GDH ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีหน้า 2564 มีการเปิดโปรเจกต์หนังใหม่ ในงาน GDH Xtraordinary 2021 LINEUP ถึง 5 เรื่อง และเป็นปีที่ GDH ปล่อยหนังออกมามากที่สุด นอกจากนี้ ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นที่มีการจับมือร่วมทุนสร้างมากที่สุดอีกด้วย ทั้งกับพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ยอมรับว่าเป็นปีที่เหนื่อยและหนักมากอีกปีหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยและวงการภาพยนตร์หนังโลกจากสถานการณ์โควิด-19
“ปี 2563 จริงๆ เรามีความตั้งใจจะฉายหนัง 2 เรื่อง แต่เจอโควิดเลยต้องเลื่อนฉาย พอปลดล็อกเราก็มาค่อยๆ ถ่ายทำได้ แต่ว่าการฉายหนัง คือ เหลือเรื่องเดียว แต่โชคดีที่มี ละคร “ฉลาดเกมโกง” ถ่ายปีที่แล้ว แต่ได้มาฉายปีนี้ ก็มาช่วยทำให้ GDH ผ่านพ้นไปได้”
ดังนั้น จินา มองว่า หากปิดปลายปีนี้ (2020) ประมาณ 330-340 ล้านบาท GDH จะถือว่าไม่ขาดทุน
โดยคาดหวังว่าหนังใหม่ “อ้าย…คนหล่อลวง” ที่ได้ ณเดชย์ คุกิมิยะ มาร่วมงานด้วยครั้งแรก น่าจะได้ 80 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รายได้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้
GDH หวังน้อย ปีนี้ได้ 300 กว่าล้านก็ดีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีนั้นฉายหนังไปทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่ “เฟรนด์ โซน ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” ทำรายได้ไป 130 ล้านบาท, “ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค” ทำรายได้ 141 ล้านบาท, “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ทำรายได้ 57 ล้านบาท ทั้ง 3 เรื่อง รวมรายได้ทั้งจากการจัดจำหน่ายและรายได้จากแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ทำให้ปี 2562 ทำรายได้ไปทั้งหมด 400 กว่าล้านบาท
“แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยที่มีละครหนึ่งเรื่อง และหนังแค่เรื่องเดียวรอฉาย คิดว่าทำได้แค่ 300 กว่าล้านก็ถือว่าเราโชคดีแล้ว แต่ถือว่าเรายังมีกำไรอยู่ แม้ไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับในปี 2562 เพราะว่าปี 2562 เรามีหนังทำเงิน 100 ล้านกว่า ถึงสองเรื่องเลย แต่ก็ลุ้นๆ อยู่เหมือนกันว่า “อ้าย…คนหล่อลวง” อาจจะสร้างปรากฏการณ์อะไรให้เราก็ได้”
อุตฯ หนังไทยอาการหนัก 2020 ทำรายได้ไม่ถึง 600 ล้าน
จินา มองภาพสถานการณ์โดยรวมจากวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบกับวงการภาพยนตร์ ว่า คงต้องบอกว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งโลก พอโรงหนังปิดก็ไม่มีคนมาดูหนัง แม้พอเริ่มคลายล็อกแล้ว ความกลัวความกังวลก็มีอยู่ ทำให้ค่ายหนังเลื่อนฉายแทบทั้งหมด ดังนั้นจะเห็นว่าหนังที่จะมีช่วงมีนาคมถึงกรกฎาคม ไม่มีหนังใหม่เลย ตรงนี้เลยไม่สามารถวัดได้สถานการณ์จริงๆ หรือตัวเลขจริงๆ มันคืออะไร แต่พอช่วงสิงหาคมถึงกันยายนก็เริ่มมีหนังเข้ามาแล้ว เริ่มมีหนังใหม่ที่เข้ามาบ้าง เช่น TENET, มู่หลาน ก็เริ่มมีตัวเลขให้เห็นบ้าง หรือ Train To Busan 2 ที่ฉายเกาหลีก็ทำรายได้ถล่มทลาย ส่วนเมืองไทยก็พอทำรายได้ใช้ได้อยู่เหมือนกัน แต่คงเทียบไม่ได้กับภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังซึ่งถือว่าอาการหนัก
“หนังไทยอาการหนัก ภาพรวมอาการหนัก ถือว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ปีที่แล้ว 3,000 กว่าล้าน (รายได้ของช่วง 8 เดือนในปี 2562 รวมหนังทั้งหมดทั้งไทยและเทศ ม.ค.ถึง ส.ค. 2562) ปีนี้เหลือไม่ถึง 600 ล้านบาท (ในช่วงเวลาเดียวกัน ม.ค. ถึง ส.ค. 2563 เก็บไปได้ทั้งหมดทั้งหนังไทยและหนังเทศ อยู่ที่ 580 ล้านบาท) หนังไทยไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มีหนังเรื่องไหนเกิน 50 ล้านบาทเลย ตัวเลขมันน้อยมาก แต่เมื่อวันที่ TENET, มู่หลาน, Train To Busan 2 เข้าโรงมาก็ทำให้มีตัวเลขหลายสิบล้านบาทที่กลับเข้ามา ดังนั้น คิดว่าตอนนี้คนน่าจะรอคอนเทนต์ใหม่ๆ รอหนังใหม่ๆ เข้ามา และโรงหนังเองก็มีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแลความสะอาด ดังนั้น ถ้าเราทำคอนเทนต์ที่ดี ทำคอนเทนต์ถูกใจ แล้วได้มีโอกาสฉาย พร้อมๆ กับที่รัฐเองก็ปลอล็อกคลายล็อกให้หมดแล้ว แค่หวังว่าอย่าให้ระบาดอีกรอบหนึ่งเท่านั้นคนก็จะกลับมาดูหนังในโรงมากขึ้น”
ขณะที่ ภาพยนตร์ไทย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ฉายไป 15 เรื่อง ทำรายได้ไปแค่ 120 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของรายได้ 580 ล้านบาท และไม่มีเรื่องไหนเกิน 50 ล้านบาทเลย
บทเรียนสำคัญจาก “มู่หลาน”
ทั้งนี้ จินา มองว่า จากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลต่อการเลื่อนฉายภาพยนตร์ ทำให้ค่ายหนังยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ตัดสินใจรีบนำออกฉายผ่านแอปพลิเคชั่นทันที เพื่อหวังสร้างรายได้ แต่ปรากฏว่ากลับพบกับปัญหาการแฮ็กและละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้ผู้ประกอบการทุกรายได้ว่าหนัง อย่างไรก็ต้องลงที่โรงเอาไว้ก่อน ค่อยไปออนไลน์
“จากบทเรียนของ “มู่หลาน” ที่พอได้เข้าไปปล่อยในสตรีมมิ่ง Disney+ มันเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ก็เลยส่งผลเหมือนกัน ที่อเมริกาฉายไม่ได้ เพราะโรค แต่ประเทศอื่นฉายได้แล้ว พอเค้าทดลองสิ่งนี้ ก็พบว่าถูกละเมิดแล้วและไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย ตรงนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนได้ว่าหนังก็ควรจะฉายในโรงก่อน”
“พี่เชื่อว่าเราต้องทำหนังให้ดี เพราะหนังมันเต็มอิ่มมันมีเสน่ห์ มีอรรถรสทั้งภาพและเสียง ไม่ใช่จอเล็กๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถดึงดูให้คนเข้ามาได้ และด้วยประสบการณ์ของคนก็เชื่อว่าคนก็ยังต้องออกมาใช้ชีวิตข้างนอกบ้าง เช่น มาออกเดทเพื่อดูหนัง มาดูหนังกับเพื่อน พี่ว่าโรงหนังมันยังเป็นที่ที่หนึ่งที่คนจะมาแล้วมีความสุข เพียงแต่ว่าเราและโรงหนังและภาพรวมของประเทศจะร่วมด้วยช่วยกันอย่างไร ให้โรคระบาดไม่กลับมาอีก ในขณะที่ตัวคอนเทนต์ ไม่แตกต่างไปจากคอนเทนต์ที่ดูฟรี ก็จะไม่มีใครมาโรงหนัง เพราะว่าการมาโรงหนังต้องเสียทั้งเงินและเสียทั้งเวลา เป็นความท้าทายของคนทำหนังไทยที่ต้องทำให้หนังออกมาเรื่อยๆ แล้วก็ต้องแปลกใหม่ด้วย”
สำหรับปีนี้และปีหน้า (2563-2564) หนัง GDH จะมีหนังเข้าทั้งหมด 4 เรื่องด้วยกัน ดังนี้
- “โกสต์แล็บ..ฉีกกฎทดลองผี” โดยผู้กำกับ “กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา พระเอกได้แก่ ต่อ-ธนภพ, ไอซ์-พาริส, นางเอกได้แก่ ณิชา-ณัฏฐณิชา นางเอกจากช่อง 3 มาร่วมงาน จะเข้าในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ต้องฉายสิงหาคม ปี 2563
- “ร่างทรง” เป็นการพาร์ทเนอร์กับบริษัทต่างประเทศ ร่วมกับค่ายหนังจากเกาหลี Showbox Corp. โดยได้โปรดิวเซอร์มือดี ได้แก่ “นา ฮงจิน” มาร่วมงานกับ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล หนังจะเข้าในเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม ปี 2564 เป็นหนังที่ถ่ายหลายประเทศ รวมไปถึงที่ไทยและเกาหลีด้วย เป็นการขยายกลุ่มคนดูจากแค่คนไทย ไปยังผู้ชมต่างประเทศด้วย
- “W” เป็นการพาร์ทเนอร์กับ “นาดาว บางกอก” ซึ่งเป็นค่ายที่มากด้วยพลังของนักแสดง กำกับโดย “ปิง เกรียงไกร” และ “ย้ง-ทรงยศ” มารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ คาดว่าจะออกฉายในควอเตอร์ 3 หรือควอเตอร์ 4
- “บุพเพสันนิวาส 2” ร่วมทุนกับ บรอดคาซท์ไทยเทเลวิชั่น โดยได้พระนางคู่ขวัญกลับมาเล่นให้ ทั้งโป๊ป-เบลล่า ร่วมทุนสร้าง 80 ล้านบาท คาดว่าจะออกฉายได้ช่วงเดือนธันวาคมปี 2564
จินา ยืนยันว่า ในปีหน้านี้เราตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูง “เพราะว่าระดับเราไม่ได้แค่อยู่เมืองไทย แต่เราต้องไปทั่วโลกได้” ซึ่งโดยรวมปีหน้า GDH มีหนัง 4 เรื่องฉาย ดังนั้น เราก็คาดหวังรายได้น่าจะ มากกว่า 500 ล้าน เพราะว่าปี 2562 เราทำได้ 400 กว่าล้านบาท จากหนังไทยแค่ 3 เรื่อง เพราะว่าเรามีรายได้จากการจัดจำหน่าย และการที่เอาหนังเข้าแอปพลิเคชั่น และแพล็ทฟอร์มอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, TrueID, WeTV, iFlix ถือว่าเป็นแพล็ตฟอร์มที่ช่วยเราเยอะมาก เพราะหนังเราที่เป็นหนังเก่า เราก็สามารถที่จะนำออกมาขายได้ และทำให้คนดูได้เห็นมากขึ้น ถือว่าคนทำคอนเทนต์โชคดีที่ทำให้คอนเทนต์ได้ต่อยอด
ฉลาดเกมส์โกง ละครกู้ชีวิต
รายได้ในปีนี้โชคดีมากที่ละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รายได้จาก ช่องONE และ WeTV รวมถึงเราสามารถขายในต่างประเทศได้ด้วย ทั้งจีน และประเทศอื่นๆ รวมได้มาทั้งหมด 2 ล้านเหรียญฯ สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ประมณ 60 ล้านกว่าบาท ซึ่งละครเรื่องนี้ทำให้บริษัทไม่ขาดทุน ซึ่งเกิดจากการต่อยอดคอนเทนต์ที่เรามีหนังที่ประสบความสำเร็จออกมา ซึ่งตอนนั้นหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง บ็อกซ์ออฟฟิศประมาณ 1,200 ล้านบาท หรือที่ผ่านมาอย่าง Friend Zone เราก็ขายได้ที่เมืองจีน เป็นบ็อกซ์อออฟฟิศในเมืองจีน ซึ่งจีนซื้อเราไปเป็นเงิน 1 ล้านเหรียญยูเอส ซึ่งเยอะมาก
ดังนั้น เมื่อความสำเร็จเป็นแบบนี้ต่อไปเราอาจจะทำเป็นละคร หรือซีรีส์สลับบ้าง แต่ก็คงยึดการทำหนังเป็นหลักก่อน เพราะการทำหนังยังไปได้ไกลกว่า ยกตัวอย่างหนังฉลาดเกมส์โกง ที่เรื่องเดียวสามารถขายได้ 1,200 ล้านบาทแล้ว แต่เราก็ยืนยันว่า อย่างไรก็ตาม งานหลักของ GDH ก็คือภาพยนตร์
วิกฤตสุดคือ “น้ำท่วมกรุง ปี’54” ไม่ใช่โควิด-19
เมื่อถามว่าวิกฤตโควิดถือว่ารุนแรงสุดหรือไม่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จินา กล่าวว่า มองว่าเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่สุดสำหรับเรา โดยครั้งนั้นภาพยนตร์เรื่อง “ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน” ก็โดนพิษน้ำท่วม แล้วหนังโปรโมทไปหมดแล้ว คนไม่ไปดูหนังในโรงเลย เพราะคนกลับบ้านไปสร้างกระสอบทรายกันน้ำ แม้แต่บริษัทเราก็โดนก็ต้องกั้นน้ำกัน เพราะตอนนั้คนไม่รู้ว่าสถานการณ์มันคืออะไร อันนี้ต้องเรียกว่ารับมือลำบาก ตอนนั้นถือว่าอ่วมมาก ถือว่าแรงสุด ซึ่งต้องบอกว่ากับวิกฤตตอนนี้เราโชคดีที่เรามีละคร “ฉลาดเกมส์โกง” ถ้าเราไม่มีละครเลย แล้วเราพึ่งหนังอย่างเดียว 11 เดือนที่ไม่มีหนังฉาย แต่ต้องจ่ายเงินเดือนต้องอะไรอีก ก็คงเครียดพอสมควร ยกเครดิตให้ WeTV ที่จุดประกายเราให้เราทำละครต่อยอดความสำเร็จจากหนังทำให้เรามีเงินล่วงหน้าได้
“แพล็ตฟอร์มใหม่ๆ เราต้องขอบคุณเขามากเลย เขามาสร้างฐานขยายกลุ่มคนดูใหม่ๆ มาให้เรา ทำให้คอนเทนต์เราไปไกลมากจริงๆ”
ส่วนกรณีหากโรคระบาดกลับมาระบาดรอบ 2 อีก แล้วอาจจะต้องงดฉายไป จินา มองว่า คงต้องตัดสินใจเลื่อนฉายดีที่สุด เพราะเป็นความเชื่อของคนทำหนังว่า ถ้าทำหนังแล้วก็ต้องฉายที่โรงก่อน นั่นคือเสน่ห์ของมัน การดูหนังต้องดูจากจอใหญ่ๆ เสียงดีๆ แต่ว่า เด็กสมัยนี้ดูในมือถือ ดูไปอาจจะทำสิ่งอื่นไป แต่มันทำไม่ได้สำหรับการดูหนัง แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ ก็ต้องใช้วิธี ‘รัดเข็มขัด’ เพราะถ้ากลับมาระบาดแล้วผลกระทบคือถ่ายหนังไม่ได้ด้วย ความคิดที่ว่าจะเอาหนังที่ฉายในโรงหนัง ไปฉายออนไลน์ คงไม่ไปถึงตรงนั้น