ตลาดรถยนต์แม้จะไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 แต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซัพพลายเออร์ที่ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ รวมไปถึงความต้องการสินค้า (Supply) ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความวิตกทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของผู้บริโภคกับสถานการณ์ที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้
ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศมีทิศทางปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผยสถิติการขายรถยนต์ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาด COVID-19 อย่างรุนแรงในประเทศไทย รวมถึงการออกมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การกำหนดระยะเวลาออกนอกบ้าน เป็นต้น
ภาพรวมตลาดรถยนต์ทั้งหมดทุกประเภทเฉพาะในเดือนเมษายน 2563 ได้รับอานิสงส์จากผลกระทบ COVID-19 ปรับตัวลดลงทุกตลาด โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 30,109 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวในปีที่ผ่านมา 65% โดย TOYOTA ยังคงมีจำนวนรวมยอดสูงสุดที่ 11,084 คัน ขณะที่ ISUZU มียอดขายรวมอยู่ที่ 6,865 คันและ HONDA มียอดขายรวมอยู่ที่ 2,648 คัน
เมื่อลงดูในรายละเอียดจะพบว่า ในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยตลาดรวมขายได้เพียง 8,830 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 74.7% ซึ่ง TOYOTA ยังเป็นผู้นำตลาดรถยนต์กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) โดยมียอดขายอยู่ที่ 2,906 คัน ขณะที่ HONDA มียอดขายอยู่ที่ 2,229 คัน และ NISSAN มียอดขายอยู่ที่ 1,072 คัน
ส่วนตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยในตลาดรวมสามารถขายได้เพียง 21,279 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 58.4% ซึ่ง TOYOTA ก็ยังเป็นผู้นำตลาดรถยนต์กลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยมียอดขายอยู่ที่ 8,178 คัน ขณะที่ ISUZU มียอดขายอยู่ที่ 6,865 คัน และ FORD มียอดขายอยู่ที่ 1,205 คัน
และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่มรถกระบะแท้ๆ กับ กลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) โดยยอดขายกลุ่มรถกระบะแท้ๆ อยู่ที่ 15,158 คัน และกลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) มียอดขายอยู่ที่ 1,575 คัน ส่งผลให้ยอดขายภาพรวมของตลาดรถกระบะขนาด 1 ตันอยู่ที่ 16,733 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 59.4% โดยที่ TOYOTA ภาพรวมสามารถขายได้ 7,019 คัน ส่วน ISUZU ขายได้ 6,267 คัน และ FORD ขายได้ 1,205 คัน
เมื่อลงในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มรถกระบะแท้ๆ ผู้นำตลาดยังคงเป็น TOYATA โดยมียอดขายอยู่ที่ 6,266 คัน ขณะที่ ISUZU ยังสามารถขายได้ถึง 5,945 คัน ส่วน FORD ขายได้ 994 คัน ด้านกลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) TOYOTA ยังคงเป็นผู้นำต่อเนื่องโดยขายได้ถึง 753 คัน รองลงมาคือ ISUZU ขายได้ 322 คัน ส่วน Mitsubishi ขายได้ 219 คัน ขณะที่ FORD ขายได้ 211 คัน ด้าน CHEVROLET ขายได้ 45 คัน และ NISSAN ขายได้ 25 คัน
ทั้งนี้สภาพตลาดที่ปรับตัวลดลงป็นผลมาจาก มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ภาครัฐนำอกมาใช้ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มใช้มาตรการกักตัวอยู่บ้านและ Work from Home ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและชะลอการพิจารณาซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในอนาคตที่อาจจะเกิดการชะลอตัว
เมื่อถอยหลังออกมาดูภาพรวมตั้งแต่ต้นปี (มกราคม-เมษายน 2563) จะพบการเติบโตที่ลดลงเช่นกัน โดยภาพรวมตลาดรถยนต์ทั้งหมดทุกประเภทตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2563 มียอดขายรวมทั้งสิ้น 230,173 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวในปีที่ผ่านมา 34.2% โดย TOYOTA มียอดขายรวมสูงสุดที่ 67,245 คัน ขณะที่ ISUZU มียอดขายรวมอยู่ที่ 49,263 คันและ HONDA มียอดขายรวมอยู่ที่ 31,326 คัน
เมื่อลงดูในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) พบปริมาณการขายรวมอยู่ที่ 87,215 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 36.6% ซึ่ง HONDA เป็นผู้นำตลาดรถยนต์กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) โดยมียอดขายอยู่ที่ 26,188 คัน ขณะที่ TOYOTA มียอดขายอยู่ที่ 21,567 คัน และ NISSAN มียอดขายอยู่ที่ 9,763 คัน
ส่วนตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มีปริมาณการขายตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2563 อยู่ที่ 142,958 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 32.6% โดยมี ISUZU เป็นผู้นำตลาดมียอดขายอยู่ที่ 49,263 คัน ขณะที่ TOYOTA มียอดขายอยู่ที่ 45,678 คัน และ Mitsubishi ที่มียอดขายอยู่ที่ 11,031 คัน
และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่แบ่งเป็นกลุ่มรถกระบะแท้ๆ กับ กลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) โดยยอดขายตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2563 ในกลุ่มรถกระบะแท้ๆ อยู่ที่ 102,281 คัน และกลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) มียอดขายอยู่ที่ 11,415 คัน ส่งผลให้ยอดขายภาพรวมของตลาดรถกระบะขนาด 1 ตันอยู่ที่ 113,696 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 34.6% โดยที่ ISUZU ภาพรวมสามารถขายได้ 45,887 คัน ส่วน TOYOTA ขายได้ 39,752 คัน และ Mitsubishi ขายได้ 11,031 คัน
เมื่อลงในรายละเอียดจะพบว่า กลุ่มรถกระบะแท้ๆ ISUZU มียอดขายตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2563 อยู่ที่ 43,802 คัน ขณะที่ TOYOTA ยังสามารถขายได้ถึง 35,679 คัน ส่วน Mitsubishi ขายได้ 8,186 คัน ด้านกลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) TOYOTA ยังคงเป็นผู้นำโดยขายได้ถึง 4,073 คัน รองลงมาคือ Mitsubishi ขายได้ 2,845 คัน ส่วน ISUZU ขายได้ 2,085 คัน ขณะที่ FORD ขายได้ 1,509 คัน ด้าน CHEVROLET ขายได้ 589 คัน และ NISSAN ขายได้ 314 คัน
ทั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องหลายเดือมาจากการชะลอตัวเศรษฐกิจผสมกับวิกฤติ COVID-19 ที่มีแนวโน้มต่อเนื่องหลายเดือน แต่ก็ยังถือว่ามีเรื่องดีอยู่บ้าง เมื่อภาครัฐประกาศมาตรการผ่อนคลายในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยยังคงมาตรการเฝาระวังไว้ ทำให้เศรษฐกิจยังพอสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่งผลให้หลายค่ายสายรถยนต์และซัพพลายเออร์เริ่มกลับมาเดินสายการผลิตอีกครั้ง และมีแนวโน้มทิศทางตลาดในเดือนพฤษภาคมน่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา