ปี 2563 เป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่ใช่แค่ทุกคนในประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องจดจำแต่หมายถึงทุกคนบนโลก เพราะเป็นปีที่โลกสูญเสียชีวิตผู้คนนับล้านจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคอุบัติใหม่อย่าง COVID-19 ไม่เพียงแต่ทำลายชีวิตผู้คนบนโลก โรคระบาดครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายอุตสาหกรรม จนทำให้ธุรกิจล้มหายตายจากเช่นเดียวกัน
บางธุรกิจต้องใช้วิธีปรับลดพนักงานเพื่อให้ยังคงสภาพคล่องทางการเงิน หลายธุรกิจปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และหลายธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จนสามารถสร้างการเติบโตขึ้นอย่างมาก บางรายกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีรายได้ติดอันดับโลกในช่วงระยะเวลาเพียงข้ามคืน ขณะที่บางรายต้องประสบปัญหาจากการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน
นี่คือ บทสรุปของธุรกิจในไทยที่ได้รับผลกระทบช่วงปี 2563 ก่อนจะก้าวสู่ปี 2564 ที่มีแนวโน้มว่า สถานการณ์โรคระบาดยังไม่จบลงง่ายๆ (หลังพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 รายในวันเดียว) และสถานการณ์ทางธุรกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัว 100% ผสมผสานกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา
สายการบิน…ธุรกิจด่านแรกที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ
นอกจากช่วงที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ หลายจังหวัดต้องจมอยู่กับระดับน้ำเป็นเมตร ๆ เราก็แทบไม่เคยเห็นภาพ ‘เครื่องบิน’ หลายๆ ลำต้องจอดนิ่งบนรันเวย์โดยไม่มีกำหนดบินมาก่อน กระทั่งทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับ COVID-19 ภาพเครื่องบินจอดนิ่งเรียงรายโดยไม่รู้ว่าจะมีโอกาสขึ้นบินอีกเมื่อไหร่ กลับกลายเป็นภาพชินตา ตามด้วยข่าวหลายๆ ธุรกิจสายการบิน ชั้นนำประกาศ ‘ล้มละลาย’
นั่นเพราะเงื่อนไขจากการ Lockdown ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินต้องหยุดให้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเที่ยวบินระหว่างประเทศหรือในประเทศ กระทั่งสถานการณ์ในหลายๆประเทศเริ่มอยู่ในภาวะจำกัดการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น เราจึงเริ่มเห็นลมหายใจครั้งใหม่ของสายการบิน เช่น เริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศอีกครั้ง หรือเปิดเที่ยวบินสุดสร้างสรรค์อย่างการสวดมนต์บนเครื่องบินขณะบินผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป
แต่เมื่อโรคระบาดยังไม่มีทีท่าจะหมดไปในเร็ววัน เราจึงได้เห็นการ Diversify ของหลายต่อหลายสายการบิน เพื่อสร้างรายได้จากทางเลือกใหม่ เช่น นำเมนูหรือเครื่องดื่มที่เคยเสิร์ฟบนเครื่องบินมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ของตนเอง, การขยับเข้าสู่ Food Delivery ให้สั่งและเสิร์ฟถึงที่, การขายสินค้าคอลเลคชั่นต่าง ๆ รวมถึงการเปิดขายตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟ่ต์ บินได้ไม่จำกัดเที่ยวบินยกเว้นช่วงวันหยุดยาวและนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
ธุรกิจโรงแรมอ่วมหนัก!!! ผลกระทบลูกโซ่จากสายการบิน
แน่นอนว่าเมื่อการเดินทาง – ท่องเที่ยว ต้องหยุดชะงักไปทั่วโลก คลื่นลูกที่สองก็ถาโถมใส่ ธุรกิจโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบตามมาติดๆ ผลกระทบนี้สร้างความเสียหายเสมือนเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวอย่างไทย จากเดิมที่เคยมีช่วงเทศกาลอันโด่งดังไปทั่วโลกอย่างสงกรานต์ ลอยกระทง หรือแม้แต่ฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ที่ไทยเคยเป็นปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว ปีนี้…กลับกลายต้องเงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
แม้แต่การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงได้เห็นภาครัฐงัดหลายต่อหลายมาตรการออกมากระตุ้นการใช้จ่าย ในขณะที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ต่างก็เร่งนำเสนอโปรโมชันกันเต็มที่ มีทั้งลดราคาห้องพักแบบครึ่งต่อครึ่ง แถมรวมบริการแบบจัดเต็ม รถรับ-ส่งจากสนามบิน สปา สิทธิประโยชน์สารพัดรายการภายในโรงแรม
พร้อมอาหารเลิศรสเพื่อจูงใจให้ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนประสบการณ์ห้องพักและสถานที่สุดหรูกลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าตอนนี้หลายๆ สถานที่เริ่มกลับมาคึกคักด้วยเหล่านักท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่ได้จริงๆ
ค้าปลีกรับผลจากนโยบาย พร้อมก้าวสู่ยุค New Retail
เรียกได้ว่าสะเทือนหนักเลยทีเดียวสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ธุรกิจ Retail ทั้งห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า ไปจนถึงร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ เพราะต้องถูกปิดจากมาตรการ Lockdown จนต้องเร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ด้วยการให้ความสำคัญกับขยายช่องทางการขายในหลากหลายแพลตฟอร์มที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด
โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น e-Commerce , Mobile Commerce และ Conversation Commerce ผ่านแอปฯ แชท ในชื่อบริการ Chat & Shop รวมไปถึง Call to Order บริการสั่งสินค้าทางโทรศัพท์ให้เลือกจัดส่งที่บ้าน หรือมารับด้วยตนเองที่ร้าน, Home Delivery และ Drive Thru บริการส่งของถึงรถ ซึ่งล้วนแต่เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายได้
อย่างไรก็ตาม แม้ COVID-19 จะสร้างผลกระทบด้านลบ แต่ขณะเดียวกันก็ผลักดันธุรกิจค้าปลีกในบ้านเราเดินหน้าสู่ยุค New Retail เร็วกว่าเดิม โดยประเด็นที่ธุรกิจรีเทลส่วนใหญ่วางเป็นเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงในปี 2564 ก็คือ การทำ ‘Omni-channel’ หรือ ‘O2O’ การเชื่อมต่อระหว่าง Offline to Online และ Online to Offline ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในปีหน้าน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน ส่วน O2O ของแต่ละ Retailer จะเป็นอย่างไรก็ต้องจับตามอง
โรงหนังผลกระทบต่อเนื่องจนต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
ขนาดกลุ่มธุรกิจ Retail อย่างห้างสรรพสินค้ายังต้องปรับเวลาเปิด – ปิด และไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ ดังนั้นความบันเทิงในพื้นที่ปิดอย่าง ‘โรงภาพยนตร์’ หรือที่เราเรียกติดปากว่า ‘โรงหนัง’ จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักตามไปด้วยและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังที่อยู่ภายในห้างฯ หรือโรงหนังที่เป็นแบบ Stand Alone
แม้ว่าในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มผ่อนคลาย ผู้ประกอบการโรงหนังก็ยังคงต้องใส่ใจในมาตรการเว้นระยห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โรงหนังจึงเริ่มพลิกโฉมประสบการณ์การชมภาพยนตร์ด้วยรูปแบบ Drive-In แบบขับรถไปชมได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ช่วยสร้างให้บรรยากาศเหมือนที่เคยเห็นการชมภาพยนตร์ในต่างประเทศ
รวมถึงการนำสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์อยู่หน้าโรงภาพยนตร์อย่าง ป๊อปคอร์นและคอลเลคชั่นแก้วจากภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ออกมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Food Delivery ต่างๆ เพิ่มช่องทางการซื้อให้สะดวกยิ่งขึ้น เอาใจคนคิดถึงโรงภาพยนตร์กันสะดวกกว่าที่เคย และเป็นการเสริมรายได้ให้กับธุรกิจโรงหนัง
ธุรกิจโฆษณายังไม่รอด ผลกระทบเกี่ยวโยงเป็นลูกโซ่
อุตสาหกรรมโฆษณา เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยรายงานมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงมกราคม – พฤศจิกายน ปี 2563 พบว่า ลดลง -15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าอยู่ที่ 96,012 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในเดือนพฤศจิกายน ลดลง –11%
ทั้งนี้ เมื่อเจาะไปทีละสื่อในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า “สื่อในโรงภาพยนตร์” ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยติดลบสูงถึง -41% คาดว่าเป็นผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า “สื่อวิทยุ” ด้วยซ้ำ เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุติดลบอยู่ที่ -32% ในขณะที่สื่อที่ติดลบน้อยสุดได้แก่ “สื่อดิจิทัล” ที่ติดลบอยู่ที่ -4%
ในขณะที่ภาพรวมการใช้เม็ดเงินโฆษณาช่วงมกราคม – พฤศจิกายน 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้มากขึ้น ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสําอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 13,765 ล้านบาท โดยใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น +3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มูลค่า 15,065 ล้านบาท ลดลง -10% , กลุ่ม Media & Marketing มูลค่า 11,226 ล้านบาท ลดลง -8% และกลุ่มยานยนต์ (Automotive) มูลค่า 5,692 ล้านบาท ลดลง -35%
อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงของการ Lockdown ปีนี้ (ระหว่างมีนาคม-มิถุนายน 2563) แบรนด์ที่มีการใช้งบประมาณในตลาดโฆษณาสูงสุด 4 อันดับแรกในเดือนมิถุนายน คือ แบรนด์กลุ่ม Home Shopping เพราะเล็งเห็นโอกาสในการขายผ่านการยิงโฆษณาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงที่คนยังอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ช่วยสร้างโอกาสในการซื้อสินค้าได้ง่ายมากขึ้น
ดังนั้น พอสรุปได้ว่า สำหรับปีนี้ก็ยังเป็นปีที่สาหัสสำหรับอุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ แม้จะมีการปรับตัวมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดเคืองจึงทำให้หลายแบรนด์ยังไม่กล้าที่ลงเม็ดเงินจำนวนมากไปกับการทำการตลาดและโฆษณาได้ เพราะหวั่นในการกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งหลังจากกลับมาในปลายปีนี้อีกครั้ง สำหรับปีหน้าก็น่าจะเป็นปีที่หนักอย่างต่อเนื่องเช่นกัน.
e-Commerce โตสวนกระแส ดันแพลตฟอร์มใหม่
แม้ว่าหลายธุรกิจจะประสบปัญหาอย่างมากในปีนี้ แต่ก็เป็นปีที่ได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ ธุรกิจ e-Commerce ภายใต้สภาวะ New Normal ในขณะเดียวกันจากการเติบของ e-Commerce ก็ก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการเอาตัวให้รอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้
สำหรับมูลค่าตลาด e-Commerce ไทย เปิดเผยบนเวที Focal 2020 โดย คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ระบุว่า ในปี 2563 ซึ่งแน่นอนว่ามีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเติบโตมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้ จะโตขึ้น 35% และคาดการณ์ว่าจะมูลค่าตลาด จะไปแตะที่ 220,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยปี 2562 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 163,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การทำธุรกิจ e-Commerce ภายใต้สภาวะ New Normal กระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกออนไลน์ (B2C e-Commerce) เติบโตขึ้น และมาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงมากของผู้ประกอบการ e-Marketplace ต่างประเทศ ที่ไม่เพียงแค่ต้องแข่งกับคู่แข่งของตัวเองโดยตรงแล้ว ก็ยังต้องแข่งกับการที่ Brand ต่างๆ ด้วยที่ปัจจุบันสามารถใช้ช่องทางที่หลากหลายเปิดตลาดออนไลน์เองมากขึ้น
หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ Modern trade อย่างพวกซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ก็โหมเข้ามาทำตลาดบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าปี 2563-2565 กลุ่ม e-Marketplace ต่างชาติ จะยังขาดทุนต่อเนื่องราว 30%-40% ต่อปีเมื่อเทียบกับรายได้
นอกจากนี้ การเติบโตนี้เองนำมาสู่อีกหนึ่งช่องทางที่มาแรงมาก ได้แก่ Social Commerce ซึ่งพบว่าผู้บริโภคชาวไทยช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านช่องทางนี้มีสัดส่วนสูงถึง 38% แล้วยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย และทำให้ช่องทางนี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากแพล็ตฟอร์มต่างๆ อาทิ LINE ผลักดัน LINE Shopping ให้เติบโต พร้อมกับตั้งเป้าเป็น Social Commerce อันดับ 1 ในอนาคต
หรือล่าสุด กับการที่ Instagram เปิดตัว Instagram Shopping ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้า ผู้บริโภค และครีเอเตอร์ ได้นำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสบการณ์แบบไร้รอยต่อให้กับแบรนด์และนักช้อปปิ้งทั้งหลายด้วย
สรุปได้ว่า e-Commerce ไทย เป็นผลมาจากการพฤติกรรมการจับจ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค นำมาสู่การปรับตัวของหลายธุรกิจ ว่าจะเป็น e-Marketplace แบรนด์ธุรกิจ และแพล็ตฟอร์มต่างๆ ซึ่งแม้ว่า การเติบโตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่จากการแข่งขันที่รุนแรง อาจจะทำให้ผู้ที่ทำธุรกิจตรงนี้ยังคงต้องสู้หนักกันต่อไปอีกในอนาคต
ธนาคารรายได้ตก ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง
ธุรกิจธนาคาร เองก็เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ หากแต่โชคดีที่อุตสาหกรรมธนาคารก้าวเข้าสู่ยุค e-Payment มาก่อนหน้านี้ อีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนการใช้ QR Code เพื่อลดการใช้เงินสด ก็ช่วยให้ธนาคารได้รับผลกระทบไม่มาก แม้ว่าการ Lockdown จะทำให้หลายคนไม่สามารถออกไปใช้จ่ายนอกบ้านได้ แต่ธุรกิจ Delivery และ e-Commerce ก็ช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้เช่นกัน
เมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมอยู่บ้านมากขึ้น ธนาคารจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรมการอยู่บ้านมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการสร้างแอปพลิเคชั่นด้าน Delivery ไม่ว่าจะเป็นสั่งแล้วส่งมาที่บ้านแบบธุรกิจ Delivery ทั่วไป หรือการสั่งแล้วไปรับอาหารที่ร้าน เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมอยู่กับบ้านหรือไม่อยากอยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ธนาคารก็ยังมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการชำระเงิน เมื่อรวมกลุ่มสังสรรค์
นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารยังได้พัฒนาเทคโนโลยีในด้าน e-Payment โดยมีการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อช่วยให้สะดวกในการใช้จ่ายและลดการสัมผัสกับเงินสด ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับการจับจ่ายใช้สอย ที่สำคัญกลุ่มธุรกิจธนาคารยังมีบทบาทในการสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ รวมไปถึงการออกมามาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19
ประกันภัยรับอานิสงส์เติบโต เปิดแพ็คเกจรองรับความต้องการ
แม้ว่าธนาคารจะเหมือนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่เมื่อการใช้จ่ายลดลงประกอบกับกำลังการชำระหนี้ลดลง ทำให้รายได้ของธนาคารลดลงตาไปด้วย แต่กับ ธุรกิจประกันภัย กลับสวนทางอย่างสิ้นเชิง เพราะหลายคนเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในสุขภาพ แพ็คเกจประกันชีวิตจึงกลายเป็นแพ็คเกจที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งในเวลาต่อมาหลายบริษัทประกันภัยก็ออกแพ็คเกจใหม่สำหรับคุ้มครองโรค COVID-19 โดยเฉพาะ
ซึ่งการออกแพ็คเกจประกันใหม่ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับคนที่ซื้อประกันชีวิตไปแล้ว มีการกลับมาซื้อประกันคุ้มครองโรค COVID-19 เพิ่มเติม โดยหลายคนมองว่าจะเป็นการช่วยคุ้มครองมากขึ้นเป็น 2 เท่า หากเกิดการได้รับเชื้ออย่างไม่ตั้งใจและยังช่วยลดความเสี่ยงหากไม่สามารถทำงานได้ นอกจากนี้ธุรกิจประกันภัยยังมีโปรโมชันในการออกแคมเปญประกันภัยต่างๆ โดยเฉพาะการลดเบี้ยประกันชีวิตและประกันโรค COVID-19
จับตาผลกระทบระลอก 2 หรือระลอกใหม่
ทั้งหมดนี้คืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหลักๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจน้ำมัน ที่ช่วง Lockdown นอกจากไม่สามารถเดินทางได้แล้ว จนน้ำมันแทบไม่ใช่สิ่งจำเป็น ราคาน้ำมันยังปรับตัวลดลงแบบสุดๆ เรียกว่าขาดทุนกันแหลกลาญสำหรับปั๊มน้ำมัน บางรายถึงขั้นต้องปิดปั๊มน้ำมันเนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการก็มี แม้แต่ธุรกิจการศึกษาที่หันมาใช้วิธีการเรียนออนไลน์ทดแทน ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบาย Lockdown
ยิ่งช่วงปลายปี 2563 ที่สถานการณ์กำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติที่สุด งานบันเทิงรื่นเริงประจำปีกำลังจะกลับมาสร้างความคึกคัก เม็ดเงินรายได้กำลังจะไหลสะพัด แต่ก็เกิดการกลับมาแพร่ระบาดใหม่หลังการตรวจพบผู้ติดเชื้อสูงกว่า 500 รายในวันเดียวที่จังหวัดสมุทรสาคร ยิ่งเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าโรคนี้ไม่ได้กระจอกงอกง่อยอย่างที่บางคนเคยกล่าว ซึ่งหากไม่ช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาด ปี 2564 อาจกลายเป็นปีที่เรียกว่า “ฉายหนังเรื่องเดิม” เพิ่มเติมคือผลกระทบที่อาจจะรุนแรงกว่าเดิม