เช็คลิสต์อาการ “Post-vacation blues” ซึมเศร้าหลังหยุดยาว และวิธีจัดการภาวะอารมณ์ให้พร้อมลุยงาน!

  • 70
  •  
  •  
  •  
  •  

Post-vacation blues

ในปี 2022 หลายประเทศทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศ หลังจากชะงักไป 2 ปีจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นกลับมา คนแห่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Revenge Travel หรือ “เที่ยวล้างแค้น” โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวปลายปี 2022 ต่อเนื่องถึงปี 2023 ไฟลท์บินไปยังประเทศ/เมืองต่างๆ ถูกจองเต็ม และสนามบินของเมืองต่างๆ เต็มไปด้วยผู้คน

หลังจากใช้เวลาไปกับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เมื่อใกล้จะถึงวันกลับมาทำงานตามปกติ กลับรู้สึกไม่อยากมาทำงาน แค่นึกถึงการเปิดคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบอีเมล์งาน นั่งอยู่ในห้องประชุม คุยงานกับลูกค้า และอื่นๆ อีกมากมาย ก็รู้สึกเศร้า หดหู่ หรือหม่นหมองขึ้นมาทันที! อาการดังกล่าวนี้เรียกว่า Post-vacation bluesหรือPost-vacation Depression” ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดพักร้อน

Post-vacation blues

 

Checklist อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว

อาการ Post-vacation blues มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากได้หยุดยาว เช่น หลังจากวันลาพักร้อน หรือหลังหยุดยาวช่วงเทศกาล และยิ่งเดินทางนานเท่าไร ภาวะอาการนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น แม้การเดินทางท่องเที่ยวทริปนั้นๆ จะช่วยให้เราได้พักผ่อน และชาร์จพลังงานชีวิตก็ตาม แต่ความรู้สึกผ่อนคลายเหล่านั้น ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อกลับถึงบ้าน หวนนึกถึงว่าต้องกลับเข้าสู่โหมดชีวิตทำงาน หรือชีวิตการเรียนตามปกติ ที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล ความเร่งรีบต่างๆ ทำให้รู้สึกหม่นหมอง เศร้าขึ้นมา

Post-vacation blues ไม่ใช่โรคจิตเวช โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น อาจกินระยะเวลา 2 อาทิตย์หลังจากกลับจากไปเที่ยว-พักผ่อน อย่างไรก็ตามภาวะเหล่านี้ สามารถหายได้เอง

ทั้งนี้ Post-vacation blues หรือ Post-vacation Depression ไม่ใช่อาการเป็นที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950s ซึ่งอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว แม้จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ และหายได้เอง แต่กระทบชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่ในภาวะอาการนี้เช่นกัน ทั้งการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และประสิทธิภาพการทำงาน หรือการเรียนลดลง

Post-vacation blues

มา Checklist กันว่าคุณมีอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือหลังพักร้อนหรือไม่ ?!?

– รู้สึกหงุดหงิดง่าย

– สมาธิลดลง

– รู้สึกเศร้าๆ หม่นๆ วิตกกังวล ไม่สบายใจ

– ขาดแรงจูงใจในการทำงาน/การเรียน หรือการใช้ชีวิตตามปกติ

– มีปัญหาการนอน

– เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ

– หวนคิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุขในวันหยุดยาวที่ผ่านมา

– หมกมุ่นกับการมองหาวันหยุดครั้งต่อๆ ไป

Post-vacation blues

 

แนวทางรับมือ “Post-vacation blues” เตรียมตัวให้พร้อมลุยงาน!

อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นเพื่อป้องกันและจัดการภาวะอารมณ์จากอาการดังกล่าว ควรเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

1. ให้เวลาพักที่บ้านอย่างน้อย 1 วัน หลังจากหยุดเที่ยวยาว

ที่ผ่านมาเรามักกลับไปทำงาน/ไปเรียนในวันรุ่งขึ้นทันที หลังจากหยุดยาว ซึ่งมีผลต่อการปรับภาวะทางอารมณ์ เช่น วันก่อนยังนอนชิลล์อยู่ริมทะเล พอตื่นมาวันรุ่งขึ้น นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิศ

ดังนั้น ก่อนหยุดยาว หรือก่อนลาพักร้อน นอกจากแพลนทริปเที่ยวแล้ว ควรวางแผนล่วงหน้าไปจนถึงหลังกลับจากเที่ยวด้วย โดยให้มีเวลาพักที่บ้าน 1 – 2 วัน เพื่อจะได้พักผ่อน และเตรียมความพร้อม เช่น แผนการทำงาน, เอกสาร, เสื้อผ้า, กระเป๋าทำงาน ก่อนเริ่มกลับเข้าสู่โหมดชีวิตปกติ

Post-vacation blues

2. ทำความสะอาดบ้านก่อนเดินทางท่องเที่ยวยาว

หากการกลับบ้าน นอกจากเผชิญกับภาวะ Post-vacation blues แล้ว ยังต้องมาทำความสะอาดบ้านอีกมากมาย อาจยิ่งซ้ำเติมอารมณ์ความรู้สึกไปอีก ดังนั้นพยายามดูแลทำความสะอาดบ้านก่อนออกเดินทางไปเที่ยว เพราะเมื่อกลับมาบ้าน แล้วเจอบ้านที่เรียบร้อย จะช่วยให้จิตใจสงบ – รู้สึกผ่อนคลาย

3. ดูแลตัวเองด้วยกิจกรรมผ่อนคลายที่บ้าน และงานอดิเรกที่ชื่นชอบ

เมื่อกลับจากท่องเที่ยว การอาบน้ำเพื่อผ่อนคลาย, ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ, หนังสือดีๆ สักเล่ม ดูหนัง ฟังเพลง หรือใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานอดิเรก สามารถช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้

Post-vacation blues

4. นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เมื่อกลับจากเดินทางท่องเที่ยวแล้ว เพื่อฟื้นฟูร่างกาย และเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจ การนอนหลับให้เพียงพอ ในสภาพแวดล้อมที่สงบ และผ่อนคลายก่อนเข้านอน จะช่วยเติมพลังให้การกลับไปทำงาน หรือเรียนมีประสิทธิภาพดีขึ้น

5. ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายในระดับที่ไม่หักโหมร่างกายเกินไป ช่วยด้านสุขภาพกาย และใจ ทั้งลดความวิตกกังวล ความเครียด หรือความซึมเศร้า ทั้งยังช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น

Post-vacation blues

6. พยายามรักษา Vacation Mindset เอาไว้ แม้ไม่ได้หยุดยาว

การสิ้นสุดวันหยุดยาว ไม่ได้หมายความว่าความสุข – ความสนุกจะหมดสิ้นแล้ว แต่เรายังคงเก็บรักษา Vacation Mindset ต่อได้แม้ไม่ได้หยุดยาว ด้วยการนำมาปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เช่น ลองค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ หรือลองเดินเล่นผ่านชุมชนย่านใหม่ หรือตื่นเช้ามาดูพระอาทิตย์ขึ้น และเดินไปรอบๆ ย่านที่พักอาศัย

หรือแม้แต่เรื่องอาหารการกิน ก็ช่วยเยียวยาจิตใจในช่วงเกิดภาวะ Post-vacation blues ได้เช่นกัน อย่างตอนไปเที่ยว เรามักค้นหาเมนูอาหารท้องถิ่น เมื่อได้ลิ้มลองแล้วรู้สึกถูกใจ ชื่นชอบในเมนูนั้นๆ เมื่อกลับมาบ้าน ใช้ชีวิตตามปกติ อาจลองศึกษา และหาข้อมูลทำอาหารเมนูนั้นๆ หรือค้นหาว่ามีร้านไหนบ้าง ที่มีเมนูอาหารนั้นๆ ให้บริการ แม้รสชาติ-หน้าตาไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะช่วยฮีลจิตใจได้เช่นกัน

Post-vacation blues

7. บอกเล่าความรู้สึกให้กับคนอื่น

หากเกิดอาการ Post-vacation blues อย่าเก็บไว้กับตัวเองคนเดียว ควรพูดคุยบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองให้กับคนอื่น เช่น เพื่อนที่ไว้ใจได้และรับฟัง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรมีโปรแกรม Employee Assistance Program (EAP) เป็นโปรแกรมให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตใตแก่พนักงาน โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตบำบัด จะให้คำปรึกษาและคำแนะนำ

8. วางแผนวันหยุดล่วงหน้า พร้อมเก็บออมเงิน

เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวมีความหมายต่อชีวิตของเรา ได้ออกไปค้นพบประสบการณ์ใหม่ ได้เติมพลัง ได้ความสุข และความสนุก ให้กำหนดเป็นหนึ่งในเป้าหมาย และในระหว่างที่ทำงาน/เรียน ก็เตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทริหน้า ทั้งการจัดสรรเงินรายได้ส่วนหนึ่ง ออมไว้เป็นเงินทุนในการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งจัดสรรวันหยุด เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า

Post-vacation blues Post-vacation blues

 

 

Source: Choosing Therapy , CNN


  • 70
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ