จะว่าไปแล้วนโยบาย Thailand 4.0 คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพในกระบวนการผลิตและการให้บริการ หรือที่เรารู้จักกันในนาม IoT, AI, or Robot ซึ่งระบบจะมีความชาญฉลาด สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลรวมไปถึงวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการดำเนินการ นั่นทำให้หลายคนเชื่อว่า เมื่อมีเทคโนโลยีการจ้างงานก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีสามารถเรียนรู้และทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้น ไม่ต้องการวันหยุด ไม่ขัดคำสั่ง ที่สำคัญยังไม่มีการประท้วงให้เห็นอีกด้วย
ทว่า McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับชี้ว่า เทคโนโลยีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ สำหรับความกังวลใจในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงานนั้น เป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจที่มีข้อจำกัดในเรื่องของแรงงาน เช่น ญี่ปุ่นที่มีปัญหาผู้สูงอายุล้นประเทศ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมขาดแรงงานอย่างรุนแรง นั่นจึงทำให้ญี่ปุ่นต้องแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานที่หายไป
หรืออย่างในสหรัฐอเมริกา ที่ค่าแรงอยู่ในอัตราที่สูงมากจนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างไหว เทคโนโลยีจะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ขณะที่ประเทศจีนมีนโยบายทางด้านเทคโนโลยีไว้อย่างชัดเจน นั่นจึงทำให้ประเทศจีนเข้าสู่โลกเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทยแตกต่างออกไปเนื่องจากประเทศไทยยังมีค่าจ้างที่ไม่สูงมากและยังไม่กระทบต่อผู้จ้างมากมาย อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ยังไม่สมบูรณ์ บุคคลากรด้านเทคโนโลยีก็ยังมีไม่เพียงพอ นั่นจึงทำให้เทคโนโลยียังเข้าถึงประเทศไทยได้เพียงบางส่วน
ด้าน คุณนพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล ประธานบริษัท McKinsey & Company (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า “การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานจริงๆ จะสามารถเข้ามาทำงานแทนได้ในบางส่วน แต่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานที่เป็นคนจะหายไป เพราะปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ตลาดจึงมีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานทางด้านฝีมือ, ศิลปิน, การบริหารจัดการ, แรงงานที่มีทักษะหลากหลาย เช่น งานด้านก่อสร้าง เป็นต้น สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ยังคงต้องมีการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากประเทศมหาอำนาจที่มีวิกฤติด้านแรงงาน นั่นจึงทำให้ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาแรงงานจากคนเป็นทางเลือกหลัก ทั้งนี้ประเทศไทยยังต้องการพัฒนาทักษะความสามารถแรงงานใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันของแรงงานและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรุนแรง (Technology Disruption) ที่กำลังมาถึง”
จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานได้มากกว่า 55% แต่เมื่อคำนวณถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้พบว่า ในปี 2030 ประเทศไทยจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจได้จริงๆ เพียง 17% เท่านั้น และทำให้ธุรกิจเหล่านั้นจำเป็นจะต้องให้พนักงานปัจจุบันทำการ Reskill ตั้งแต่วันนี้อย่างน้อย 6.9 ล้านคน
คุณนพมาศยังยืนยันอีกว่า แรงงานฝีมือไม่ว่าจะด้านใดก็ตามจะยังมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่พนักงานออฟฟิศบางประเภทมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานในรูปแบบเดิมซ้ำๆ ทุกวัน ขณะที่ในอนาคตจะมี 3 ตำแหน่งงานที่ทั่วโลกยังขาดแคลนอยู่อย่างน้อย 30 ล้านตำแหน่ง ประกอบไปด้วย Data Scientist จะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็นข้อมูลที่เข้าใจได้, Data Engineer จะทำหน้าที่นำข้อมูลทุกๆ อย่างมาจัดเรียงให้เป็นระเบียบ เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและ Designer ทำหน้าที่ออกแบบสินค้าและบริการตามความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย เราได้เห็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เข้ามาถึงอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแรงงานอาชีพทางเกษตรกรรมสู่อาชีพในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้เทคโนโลยีจะยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานได้ทั้งหมด จำนวนงานจะมีเพิ่มขึ้น แต่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางสายวิชาชีพที่เป็นที่ต้องการ เชื่อว่าในอนาคตคนและเทคโนโลยีจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless) หากแต่คนจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีควบคู่กันไป
ดังนั้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้เทคโนโลยีจะยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าในอนาคตคนและเทคโนโลยีจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless) หากแต่คนจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีควบคู่กันไป