย่านมิตรทาวน์” มูลค่าโครงการกว่า 8,500 ล้านบาท
-
โครงการ Mixed-use Development “FYI Center” มูลค่าโครงการกว่า 5,000 ล้านบาท
-
โครงการ Mixed-use Development “The PARQ” มูลค่าโครงการกว่า 20,000 ล้านบาท
-
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดำเนินการปิดปรับปรุง มูลค่างบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท
-
โครงการ Mixed-use Development “One Bangkok” เป็นอภิมหาโปรเจคของภาคเอกชนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในไทยเวลานี้ กว่า 120,000 ล้านบาท
“สามย่าน – ย่านพระราม 4” ทำเลทองฝังเพชรแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ มูลค่าที่ดินทะลุ 3 ล้านต่อตารางวา!!
“สามย่าน – พระราม 4” กำลังเป็นอีกทำเลทองของกรุงเทพฯ ในพื้นที่ใจกลางเมือง ส่วนสำคัญมากจากการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายที่เชื่อมพื้นที่รอบนอกเมือง เข้าสู่ใจกลางเมือง ได้แก่
“หัวลำโพง – บางแค” เปิดให้บริการเมื่อ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา
“เตาปูน – ท่าพระ” คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการปี 2563
นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังพิจารณาแผนก่อสร้างส่วนต่อขยายจาก “หลักสอง – พุทธมณฑล” โดยประเมินจากปริมาณของผู้โดยสาร
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทำให้การเดินทางจากนอกเมือง เข้าสู่ใจกลางเมืองสะดวกขึ้น
อีกทั้งสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้ ยังเชื่อมต่อเข้า “ย่านเมืองเก่า” เช่น ย่านเยาวราช ที่มีสถานีวัดมังกรเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายเก่าแก่ ที่ปัจจุบันมีทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในย่านนี้จำนวนมาก
ขณะเดียวกัน “พระราม 4” เป็นถนนคู่ขนานกับ “สุขุมวิท” และมีซอยที่สามารถทะลุไปยังย่านสุขุมวิทที่มีรถไฟฟ้า BTS เดินทางได้สะดวก
ประกอบกับศักยภาพของย่านนี้ ที่มีความพร้อมทั้งปริมาณความหนาแน่นของประชากร ที่มีทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และอาคารสำนักงาน สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งครบองค์ประกอบของการสร้าง “ย่าน” หรือ “District” ขนาดใหญ่ได้
คุณกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com ให้สัมภาษณ์กับ MarketingOops! ถึงภาพรวมทำเลย่านสามย่าน และพระราม 4 ว่า “บริเวณแยกสามย่าน” เดิมเป็นพื้นที่ของตลาดสามย่านเก่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ที่หยุดดำเนินการไปยาวจนเกือบ 10 ปีที่แทบไม่มีความเคลื่อนไหวเลย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 “กลุ่มโกลเด้นแลนด์” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวสิริวัฒนภักดี ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินตลาดสามย่านเก่าแห่งนี้ไปพัฒนาเป็นโครงการ Mixed-use ภายใต้ชื่อ “สามย่านมิตรทาวน์”
จุดเด่นของโครงการสามย่านมิตรทาวน์ คือ การเปลี่ยนโฉมทำเลให้เป็นโซน 24 ชั่วโมง เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ และวัยทำงาน
“การพัฒนาอสังหาฯ ในสามย่าน ตามมาสเตอร์แพลนของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอนาคตพื้นที่สามย่าน และใกล้เคียง จะมีการเปลี่ยนแปลงไปยังโครงการเชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งในอีก 5 – 10 ปี ย่านสามย่านคงเปลี่ยนโฉมหน้าไปไม่น้อย
ในส่วนของโครงการที่พักอาศัยในพื้นที่ “สามย่าน” เดิมเป็นบ้านเก่าชั้นเดียวบ้าง อาคารพาณิชย์บ้าง ก็เริ่มปรับตามสภาพของเมืองให้กลายเป็นคอนโดมิเนียมแบบ Low Rise
แต่ด้วยความต้องการที่สูงขึ้นตามมูลค่าที่ดิน จึงทำให้โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นคอนโดมิเนียมแบบ High Rise มากขึ้น ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่เรทระดับกลาง ไปจนถึงระดับสูง ปัจจัยแรกก็เป็นผลมาจากมูลค่าของที่ดิน
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งก็คือการเพิ่มมาตรฐานของที่อยู่อาศัย เพื่อให้คนที่เข้ามาจับจองได้สิ่งที่ดีกว่า เน้นเจาะกลุ่มคนทำงานที่มีกำลังทรัพย์มากเป็นพิเศษนั่นเอง”
ส่วน “ย่านลุมพินี – พระราม 4” เป็นหนึ่งในย่านที่อยู่อาศัยระดับ Super Luxury ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง เพราะใกล้สวนสาธารณะขนาดใหญ่ และเห็นวิวสวนแห่งนี้ อีกทั้งยังใกล้สถานที่สำคัญจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตญี่ปุ่น, ร้านอาหารลุมพินี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงแรมดุสิตธานี และยังใกล้ BTS สถานีราชดำริ BTS สถานีศาลาแดง MRT สถานีสีลม และ MRT สถานีลุมพินี
ภาพรวมที่อยู่อาศัย “ย่านลุมพินี” ในแต่ละปีมี Supply คอนโดมิเนียมใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยมาก และแม้ว่าระดับราคาคอนโดมิเนียมใหม่ในย่านนี้จะสูงมาก แตะ 300,000 บาทต่อตารางเมตร และแต่ละโครงการก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก
ส่วนคอนโดฯ มือสองย่านลุมพินี ราคาก็ขยับขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี เช่นเดียวกับอัตราค่าเช่าก็สูงมาก เฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
ขณะเดียวกันในอนาคตย่านพระราม 4 จะยังคงเป็นย่านที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียมไม่เสื่อมคลาย เนื่องจากใกล้สวนลุมพินี และสิ่งอำนวยความสะดวกรายล้อมจำนวนมาก อีกทั้งในอนาคตจะมีโครงการ Mixed-use ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งโครงการ “Dusit Central Park” ตั้งอยู่หัวมุมถนนพระราม 4 ตัดถนนสีลม (แยกศาลาแดง) ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นโครงการที่กลุ่มโรงแรมดุสิตธานีร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา
โครงการ “One Bangkok” ตั้งบริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 – ถนนวิทยุของกลุ่ม TCC Asset และใกล้กันก็มีโครงการ “The PARQ” บริเวณแยกพระราม 4 ของกลุ่ม TCC Asset เช่นกัน ที่จะทำให้ย่านลุมพินีได้รับอานิสงส์ด้วย
“จากศักยภาพของถนนพระราม 4 ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์กลางธุรกิจต่าง ๆ การเดินทางสะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้า BTS และ MRT รวมถึงการพัฒนาโครงการ Mixed-use รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท ต่างหนุนเสริมให้ทำเลนี้มีการเติบโตมากขึ้น และดันราคาที่ดินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ราคาที่ดินในทำเลพระราม 4 เติบโตเฉลี่ย 46% จาก 746,000 บาทต่อตารางวา เป็นกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา จึงมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตราคาที่ดินทำเลถนนพระราม 4 อาจแตะสูงถึง 3 ล้านบาทต่อตารางวา เปลี่ยนโฉมกลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ทัดเทียมสุขุมวิท ที่ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อตารางวา”
คุณกมลภัทร ขยายความเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ที่ดินในย่านพระราม 4 เริ่มหายากขึ้น ทำให้เริ่มเห็นคอนโดมิเนียมสิทธิการเช่าระยะยาว หรือคอนโดมิเนียมแบบ Lease Hold เปิดขายในย่านนี้ และด้วยความเป็นคอนโดมิเนียมสิทธิการเช่า ระดับราคาจะถูกกว่าคอนโดมิเนียมแบบ Free Hold หรือขายแบบมีกรรมสิทธิ์ราว ๆ 30-40% แต่ได้อยู่ในย่านที่เป็น Prime Area อย่างย่านลุมพินี ทำให้ตลาดยอมรับคอนโดมิเนียมสิทธิการเช่าย่านนี้
ในอนาคตจึงเชื่อว่า ย่านพระราม 4 จะมีโครงการคอนโดมิเนียมแบบ Lease Hold มากขึ้น รวมถึงโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยกลางใจเมือง ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกจะสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะดึงความต้องการที่อยู่อาศัยของทั้งกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และผู้ซื้อเพื่อลงทุนให้เข้าสู่พื้นที่แห่งนี้”
จับตาข้อดี – ข้อเสียอสังหาฯ ไทย แห่พัฒนาโครงการ “Mixed-use Development”
ในช่วง 5 – 10 ปีมานี้ ทิศทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของยักษ์ Developer มาทาง “Mixed-use Project” ที่ภายในที่ดินผืนเดียวกัน มีหลายองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน ทั้งรีเทล, อาคารสำนักงาน, ที่อยู่อาศัย, โรงแรม
คุณกมลภัทร ให้ข้อมูลว่า Mixed-use Development เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1. ที่ดินราคาแพงขึ้น เนื่องจาก Mixed-use ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันที่ดินมีราคาแพงขึ้นมาก อาทิ ย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ราคาที่ดินทะลุ 2 ล้านบาท/ตารางวาแล้ว หากจะพัฒนาโครงการรูปแบบเดียว อาจไม่คุ้มกับต้นทุนที่ดิน
2. ที่ดินหายากขึ้น แม้จะมีเงินทุนสูง แต่ก็ไม่อาจเป็นเจ้าของที่ดินแปลงงามได้ เพราะที่ดินบนทำเลดี ๆ หายากขึ้น หากมีที่ดินดังกล่าวในมือจึงได้พัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
3. ที่ดินแปลงขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีที่ดินขนาดใหญ่ออกมามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานภาครัฐ
ประกอบกับดัชนีราคาที่ดินจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 6.4% ทำให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบ Singled-use หรือการพัฒนาโครงการเพื่อการอยู่อาศัยหรือเพื่อการพาณิชยกรรมเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้คุ้มค่าอีกต่อไป
เป็นเหตุผลให้มีการพัฒนาโครงการ Mix-used เกิดขึ้น โดยรูปแบบส่วนใหญ่ จะเป็นการ Joint Venture หรือการร่วมทุนกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ลดการแข่งขันทางธุรกิจ และเพิ่มเงินทุนสำหรับการพัฒนา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการรูปแบบ Mixed-use จะมีข้อดีในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์หลายด้านเช่นกัน นั่นคือ
1. ปริมาณล้น เมื่อมีโครงการ Mixed-use มากขึ้น Supply ของแต่ละประเภทอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นพร้อมกัน เช่น ทุก Mixed-use มีอาคารสำนักงาน มีโรงแรม มีคอนโดมิเนียม มีศูนย์การค้า
Supply ของทั้ง 4 ประเภทอสังหาริมทรัพย์จะถูกเติมเข้าสู่ตลาดพร้อมกัน จึงมีความเสี่ยงที่อสังหาริมทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งจะ Oversupply
2. ลงทุนสูง แม้ว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินลงทุน แต่ต้นทุนในการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีองค์ประกอบหลากหลายถือว่าสูงกว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบเดี่ยว ดังนั้น โครงการ Mixed-use ส่วนใหญ่จึงเป็นโครงการระดับพรีเมียมที่ระดับราคา ไม่ว่าจะเป็นราคาขาย อัตราค่าเช่า และอัตราค่าบริการจะค่อนข้างสูง
3. ความวุ่นวาย ในเชิงสังคมความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต ต้องยอมรับว่า ยิ่งมีองค์ประกอบมาก นั่นหมายถึง จะมีคนใช้บริการเข้าสู่พื้นที่จำนวนมาก ความวุ่นวาย การจราจรที่ติดขัด เป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้
“ในอนาคตไม่เกิน 5 ปี จะเริ่มเห็นโครงการ Mixed-use ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เปิดให้บริการ จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า โครงการ Mixed-use เหล่านี้เปลี่ยนแปลงตลาดอสังหาริมทรัพย์ และไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯ อย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า Mixed-use ที่มีองค์ประกอบที่หลากหลายจะไม่ใช่โครงการที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังเหมาะกับคนทุกรุ่นทุกวัยด้วย”
5 โครงการใหญ่ “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ” ใช้พลัง Synergy ครองทำเล “สามย่าน – พระราม 4”
“สามย่านมิตรทาวน์” โครงการ mixed-use development ของโกลเด้นแลนด์ (บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ ประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตลาดเก่าสามย่าน ที่ดิน 13 ไร่ ให้เป็นโครงการ Mixed-use มูลค่าลงทุน 8,500 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอยรวม 222,000 ตารางเมตร เตรียมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2562 โดยภายในประกอบด้วย 3 ส่วนผสม คือ
– โซนรีเทล Urban Life Library สูง 6 ชั้น พื้นที่ให้เช่ารวม 36,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์“Urban Life Library” หรือ “คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้” ในโซนนี้มีแม่เหล็กที่ถือเป็นจุดเด่น คือ โซน 24 ชั่วโมง “Urban Life Library” เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตเมืองใหญ่ที่เป็นสังคมคนนอนดึก รองรับทั้งกลุ่มคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา
– โซนอาคารสำนักงานเกรด A สูง 31 ชั้น พื้นที่เช่ารวม 48,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ ซึ่งจะพัฒนาเป็นอาคารที่ใช้งานโดยใช้ระบบอัจฉริยะ เข้ามาเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ในอาคาร เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Smart Working
– โซนที่พักอาศัย Neo Explorer Living Platform มีโรงแรม และคอนโดมิเนียม สูง 33 ชั้น หรือคิดเป็น 15% ของโครงการ จำนวน 554 ยูนิต พร้อมทั้งแยกส่วนกลางของ 2 ส่วนออกจากกัน
“FYI Center” โครงการ Mixed-use พัฒนาโดยโกลเด้นแลนด์ มีพื้นที่ 9 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนรัชดาฯ – พระราม 4 ใกล้กับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ภายในประกอบด้วย อาคารสำนักงานใช้เช่า, โรงแรมมาตรฐาน หรือ Budget Hotel 14 ชั้น ขนาด 239 ห้อง
“The PARQ” พัฒนาขึ้นโดย “ทีซีซี แอสเซ็ท” และ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” ภายใต้แนวคิด “Life Well Balanced” มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท บนถนนพระราม 4 ติดกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, อาคาร FYI Center, สวนเบญจกิติ (ติดกับสถานี MRT คลองเตย และสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)
ในเฟสแรก มีมูลค่าการลงทุน 8,000 ล้านบาท ประกอบด้วย The PARQ Workplace” พื้นที่สำนักงานเกรด A / The PARQ Life เป็นแหล่งรวมร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์อาหาร บนพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “Eat Well and Shop Well” / พื้นที่สีเขียว มากกว่า 7,000 ตารางเมตร โดยผสมผสานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโครงการ Resize The PARQ_Overall Building Resize The PARQ Project
“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นบริษัทในอาณาจักร TCC Group ผู้ได้สิทธิ์บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มายาวนานตั้งแต่ศูนย์การประชุมแห่งนี้ เริ่มเปิดให้บริการในปี 2534 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ล่าสุดได้ปรับสัญญาเช่าดำเนินการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่กับกรมธนารักษ์ โดยได้สิทธิ์บริหารเพิ่มต่อไปอีก 50 ปี จากเดิม 25 ปี ภายใต้เงื่อนไขปรับปรุงพื้นที่เดิม และเพิ่มพื้นที่ใช้งานใหม่ รวมแล้วมีพื้นที่ใช้งาน 1.8 แสนตารางวา ด้วยงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันกรมธนารักษ์ ได้ค่าธรรมเนียม 407 ล้านบาท และค่าเช่าตลอดสัญญากว่า 5,000 ล้านบาท
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของภารกิจสร้าง “New CBD” ในย่านพระราม 4 เพราะเป็นศูนย์การประชุมที่มีความได้เปรียบด้านโลเกชันอยู่ใจกลางเมือง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งการเดินทาง และที่พักอาศัย โดยใช้พลัง Synergy โครงการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ TCC Group ในย่านพระราม 4 ที่มีความพร้อมด้านที่พัก
เพื่อรองรับนักเดินทางกลุ่ม “Business Traveler” ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และเพื่อแข่งขันได้กับ MICE สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งเป็นสอง MICE Destination ระดับโลกที่สถานที่จัดการประชุมมีความได้เปรียบทั้งด้านโลเกชัน และการเดินทาง
ทุกวันนี้ในหลายประเทศต่างต้องการลูกค้านักเดินทางกลุ่ม MICE เพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง อย่างในประเทศไทย นักเดินทางกลุ่ม MICE สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 213,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยนักเดินทางกลุ่ม MICE จากต่างประเทศ พำนักอยู่ในไทยประมาณ 5 วัน มีค่าใช้จ่ายกว่า 70,000 บาทต่อคนต่อทริป
นั่นหมายความว่า ภาพที่จะเห็นต่อไปของย่านพระราม 4 จะมีทั้งคนไทย นักท่องเที่ยวต่างประเทศ กลุ่ม MICE และชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทย (Expat) เข้ามาใช้ชีวิตในย่านนี้มากขึ้น
“One Bangkok” อภิมหาโครงการ Mixed-use ของภาคเอกชนที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนวิทยุ ตัดกับถนนพระราม 4 ภายในประกอบด้วย
– อาคารสำนักงานเกรด A จำนวน 5 อาคาร รวมกันมีพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร รองรับคนได้มากกว่า 50,000 คน
– พื้นที่รีเทล 4 โซน ที่แตกต่างกัน และเชื่อมต่อถึงกัน มีร้านค้า และร้านอาหารกว่า 450 ร้าน บนพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร
– โรงแรม 5 แห่ง ทั้งหมดจะเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับกรุงเทพฯ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับ Boutique Hotel, โรงแรมเพื่อธุรกิจ ไปจนถึงโรงแรมระดับ Super Luxury รวมกว่า 1,100 ห้อง โดยโรงแรม Super Luxury เป็นแบรนด์ The Ritz-Carlton, Bangkok เปิดให้บริการในปี 2566
– ที่พักอาศัยระดับ Luxury 3 อาคาร ซึ่งโครงการแรกจะตั้งอยู่เหนือโรงแรม The Ritz-Carlton, Bangkok ประกอบด้วยห้องตกแต่งหรู 2 – 4 ห้องนอน 110 ห้อง พื้นที่เริ่มต้น 130 ตารางเมตร เปิดตัวช่วงต้นปี 2563
– พื้นที่สำหรับกิจกรรมทางศิลปะ และวัฒนธรรม
– ไฮไลท์สำคัญ คือ Signature Tower สูงกว่า 430 เมตร เป็นหนึ่งในสิบตึกที่สูงที่สุดของอาเซียน ภายในประกอบด้วยพื้นที่สำนักงาน และโรงแรมหรู
Source : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปรับสัญญาเช่าใหม่ : ฐานเศรษฐกิจ