ปี 2025 โลกหวนกลับคืนสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อ Donald Trump กลับคืนสู่บัลลังก์ทำเนียบขาวอีกครั้ง เสียงกระหึ่มของนโยบาย “อเมิกาต้องมาก่อน (America First)” ดังสนั่นก้องกังวาน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เคยประคองกันอย่างระมัดระวังในยุค Joe Biden กลับสั่นคลอนอย่างรุนแรงอีกครั้ง โลกทั้งใบต่างจับจ้องมาที่สหรัฐฯ และคาดการณ์กันว่าสงครามการค้าที่เคยเกิดขึ้นจะหวนกลับมาพร้อมกับอาวุธใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิม
ภายใต้การนำของ Donald Trump ที่มีนโยบาย “อเมิกาต้องมาก่อน (America First)” เป็นหัวใจหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดดุลการค้าที่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่พุ่งสูงถึง 2.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่สหภาพยุโรปขาดดุลการค้าสูงถึง 2.35 แสนล้านดอลลาร์, แม็กซิโกขาดดุลการค้าสูงถึง 1.71 แสนล้านดอลลาร์, เวียดนามขาดดุลการค้าสูงถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์
เริ่มต้นด้วยยาแรงนโยบายกำแพงภาษี
“ขาดดุลการค้า” กลายเป็นชนวนเหตุที่ Trump ประกาศนโยบาย “กำแพงภาษีเหล็กกล้า” อีกครั้ง โลกก็เหมือนถูกไฟฟ้าช็อต โดยเฉพาะกับจีนที่มีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราเฉลี่ย 20% ในเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มเป็น 34% ในเดือนเมษายน ส่งผลให้สินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีกว่า 54% ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม
โดย Trump ให้เหตุผลว่า “นี่คือการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และลดการขาดดุลทางการค้าที่เป็นผลมาจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับจีน”
แต่ในสายตาของนานาประเทศ นี่คือการประกาศสงครามทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าหมาย กำแพงภาษีของทรัมป์ยังแผ่ขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยจัดเก็บ “ภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff)” อย่างน้อย 10% สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ ไม่ได้ขาดดุลการค้า แต่สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจะมีการจัดเก็บ “ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff)” ที่แตกต่างออกไป ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์

ทำให้สินค้าจากสหภาพยุโรปปรับภาษีขึ้นอีก 25% สำหรับเวียดนามปรับภาษีขึ้นอีก 46% ขณะที่ประเทศไทยมีการปรับภาษีขึ้นอีก 36% โดยอ้างเหตุผลทั้งด้านความมั่นคง ไปจนถึงข้อตกลงทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โลกทั้งใบกำลังถูกบีบให้ต้องเลือกว่าจะยืนอยู่กับใคร หลายประเทศเลือกเจรจาต่อรองหรือออกมาตรการเอื้อให้กับสหรัฐฯ เพื่อขอลดกำแพงภาษีลง หลายประเทศเลือกตั้งกำแพงภาษีตอบโต้
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือความหวาดกลัวของนักลงทุนที่เริ่มปกคลุมตลาดโลก ดัชนี Dow Jones ร่วงลงกว่า 1,500 จุด ในวันเดียว ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเริ่มปั่นป่วน ต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 20% ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เริ่มการกักตุนสินค้าก่อนที่จะแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มังกรคำรามสะเทือนโต้กลับทั้งภาษีและแร่หายาก
สงครามครั้งนี้ทั่วโลกมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะจีนที่ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักและเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งไม่ต้องใช้หมอดูชื่อดังมาทำนายก็รู้ว่า จีนไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันแน่นอน จีนตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34% เท่ากับที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน โดยเล็งเป้าไปยังสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ พร้อมยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กรณีการกำหนดภาษีอย่างไม่เป็นธรรมของ Trump
นอกจากการโต้กลับด้วยภาษีแล้ว จีนยังบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายากกว่า 25 ชนิด โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกระงับทันที ถือเป็นการที่จีนเริ่มใช้ “อาวุธลับ” ที่ซ่อนไว้ ซึ่งแร่หายากเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ตั้งแต่สมาร์ทโฟน รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยแร่หายากของโลกกว่า 70% ถูกส่งออกโดยประเทศจีน
การระงับการส่งออกแร่หายากของครั้งนี้ ย่อมส่งผลให้กระบวนการผลิตทั่วโลกที่จะปั่นป่วนอย่างหนัก โรงงานหลายแห่งอาจต้องหยุดการผลิต บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ต้องเร่งหาแหล่งแร่หายากจากแหล่งอื่นอย่างอลหม่าน และตามธรรมชาติเมื่อ Demand สูงแต่ Supply มีจำกัด ราคาแร่หายากในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 300% ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
การเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้ เปรียบเสมือนการประกาศศักดาครั้งสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นมหาอำนาจโลกตัวจริง โลกทั้งใบกำลังจับจ้องว่าการระงับส่งออกแร่หายาก อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเทคโนโลยีครั้งใหม่ ที่ต้องไม่ลืมว่าจีนมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีไม่ด้อยไปกว่าสหรัฐฯ เลย
ทำความรู้จักแร่หายากจากจีนที่สหรัฐฯ ต้องการ
อย่างที่บอกไปแล้วว่า แร่หายากของจีนมีจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักทั้ง กลุ่มแลนทาไนด์ (Lanthanide), กลุ่มทรานซิชัน (Transition) และกลุ่มแร่อื่นๆ โดยแร่หายากสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องนำเข้ามีทั้งสิ้น 7 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น
- ซาแมเรียม (Samarium – Sm) ใช้ในผลิตแม่เหล็กกำลังสูงสำหรับผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก, ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Nuclear Reactors) และใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Treatments)
- แกโดลิเนียม (Gadolinium – Gd) ใช้ในตัวแทนความคมชัดของ MRI (MRI contrast agents), การป้องกันรังสีนิวเคลียร์ (Nuclear Shielding), และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics)
- เทอร์เบียม (Terbium – Tb) ใช้ในระบบแสงสว่าง (Phosphors in Lighting), จอแสดงผล (Displays), และการผลิตแม่เหล็ก (Magnet)
- ดิสโพรเซียม (Dysprosium – Dy) ใช้ในแม่เหล็กถาวรประสิทธิภาพสูงสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (High-Performance Magnets for EV) และกังหันลม (Wind Turbines)
- ลูทีเซียม (Lutetium – Lu) ใช้ในการถ่ายภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging), การรักษามะเร็ง (Cancer Therapy), ใช้เป็นสารเรืองแสงในหลอดไฟ LED, ใช้ในกระบวนการไฮโดรเจน (Hydrogenation), กระบวนการเกิดพอลิเมอร์ (Polymerization), การผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalysts)
- สแกนเดียม (Scandium – Sc) ใช้ในเพิ่มความแข็งแรงในโลหะผสมอลูมิเนียมสำหรับการบินและอวกาศ (Enhances Strength in Aluminum Alloys for Aerospace), ผลิตอุปกรณ์กีฬา, ชิ้นส่วนยานยนต์, ไฟสนามกีฬา, ไฟสำหรับถ่ายภาพยนตร์, ใช้ในการผลิตแก้วและเซรามิก, สารติดตามรังสี (Radioactive Tracer) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (electronics)
- อิตเทรียม (Yttrium – Y) ใช้เป็นสารเรืองแสงในไฟ LED (Phosphors in LEDs), ผลิตจอแสดงผลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ, สารเสริมความแข็งแกร่งให้โลหะผสม (Alloys), ส่วนประกอบในเครื่องตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging), เลเซอร์ (Lasers), ใช้ในการผลิตเซรามิกและแก้ว, สารดูดซับไมโครเวฟ, ตัวนำยิ่งยวด (Superconductors), เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cells) และการรักษาโรคมะเร็ง
โดยแร่บางชนิดสามารถหาได้เฉพาะในพื้นที่ประเทศจีน ขณะที่แร่บางชนิดค่อนข้างมีจำกัด ทำให้แร่หายากเหล่านี้กลายเป็นเครื่องต่อรองสำคัญของจีน ซึ่งสหรัฐฯ อาจสามารถหาแร่อื่นมาทดแทน แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพที่แตกต่างออกไป และการหาแร่ใหม่อาจมีผลต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของจีนมีราคาที่ถูกกว่า และยังสามารถใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียเวลาหาแร่ใหม่
มหาอำนาจอื่นประกาศมาตรการตอบโต้
ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่ประกาศมาตรการตอบโต้อย่างชัดเจน แต่พันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ อย่างสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก ต่างก็แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อมาตรการภาษีที่ไม่คาดคิดของ Trump และดำเนินการตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐฯ เช่น ที่ EU กำหนดภาษีสินค้าอย่าง วิสกี้ บอร์เบิน และสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยมีการกำหนดภาษีในอัตรา 25% เท่ากับอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จัดเก็บ
นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ได้ยื่นข้อเสนอไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมดสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมแบบ “ศูนย์ต่อศูนย์ (Zero-for-Zero Tariffs)” เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากไม่สำเร็จก็พร้อมที่จะใช้ทุกเครื่องมือเพื่อปกป้องตลาดของ EU อาจรวมถึงการใช้ Anti-Coercion Instrument (ACI) เพื่อจำกัดการเข้าถึงสัญญาภาครัฐของบริษัทสหรัฐฯ
ยิ่งกว่านี้ EU ยังพยายามที่จะสร้างแนวร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เช่น จีน แคนาดา เม็กซิโก และออสเตรเลีย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านนโยบายทางการค้าของทรัมป์ในระดับโลก มาตรการตอบโต้ของ EU แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ ว่าพวกเขาจะไม่ยอมถูกกดขี่แต่เพียงฝ่ายเดียว
การตอบโต้จากนานาชาติไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องภาษี แต่ยังรวมถึงการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านนโยบายของสหรัฐฯ หลายประเทศเริ่มมองหาพันธมิตรใหม่ และพยายามลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ

ล่าสุด หลังจีนโต้กลับด้วยมาตรการภาษีและระงับการส่งออกแร่หายาก Donald Trump ก็สั่งการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนอีกระลอกเพิ่มชึ้นอีก 50% ทันที นั่นจะทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 104% เป็นการโต้กลับแบบทันควันและแน่นอนว่า ประธานาธิบดีสิจิ้นผิงของจีนก็คงไม่ได้มาเล่นๆ และอาจจะมีกำแพงภาษีจากจีนรอบใหม่ หรืออาจมีมาตรการโต้กลับที่รุนแรงกว่านี้
โดย Trump โพสต์บน Truth Social ซึ่งเป็น Social Network ของ Trump พัฒนาขึ้นมาเอง ระบุว่า “แม้จะเตือนแล้วว่า ประเทศใดๆ ที่ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเก็บภาษีเพิ่มเติม เหนือไปกว่าภาษีที่มีอยู่แล้วและข่มเหงประเทศเรามาอย่างยาวนาน จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นกว่าเดิมมากไปกว่าที่กำหนดไว้ในตอนแรก”
เรียกว่าเป็นมาตรการที่จะชี้ให้เห็นว่า ประเทศใดที่พร้อมยอมเพื่ออยู่ข้างสหรัฐฯ และประเทศใดที่อยู่ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ที่เหลือคือประเทศที่กำลังชั่งใจหรือวางตัวเป็นกลาง และแน่นอนว่ามาตรการที่จะออกมากดดันกันจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจที่ส่งออกและนำเข้า ที่เรียกว่าต้องงัดทุกกลยุทธ์ ทุกกระบวนท่าออกมารองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
และสิ่งที่หลายคนกลัวจะลุกลามไปถึงขั้นการใช้แสนยานุภาพทางทหาร อาจจะยังไม่ต้องหวั่นเกรงเพราะความได้เปรียบของทั้ง 2 ยังมีอยู่ เกมนี้จึงเหมือนเป็นเกมมองหาพันธมิตรที่แท้จริง ก่อนจะเปิดฉากเกมใหม่ที่จะเข้มข้นกว่านี้