ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ร่วมกับ Ecosystms เปิดตัว “คู่มือเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนสำหรับผู้บริหาร” เพื่อช่วยให้ผู้นำองค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคใช้ประโยชน์จากพลังเทคโนโลยี-ธุรกิจ เร่งเครื่องการทรานส์ฟอร์มอย่างยั่งยืน
ข้อมูลจาก Ecosystm เผยว่าองค์กรเอเชียแปซิฟิคที่สำรวจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผสานความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจหลัก และมีเพียง 21% ที่มีแนวทางเชิงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยความท้าทายด้านข้อมูลรั้งอันดับต้นๆ ในแง่ความกังวล เนื่องจากการถอดรหัสมุมมององค์รวมแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูล ESG ที่ครบถ้วนรอบด้าน ร่วมกับการใช้ AIสนับสนุน โดยมุมมองแบบองค์รวมเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรในการชั่งน้ำหนักเลือกแนวทางสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่คุ้มค่ามากที่สุดในเชิงต้นทุน
ข้อมูลจากคู่มือฯ ชี้ให้เห็นว่าความท้าทายสูงสุดที่องค์กรในเอเชียแปซิฟิคเผชิญคือการบูรณาการข้อมูลระบบออโตเมชันและ AI เข้ากับข้อมูลขององค์กร (48%) ตามด้วยความจำเป็นในการรวบรวมข้อมูลจากระบบภายในหลายระบบ (45%) และการเลือกข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อกำหนดการจัดทำรายงาน (42%) การศึกษาล่าสุดโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute of Business Value) ยังพบว่ามีองค์กรเพียง 4 ใน 10 ที่สามารถดึงข้อมูลด้านความยั่งยืนอัตโนมัติได้จากระบบหลักๆ อย่าง ระบบ ERP การจัดการสินทรัพย์ขององค์กร CRM การจัดการพลังงาน และการจัดการทรัพยากรอาคาร โดยข้อมูลที่โปร่งใส พิสูจน์ยืนยันแหล่งที่มาได้ และพร้อมต่อการตรวจสอบตลอดเส้นทางห่วงโซ่คุณค่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือ สร้างความไว้วางใจ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขององค์กร
“องค์กรในเอเชียแปซิฟิคกำลังเผชิญความยากลำบากในการเปลี่ยนวาระด้านความยั่งยืนให้เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากการรวมข้อมูลและมุมมองเชิงลึกด้านความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลคุณภาพสูงและความสามารถในการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานของการสร้างความไว้วางใจ ทั้งนี้ Generative AI จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืนบนพื้นฐานของข้อมูล ขณะที่การใช้ไฮบริดคลาวด์จะช่วยอินทิเกรทข้อมูลและสนับสนุนการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ อันเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสเกลการดำเนินการด้านความยั่งยืนในวงกว้าง” ฮันส์ เด็คเกอร์ส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค กล่าว “เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างการดำเนินการด้านความยั่งยืนให้เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้ไอบีเอ็มพร้อมนำโซลูชันและบริการเข้าสนับสนุนองค์กรทั่วภูมิภาค ให้สามารถใช้ประโยชน์จากพลังของข้อมูลและ AI ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านความยั่งยืนที่เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ”
ข้อมูลไฮไลท์อื่นๆ จากคู่มือฯ ยังระบุว่า
- แรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนความยั่งยืน:ในขณะที่ความเข้าใจทั่วไป มองว่าความจำเป็นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้องค์กรนำแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาใช้ แต่การศึกษาเผยให้เห็นว่าการพิจารณาในมุมจริยธรรม ผลประโยชน์ทางการเงิน และแนวทางเชิงรุกในปรับตัวตามแลนด์สเคปทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไป เป็นปัจจัยที่มีส่วนต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
- เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญ แต่ต้องดำเนินการอย่างมีโครงสร้าง:64% ขององค์กรในเอเชียแปซิฟิคยอมรับถึงความจำเป็นในการมีบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับโร้ดแม็ปขององค์กร ในขณะที่ 40% กำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและซัพพลายเชน เฟรมเวิร์คที่พิจารณาถึงการดำเนินการทั้งสามระดับมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การสร้างพื้นฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งสำหรับการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสิ่งแวดล้อม และการทำให้ความยั่งยืนเป็นรูปธรรมผ่านการผสานแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนเข้ากับเวิร์คโฟลวต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี
- ความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนเริ่มต้นด้วยการโมเดิร์นไนซ์เทคโนโลยีให้ทันสมัย:ก้าวสำคัญของการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ที่ทีมงานด้านเทคโนโลยีในเอเชียแปซิฟิคมองถึง คือการปรับใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ใหม่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย 53% ขององค์กรกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ กลยุทธ์ที่มองในมุมกว้างและครอบคลุมถึงการตรวจสอบสินทรัพย์เชิงรุกและการจัดการตลอดไลฟ์ไซเคิล เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีส่วนช่วยมากกว่าเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าบนเส้นทางสู่ความยั่งยืนขององค์กร
- ความกังวลเกี่ยวกับโซลูชัน AI ที่ต้องการข้อมูลจำนวนมาก:แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของการนำ AI มาใช้จะนำมาซึ่งประโยชน์มากมาย แต่เรื่องนี้ก็ยังสร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบรรเทาปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังประมวลผลน้อยลงโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ GPU สำหรับงาน AI และ pre-trained foundation model ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว ซึ่งต้องการข้อมูลน้อยลงและใช้เวลาในการเทรนระบบเร็วขึ้น นอกจากนี้ การออโตเมทการเขียนโค้ดด้วย AI ยังช่วยลดขั้นตอนการประมวลผลและการใช้หน่วยความจำ นำสู่การลดฟุตปรินท์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้โซลูชัน AI
- การลดช่องว่างระหว่างไอที-ธุรกิจ:ความท้าทายสำคัญที่องค์กรเผชิญคือการขาดการมีส่วนร่วมของผู้บริหารในส่วนงานต่างๆ โดยเฉพาะการขาดการเชื่อมต่อระหว่างส่วนงานด้านไอทีและธุรกิจ ปัจจุบัน ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิค 70% เป็นผู้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน โดยมีองค์กรเพียง 22% ที่มีประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน (CSO) โดยเฉพาะ ทีมผู้บริหารทั้งหมดจำเป็นต้องเป็นเจ้าของวาระด้านความยั่งยืนร่วมกัน โดยมี CIO เป็นผู้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี CFO บูรณาการความยั่งยืนเข้ากับการวางแผนทางการเงิน และ COO ทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน
“องค์กรที่น้อมรับการตัดสินใจด้านความยั่งยืนบนพื้นฐานของเทคโนโลยี จะสามารถเปลี่ยนความยั่งยืนจากศูนย์รวมต้นทุนให้เป็นตัวขับเคลื่อนมูลค่า ที่สนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว พร้อมกับสร้างเลกาซีด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกไว้ให้” แซช มูเคอร์จี รองประธานด้าน Industry Insights ของ Ecosystm กล่าว “การปฏิบัติตามเฟรมเวิร์คด้านความยั่งยืนสามระดับ บนพื้นฐานของเทคโนโลยี รวมถึงเช็คลิสท์ในคู่มือนี้ จะช่วยผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคสามารถสร้างวาระด้านความยั่งยืนที่มีความหมายและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการลงมือทำ การจัดการความเสี่ยง และการสร้างความไว้วางใจในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
ดาวน์โหลด “คู่มือเทคโนโลยีด้านความยั่งยืนสำหรับผู้บริหาร” พร้อมเฟรมเวิร์คด้านความยั่งยืนสามระดับ บนพื้นฐานของเทคโนโลยี และเช็คลิสท์สำหรับการลงมือปฏิบัติ ได้ที่ https://www.ibm.com/account/reg/us-en/signup?formid=urx-53050