ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยบทวิเคราะห์ “FinTech กับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย” เพื่อฉายภาพว่าทุกวันนี้ “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทยและหลายประเทศทั่วโลก สะท้อนจากรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่สุด และกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
งานศึกษาหลายชิ้น รวมทั้งที่จัดทำโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ การไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน(Financial Inclusion) ขั้นพื้นฐาน
เช่น บัญชีเงินฝากหรือการมีระบบการชำระเงินที่มีค่าธรรมเนียมที่ถูก ทำให้บุคคลหรือครัวเรือนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอื่น เช่น การชำระและโอนเงิน หรือสินเชื่อ ซึ่งเป็นบริการที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อันจะนำไปสู่การลดช่องว่างความยากจน (Poverty Gap) และความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด
เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานและค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน กับประชาชนทุกกลุ่มมากขึ้นด้วยราคาที่ต่ำลง การประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีทางการเงิน จึงนำมาสู่โอกาสการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในหลายประเทศที่ใช้เทคโนโลยี ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับสูง ตามระดับการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน
กรณีศึกษา FinTech กับการเข้าถึงบริการทางการเงิน
“M-Pesa” เป็นตัวอย่างของบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่เริ่มให้บริการในเคนยาเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ปี 2550 โดยประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินพื้นฐานได้จากโทรศัพท์มือถือของตนเองผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ทำให้ผู้ใช้สามารถฝากเงินถอนเงินโอนเงิน หรือนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการได้ โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร
นอกจากนี้ M-Pesa ยังมีโปรแกรมส่งเสริมการออม โดยยอดเงินออมใน M-Pesa จะใช้เป็นหลักฐานทางการเงินประกอบการพิจารณาให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น
ในช่วง 10 ปีภายหลังจากเปิดให้บริการครั้งแรก M-Pesa ได้ขยายการให้บริการครอบคลุม 10 ประเทศ มีผู้ใช้บริการรวม 29.5 ล้านราย และพบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 96 ที่อาศัยนอกกรุงไนโรบี (เมืองหลวง ของเคนยา) มีบัญชี M-Pesa อย่างน้อย 1 บัญชี
และจากการสำรวจของ World Bank ในปี 2560 พบว่าร้อยละ 82 ของกลุ่มตัวอย่างประชากร เคนยาเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 กว่าเท่าตัว เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ เทคโนโลยีเชื่อมต่อการใช้บริการทางการเงินพื้นฐานไปสู่การสร้างวินัยการออม และการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของผู้มีรายได้น้อย
ปัจจุบันธุรกิจในลักษณะเดียวกับ M-Pesa เกิดขึ้นในบังคลาเทศ (bKash) และฟิลิปปินส์ (Ayannah) ด้วยเช่นกัน
“บริษัท CreditEase” ในจีนบริการให้คำปรึกษา และมีแพลตฟอร์ม แบบ Peer-to-Peer (P2P) สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ชาวนา และนักศึกษาให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ ได้โดยตรงอย่างครบวงจร เช่น ประกันเกษตรกรรม การวางแผน สินทรัพย์ โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน
ปัจจุบันได้ขยายบริการไปทั่วประเทศจีน และฮ่องกง โดยจากเริ่มแรกจนถึงปี 2560 ได้ให้ สินเชื่อกว่า 300 ล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือชาวนาแล้วกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ
“Ricult” เป็นบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในไทย และปากีสถาน โดยช่วยจับคู่ระหว่างผู้ซื้อ และเกษตรกรโดยตรง จัดทำ Credit Score โดยวิเคราะห์จากข้อมูล ทางการเกษตรของเกษตรกรผู้ใช้บริการ ช่วยให้สถาบันการเงิน สามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเหล่านั้นภายใต้ความเสี่ยงและต้นทุนที่น้อยลงได้
นอกจากนี้ ยังให้บริการเทคโนโลยี Machine Learning และภาพถ่ายดาวเทียมให้คำแนะนำเกษตรกร ด้านภูมิอากาศ และฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย
ธปท. กับการผลักดัน FinTech ในไทย
สำหรับในประเทศไทย กับการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยจากผลการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนปี 2559 ของ ธปท. พบว่า กลุ่มตัวอย่างครัวเรือนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินถึงร้อยละ 97.3
ด้วยเหตุนี้ นโยบาย ธปท. ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน จึงมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพด้านราคาหรือความสะดวกสบายในการใช้บริการของผู้ใช้รายย่อยมากกว่าการเพิ่มระดับการเข้าถึงในเชิงปริมาณเหมือนประเทศอื่น
โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้พัฒนาระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินกลางของประเทศที่ช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมการเงิน ตลอดจนรับเงินสวัสดิการ และรับคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้โดยสะดวกด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำหรือไม่มีค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง และลดการรั่วไหลของเงิน
ปัจจุบันมีการลงทะเบียนพร้อมเพย์ แล้วมากกว่า 46 ล้านบัญชี สอดคล้องกับปริมาณการใช้ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 ในช่วงปี 2559 – 2561
อีกด้านหนึ่ง คือ การพัฒนาและส่งเสริมการใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงิน ช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้สามารถทำได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้นผ่านโทรศัพท์มือถือ รองรับการชำระเงินได้หลากหลายทั้งบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต และเงินอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้ร้านค้าขนาดกลางและเล็กมีช่องทางรับ ชำระเงินที่สะดวกเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงไม่ต้องฝากขาย หรือผ่านตัวแทนรับเงิน ลดต้นทุนในการถือเงินสด โดยปัจจุบันมีร้านค้าในไทยที่ติดตั้ง QR Code แล้วกว่า 3 ล้านร้านค้า
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินของ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กอยู่เช่นเดียวกับหลายประเทศ
เมื่อเดือน เมษายน 2562 ธปท. จึงได้ออกประกาศเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending Platform) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถ เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่การขอสินเชื่อทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีประวัติทางการเงินและไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน
P2P Lending Platform จะเข้ามาเป็นตัวกลางทางการเงิน จับคู่ความต้องการและลดความไม่สมมาตรของข้อมูลระหว่างผู้กู้ และนักลงทุนด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่า ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนได้สูงกว่าธนาคาร และผู้กู้ได้จ่ายดอกเบี้ยถูกลง จึงช่วยให้ SMEs เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่จะประกอบธุรกิจ P2P Lending ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนด และต้องเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาต และให้บริการจริง โดย P2P Lending นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ ต่อ SMEs ไทยในลักษณะเดียวกัน
Open Banking กับการลดความเหลื่อมล้ำในอนาคต
สำหรับบทบาทของเทคโนโลยีในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการ ทางการเงินในระยะต่อไปนั้น เนื่องจากโลกยุคดิจิทัลเป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จึงเป็นไปได้มากที่การเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ จะนำมาซึ่งการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น
เทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงในวงกว้างในตอนนี้ คือ เทคโนโลยี Open Banking ซึ่งนำไปสู่การเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูล (Openness) ระหว่างสถาบันการเงินหรือองค์กรต่าง ๆ
โดยมีหลักการสำคัญคือ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า ก่อนที่ผู้ให้ บริการจะสามารถนำข้อมูลทางการเงินไปประมวลผล เพื่อนำเสนอ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะรายบุคคลให้ตรงความต้องการยิ่งขึ้นได้
เช่น การใช้ข้อมูลที่ได้รับมาประยุกต์รวมกับ Alternative Data จากแหล่ง อื่น ๆ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการใช้สินเชื่อของบุคคลนั้น ๆ แล้วนำเสนอสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการดังกล่าว
ทั้งนี้ รูปแบบ Open Banking จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาทิ สหราช- อาณาจักรได้ตรากฎหมายกำหนดให้ธนาคารชั้นนำ 9 แห่ง ต้องเปิดเผยข้อมูล และแบ่งปันสู่ผู้เล่น FinTech อื่นหากได้รับการร้องขอจากลูกค้าฮ่องกงออกนโยบายให้ทุกธนาคารต้องเปิดเผยข้อมูล ผลิตภัณฑ์ของตนในลักษณะ “Read-only”
เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของแต่ละธนาคารได้ และในอนาคต จะค่อย ๆ เพิ่มระดับให้บริษัท FinTech สามารถทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าธนาคารได้ โดยไม่ต้องผ่านธนาคารโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการแข่งขันระหว่างธนาคารและบริษัทฟินเทค รวมถึง เปิดโอกาสให้บริษัท FinTech เข้ามาให้บริการในส่วนที่ธนาคาร ยังให้บริการได้ไม่ทั่วถึง
3 อุปสรรคใหญ่ “FinTech” ในไทย
การใช้ประโยชน์จาก FinTech เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินจะเป็นไปได้ยาก หากไม่มีปัจจัยสนับสนุนอื่นประกอบ ได้แก่
-
ความพร้อมและการส่งเสริมการเปิดรับการใช้ เทคโนโลยีของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อลดความเสี่ยงที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีนำไปสู่การขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต หรือสมาร์ทโฟน
-
การมีเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น เอื้อให้ผู้ให้บริการสามารถใช้เทคโนโลยีในการให้บริการได้ และเปิดรับนวัตกรรมโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังดูแลความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น Cyber Risk
-
ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบฐานข้อมูลประชากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับต่อยอดไปสู่การทำ Open Banking ในอนาคต
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมที่ดีไปพร้อมกับการสนับสนุน องค์ประกอบต่าง ๆ ที่จำเป็นจะทำให้ FinTech เป็นเครื่องมือเพื่อลด ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืนต่อไป