“ตลาดแรงงาน” หลังจากผ่าน COVID-19 ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน และโลกของการทำงานที่การเปลี่ยนแปลงไปอย่างเฉียบพลัน ผู้คนนิยมทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) มากขึ้น องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โดยคำนึงถึงสภาพจิตใจ และขวัญกำลังใจของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (Manpower Group) เชื่อมั่นว่าบุคลากรขององค์กร คือ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ดังนั้นการสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาทักษะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากนี้การเข้าใจในความต่างของแรงงาน 3 เจนเนอร์ชั่น คือ Gen X, Gen Y, และ Gen Z ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง คนหนุ่มคนสาว ที่มักจะมากับความคิดใหม่ ๆ ไฟแรงตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องการความมั่นคง และยืดหยุ่นในการทำงาน จะช่วยสร้างความสุข และรักษาสมดุลในการทำงานอย่างยั่งยืนให้กับบุคลากร
อัตราการเปลี่ยนงานพุ่งสูง! ถึงเวลาองค์กรเข้าใจคนทำงานแต่ละ Gen และเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างจริงจัง
คุณลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากผลสำรวจตลาดแรงงานของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปพบว่า ปัจจุบันอัตราการเปลี่ยนงาน (Turnover rate) พุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันทักษะทางด้านไอทีและเทคโนโลยีก็เป็นที่ต้องการกว่าก่อน เพราะผู้คนเริ่มทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ส่งสัญญาณถึงผู้ประกอบการว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการ หรือองค์กรต่าง ๆ จะต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจและการทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ตอบรับต่อความต้องการของพนักงาน การรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้คงอยู่ การเตรียมความพร้อมให้พนักงาน หรือระบบที่จะรองรับการทำงานแบบดิจิตัลมากขึ้น
โดยเฉพาะทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง วิธีคิดแบบดิจิทัล และการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัล การทำงานแบบ Hybrid working เป็นบทบาทความท้าทายใหม่ขององค์กรที่จะต้องปรับตัวเพื่อสร้างสมดุล และความสุขในการทำงานให้กับพนักงานที่มีความต่างกันในแต่ละช่วงวัยที่ต้องทำงานร่วมกัน นั่นก็คือ
– Gen X: ผู้ที่เกิดในช่วงปี 2508 – 2523 เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ เป็นผู้ที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตการทำงานช่วงต้นมาอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หรือแฮมเบอร์เกอร์ รวมทั้งเห็นการทำงานแบบทุ่มเท ทั้งชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่
ทำให้ Gen-X ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ Work-Life Balance เพื่อรักษาสมดุล แต่ยังเน้นเรื่องความรับผิดชอบตามหน้าที่อย่างเต็มที่ รวมทั้งเริ่มเปิดกว้างทางความคิด หรือไอเดียใหม่ๆ และเน้นเป้าหมายของทีมเป็นหลัก
– Gen Y: ผู้ที่เกิดในช่วงปี 2523 – 2537 เปรียบเสมือนน้องคนกลาง ซึ่งตอนนี้หลายคนเริ่มเติบโตขึ้นเป็นระดับ Middle Management ในหลายองค์กรแล้ว เราจะเห็นสไตล์การทำงานในรูปแบบที่แตกต่าง Gen-Y ชอบความชัดเจน เปิดรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมามากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นและกล้าร้องขอในสิ่งที่คิดว่าตนเองสมควรได้รับ
ดังนั้นเราจะเริ่มเห็นรูปแบบของหัวหน้างานที่นำทีมโดยสร้างความท้าทายให้ทีม พุ่งชนเป้าหมายมากขึ้น ดังนั้นความท้าทายขององค์กรคือ การรักษา Gen Y ให้ได้ทำเรื่องใหม่ๆ เสมอ เพราะเป็น Generation ที่หากเบื่อ ก็มีโอกาสเปลี่ยนงานได้ตลอด
– Gen Z: ผู้ที่เกิดตั้งแต่พ.ศ. 2540 ขึ้นไป จึงเปรียบเสมือนน้องเล็ก เป็นคนเกิดยุคที่โลกหมุนเร็วมาก จึงมักจะเป็นคนที่วิเคราะห์และตัดสินใจรวดเร็ว ไม่กลัวกับปัญหาและพร้อมรับมือด้วยความสนุก คน Gen นี้สนุกกับการเห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว กล้าเสนอมุมมองใหม่ ๆ นอกกรอบ
ดังนั้นจะเห็น Gen Z กล้าตั้งคำถามกับรูปแบบและขั้นตอนการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อหาทางใหม่ที่เร็วขึ้น ไม่ต้องยึดติดกับเวลาแบบเมื่อก่อน และไม่อยู่ในโลกของการทำงานเข้าเช้ากลับเย็นอีกต่อไป
คน Gen Z จึงเป็นความท้าทายใหม่ที่หนักหน่วงของผู้ประกอบการ ที่จะต้องรับมือกับ Turnover ที่สูงขึ้นของ Gen Z หากองค์กรไม่เข้าใจธรรมชาติของคนเจนนี้
ความท้าทายและความสนุกในงานต่างหากคือสิ่งที่ยึด Gen Z ไว้ได้ องค์กรควรจะรักษาสมดุลระหว่างความท้าทายของงานกับผลตอบแทนที่ดึงดูด เพราะคนเจนนี้พร้อมก้าวออกไปสู่ที่ทำงานที่สามารถ ๆ ตอบโจทย์มากกว่า
“Work from home” ไม่ควรถูกจำกัดแค่ที่บ้านอีกต่อไป แต่ควรเป็น “ที่ไหนก็ได้”
ด้วยระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ COVID-19 บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น Work from home 100% สลับเข้าทำงานในบางวัน หรือการเข้าออฟฟิศ 100%
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำงานในยุคดิจิทัลที่เพิ่งประสบกับ COVID Disruption คือ การทำงานแบบ Hybrid วิถีการทำงานแบบใหม่ ควบคู่กับการบริหารที่มีตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการต้นทุนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน
ปัจจุบันเชื่อว่าหลายองค์กรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เริ่มเห็นตรงกันว่า ผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งที่เราได้มาจากสถานการณ์ COVID-19 คือ การรักษาสมดุลชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เราเห็นชีวิตคุณภาพจริงๆ ของคนทำงานคือ มีวันที่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน ประชุม ปรึกษากัน เพื่อให้ทีมได้มีโอกาสวางเป้าหมายการทำงานร่วมกัน
ในขณะที่เราก็ยังมีวันที่เคลียร์งานบางอย่างที่เราอาจจะไม่มีเวลาสะสาง หรือได้ใช้สมาธิในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ กระทั่งทบทวนตัวเองเพื่อการพัฒนาแบบที่ไม่ต้องมีคนมารบกวน และลดเวลาการเดินทาง แต่เพิ่มเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว
คนทำงานไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศทุกวันก็สามารถปฏิบัติงานได้ดีตามปกติ หรือ บางเคสดีกว่าปกติเสียอีก ความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนจัดตารางชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประหยัดค่าเดินทาง ไม่ต้องรอตอกบัตรเข้าออก สุขภาพจิตทุกคนก็จะดี มีผลดีต่องาน
ขณะเดียวกัน Work from home ไม่ควรจำกัดแค่ที่บ้านเท่านั้น แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ จากร้านกาแฟ จากชายหาด หรือบนเกาะ ตราบใดที่ยังทำงานในชั่วโมงที่ระบุไว้ สามารถทำงานหรือสื่อสารกับทีมได้ตลอด และประสิทธิภาพงานยังคงเดิมอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องอิงกับหน้าที่ของตำแหน่งนั้นๆ ด้วย
ดังนั้น แนวคิดการทำงานแบบไฮบริด จึงกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่หลายองค์กร รวมทั้งแมนพาวเวอร์ก็นำมาใช้ และได้รับการตอบรับเชิงบวกจากพนักงาน ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเราที่เน้นเรื่องผลงานมาตลอด ในแต่ละเดือนก็ปรับเปลี่ยนจำนวนคนเข้าออฟฟิศตามความเหมาะสม ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละช่วงด้วย
คุณลิลลี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้มีการนำร่องนโยบายทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ Work From Anywhere 4 วันต่อเดือน โดยน่าจะเป็นบริษัทแรก ๆ ในไทยที่มีนโยบายแบบนี้ เพราะเชื่อเสมอว่า สวัสดิการของพนักงานและความยืดหยุ่นขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ หากดูแลทุกคนดี ทุกคนก็จะมีความสุขกับการทำงาน และนำมาซึ่งประสิทธิภาพการทำงานที่ดี
“การทำงานแบบ Work From Anywhere ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานทั้งในเชิงสวัสดิภาพ ความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน หรือ Work-Life Balance รวมถึงการสานสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในออฟฟิศด้วย เราเพิ่มความยืดหยุ่น แต่ยังคงมาตรฐานของประสิทธิภาพงาน ด้วยเงื่อนไขที่แจ้งให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตาม
เพื่อให้แน่ใจว่าความยืดหยุ่นนี้ไม่ได้หมายถึง การหย่อนยานวินัย ส่วนหนึ่งคือเราก็กำหนดมาตรการที่ชัดเจน เช่น วันที่เข้าออฟฟิศ ต้องเข้ามาระหว่างช่วง 7-9 โมงเช้า และต้องอยู่ถึงอย่างน้อย 4 โมงเย็น นี่คือ นิยามของการทำงานแบบไฮบริด ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปประเทศไทย เพราะเราเชื่อมั่นว่า “บุคลากรขององค์กร คือ ทรัพยากรที่มีค่าสุด” การสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาทักษะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ”