EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดทำรายงาน “Made in China 2025 และความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมไทยในปี 2019” เพื่อฉายภาพแนวคิดการผลิตของประเทศจีน ที่กำลังมุ่งไปสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก
โดยนับตั้งแต่ปี 2015 จีนได้ผลักดันยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (MIC 2025) มุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตของจีนจาก “โรงงานของโลก” เป็น “แหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาคการผลิต โดยมุ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อการสร้างนวัตกรรมในการผลิต
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปลายปี 2018 รวมถึงในที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนปี 2019 รัฐบาลจีนไม่มีการกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ MIC 2025 ในที่สาธารณชน เพราะจีนถูกสหรัฐฯ วิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ
การที่รัฐบาลจีนไม่ได้กล่าวถึง MIC 2025 ไม่ได้หมายความว่าจีนจะล้มเลิกเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรม แต่เป็นเพียงการแสดงท่าทีที่จะปรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
รวมถึงการลดปริมาณเงินสนับสนุนที่รัฐบาลให้แก่บริษัทและรัฐวิสาหกิจจีน โดยในการประชุมสภาผู้แทนฯ นั้น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยังย้ำถึงเจตนาที่จะผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการระบุไว้ใน MIC 2025 เดิม
EIC มองว่าอุตสาหกรรมไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแผน MIC 2025 ทั้งในด้านการส่งออก การลงทุน และการนำเข้า โดยเฉพาะด้านการส่งออก บริษัทจีนในอนาคตจะไม่เป็นเพียงโรงงานประกอบชิ้นส่วนอีกต่อไป แต่จะมุ่งเน้นด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูงโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
การมุ่งเน้นด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูง จะทำให้โครงสร้างของสินค้าส่งออกไทยไปจีนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เพราะไทยมีความเชื่อมโยงด้านการค้ากับจีนที่สูง ภาคการส่งออกไทยคงจะไม่สามารถส่งออกเพียงแค่วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพื่อให้จีนนำไปประกอบเพื่อส่งออกต่อเหมือนที่ผ่านมา
แต่บริษัทไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของตัวเองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะต้องพัฒนาการส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนและใช้นวัตกรรมมากขึ้นและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีน
อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์ MIC 2025 ที่มีความสอดคล้องกับหลายอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ การบิน หุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล และการแพทย์
จีนมีแผนพัฒนาที่เน้นการสร้างชาติ ผลักดันบริษัทในประเทศ สอดคล้องกับไทยที่เน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงมีศักยภาพในการร่วมมือกันในด้านการค้าและการลงทุน