“Blur Media Landscape” เมื่อธุรกิจสื่อไม่มีเส้นแบ่ง Offline-Online! ถอดกรณีศึกษา “ATIME – Workpoint”

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

Blur Media Landscape_ATIME MEDIA - Workpoint

ในอดีตสื่อ (Media) แต่ละประเภทแบ่งเซ็กเมนต์แยกจากกัน และเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลในช่วงแรก ถูกแบ่งออกเป็น “Offline” และ “Online” ชัดเจน แต่ทุกวันนี้ Media Landscape เข้าสู่ยุคเบลอ (Blur) นั่นคือ เส้นแบ่งของมีเดียเริ่มสลายไปแล้ว โดยมาพร้อมกับการทรานส์ฟอร์ม Business Model ของผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ ที่ผสานแพลตฟอร์มสื่อให้เป็น “O2O” (Offline to Online)

ตัวอย่างที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากสองสื่อใหญ่ในไทย คือ “สื่อทีวี” และ “สื่อวิทยุ” ที่ชิง Disrupt ตัวเอง ก่อนที่จะถูกสึนามิ Digital Disrupt ด้วยการทลายกรอบจากธุรกิจเดิมที่ตนเองเคยอยู่ แล้วปรับไปสู่โมเดล “O2O”

 

5 ปัจจัยหลักผลักดันให้ Media Industry ต้องปรับโมเดลเป็น “O2O”

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Media Player ต้องปรับโมเดลธุรกิจ เป็นเพราะ

1. ใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อ และเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ (User-Generated-Content : UGC) จากในอดีตคอนเทนต์ สร้างสรรค์โดยผู้ผลิตคอนเทนต์ และส่งออกไปผ่านสื่อต่างๆ

2. ผู้บริโภคเลือกคอนเทนต์ – เวลา – แพลตฟอร์มสื่อเองตามที่ตนเองสะดวก เพราะฉะนั้นแล้วธุรกิจสื่อต้องขยายแพลตฟอร์มให้เข้าไปอยู่ใน “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภค ตรงนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เจ้าของสื่อ และผู้ผลิตคอนเทนต์ เป็นฝ่ายกำหนดเอง

3. Big Data พฤติกรรมผู้บริโภค คือ ขุมทรัพย์ที่ธุรกิจอยากได้ โดยสามารถเก็บผ่านแพลตฟอร์มสื่อ โดยเฉพาะ “สื่อดิจิทัล”

4. พัฒนาเป็น “Marketing Platform” ไม่เป็นแค่แพลตฟอร์มสื่อ หรือช่องทางสื่อเท่านั้นแบบในยุคก่อน โดยนำ Big Data ที่มี มาวิเคราะห์ และต่อยอดสำหรับนำเสนอ Solution ให้แก่ลูกค้าแบรนด์สินค้า-บริการ

5. ลูกค้าแบรนด์สินค้า-บริการ พิจารณาเลือกซื้อสื่อจากปัจจัยด้าน “Performance” (Engagement) ของสื่อนั้นๆ และตอบโจทย์ “ความคุ้มค่า” ทั้งช่วยสร้างการรับรู้ในสินค้า – แบรนด์ และส่งเสริมด้านการขาย

Mobile First

 

“สื่อวิทยุ” ต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่เป็นแค่ “รายการทางสถานทีวิทยุ”

“สื่อวิทยุ” เป็นสื่อดั้งเดิมที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน จากในอดีตเป็นสื่อที่มีมูลค่าโฆษณาใหญ่ติด Top 5 แต่เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เกิดแพลตฟอร์มสื่อหลากหลาย โดยเฉพาะช่องทางดิจิทัลทั้งหลาย ส่งผลต่อพฤติกรรมการรับคอนเทนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งคอนเทนต์ในแต่ละวันล้นทะลักเข้ามาหา และช่องทางการรับสื่อ

นั่นหมายความว่า ถึงแม้คนยังฟัง “วิทยุ” แต่ได้เปลี่ยนจากฟังผ่าน “เครื่องรับวิทยุ” ไปฟังผ่าน “สมาร์ทโฟน – เว็บไซต์หน้าจอคอมพิวเตอร์” แทน

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เมื่อเราทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่สื่อ และคอนเทนต์มากขึ้น ย่อมต้องเกิดการแย่งชิง Time Spend ของผู้บริโภค ขณะเดียวกันในช่วงระยะหลังมานี้อุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย พบว่า Media Spending ไม่ได้เติบโตหวือหวาเหมือนเช่นในอดีตแล้ว

เท่ากับว่าสื่อเก่าแก่อย่าง “วิทยุ” ต้องลงมือ Transform ตัวเองครั้งใหญ่ ไม่เช่นนั้นยากที่ได้ไปต่อ!!

สถิติข้อมูลเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อย้อนหลัง 8 ปีของ “Media Intelligence” พบว่า “สื่อวิทยุ” ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

  • ปี 2555 : 6,358 ล้านบาท
  • ปี 2556 : 6,320 ล้านบาท
  • ปี 2557 : 5,610 ล้านบาท
  • ปี 2558 : 5,676 ล้านบาท
  • ปี 2559 : 5,262 ล้านบาท
  • ปี 2560 : 3,805 ล้านบาท
  • ปี 2561 : 4,081 ล้านบาท
  • ปี 2562 : 4,163 ล้านบาท (คาดการณ์)

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทาง “สื่อวิทยุ” ในไทยเป็นอย่างดี ใครที่อยู่รอดในธุรกิจนี้ ต้องไม่ยึดติดอยู่กับการเป็น “สื่อวิทยุ” เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเร่งปรับตัวทำ “Digital Transformation” ด้วยการผสาน “แพลตฟอร์มดิจิทัล” และยกระดับเป็น “Media & Marketing Solutions”

Radio Media

 

“ATIME MEDIA” ปรับยุทธศาสตร์จาก “คลื่นวิทยุ” สู่ “Content Creator 360 องศา”

เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ “ATIME MEDIA” อีกหนึ่งธุรกิจหลักในเครือ GMM Grammy โลดแล่นอยู่บนหน้าปัดวิทยุ ของคนไทย จนช่วงปี 2540 เริ่มทดลองทำรายการวิทยุออนไลน์ คู่กับออนแอร์ทางสถานีวิทยุ กระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในกลุ่มธุรกิจวิทยุของ ATIME มี 3 คลื่น คือ Greenwave 106.5FM / EFM 94 / Chill 104.5FM ได้ปรับ Business Model ครั้งใหญ่

ด้วยการปรับคลื่น “Chill 104.5 FM” เป็น “วิทยุออนไลน์” พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “Chill Online” (ชิล ออนไลน์) ส่วนอีก 2 คลื่นวิทยุ คือ “Greenwave” และ “EFM” ยังคงสถานะเน้นออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุ ควบคู่กับออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้งช่องทางออนไลน์ของตัวเอง เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน ATIME Online (รวม 3 คลื่นอยู่ในแอปฯ เดียว) ถึงปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 5.5 ล้านดาวน์โหลด และแพลตฟอร์ม Social Media

ATIME MEDIA Online Audience per month
ยอดผู้ฟังทางออนไลน์ของ 3 คลื่นในเครือ ATIME MEIDA

ทั้ง 3 แบรนด์วิทยุในเครือ ATIME วางคาแรกเตอร์ และตำแหน่งแบรนด์ต่างกันชัดเจน เพื่อเจาะกลุ่มผู้ฟังตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน

Greenwave เป็นคลื่นวิทยุที่อยู่คู่กับ ATIME มายาวนานกว่า 26 ปี มีฐานคนฟังเหนียวแน่น โดยวางตำแหน่งเป็น Music Community ส่งต่อแรงบันดาลใจ และต่อยอดกิจกรรมต่างๆ

EFM วางตำแหน่งเป็นคลื่นวิทยุมีรายการ Talk เช่น แฉแต่เช้า, จันทร์ Shock โลก, อังคารคลุมโปง, พุธ ทอล์ค พุธ โทร

Chill Online วางตำแหน่งวิทยุออนไลน์นี้ เด่นที่มี Playlist จากผู้เชี่ยวชาญด้านเพลง และคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มคนทำงานที่อยากฟังเพลงในระหว่างวัน

ATIME MEDIA_EFM94

การขยับมารุกแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดคลื่นวิทยุ !!

นั่นเพราะ แพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้สามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา กระจายไปทั่วไทย และทั่วโลก ทลายข้อจำกัดของคลื่นวิทยุ FM ที่ออกอากาศได้เฉพาะในพื้นที่ ไม่สามารถกระจายได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

อีกทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้ ATIME MEDIA ได้ Big Data เข้ามา นำไปวิเคราะห์ และต่อยอดทั้งพัฒนาโปรดัตก์ของตัวเองให้รับกับเทรนด์ผู้บริโภค และใช้ในการวางแผน หรือนำเสนองานให้กับลูกค้า

รวมทั้งช่วยรักษาฐานผู้ฟังเดิม ควบคู่กับการสร้างฐานผู้ฟังใหม่ เพราะเวลานี้คู่แข่งในอุตสาหกรรมสื่อ ไม่ใช่ผู้เล่นใน Category เดียวกันเท่านั้น แต่เป็นคู่แข่งสายพันธุ์ใหม่อย่างแพลตฟอร์มดิจิทัล ประเภท Streaming ทั้งหลาย ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ มี Big Data และสามารถวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ได้ตรงใจแบบ Personalization

ATIME MEDIA EFM

นอกจากการรุกแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นแล้ว “ATIME MEDIA” ใช้ความได้เปรียบของการอยู่ภายใต้ชายคา GMM Grammy และธุรกิจต่างๆ ในเครือ ATIME MEDIA นำมา synergy ร่วมกันในการต่อยอดให้เป็น “Media & Marketing Solutions” ครบวงจร

เช่น จัดกิจกรรมการตลาดนอกสถานที่, รุกธุรกิจคอนเสิร์ต หรือโชว์ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้าไปนำเสนอรูปแบบ “Marketing Solutions” ให้กับลูกค้าแบรนด์สินค้า-บริการ

ATIME MEDIA_Concert & Showbiz

ประกอบกับอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของ ATIME MEDIA คือ “ดีเจ” กว่า 20 คน ส่วนใหญ่เป็น Influencer และมีฐานแฟนคลับของตัวเอง ทำให้การนำเสนอ Marketing Solutions ให้กับลูกค้า สามารถนำเสนอ “ดีเจ” ที่มีคาแรกเตอร์ – ภาพลักษณ์ – กลุ่มเป้าหมายตรงกับแบรนด์ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการตลาดของแบรนด์

ที่สำคัญการเป็น Marketing Solutions ให้กับ Advertiser หรือลูกค้าแบรนด์ ช่วยสร้าง Value ทางธุรกิจของ ATIME MEDIA ได้มากกว่าการขายสปอตโฆษณาแบบเดิมๆ เพราะสิ่งที่ลูกค้ายุคนี้อยากได้มากที่สุดจากการลงเงินโฆษณา หรือทำการตลาดคือ “ความคุ้มค่า” และตอบโจทย์ “ประสิทธิผลด้านยอดขาย” ที่จะได้กลับมา

ATIME MEDIA Social Platform
ยอด Engagement บนแพลตฟอร์ม Facebook
ATIME MEDIA Social Platform
ยอด Engagement บนแพลตฟอร์ม YouTube

ขณะที่แผนครึ่งปีหลัง 2562 นอกจากต่อเนื่องจากสิ่งที่ทำในปัจจุบันแล้ว ยังได้เพิ่มเติมสิ่งใหม่ ประกอบด้วย

เพิ่มฟีเจอร์ใหม่บนแอปพลิเคชัน ATIME Online ครบทั้งฟัง ดู อ่านคอนเทนต์ข่าวสารใหม่ๆ เล่นเกม ร่วมกิจกรรมในแอปฯ เดียว

ATIME MEDIA_Application

รุกทำ ATIME Online Podcast มากขึ้น เพราะเห็นแนวโน้มการเติบโตของ Podcast และผู้บริโภคมีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องพัฒนาคอนเทนต์ให้มีหลากหลายรูปแบบ สำหรับ Podcast ของ ATIME มีทั้งคอนเทนต์ใหม่ ที่สร้างขึ้นสำหรับ Podcast โดยเฉพาะ และคอนเทนต์ที่ดึงมาจากรายการ Talk บนคลื่นวิทยุ มาต่อยอดทำเป็น Podcast

ATIME MEDIA Podcast

ต่อยอดรายการ Talk บนคลื่นวิทยุ สู่คอนเทนต์รูปแบบต่างๆ ทั้ง ซีรีย์ รายการทีวี คอนเสิร์ต อีเว้นท์
หลังจากก่อนหน้านั้น นำรายการแฉแต่เช้า เป็นการเล่าข่าวบันเทิง จากนั้นต่อยอดเป็นรายการทีวี พร้อมปรับรูปแบบรายการเป็น Talk Variety

เช่นเดียวกับ “Club Friday” ต่อยอดมาเป็นคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ บนทีวี ทั้งรูปแบบซีรีย์ และ รายการสัมภาษณ์แขกรับเชิญที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง

อนาคตมีแผนนำรายการ Talk ที่มีโอกาสต่อยอด นำมาทำเป็นซีรีย์ เช่น รายการ “พุธ ทอล์ค พุธ โทร” เรื่องไหนที่น่าสนใจ นำมาทำเป็น “ซีรีย์” เริ่มจากผ่านทางออนไลน์ก่อน แล้วจากนั้นดูโอกาสความเป็นไปได้ในการขยายไปยังทีวี และแพลตฟอร์ม Video Streaming เช่น LINE TV ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ GMM Grammy อยู่แล้ว

ATIME MEDIA Video Online

เปิดตัวโปรเจคค้นหาดีเจหน้าใหม่ (DJ New Face) ที่ความสามารถครบทั้งเป็นดีเจ นักแสดง ฯลฯ เพื่อมาเสริมทัพบุคลากร และรองรับทิศทางของ ATIME ที่ต้องการเป็น content creator ที่มากกว่าวิทยุ

“วันนี้วิทยุ และวิทยุออนไลน์ในเครือ ATIME MEDIA ผ่านจุด Disruption และ Transformation ไป 2 – 3 ปีแล้ว เรายังเชื่อว่าวิทยุยังคงมีการเติบโต เพราะคนฟังวิทยุไม่ได้น้อยลง แต่คนเปลี่ยนไปฟังบนมือถือ

แต่สิ่งที่น้อยลง คือ การใช้เวลาอยู่บนสื่อนั้นๆ ซึ่งเป็นทุกสื่อ แต่สำหรับวิทยุในเครือ ATIME ทั้ง 3 คลื่น ที่มียอดผู้ฟังผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของเรา ใช้เวลาอยู่กับเรานานขึ้น จากปีที่แล้วโดยเฉลี่ย 48 นาทีต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 52 นาทีต่อคนต่อวัน

ATIME MEDIA

เหตุผลคนยังฟังวิทยุ เพราะ หนึ่ง ฟังเพลง / สอง ดีเจ / สาม ข่าวสารต่างๆ ที่วิทยุสามารถอัพเดทได้ทุกๆ ต้นชั่วโมง บวกกับมีแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้าถึงคนฟังได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นถึงแม้จะมี Music Streaming อย่างไร คนก็ยังฟังวิทยุ

คนฟังให้เหตุผลว่า เวลาฟัง Playlist จาก Music Streaming อย่างเดียว รู้สึกเหงา เป็นการฟังเพลงอย่างเดียว ไม่มีดีเจ ไม่มีข่าว เพราะฉะนั้นนี่คือเสน่ห์ของวิทยุ ที่ทำให้คนยังฟังอยู่” คุณสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเหตุผลที่คนยังฟังสื่อวิทยุ

ATIME MEDIA EFM

 

“สื่อทีวี” ต้องไม่ยึดติดแค่ “หน้าจอทีวี”

ก่อนยุคดิจิทัล สื่อที่ทรงพลังมากสุดในเมืองไทย คือ “สื่อทีวี” ที่ Advertiser ต่างช่วงชิงจับจองเวลาโฆษณา โดยเฉพาะในช่วงเวลา Prime Time

แต่ทุกวันนี้ แม้ “สื่อทีวี” ยังคงเป็นสื่ออันดับ 1 ในอุตสาหกรรมสื่อของเมืองไทย แต่กลับพบว่า เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อกลุ่มนี้ กลับลดลด และแม้ในบางปีอยู่ในสถานการณ์เติบโต แต่เป็นการเติบโตไม่มากนัก เพราะฉะนั้นโอกาสที่เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี จะกลับมาแตะระดับกว่า 70,000 – 80,000 ล้านบาทเหมือนเช่นในอดีต เป็นไปได้ยาก

ดังข้อมูลเม็ดเงินสื่อโฆษณาทีวีจาก Media Intelligence

  • ปี 2555 : 72,841 ล้านบาท
  • ปี 2556 : 77,111 ล้านบาท
  • ปี 2557 : 73,595 ล้านบาท
  • ปี 2558 : 72,207 ล้านบาท
  • ปี 2559 : 59,502 ล้านบาท
  • ปี 2560 : 48,767 ล้านบาท
  • ปี 2561 : 47,781 ล้านบาท
  • ปี 2562 : 49,686 ล้านบาท (คาดการณ์)

TV Watching

ยิ่งในปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อโดยภาพรวม ไม่ได้เติบโตมากนักดังเช่นในอดีต ในขณะที่แพลตฟอร์มสื่อมีให้ Advertiser เลือกมากมาย โดยเฉพาะ “ดิจิทัล” ที่สามารถทะลุทะลวงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และวัดผลได้เร็ว – แม่นยำกว่า

ดังนั้น การอยู่รอดของ “สื่อทีวี” จำเป็นอย่างยิ่งต้องผสานเข้ากับ “สื่อดิจิทัล” แพลตฟอร์มต่างๆ และไม่ยึดติดโมเดล หรือวิธีคิดแบบเดิมๆ ว่า “ทีวี” เป็นสื่อหลัก และ “ออนไลน์” หรือ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” คือสื่อรอง เพราะตามที่กล่าวข้างต้น “เส้นแบ่งทั้ง Offline – Online” ไม่มีอีกต่อไป ทุกอย่างจะผสานด้วยกัน

เพราะถ้ามองในมุมผู้บริโภค แทบไม่ได้สนใจว่าอันไหนคือ Offline อันไหนคือ Online หากแต่ผู้บริโภคมองที่ “ความสะดวก” ของตัวเองสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับโมเมนต์ความสะดวกของผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้าอยู่ในบ้าน เขาอาจเปิดทีวี คู่กับมือถือ และถ้าอยู่นอกบ้าน ดูคอนเทนต์ผ่านมือถือ

ในขณะที่มุมเจ้าของสถานีโทรทัศน์ การมีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามา ทำให้สร้างการนำเสนอ Media ให้กับลูกค้าแบรนด์ ครอบคลุมมากขึ้น

TV Media

 

“Workpoint” ผนึก “LINE TV” เดินกลยุทธ์ “Upside Down” ออนแอร์ผ่านออนไลน์ – รีรันผ่านทีวี

Workpoint ถือเป็นช่องทีวีดิจิทัล ที่มีการให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่น้อยไปกว่าสื่อทีวีมากที่สุดช่องหนึ่งก็ว่าได้ นับตั้งแต่การทำคอนเทนต์ Live ผ่าน Social Media ไปจนถึงการออกอากาศแบบออนไลน์ เช่น บนเว็บไซต์ของ Workpoint รวมถึงจับมือกับพาร์ทเนอร์แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเป็นอีกช่องทางการรับชม

อย่างเมื่อไม่นานนี้ ได้ผนึกกำลังกับ “LINE TV” ร่วมกันผลิต Original Content ประเภทวาไรตี้ “Infinite Challenge Thailand” เป็นรายการดังจากเกาหลีที่ได้ลิขสิทธิ์มา

ความน่าสนใจไม่ใช่แค่ตัวรายการ แต่อยู่ที่เป็นการปรับโมเดลวิธีคิด – วิธีทำงานใหม่ของทั้ง Workpoint และ LINE TV นั่นคือ รายการดังกล่าว จะออกอากาศก่อนที่ “LINE TV” จากนั้นไป Rerun บนช่อง Workpoint

นับเป็นโมเดลเรียกว่า “Upside Down” ก็ว่าได้ เพราะกลับกันจากเดิมที่โดยปกติ “สื่อทีวี” เป็นแพลตฟอร์มออกอากาศที่แรก จากนั้นนำไป Rerun บนออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมา LINE TV ก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด ในฐานะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับดูคอนเทนต์ Rerun แต่สำหรับรายการ “Infinite Challenge Thailand” พลิกโมเดลใหม่

Workpoint - LINE TV Infinite Challenge

“Workpoint เป็นพาร์ทเนอร์ผลิตคอนเทนต์รายการวาไรตี้บันเทิง Infinite Challenge ซึ่การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงผลิตเพื่อออนแอร์ทาง LINE TV เท่านั้น แต่ผู้ชมทั่วประเทศยังสามารถชมรายการนี้ “ย้อนหลัง” ผ่านทางช่อง Workpoint ได้อีกด้วย ตรงจุดนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่นำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ มาสร้างปรากฏการณ์ Rerun บนแพลตฟอร์มทีวี

โมเดลดังกล่าว เป็นการช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะนอกจาก Workpoint จะมีคอนเทนต์วาไรตี้ระดับตำนานแล้ว การนำมา Rerun บนทีวี ยิ่งทำให้รายการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมมากขึ้น” คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัล บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงโมเดลความร่วมมือรูปแบบใหม่

Workpoint - LINE TV Infinite Challenge

ขณะที่ฝั่ง “LINE TV” ในฐานะผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายการ Infinite Challenge มาผลิตเป็น Original Content และจับมือกับ Workpoint จะช่วยขยายฐานผู้ชม LINE TV จากคนเมือง ไปสู่ทั่วประเทศได้

“รายการ Infinite Challenge Thailand ถือเป็นครั้งแรกของ LINE TV ที่ออกอากาศด้วยโมเดลใหม่ จากเดิมเรามีจุดแข็งในการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ช่องต่างๆ นำคอนเทนต์ทีวีมา Rerun แต่ครั้งนี้เป็น Original Content ของเราเอง เรามีจุดประสงค์คือขยายฐานผู้ชมกว้างขึ้น จากปัจจุบันฐานใหญ่อยู่ในเมือง แต่เราต้องการเข้าถึงคนทั่วประเทศ จึงเกิดโมเดลกลับกัน ที่ LINE TV นำ Original Content ดังกล่าวไป Rerun ไปทีวีแทน” คุณกวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย เล่าถึงเป้าหมายสำคัญ

Workpoint - LINE TV

แม้วันนี้โมเดล O2O ในอุตสาหกรรมสื่อประเทศไทย อาจจะยังไม่พัฒนาเต็ม 100% แต่จากกรณีศึกษาของทั้ง “ATIME MEDIA” และ “Workpoint” หรือแม้แต่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมสื่อต่างๆ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ต่อไปสื่อในอนาคตจะไม่มี “เส้นแบ่ง Offline – Online” และยึดที่ “ความสะดวก” ของผู้บริโภคเป็นหลัก

จึงเป็นเหตุผลว่ายืนอยู่บนแพลตฟอร์มเดียว และการคิดว่าสื่อ Offline คือ สื่อหลัก – Online คือ สื่อรอง ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของธุรกิจสื่อในยุคดิจิทัลอีกต่อไปแล้ว

TV Studio Production


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ