หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ “LINE” เป็นแอปพลิเคชันแชทรายใหญ่ในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย และต่อยอดสู่การเป็น “Super App” (แอปพลิเคชันที่บริการอยู่ในชีวิตประจำวัน) ได้สำเร็จคือ “สติกเกอร์” (LINE Stickers)
เมื่อพูดถึง “สติกเกอร์ LINE” เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จัก และคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับสติกเกอร์ครอบครัว “LINE Characters” ไม่ว่าจะเป็น หมี Brown, กระต่าย Cony, ลูกเจี๊ยบ Sally, หนุ่ม James, แมว Jessica, กบเขียว Leonard, คาแรกเตอร์ Boss และคาแรคเตอร์อื่นอีกมากมาย
ก่อนจะถูกต่อยอด และขยายในรูปแบบ “Sponsor Stickers” สติกเกอร์แจกฟรีของแบรนด์/บริษัทที่มาเปิด LINE Official Account เพื่อเป็นอีกแพลตฟอร์มการตลาดของแบรนด์/บริษัท ซึ่งการทำ Sponsored Sticker เป็นแม่เหล็กสำคัญในการสร้างฐานผู้ติดตาม Official Account นั้นๆ
และรูปแบบสติกเกอร์จำหน่าย แบ่งเป็น “Official Stickers” เป็นสติกเกอร์คาแรคเตอร์ชั้นนำ – สติกเกอร์ศิลปิน และ “LINE Creators Market” ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถออกแบบสติกเกอร์ และจำหน่ายได้ ยิ่งส่งผลให้บนแพลตฟอร์มมีสติกเกอร์ใหม่ – หลากหลาย ในราคาเข้าถึงได้ง่าย
ด้วยความน่ารักของสติกเกอร์ ที่สามารถสื่อสานแทนอารมณ์ – ความรู้สึกได้มากกว่าการตัวอักษร บวกกับความหลากหลายที่มีให้เลือกมากมาย ก็ยิ่งทำให้ “LINE” เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อครั้งที่ “LINE” เปิดตัว “LINE Creators Market” แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ สามารถเข้ามาเป็นครีเอเตอร์ ออกแบบและจำหน่ายสติกเกอร์ของตัวเอง ก็ยิ่งทำให้เกิด “ครีเอเตอร์หน้าใหม่” ต่อเนื่อง
MarketingOops! ชวนคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักอาชีพ “Sticker Creators” หรือเรียกว่า “LINE Creators” มีทั้งผู้ที่ทำเป็นงานเสริม หรืองานอดิเรก และหลายคนผันตัวเองออกจากงานประจำ มาเป็นครีเอเตอร์แบบเต็มตัว ทำงานแบบ Full Time ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และไทย จะเป็นอย่างไร ?!? และกว่าจะมาเป็นครีเอเตอร์ที่มียอดดาวน์โหลดสูงต้องผ่านอะไรมาบ้าง พร้อมด้วยกลยุทธ์ความสำเร็จในการออกแบบสติกเกอร์ให้ได้รับความนิยม
ตามดูเคล็ด(ไม่)ลับ “LINE Stickers ญี่ปุ่น” สร้างสรรค์สติกเกอร์อย่างไรให้ดัง!
ปัจจุบันบน LINE Creators Market ทั่วโลก
-
มีครีเอเตอร์กว่า 2 ล้านคน
-
ทำรายได้รวมมากกว่า 69 พันล้านเยน
-
ยอดขายที่มาจาก Top Creators อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 773 ล้านเยน
ในขณะที่ยอดขาย LINE Stickers อันดับ 1 คือ ประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วย ไต้หวัน และประเทศไทยอยู่อันดับ 3
ด้วยความที่ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศแห่งมังงะ และคาแรคเตอร์ เรียกได้ว่าถูกปลูกฝังอยู่ในสายเลือดของคนญี่ปุ่นก็ว่าได้ จึงมีผลทำให้ LINE Creators Market ในญี่ปุ่นเติบโต ทั้งในแง่ครีเอเตอร์ การสร้างสรรค์ผลงานใหม่ และการดาวน์โหลดจากผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ คุณ Yasushi Ishikawa ผู้ดูแลตลาด LINE Creators Market ประเทศญี่ปุ่น เล่าถึงหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ LINE Stickers ของญี่ปุ่นขยายตัวดี และทำให้ “LINE Creators” ประสบความสำเร็จ มาจาก 5 ปัจจัย คือ
1. ออกแบบสติกเกอร์ที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งาน (Create satisfaction for Stickers)
หลักสำคัญของ “สติกเกอร์” ไม่ใช่เป็นแค่ภาพการ์ตูน หรือ Animation เคลื่อนไหว แต่เป็นการสื่อสารที่ทำให้เห็นถึงอารมณ์ หรือความรู้สึกระหว่าง “ผู้ส่ง” กับ “ผู้รับ” จึงทำให้บทสนทนาหลายครั้ง การส่งสติกเกอร์ไปให้อีกฝ่าย สามารถสื่อสารได้ดีกว่าการส่งข้อความ
ด้วยเหตุนี้เอง สติกเกอร์ที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้ LINE จึงเป็นสติกเกอร์ที่บ่งบอกอารมณ์ หรือความรู้สึกที่ชัดเจน
2. กำหนดทิศทาง และสร้างสรรค์สติกเกอร์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ (Create the trend)
ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีผู้ใช้ LINE 80 ล้านคน ในจำนวนนี้มากกว่า 50% เป็นผู้หญิง และมากกว่า 1 ใน 4 อายุมากกว่า 50 ปี
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้ LINE Stickers ในญี่ปุ่นจึงเน้นเซ็กเมนต์ผู้หญิงเป็นหลัก และเมื่อจัดแบ่งเซ็กเมนต์ลูกค้า ทำให้จะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ใครคือผู้ใช้สติกเกอร์กลุ่มใหญ่ เพื่อดูเทรนด์สติกเกอร์ ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต สำหรับใช้ในการกำหนดทิศทางการสร้างสรรค์ และการทำตลาดสติกเกอร์
3. สร้างสรรค์คอลเลคชัน/ซีรีส์สติกเกอร์ให้มีความหลากหลาย (Create various collections)
LINE Creators ควรออกแบบสติกเกอร์อย่างสม่ำเสมอ และสติกเกอร์ที่สร้างสรรค์ขึ้น ทำเป็นคอลเลคชั่น หรือซีรีส์ โดยนำเสนอเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน (Story) และมีตัวละคร
4. โปรโมทสติกเกอร์ในช่วง Peak Time (Promote stickers during a peak time)
ด้วยความที่บนแพลตฟอร์ม LINE มีสติกเกอร์จำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงต้องวางแผนโปรโมทสติกเกอร์ และเปิดตัวสติกเกอร์ใหม่ในช่วงเวลา Peak Time ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้บริโภคใช้โทรศํพท์มือถือมากที่สุด เพราะเป็น Right Moment ที่ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือ
-
ช่วงรับประทานอาหารกลางวัน (12.00 – 13.00 น.)
-
ช่วงเลิกงาน – ระหว่างเดินทางกลับบ้าน (17.00 – 19.00 น.)
-
เปิดตัวสติกเกอร์ใหม่เฉพาะวันอังคาร และวันพฤหัสบดี กลยุทธ์นี้เป็นนโยบาย LINE ทุกประเทศ รวมทั้งไทยด้วยเช่นกัน จากเดิมไม่ได้กำหนดวัน เมื่อมีสติกเกอร์ใหม่เข้ามาในระบบ ก็ปล่อยสู่ public เพื่อจำหน่ายทันที แต่หลังจากนั้นด้วยความที่บนแพลตฟอร์มสติกเกอร์มีจำนวนมหาศาล ดังนั้น เพื่อการบริหารจัดการที่ดีขึ้น “LINE” จึงได้กำหนดวันเปิดตัวเป็นสองวันดังกล่าว
เหตุผลที่เลือกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี เพราะเป็นวันกลางสัปดาห์ ที่คนพอมีเวลาที่จะอยู่กับโทรศัพท์มือถือ และเข้าไปดูคอนเทนต์ต่างๆ บนออนไลน์ได้นานขึ้น
ในขณะที่วันจันทร์ เป็นวันเริ่มต้นทำงาน จึงเป็นวันเร่งรีบ ส่วนวันศุกร์ เป็นวันทำงานสุดท้ายก่อนหยุดสุดสัปดาห์ ความสนใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงอยู่ที่การหาสถานที่ Hang out กับเพื่อน หรือหาสถานที่ท่องเที่ยวในวันหยุด
5. สร้างสรรค์สติกเกอร์อย่างต่อเนื่อง คือ พลังสู่ความสำเร็จ (Continuation is a power)
หัวใจสำคัญที่จะทำให้คนที่เป็น LINE Creators ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางครีเอเตอร์มากมาย และสติกเกอร์มหาศาล คือ ความต่อเนื่องในการออกสติกเกอร์ใหม่
ตัวอย่างเช่น Yuji Nishimura ครีเอเตอร์ที่ออกสติกเกอร์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีถึง 540 เช็ต ชุดที่ได้รับความนิยม คือ Panda เป็น Custom Sticker
และที่สำคัญต้องไม่หยุด “ท้าทายตัวเอง” เพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่!
“อย่ายอมแพ้ – ทำต่อเนื่อง – ใช้สื่อโซเชียล – คาแรคเตอร์โดนใจ” กุญแจความสำเร็จ “ครีเอเตอร์ญี่ปุ่น”
จาก 5 ปัจจัยความสำเร็จ LINE Sticker ประเทศญี่ปุ่น คราวนี้มาฟังเรื่องราวความสำเร็จ และคำแนะนำจาก “LINE Creators” ชาวญี่ปุ่น 3 ท่าน
คุณ Shota Mizuno ครีเอเตอร์จาก Gigno System Japan ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบสติกเกอร์ และทำ Merchandise ที่ปัจจุบันบริษัทฯ นี้มีครีเอเตอร์ 150 คน ออกแบบสติกเกอร์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 60,000 ชุด เล่าว่า ปัจจุบันสติกเกอร์ดุ๊กดิ๊ก หรือ Animation Stickers และ Custom Sticker สติกเกอร์ที่ให้ผู้ใช้งานเติมคำได้ด้วยตัวเอง ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น
ขณะที่ตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันสติกเกอร์ของบริษัทฯ นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว มีขายในไต้หวัน และประเทศไทย โดยแปลภาษาออกมาเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ สำหรับประเทศไทย บริษัทฯ วางขาย 30 ชุด ซึ่งจากการทำตลาดต่างประเทศ ทำให้เห็นเทรนด์ และความต้องการของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อย่างประเทศไทย คนไทยชื่นชอบสติกเกอร์ที่มีสีสันสดใส และสื่อถึงอารมณ์ หรือแสดงอารมณ์ชัดเจน
ครีเอเตอร์จาก Gigno System Japan, Inc. เล่าเพิ่มเติมว่า การเป็นครีเอเตอร์ที่ดี และประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้ ประกอบด้วย
1. คุณต้องสร้างคอนเทนต์ให้มาก และต่อเนื่อง
2. ออกแบบคาแรคเตอร์ที่ไม่ซับซ้อน มีประโยคง่ายๆ ใช้สำนวนโดนใจ
3. เมื่อออกแบบสติกเกอร์เสร็จแล้ว ต้องรีบทำออกสู่ตลาดให้เร็ว
4. สร้างฐานแฟนคลับ ด้วยการใช้ Social Network ให้เป็นประโยชน์ในการเป็นช่องทางสื่อสาร
5. ยิ่งมีฐานแฟนคลับบน Social Network มากขึ้น มีคอนเมนต์เข้ามามากมาย ก็จะยิ่งทำให้ครีเอเตอร์เห็นว่าแฟนคลับต้องการอะไร เทรนด์ไปในทิศทางไหน
“ในญี่ปุ่น ครีเอเตอร์ใช้ Social Network สื่อสารกับแฟนคลับ เมื่อมีแฟนคลับมากขึ้น การออกคอนเทนต์อย่างต่อเนื่องไปสู่คนกลุ่มนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก จะยิ่งทำให้ขยายฐานแฟนคลับออกไปได้มากขึ้น และทำให้สติกเกอร์ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ที่สำคัญอย่าลืมวัตถุประสงค์ของสติกเกอร์ คือ การสานการสื่อสารระหว่างผู้รับ กับผู้ส่ง ยิ่งสติกเกอร์ทำหน้าที่สร้างการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าไร จะยิ่งทำให้สติกเกอร์นั้นได้รับความนิยม และคาแรคเตอร์ที่ง่ายๆ มีประโยค หรือสำนวนโดนใจ จะเป็นสติกเกอร์ที่ใครๆ ก็อยากใช้ สิ่งเหล่านี้ครีเอเตอร์ต้องหาให้เจอ”
ทางด้าน คุณ Olive-Leaves ครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์คาแรคเตอร์แมว “SUZU-NYAN” หนึ่งในสติกเกอต์ยอดนิยมในญี่ปุ่น และทุกวันนี้สามารถต่อยอดไปสู่การทำ Merchandise เล่าว่าได้รับการชักชวนให้มาออกแบบสติกเกอร์บน LINE Creators Market จึงลองมาทำดู โดยออกแบบเป็นแมวคล้องกระดิ่ง ปัจจุบันมีทั้งเวอร์ชั่นสติกเกอร์ภาพนิ่ง และ Animation Sticker
“คนที่จะเป็นครีเอเตอร์ ต้องอย่ายอมแพ้ และอย่าหยุดทำ ตอนที่ดิฉันเริ่มต้นทำใหม่ๆ ขายไม่ค่อยได้ แต่คิดว่าเราไม่ยอมแพ้ จึงพยายามทำคอนเทนต์ออกมามากๆ สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่อง”
เช่นเดียวกับ คุณ Sinojiya ครีเอเตอร์ผู้ออกแบบสติกเกอร์ “A Cute Sumo” ติด Top 50 ที่มียอดขายสูงสุดของญี่ปุ่น เธอเล่าว่า เริ่มทำสติกเกอร์เมื่อปี 2016 ช่วงแรกที่ทำ ขายไม่ค่อยได้ เลยปรับเปลี่ยนมาออก Animation Sticker หรือสติกเกอร์ดุ๊กดิ๊ก
ผลปรากฏว่าคนชอบมากกว่าแบบภาพนิ่ง และออกแบบคาแรคเตอร์ซูโม่ ให้มีความ contrast กัน คือ ด้วยบุคลิกของซูโม่จะมีความแข็งแกร่ง แต่ได้เติมความน่ารักลงไปในคาแรคเตอร์ เช่น ซูโม่ใส่ชุดผ้ากันเปื้อนทำอาหาร, ซูโม่ใส่ชุดบัลเลต์, ซูโม่อยู่กับแมว กลายเป็น “โดนใจ” กลุ่มผู้หญิง ทั้งวัยรุ่น และผู้ใหญ่
บวกกับใช้ช่องทาง Social Network ในการสร้างฐานแฟนคลับ และสื่อสารพูดคุยกับแฟนคลับ และผู้ติดตาม
“การทำสติกเกอร์ เราควรตั้งต้นโจทย์ก่อนว่าเพื่อให้คนมีความสุข ทำให้คนรู้สึกสนุกไปกับคาแรคเตอร์ของเรา ทำสติกเกอร์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ใครได้รับก็มีความสุข และยอดขายจะตามมาเอง”
4 ความท้าทาย “LINE Creators Market ประเทศไทย”
กลับมาที่ประเทศไทย “LINE Thailand” เปิดตัว “LINE Creators Market” ในปี 2014 วางราคาจำหน่ายเริ่มต้น 30 บาท เพื่อให้ผู้ใช้งาน LINE สามารถเข้าถึงสติกเกอร์คาแรกเตอร์ได้ง่ายขึ้น และทำให้การดาวน์โหลดถี่ขึ้น
เพราะ “LINE Creators Market” เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการสร้าง Engagement ระหว่างแพลตฟอร์ม LINE กับผู้บริโภคได้มากขึ้น !!
-
ปัจจุบันธุรกิจสติกเกอร์ เป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับ LINE ประเทศไทย
-
ในไทยมี LINE Creators 530,000 คน
-
จำนวนครีเอเตอร์เติบโต 100% ต่อปี
-
ในจำนวนครีเอเตอร์ดังกล่าวมี 10% ที่เป็นครีเอเตอร์เต็มตัว (Full Time)
-
30% ของ LINE Creators เป็นครีเอเตอร์ที่มีการออกสติกเกอร์สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง (Active LINE Creators)
-
มีสติกเกอร์ผลงานของคนไทยวางขายบน LINE Creators Market มากกว่า 2 ล้านเซ็ท คิดเป็น 35% ของสติกเกอร์ที่มีวางขายทั้งหมด
-
มี 28 คาแรคเตอร์ที่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ
-
จำนวนสติกเกอร์สะสมในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยต่อผู้ใช้ 1 คนสูงถึง 65 ชุด โดยเป็นสติกเกอร์ที่จำหน่ายสูงถึง 20 ชุด
ถึงวันนี้ “LINE Creators Market” ในไทย เดินทางเข้าสู่สเต็ปสองแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้น “Growth Stage” เป็นช่วง “ขยายธุรกิจ” ให้เติบโตยิ่งขึ้น เพื่อสร้าง Ecosystem ให้สมบูรณ์ ซึ่งในระบบนิเวศของ LINE Creators Market ประกอบด้วย LINE – สติกเกอร์ครีเอเตอร์ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน – ช่องทางจัดจำหน่าย – ผู้บริโภค
“หลังจากผ่านสเต็ปแรกไปแล้ว ตอนนี้ LINE Creators Market อยู่ในช่วงขยาย ซึ่งวิสัยทัศน์ของทีม LINE Stickers ประเทศไทย คือ ทำให้ตลาดครีเอเตอร์ในไทยชัดเจนขึ้น และทำให้คนที่เป็นครีเอเตอร์ มองว่า การเป็น LINE Creators ไม่ใช่งานพิเศษที่นานๆ ทำที แต่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นงานที่เขาอยากทำเรื่อยๆ” คุณอิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE STICKERS, LINE ประเทศไทย เล่าถึงพัฒนา
การสร้างระบบนิเวศ LINE Creators Market ให้แข็งแกร่ง มีภารกิจใน 5 เรื่องสำคัญคือ
1. เพิ่มจำนวนครีเอเตอร์ และจุดประกายให้ครีเอเตอร์ สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนกลับไปในยุคแรกของ “LINE Creators Market” ในไทย พบว่าคนที่เป็น “ครีเอเตอร์” ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานสายครีเอทีฟ สายดิจิทัล และสายเอเยนซี ยังไม่แพร่หลายอย่างทุกวันนี้ เพราะช่วงแรกคนยังเข้าใจว่าการเป็น “ครีเอเตอร์สติกเกอร์” ทำยาก ไม่รู้ต้องเริ่มต้นอย่างไร
การเพิ่มจำนวนครีเอเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของทีม LINE Sticker
แต่หลังจากทีม LINE ประเทศไทย เริ่มมีการสื่อสาร “LINE Creators Market” มากขึ้น ควบคู่กับการจัดกิจกรรม Workshop เช่น เรียนรู้วิธีการทำสติกเกอร์ เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังคนทั่วไปว่า การเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่คุณมีไอเดีย และอยากทำ ก็สามารถเป็นครีเอเตอร์ และลงมือทำได้เลย
ประกอบกับในปี 2017 บน LINE Creators Market มีบริการ “สติกเกอร์ชื่อ” (Name Sticker) ที่ใส่ชื่อ และข้อความ ทำให้คนอยากมีสติกเกอร์ชื่อตัวเอง บวกกับผู้ใช้งาน LINE บางคนมองว่าสติกเกอร์ที่มีจำหน่ายอยู่นั้น ยังไม่โดนใจ หรือยังไม่สะท้อนบุคลิก หรือความเป็นตัวตน
ทำให้หลายคนลองมาเป็น “ครีเอเตอร์” ออกแบบสติกเกอร์ที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง ส่งต่อให้กับคนในครอบครัว เพื่อนๆ คนใกล้ชิด พร้อมทั้งเริ่มจำหน่ายสติกเกอร์ฝีมือตนเอง
“ปีแรกๆ ของ LINE Creators Market คนที่มาเป็นครีเอเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานด้านดิจิทัล และเอเยนซี หรือคนที่เป็นเจ้าของคาแรคเตอร์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และเมื่อเราเปิดตลาดตรงนี้ คนกลุ่มนี้นำมาต่อยอดขายบน LINE Creators Market
ขณะที่ระยะหลังมานี้ คนทั่วไปที่ชอบวาดรูป หรืออยากมีสติกเกอร์ของตัวเอง หรืออยากมีคาแรคเตอร์ที่ตัวเองชอบ ก็เข้ามาร่วมเป็นครีเอเตอร์ ออกแบบสติกเกอร์ เพื่อใช้เอง และจำหน่าย ทำให้ตลาดครีเอเตอร์ มีคนสนใจ และเข้ามาเป็นครีเอเตอร์มากขึ้น”
เพราะยิ่งมีครีเอเตอร์มาก ทำให้บนแพลตฟอร์มมีสติกเกอร์หลากหลาย ซึ่งจะกระตุ้นให้ลูกค้าเดิม ที่ซื้อเป็นประจำอยู่แล้ว ยังคงซื้อต่อเนื่อง และดึงดูดลูกค้าใหม่
“สติกเกอร์ LINE โตมาได้ เพราะคาแรคเตอร์ของ LINE ไม่ว่าจะเป็น Brown, Cony ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นแอปพลิเคชันที่น่าใช้ แต่ผ่านไปสักพัก ทุกคนมีสติกเกอร์ Brown, Cony กันหมด ผู้ใช้ LINE เริ่มรู้สึกว่าคาแรคเตอร์เหล่านี้ ไม่ใช่ตัวเขา
ประกอบกับตัวเลือกสติกเตอร์มากขึ้น ผู้ใช้ LINE ก็มองหาสติกเกอร์ที่มีคาแรคเตอร์คล้ายตัวเอง หรือคาแรคเตอร์ที่สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึกได้ดีขึ้น เช่น สติกเกอร์กวนๆ ที่เราเอาไว้ส่งให้เพื่อน เป็นการเลือกซื้อสติกเกอร์ที่ “คอนเทนต์” มากขึ้น”
2. ขยายฐานผู้ใช้สติกเกอร์ แม้ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ใช้งานแอปฯ LINE มากกว่า 44 ล้านคน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อสติกเกอร์ โดยมี 2 Insights ที่เจอคือ
– บางคนมองว่าสติกเกอร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ถึงแม้ไม่มีสติกเกอร์ ก็ยังสามารถสื่อสารได้อยู่
ดังนั้น LINE จึงต้องสื่อสารให้เห็นว่าสติกเกอร์ สามารถเป็นตัวแทนการสื่อสารได้ดีที่บอกอารมณ์ – ความรู้สึกไปยังผู้รับ ควบคู่กับการให้ครีเอเตอร์ สร้างสรรค์ “คอนเทนต์” ที่โดนใจ และมีสติกเกอร์ ที่ตอบโจทย์แต่ละ Segmentation
– มีข้อจำกัดด้านช่องทางจำหน่าย และการชำระเงิน
เนื่องมาจากเมื่อก่อนการซื้อสติกเกอร์ LINE ต้องซื้อผ่าน LINE Store เท่านั้น และใช้บัตรเครดิต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบัตรเครดิต กว่า 20 ล้านใบ และมีจำนวนผู้ถือบัตรไม่ถึง 10 ล้านคน ทำให้ถูกมองว่าซื้อยาก และไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ
3. เพิ่มช่องทางการซื้อสติกเกอร์ให้สะดวกขึ้น และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ต่อเนื่องจาก Consumer Insight ข้อ 2 ในเรื่องช่องทางจำหน่าย และการชำระเงิน ทำให้ “LINE” เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสติกเกอร์ และรูปแบบการชำระเงินให้หลากหลายมากขึ้น
เช่น เปิดโครงการ Verified Reseller ซึ่งเป็นร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจาก LINE Stickers ในการเป็นผู้จำหน่าย Items ต่างๆ ของกลุ่มธุรกิจ LINE Stickers, จับมือกับ Telco สามารถชำระเงินผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ และใช้คะแนนสะสม (Points) มาแลกสติกเกอร์ได้, ซื้อสติกเกอร์ผ่านตู้เติมเงิน “บุญเติม” และ “เติมสบายพลัส”
4. สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพ “LINE Creators” ด้วยการมีโปรแกรมสนับสนุนครีเอเตอร์
– เป็นตัวกลางในการส่งออกผลงานครีเอเตอร์ไทย ไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะมองว่ายิ่งมีผลงานของครีเอเตอร์ไทยโกอินเตอร์มากขึ้นเท่าไร จะยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับครีเอเตอร์อื่นๆ
– เป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์ กับครีเอเตอร์ ในกรณีที่แบรนด์สนใจนำคาแรคเตอร์ของครีเอเตอร์ ไปทำเป็นสินค้า Merchandise อย่างล่าสุดจับมือกับแบรนด์ชุดชั้นใน “ซาบีน่า” ทำงานร่วมกันตั้งแต่การคัดเลือกตัวคาแรคเตอร์ เลือกธีม ดูแลการออกแบบของครีเอเตอร์ ร่วมกันทำคอลเลคชั่นพิเศษ ทั้งสติกเกอร์และชุดชั้นใน
“เชื่อว่าการร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ เป็นความฝันของครีเอเตอร์หลายๆ คน ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสแบบนี้ และความร่วมมือกันในครั้งนี้ก็เพื่อผลักดัน และเปิดโอกาสส่งเสริมการทำงานของครีเอเตอร์ให้กว้างมากกว่าการเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์” ผู้บริหารธุรกิจ LINE Stickers ประเทศไทย กล่าวเสริม
– มีรางวัล Rising Star ทางทีม LINE Stickers จะเลือกผลงานสติกเกอร์ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ชัดเจน และยอดขาย มา 2 คน เป็นสติกเกอร์ภาพนิ่ง 1 คน และ Animation Stickers 1 คน พร้อมทั้งมอบเงินสนับสนุน 50,000 บาท สำหรับให้ครีเอเตอร์ทำสินค้า Merchandise เพื่อต่อยอดคาแรคเตอร์ที่ครีเอเตอร์คนนั้นๆ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้เป็นมากกว่าสติกเกอร์ โดยสามารถนำสินค้า Merchandise มาวางขายใน LINE Gift Shop และจำหน่ายช่องทางอื่นๆ ได้
– มอบรางวัล LINE Creators Market Sticker Contest ผู้ชนะจะได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาตลาดคาแรคเตอร์ เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ LINE Corporation และได้พบปะ – ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ LINE Creator ชาวญี่ปุ่น
– อัพเดทเทรนด์ และสติกเกอร์ยอดนิยมที่กำลังมาแรงให้กับครีเอเตอร์ เพื่อเป็นไอเดียให้นำไปพัฒนาซีรีส์ หรือคอลเลคชั่นใหม่
เช่น ปัจจุบันสติกเกอร์ ที่มีคำพูดตัวใหญ่ ยังคงได้รับความนิยม ถ้าสติกเกอร์ไหนมีตัวอักษรขนาดเล็ก เห็นไม่ชัดเจน คนไม่ค่อยซื้อ อาจเป็นเพราะทุกวันนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน LINE ในการสื่อสาร เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเฉพาะฐานผู้ใช้กลุ่มผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย
หรือสติกเกอร์รูปสัตว์ ยังคงฮิต ไม่ว่าจะเป็นกระต่าย, แมว, สุนัข ฯลฯ
นอกจากนี้ในปี 2563 สติกเกอร์ใช้ภาษาท้องถิ่น จะมาแรง และประโยค หรือคำที่จิกกัดหน่อยๆ คนก็ชอบ
เป็นงานเสริม และอาชีพหลักของคนทุกวัย
ถึงวันนี้จำนวน LINE Creators ในไทย มีกว่า 530,000 คน มาจากหลากอาชีพ หลาย Generation เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณ เพราะครีเอเตอร์สติกเกอร์ เป็นอาชีพเปิดกว้างให้กับทุกคน
“ระยะหลังมานี้ เรารู้จักครีเอเตอร์มากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าหลายคนเป็นครีเอเตอร์แบบ Full Time แล้ว ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ เช่น คนหนึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำงานในห้อง Lab วิจัย วันหนึ่งเขาทำสติกเกอร์ แล้วขายดี
ประกอบกับตัวเขาเองก็รู้สึกเบื่องานที่ทำ จึงออกมาทำครีเอเตอร์สติกเกอร์ เป็นงานหลัก ในขณะที่งานวิจัย หรืองานสายวิทยาศาสตร์ ทำเป็นงาน Part Time หรืองานเสริม โดยมีรายได้จากผลงานการเป็นครีเอเตอร์เข้ามาเรื่อยๆ”
นอกจากนักวิทยาศาสตร์ที่ผันตัวออกจากงานประจำ มาเป็นครีเอเตอร์เต็มตัวแล้ว ยังมีเรื่องราวเส้นทางของการมาเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์อีกหลายคน
“หมาจ๋า” จาก Facebook Fanpage สู่สติกเกอร์ LINE และสินค้า Merchandise
“คุณณัฐวีร์ ลิมปนิลชาติ” หรือ “คุณนัด” นักวาดการ์ตูน (เจ้าของ Facebook Fanpage หมาจ๋า), ทีม Marketing บริษัท ศิริคุณ ซีฟู๊ดส์ จำกัด, หุ้นส่วนธุรกิจขนมหมา “หมาดีใจ” (บริษัท หมาดีใจ จำกัด) และเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์ ด้วยการต่อยอดคาแรคเตอร์น้องหมาจากในเพจหมาจ๋า มาทำในรูปแบบ LINE Stickers จำหน่ายบน LINE Creators Market และล่าสุดติด 1 ใน 4 ผู้ชนะแคมเปญ Top Creators War (ยอดดาวน์โหลดสูงสุดหระหว่างวันที่ 1 – 31 สิงหาคม)
คุณนัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมาเป็น LINE Creators ว่า เริ่มจากทำ Facebook Fanpage หมาจ๋ามาก่อน และคนเริ่มรู้จักมากขึ้น ต่อมาทาง “วิธิตา แอนิเมชั่น” บริษัทในเครือบันลือ กรุ๊ป ติดต่อเข้ามาให้ทำสติกเกอร์ร่วมกับ LINE จึงได้วาดให้กับวิธิตา เป็นคาแรคเตอร์หมาชื่อ “จีจี้” (GiGi) ซึ่งเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์ของเพจหมาจ๋า ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือรวมเล่มเช่นกัน
“เป็นครีเอเตอร์มา 6 ปี หลังจากได้ลองทำสติกเกอร์ LINE ก็รู้สึกสนุก จึงได้ออกแบบสติกเกอร์หมาจ๋า (dogplease) มาถึงทุกวันนี้ และด้วยความที่ออกคาแรคเตอร์หมามาเยอะแล้ว และเราพบว่าแฟนเพจหมาจ๋า ก็รักแมวด้วย จึงได้ออกแบบคาแรคเตอร์แมวบ้าง และทำสติกเกอร์แมวด้วย (catplease)”
นอกจากนี้ ความน่ารัก และความนิยมของคาแรคเตอร์หมาจ๋า ยังได้ถูกนำไปต่อยอดผลิตสินค้า Merchandise โดยผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ต่างๆ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อนำคาแรคเตอร์ไปผลิตเป็นคอลเลคชั่นสินค้า
เช่น ชุดเครื่องนอนทิวลิป ผลิตชุดผ้าปูที่นอน ลายคาแรคเตอร์น้องหมาต่างๆ ในหมาจ๋า และ บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ San-X มาเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์หมาจ๋า เพื่อผลักดันให้ “หมาจ๋า” เป็น Merchandise และปั้นให้เป็นแบรนด์คาแรคเตอร์ของคนไทย
ด้วยความที่คาแรคเตอร์หมาจ๋า เริ่มต้นจาก Facebook Fanpage ก่อน ซึ่งมีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น โดยปัจจุบันมียอดผู้ติดตามมากกว่า 750,000 likes ร่วมกับแพลตฟอร์ม Social Media อื่นที่มี เช่น Instagram ทำให้การต่อยอดคาแรคเตอร์ มาทำในรูปแบบสติกเกอร์ LINE ได้การตอบรับที่ดี ทั้งจากแฟนคลับที่ติดตามกันมาก่อนหน้านี้ และได้ขยายฐานแฟนคลับใหม่ กระทั่งปัจจุบันไม่หยุดอยู่แค่การเป็นคาแรคเตอร์บน Social Media และในรูปแบบสติกเกอร์เท่านั้น แต่คาแรคเตอร์นี้ ยังเข้าไปอยู่กับสินค้าต่างๆ
“หมาจ๋า” ถือเป็น Success Learning ของการผสมผสานการใช้สื่อ Social Media และการต่อยอดที่สร้าง Value Added ให้กับคาแรคเตอร์ ให้เติบโตไปได้ไกล
“PeakStudio” เริ่มต้นชีวิตครีเอเตอร์ในวัย 50+
ครีเอเตอร์อีกคน ที่พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข! ไม่ใช่ข้อจำกัดของการสร้างสรรค์ผลงาน คือ “คุณณัฐดล แก้วไพฑูรย์” หรือ “คุณโอณ์” ชายวัย 59 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว และเริ่มเป็น LINE Creator เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นวัย 56 ปี กระทั่งทุกวันนี้เป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์แบบ Full Time และมีผลงานมากกว่า 36 ชุด (ID ใน LINE Creator Market คือ PeakStudio)
หนึ่งในนั้นคือ “สติกเกอร์ 3 สาว ก๊ะ สัตว์เลี้ยง แสนรัก ส่ง : ความสุข” หนึ่งในผู้ชนะจากแคมเปญ Top Creators War (ยอดดาวน์โหลดสูงสุดหระหว่างวันที่ 1 – 31 สิงหาคม)
“อายุเยอะแล้ว ลูกโตกันหมดแล้ว เรามีเวลาพอสมควร อยากหาอะไรทำเล่นๆ สนุกๆ ก็เลยลองวาดการ์ตูน โดยที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ แต่ชอบขีดๆ เขียนๆ วันหนึ่งภรรยาผม อยากให้ทำสติกเกอร์ LINE ให้ เขาบอกว่าสติกเกอร์ที่มี ไม่ตรงใจ
เราก็วาดขึ้นมาสนุกๆ ทำเพื่อใช้เอง ออกแบบคาแรคเตอร์แรกเป็นรูปหมู ปรากฏว่าทำไปแล้ว มีคนชอบ นี่เป็นการจุดประกายในใจว่าผลงานเรา มีคนชอบด้วย
เราทำด้วยความสนุก ใจรัก มีสติกเกอร์ไว้ใช้เอง โดยไม่ได้หวังว่าจะสามารถทำเป็นรายได้ ซึ่งพอทำคาแรคเตอร์ตัวที่ 2 – 3 ออกมา เริ่มมีฐานลูกค้ากว้างขึ้น แต่ไม่ได้หวือหวามากนัก จนกระทั่งปีที่ 2 เป็นต้นไป เรามีสติ๊กเกอร์มากพอสมควร และเมื่อปีที่แล้ว ทำสติกเกอร์ธีมปีใหม่ อยู่ๆ มียอดดาวน์โหลดเข้ามามากพอสมควร
ข้อดีของสติกเกอร์ LINE อย่างหนึ่งคือ เวลาคนซื้อไปใช้ เมื่อคนที่เขารับแมสเสจ เห็นสติกเกอร์ แล้วชอบ ก็สามารถเข้าไปดูที่ร้านได้ เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าไปในตัว
ทุกวันนี้ครีเอเตอร์ เป็นงานที่สร้างรายได้ จากช่วงแรกที่ทำได้ 500 กว่าบาท ไม่ใช่ 500 บาทต่อเดือน แต่ไม่รู้กี่เดือนถึงได้ 500 บาท ทว่าหลังจากนั้นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นหลักพัน หลักหมื่น และสูงสุดอยู่ที่หลักแสนบาทต่อเดือน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมา เป็นเพราะเรามีจำนวนสติกเกอร์มากขึ้น และมีฐานคนรู้จักสติกเกอร์เรามากขึ้น
อย่างไรก็ตามการเป็น LINE Creator สำหรับมุมมองของผม ถ้าเริ่มคิดว่าทำแล้วต้องได้รายได้เท่านั้นเท่านี้ หากไม่เป็นอย่างที่คิด จะทำให้รู้สึกผิดหวัง ดังนั้นเป็นครีเอเตอร์ที่ทำด้วยความสุข และสนุกไปกับมัน ออกแบบสติกเกอร์ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร พอเราทำไปเรื่อยๆ ถ้ามีสติกเกอร์มากพอ มีคนเห็นผลงานระดับหนึ่งมากขึ้น ก็จะมีคนชอบแบบเดียวกัน เข้ามาสนับสนุนคุณเอง”
“ต่ายซ่าขาร็อค” จากอาจารย์สอน Animation สู่การทำอาชีพครีเอเตอร์เต็มตัว
“คุณนรินทร์ เรืองแสง” หรือ “คุณเจี้ยบ” ชายวัย 40 ปี อดีตอาจารย์สอน Animation และผู้เขียนหนังสือโปรแกรม Flash Animation ได้เริ่มต้นเส้นทาง LINE Creator เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยนำความเชี่ยวชาญของตนเอง คือ การผลิต Animation มาสร้างสรรค์เป็นสติกเกอร์รูปแบบดุ๊กดิ๊ก ผลงานแรกคือ คาแรคเตอร์ Sumo Cat รวมทั้งที่ได้รับความนิยม เช่น แมวน้อยสอยดาว และผลงานล่าสุดสติกเกอร์ “ต่ายซ่าขาร็อค” ทำให้เป็นหนึ่งในผู้ชนะหัวข้อ New Year Celebration ประเภท สติกเกอร์สาขาแอนิเมชันและธีม
จากช่วงแรกทำเป็นงานอดิเรก ผลปรากฏว่าด้วยความที่เป็นสติกเกอร์ดุ๊กดิ๊ก เป็นเทรนด์ที่กำลังมา จึงได้รับการตอบรับที่ดี หลังจากนั้นเริ่มทำเรื่อยๆ และตัดสินใจลาออกจากการอาชีพอาจารย์ มาเป็นครีเอเตอร์เต็มตัว ในขณะที่งานสอนเป็นงาน Part Time
ปัจจุบัน ID ใน LINE Creators Market ของคุณเจี๊ยบ มี Ke-Nai และ mj_cartoon ส่วนใหญ่เป็นสติกเกอร์ดุ๊กดิ๊ก และปัจจุบัน นอกจากขายในไทยแล้ว ยังได้ขายที่ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย ด้วยการ Customize เปลี่ยนเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ
“ผมมองว่าอาชีพครีเอเตอร์ เป็นงานที่มั่นคง เพราะผมทำ 6 ปี ขนาดผมหยุดไปช่วงหนึ่ง ไม่ทำเกือบปี รายได้ยังเข้ามา เพราะยังมีกลุ่มที่ใช้เราอยู่ แต่ถ้าเราทำ กราฟจะสูงขึ้น แต่ถ้าเราไม่ทำ กราฟจะคงที่ แต่ไม่ถึงกับอยู่ในระดับศูนย์
อย่างในช่วงที่หยุดไป โดยเฉลี่ยต่อเดือนมีรายได้ 20,000 – 30,000 บาท แต่ถ้าออกเป็นชุด ชุดที่ยอดดาวน์โหลดพีคมากๆ รายได้เป็นแสน เคยทำรายได้สูงสุด 200,000 กว่าบาท แต่ถ้าเราออกเป็นประจำต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยจะได้ 50,000 – 60,000 บาท ซึ่งในการออกคอลเลคชั่นใหม่ เราออก 2 ชุด
การเป็น LINE Creator ถือว่าสร้างรายได้ประจำได้ แต่ต้องมีจำนวนสติกเกอร์ให้ได้มากก่อน เพราะถ้าเรามีแค่ 1 ชุด จะสร้างรายได้ประจำไม่ได้ ซึ่งการจะสร้างรายได้ประจำให้กับครีเอเตอร์คนนั้นๆ ได้ โดยเฉลี่ยต้องมีสติกเกอร์ไม่ต่ำกว่า 50 ชุด”
คุณเจี๊ยบ ให้คำแนะนำว่าหัวใจสำคัญของการทำสติกเกอร์ ในมุมมองของตนเอง คือ
1. คาแรคเตอร์ต้องมีเอกลักษณ์
2. อารมณ์ของตัวคาแรคเตอร์ต้องชัดเจน
3. รู้เทรนด์ว่าอะไรกำลังเป็นที่นิยม เช่น ช่วงปีใหม่ ควรออกสติกเกอร์ตามเทศกาล โดยในชุดนั้นควรมีสติกเกอร์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ผสมกับสติกเกอร์เทศกาล
4. ในการออกแบบคาแรคเตอร์ ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าต้องการขายใคร เช่น สติกเกอร์แมว กลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนรักแมว หรือสติกเกอร์สำหรับเจาะตลาดผู้หญิง ก็ควรลงลึกว่าเป็นผู้หญิงช่วงวัยไหน กลุ่มใด เช่น วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่
5. ต้องมีกลุ่มแฟนคลับของคุณ ต้องสร้าง Story ให้กับสติกเกอร์ เช่น สติกเกอร์ของตนเองนั้น ทำเป็น Story และมีฐานแฟนคลับติดตามทั้งทาง LINE และติดต่อเข้ามายัง e-mail
“RealPeach” ครีเอเตอร์ที่เป็นทั้ง YouTuber – นักวาดการ์ตูน LINE WEBTOON – Sticker Creator
“คุณพชร ทศานนท์” หรือ “คุณพีช” เจ้าของคาแรคเตอร์สติกเกอร์ “Hamston” (แฮมส์ตัน) และ “RealPeach” ชายหนุ่มวัย 27 ปีที่จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรม แต่ด้วยความชอบด้านกราฟิก จึงผันตัวเองไปทำงานประจำด้านนี้ ในระหว่างนี้ก็วาดการ์ตูนลง LINE WEBTOON
หลังจากทำงานประจำได้ 3 ปี ลาออกมาเป็น Content Creator เต็มตัว เริ่มด้วยการเป็น “YouTuber” สร้างช่อง และคาแรคเตอร์ animation ที่ชื่อ “RealPeach” ควบคู่กับการเป็นนักวาดการ์ตูนใน LINE WEBTOON ต่อเนื่อง
ต่อมาได้ขยายมาเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์บน LINE Creators Market ด้วยการต่อยอดคาแรคเตอร์ “RealPeach” มาทำสติกเกอร์ พร้อมทั้งออกแบบคาแรคเตอร์ “Hamston” ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการวาดมาจากตัวหนูแฮมเสตอร์และตัวสติกเกอร์ kanakei และ Joke Bear
ล่าสุดผลงาน “RealPeach” เป็นหนึ่งในสติกเกอร์ที่ได้รับรางวัล Rising Star จาก LINE โดยได้เงินสนับสนุนสำหรับนำไปผลิต Merchandise ขณะเดียวกันคาแรคเตอร์สติกเกอร์ “Hamston” เป็นหนึ่งในผู้ชนะเลิศ “LINE CREATORS MARKET STICKER CONTEST” หัวข้อ New Year Celebration ประเภท สติกเกอร์สาขาแอนิเมชันและธีม
“ตอนนี้งานหลัก และรายได้หลักมาจากการเป็น Youtuber ขณะเดียวกันเราเห็นโอกาสของการเป็นครีเอเตอร์สติกเกอร์ จึงได้มาทำ
การออกสติกเกอร์ จะออกตามโอกาส อาจจะ 6 เดือนหนึ่งครั้ง หรือปีละครั้ง เวลามีน้องแฟนคลับมาถาม เมื่อไรจะออกสติกเกอร์ ถ้ามีถามเข้ามาเยอะ ก็จะออก พอมาทำสติกเกอร์ ได้แฟนคลับจากช่องบน YouTube ตามมาสนับสนุน ซึ่งผมพยายามบาลานซ์เป็นครีเอเตอร์แต่ละช่องทาง และทำหลายอย่าง เพื่อให้มีรายได้หลายช่องทาง”
โลกดิจิทัล ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้คน connect ถึงกันได้สะดวกขึ้น เร็วขึ้น ไร้พรมแดน ขณะเดียวกันยังสร้าง “อาชีพใหม่” ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะทำเป็นงานเสริม งานอดิเรก หรือเป็นงานหลัก โดยไม่มีกำแพงด้านอายุ เพศ การศึกษา หรือสิ่งอื่นใดมาเป็นข้อจำกัด ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ฝึกฝน ตามติดเทรนด์การเปลี่ยนแปลง