เวลานึกถึงเพลงที่เหล่า Gen Alpha (อายุ พ.ศ.2553 – 2568) มักชอบฟัง หลายคนคงคิดว่าเป็นเพลงแนว น่ารักสดใส ฟังง่าย ๆ สไตล์ชิว ๆ ซึ่งอาจจะเป็นภาพจำของผู้คนสมัยก่อน
แต่ใครจะไปคิดว่ายุคสมัยเปลี่ยน แนวเพลงก็เปลี่ยนตาม เช่น เพลง “ทรงอย่างแบด” (Bad Boy) ที่เข้ามาเปลี่ยนเป็นความเชื่อนี้ กลายเป็นเพลงสุดฮิตในหมู่ “วัยรุ่นฟันน้ำนม” จนทำเอาร้องตามกันได้ทั้งเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้ที่กำลังเลี้ยงดูหลาน
“Paper Planes” ศิลปินชาวร็อกรุ่นใหม่ ที่สร้างปรากฏการณ์ ได้แฟนคลับเป็นวัยรุ่นฟันน้ำนมทั่วไทย แล้วกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอย่างสนั่น โดยเฉพาะบน Tiktok ที่ไม่ว่าใครเปิดเข้าไปก็ต้องเคยได้ยินเพลงทรงอย่างแบด และจำนวนรับชมบน YouTube ล่าสุดก็พุ่งไปแตะที่ 40 ล้านวิวเป็นที่เรียบร้อย
รูป : facebook Paper Planes
ด้วยเนื้อเพลงที่หลายคนฟังก็ติดหู จากเนื้อเพลงที่มีคำง่าย ๆ กับประโยคที่คล้องจองกัน ทำให้เวลาร้องประกอบกับดนตรีก็เลยจำไม่ยาก ซึ่งผู้ปกครองของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่มีคอมเม้นต์ในแง่ดี ด้วยความที่เนื้อเพลงไม่มีคำหยาบคายเลย ประกอบกับ MV เป็นยุค 90 ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กทรงแบด ๆ ที่มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ในโรงเรียน อาทิ การตกหลุมรักเพื่อนในโรงเรียน งานพรอม รวมถึงภาพคุณครูจอมเฮี้ยบ ที่เป็นกิมมิคเล็ก ๆ ทำให้นึกถึงช่วงเวลาเก่า ๆ ในวัยเรียน จะเรียกได้ว่าเป็นการผสม Music marketing กับ Nostalgia marketing ได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว เพราะเพลงทรงอย่างแบด ถือเป็นการตลาดแบบย้อนยุคที่ปังสุด เนื่องจากการนำอดีตมาเป็นจุดขายเสนอต่อผู้บริโภค (แต่ต้องขอบอกก่อนว่า ทางนักร้องเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำการตลาดออกมาในแบบนี้)
เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 เพลงทรงอย่างแบด – Paper Planes
ยิง “เพลง” นัดเดียว ได้ “สองกลุ่ม”
ถึงแม้กลุ่ม Gen Alpha กำลังซื้อยังไม่มากพอ แต่อย่าลืมว่าหากมองในแง่ของการทำธุรกิจ หากเด็กกลุ่มนี้ชื่นชอบอะไร ฝั่งของคนเป็น “พ่อแม่” หรือ Gen X ก็มักจะมีส่วนร่วมเสมอ เพื่อให้ลูกหรือหลานของตนมีความสุข
ดังนั้นพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Alpha ที่ส่งผลต่อ Gen X ที่เป็นพ่อแม่ เป็นสิ่งที่แบรนด์ควรคำนึงอย่างมาก หากจะเข้าไปนั่งในใจกลุ่มที่เป็นพ่อแม่ ก็อาจจะต้องครองใจลูก ๆ ให้ได้ก่อน ส่วนผู้บริโภค Gen Alpha ก็อาจกลายเป็นลูกค้าหน้าใหม่ที่ไม่ควรเพิกเฉยและมองข้าม เพราะการ “รู้ก่อน” “ปรับตัวก่อน” ย่อมคว้าโอกาสมาอยู่ในมือได้ก่อน
สุดท้ายนี้ คงน่าติดตามกันต่อไปว่าในวันเด็กที่กำลังจะมาถึง เพลงนี้จะกลายเป็นเพลงขวัญใจของเหล่าเด็ก ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่จะเป็น “เพลงชาติวัยรุ่นฟันน้ำนม” อย่างแน่นอน
เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากโหนกระแส Tiktok และ Paper Planes (คลิปสัญญาได้มั้ยว่าดูคอนเสิร์ตจบแล้วจะไปแปรงฟันกัน) เป็นไวรอลจนถึงปัจจุบัน