ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง นักการตลาดต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งกลยุทธ์และแนวปฏิบัติ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จึงได้สำรวจเทรนด์และความคิดเห็น ในกลุ่ม MAT CMO Council (สมาชิก ซีเอ็มโอ เคานซิล ของสมาคมการตลาดฯ) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาด และ คณาจารย์ในภาควิชาที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเปิดเผยผ่านเวทีงาน วันนักการตลาด “Thailand Marketing Day 2022 : The Game Changer”
ปี 2023 จะเกิดอะไรขึ้น เศรษฐกิจจะโตหรือไม่?
ปีหน้าจะโตหรือไม่โต จะขึ้นอยู่กับว่าจะมีอะไรมากระทบทำให้มันโตหรือไม่โต ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งเสียงที่บอกว่า ‘โตและไม่โต’ บางเสียงก็ว่าจะมี New S Curve หรือบางคนก็บอกว่า จะเผชิญเศรษฐกิจถดถอย หรือพบกับเพอร์เฟ็คสตรอม แต่แล้วผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดที่ได้สำรวจมานั้นมองว่าอย่างไร ผลสำรวจชี้ว่า
- ส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจจะเติบโต
- โดย 48% คาดการณ์ว่า จะเติบโต 5% ซึ่งเป็นการเติบโตก็จริงแต่ไม่มาก
มุมมองที่น่าสนใจคือ นักการตลาดคาดหวังให้เศรษฐกิจเติบโต พร้อมกับมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้ธุรกิจมันเติบโตขึ้น เรียกว่า เป็นการเติบโตที่เราสร้าง Demand ขึ้นมาด้วย โดยสิ่งที่แบรนด์และผู้บริโภคคาดหวังในปีหน้าก็คือประสบการณ์ใหม่ๆ และมีความคิดทางการตลาดที่ตอบโจทย์โดนใจกันมากขึ้น คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เติบโตขึ้นแน่นอน
ทั้งนี้ 3 อย่างที่สำคัญที่สุด ที่ต้องมองในปีหน้า (คะแนนเต็ม 10) ดังนี้
- ความต้องการของลูกค้า ได้ 8.0 คะแนน
- สภาพเศรษฐกิจโลก ได้ 7.7 คะแนน
- เทคโนโลยีดิจิทัล ได้ 7.4 คะแนน
ทั้ง 3 ปัจจัยเป็นสิ่งที่เราคาดหวังอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่สำหรับอันดับ 1 “ความต้องการลูกค้า” แสดงว่ามีสิ่งที่นักการตลาดอาจจะคาดไม่ถึงอยู่ได้ เป็นกระบวนท่าการตลาด อย่างไรก็ตาม มีอีกสิ่งที่แม้คะแนนจะไม่โชว์ติด 3 อันดับแรก แต่ส่งผลกระทบแน่นั่นก็คือ “การเมืองในประเทศ” ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะมีความผันผวนอย่างแน่นอน แต่อาจจะมองว่าไม่ได้รุนแรงมากก็ได้
ส่วน 3 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในปี 2023 (คะแนนเต็ม 10)
- ให้ความสำคัญต่อ “คุณภาพ” ได้ 8.0 คะแนน เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังต่อแบรนด์ แต่ต่อเป็นคุณภาพที่ต้อง beyond ไปมากกว่าเดิม
- ชอบ “ทดลอง” แบรนด์ใหม่ ได้ 7.1 คะแนน ไม่ใช่แคต่ของใหม่เท่านั้น แต่จะต้องเป็นประสบการณ์ใหม่ด้วย แต่จะต้องระวังเรื่องของ Brand Loyalty ด้วย เพราะนั่นหมายความว่า ผู้บริโภคพร้อมที่จะวิ่งไปหาแบรนด์ใหม่ได้ตลอด
- อยากรู้ที่มาที่ไปของสินค้า ได้ 6.7 คะแนน ไม่ได้แค่บอกว่าของคุณดีเท่านั้น แต่ต้องสามารถบอกได้ว่าโปรดักส์นั้นมาจากไหน มาอย่างไร หรือที่โลกมองเรื่องของ Traceability ด้วย
เคสที่น่าสนใจคือ เทรนด์ Plant-based ซึ่งตลาดในประเทศไทยมีมูลค่าแค่ 70 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อ Zero Meat เข้ามาปรากฏว่ากระตุ้นตลาด ในจังหวะที่คนอยากทดลองสิ่งใหม่บวกคุณภาพ ในขณะที่ยังมีการบอกที่มาที่ไปของพืชด้วยว่าทำมาจากอะไร จาก 70 ล้านในวันนั้น สู่ 350 ล้าน ภายใน 1 ปี แล้วกินตลาดอยู่ที่ 60% เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า แบรนด์เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมาก เรียกว่าแบรนด์ที่ตอบได้ทั้ง 3 เทรนด์เลย
สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่พร้อมจะลองของใหม่ เป็นได้ทั้ง “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ให้กับนักการตลาดไปพร้อมกัน ซึ่งต้องยอมรับว่านักการตลาดอยู่กับ 2 สิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงที่คุณจะต้องลด ระวัง รวมไปถึงโอกาสที่คุณจะต้องไขว่คว้าและสร้างขึ้นมาใหม่
ทำอย่างไรในปี 2023?
หลังเข้าใจแล้วว่า ภาพรวมตลาดจะโตเล็กน้อย และให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก แล้วต่อไปคือทำอย่างไรดี
งบฯ การตลาดในปี 2023
- ผู้เชี่ยวชาญการตลาดเห็นว่า มีแนวโน้มงบฯ การตลาดจะเติบโต
- โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 5-10%
ขณะที่ในปี 2023 แพล็ตฟอร์มที่จะนำเงินไปลงทุนมากที่สุด (คะแนนเต็ม 10) มีดังนี้
- Commerce ได้ 8.2 คะแนน
- Content ได้ 7.8 คะแนน
- Payment ได้ 7.7 คะแนน
มีมุมที่น่าสนใจว่า จากที่เราเคยคิดว่า Content มันน่าจะมาแรง แต่วันนี้กลับเป็นเรื่องของ Commerce มากกว่า แต่ว่าควรที่จะใช้ Content ในการสร้างโอกาสทางการตลาดและโอกาสทางธุรกิจด้วย ซึ่งปัจจุบันมีแพล็ตฟอร์มมากมายเลย ดังนั้น จะต้องใช้มันอย่างชาญฉลาด
อีกเคสที่น่าสนใจคือ มีอีกหนึ่งแคมเปญจากโลตัสคือ In Relationship with Lotus’s แคมเปญที่โลตัสไปชวนซัพพลายเออร์มา In Relationship กันในช่วงของโควิด ซึ่งถ้าลูกค้าเข้ามาในโลตัสก็จะได้สินค้าจากแบรนด์ที่ In Relationship ที่จะช่วยให้คนไทยฝ่าวิกฤตร่วมกันไปได้ แปลว่า Content จะต้องเกิด Commerce ด้วย คือต้องขายของได้ด้วย จะสนุกหรือไวรัลอย่างเดียวไม่ได้
หรืออีกเคสของ “ช้างดาว พริ้ง” โดย “นันยาง” ที่สามารถสร้างทรานส์แซกชั่นได้ เพราะการตลาดทำให้เกิดทรานส์แซกชั่น และช่วยทำให้เกิด Revenue Stream และเปิดพรีออเดอร์เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ถ้าถอดรหัสแคมเปญนี้ก็ต้องบอกว่า รองเท้านันยางก็มีฟังก์ชั่นนอลที่ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่เราได้มาคือโกบียอนด์กว่าคอมเมิร์ซ และเป็นการทำตามพรีออเดอร์เท่านั้น โดยขายไป 1 แสนกว่าคู่ กวาด 20 กว่าล้านบาท
‘People – Planet – Profit’ เมื่อเราบอกว่าธุรกิจต้องคำนึง 3P
เมื่อถามผู้เชี่ยวชาญการตลาดว่า จะให้ความสำคัญกับ 3P นี้เรียงลำดับความสำคัญอย่างไร
- People
- Planet
- Profit
People นำเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย Planet และ Profit สำหรับ People แล้ว มันไม่ใช่คนหรือชุมชนหรือสังคม เพราะรวมไปถึงเราจะสร้างนักการตลาดอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ DNA ของนักการตลาดของนักธุรกิจ ส่วนรองลงมาคือ Planet จะต้องเป็นนักการตลาดที่สร้างสังคมน่าอยู่ด้วย จะต้องส่งพลัง goods ให้กับสังคมด้วย โดยที่ Profit ตามมาแน่ๆ ถ้ามีทั้ง People และ Planet
เทคโนโลยีมาแรงในปี 2023: Deep Tech of the Future (คะแนนเต็ม 10)
- AI ได้ 7.5 คะแนน
- IoT ได้ 7.0 คะแนน
- Bio-Technology ได้ 6.5 คะแนน
จุดน่าสนใจคือ Bio-Technology ซึ่งถ้าภาคเอกชนมาลงทุนด้านนี้มากขึ้นจะสร้างการเติบโตได้แน่ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ตัวนี้มาแน่ๆ ในปีหน้า
ทักษะของนักการตลาดในอนาคต (Skillsets for The Future Maketeers) (คะแนนเต็ม 10)
- Communication ได้ 8.6 คะแนน
- Analytics ได้ 8.5 คะแนน
- Marketing ได้ 8.4 คะแนน
- Content Creation ได้ 8.3 คะแนน
- Technology ได้ 8.1 คะแนน
แม้ว่าหลายสำนักจะบอกว่าทักษะด้านการวิเคราะห์สำคัญ แต่สำหรับนักการตลาดไทยแล้ว ถ้าคุณไม่มีข้อ 1 Communication จะลำบากทีเดียว เพราะการสื่อสารในปัจจุบันไม่ใช่เพื่อแค่บอกข้อความ แต่คือการโน้มน้าวและสร้างแรงบันดาลใจกับทุก stake holder ของคุณ ทั้งคู่ค้าทางธุรกิจ พาร์ทเนอร์ พนักงานในองค์กร ลูกค้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักการตลาดไทยจำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง
‘4ร’ เร็ว – รู้ – เรื่อง – รักษา
สำหรับ ‘หัวใจสำคัญ’ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในโลกการตลาดปี 2023 นี้ สรุปเป็นประเด็นได้ “4ร” คือ “เร็ว – รู้ – เรื่อง – รักษา”
- เร็ว เพราะเราอยู่ในยุคที่ไม่มีอะไรแน่นอน การปรับเปลี่ยน ปรับปรุงอย่างทันท่วงที (Adaptability) จึงสำคัญมากสำหรับความสำเร็จ การทำงานก็ต้องคล่องตัวมากขึ้นทันเหตุการณ์มากขึ้น (Agile Marketing)
- รู้ หมายถึงทั้งแง่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร อัพสกิล – รีสกิล (Upskill & Reskill) ให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง และในแง่การเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าผ่านการเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Data Driven Marketing)
- เรื่อง คือการให้ความสำคัญกับเนื้อหาและบริบทของการสื่อสาร (Contextual Marketing & Content Marketing) เพื่อนำไปสู่การสื่อสารอย่างใส่ใจ โดนใจ แม่นยำ และ ใส่ใจในเรื่องความละเอียดอ่อนของการสื่อสารอีกด้วย (Communication Sensitivity)
- รักษา คือ การทำธุรกิจอย่างใส่ใจ และสร้างคุณค่าให้แก่โลกและสังคม (Sustainable Marketing)
ทั้งนี้ ในโลกยุคดิจิทัลที่มีการเติบโตของการใช้งานผ่านระบบต่างๆมากมาย ในโลกที่หมุนไว องค์กรและนักการตลาดควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการ “ระวัง” ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในโลกเทคโนโลยีทั้งเรื่องการเงินหรือการบริหารจัดเก็บข้อมูล (Cyber Security & Data Security)
บทสรุป
นักการตลาดจะหยุดนิ่งไม่ได้ นักการตลาดจะต้องหาคำตอบต่อไปว่า การเติบโตที่เราคาดการณ์กันไว้ เราจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นได้อีก คุณจะต้องมีวิธีการหรือรูปแบบ ทำอย่างไรให้สอดคล้องกับเทรนด์ทั้ง “4 ร”
และหากมองว่า People สำคัญที่สุด ก็ต้องถามว่าได้ดูแลคนและตัวคุณเองดีที่สุดหรือยัง ถ้ายังก็ต้องลงมือทำเลย
สุดท้าย Personalized Data วันนี้เราเข้าถึงคนมากขึ้น ข้อมูลมาง่ายมากขึ้น แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นมันปลอดภัยเพียงพอแล้วหรือยัง?