การ์ทเนอร์เผยผลสำรวจ ผู้บริหาร 80% ชี้ระบบอัตโนมัติสามารถนำมาใช้กับการตัดสินใจเชิงธุรกิจใด ๆ ก็ได้

  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  

 

การ์ทเนอร์เปิดผลสำรวจล่าสุด พบว่า 80% ของผู้บริหารคิดว่าระบบอัตโนมัติ (Automation) สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจใด ๆ ก็ได้ โดยการสำรวจนี้เผยให้เห็นรูปแบบขององค์กรต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เมื่อระบบอัตโนมัติฝังตัวอยู่ในธุรกิจดิจิทัล โดยเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ระบบอัตโนมัติขององค์กร

เอริค เบรทเดอนิวซ์ รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “จากผลสำรวจดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ นั้นกำลังเปลี่ยนแนวทางเชิงยุทธศาสตร์แบบเดิม ๆ ไปสู่ AI และเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในเชิงกลยุทธ์ขององค์กรมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หนึ่งในสามขององค์กรกำลังนำระบบ AI ไปใช้กับแผนกต่าง ๆ ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและความต่างด้านการแข่งขัน และยังใช้ AI สนับสนุนการตัดสินใจในกระบวนการทางธุรกิจ”

 

 

องค์กรยังเผชิญความท้าทายกับการย้าย AI จากสนามทดสอบไปสู่การใช้งานจริง

จากการสำรวจของการ์ทเนอร์เผยว่า โครงการต่าง ๆ ด้าน AI เฉลี่ย 54% นั้นเกิดจากโครงการทดสอบต่าง ๆ ไปสู่การดำเนินงานจริง ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 53% ในปี 2562 ตามรายงาน Gartner 2019 AI in Organizations Survey

ฟราสซิส คารามูซิส รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การปรับสัดส่วน AI ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจยังเป็นความท้าทายสำคัญ โดยองค์กรต่าง ๆ ยังประสบปัญหาการเชื่อมต่ออัลกอริธึมที่พวกเขาสร้างขึ้นกับคุณค่าของธุรกิจที่มอบให้กับลูกค้า (Business Value Proposition) ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริหารฝ่ายไอทีและผู้บริหารธุรกิจในการวิเคราะห์และพิสูจน์ความคุ้มค่าของการลงทุนที่จำเป็นต่อโมเดลการทดสอบ”

องค์กร 40% ระบุว่ามีการนำแบบจำลอง AI หลายพันรายการไปใช้งาน ซึ่งสร้างความซับซ้อนให้กับการกำกับดูแลขององค์กรและยังเป็นความท้าทายต่อความสามารถของผู้บริหารด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อแสดงผล ROI (Return On Investment) จากแบบจำลองแต่ละแบบ

 

บุคลากรไม่ใช่อุปสรรคสำคัญของการใช้ AI

แม้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรจะส่งผลกระทบต่อการริเริ่มโครงการ AI แต่จากผลสำรวจกลับพบว่า บุคลากรไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการนำ AI มาใช้ โดยผู้บริหารถึง 72% บอกว่า พวกเขามีบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้พร้อมอยู่ในมือหรือสามารถจัดหาบุคลากร AI ที่มีความสามารถในแบบที่องค์กรต้องการได้

“องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดผสมผสานการใช้บุคลากรที่พัฒนาขึ้นจากภายในกับการว่าจ้างบุคคลภายนอกที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้าน AI ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าทีมจะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเรียนรู้ทักษะและเทคนิค AI ใหม่ ๆ รวมถึงไอเดียใหม่ ๆ ที่ได้มาจากบุคคลภายนอก” เบรทเดอนิวซ์ กล่าวเพิ่มเติม

 

ความกังวลด้าน AI กับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ผิดที่ผิดทาง

ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไม่ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของเรื่องอุปสรรคสำคัญต่อการนำ AI มาใช้ โดยมีผู้บริหารเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่ารู้สึกกังวลกับประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามองค์กร 41% เผยว่าเคยพบการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยของ AI มาก่อน

เมื่อถามว่าส่วนใดขององค์กรธุรกิจที่กังวลด้านความปลอดภัยของ AI มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถาม 50% กังวลเกี่ยวกับคู่แข่ง คู่ค้า หรือบุคคลที่สามอื่น ๆ และ 49% กังวลเรื่องอันตรายจากแฮ็กเกอร์ อย่างไรก็ตาม กลับมีถึง 60% ขององค์กรที่เผชิญกับปัญหาความปลอดภัยหรือเหตุการณ์ความเป็นส่วนตัวของ AI ที่เผยว่ามีการประนีประนอมในประเด็นของข้อมูลกันภายใน

“ข้อกังวลต่าง ๆ ในด้านความปลอดภัย AI ขององค์กรมักถูกเข้าใจผิด เนื่องจากการละเมิดที่เกิดจาก AI ส่วนใหญ่เกิดจากบุคคลภายใน ขณะที่การตรวจจับและป้องกันการโจมตีมีความสำคัญ ระบบความปลอดภัยของ AI ควรให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยมนุษย์ด้วยเช่นกัน” เบรทเดอนิวซ์ กล่าวสรุป

 


  • 204
  •  
  •  
  •  
  •