10 พฤติกรรมนักช้อปไทย “ชอบ Work From Home – ช้อปออนไลน์แซงหน้าออฟไลน์ – Gaming โอกาสใหญ่ของแบรนด์”

  • 387
  •  
  •  
  •  
  •  

Future Shopper 2022

Wunderman Thompson” (วันเดอร์แมน ธอมสัน) เปิดรายงาน “Future Shopper” ชุดที่ 3 ภาคต่อของซีรีส์ Future Pulse Survey วิจัยตลาดที่บูรณาการศาสตร์ในหลากหลายสาขาวิชา ทั้งข้อมูล การวิจัยผู้บริโภคเชิงคุณภาพ และการศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมของคนกลุ่มต่างๆ (Ethnography) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจริง โดยแยกแยะออกจากสิ่งที่เป็นเพียงกระแสหรือแนวโน้ม พร้อมนำเสนอภาพที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับโลกออนไลน์คอมเมิร์ซและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค สำรวจจากกลุ่มผู้บริโภคกว่า 31,000 คนใน 18 ประเทศ

สำหรับในประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษาเชิงปริมาณกับผู้บริโภค โดยใช้กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 1,084 คน ครอบคลุมทั้งกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ Gen X Gen Y และ Gen Z

มาเจาะลึก 10 พฤติกรรมนักช้อปไทยว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และกลยุทธ์แบรนด์ชนะใจผู้บริโภค

Shopping

 

1. นักช้อปไทยคุ้นเคยเทคโนโลยี ชอบ Work From Home – ช้อปออนไลน์แซงหน้าออฟไลน์

ผู้บริโภคชาวไทย 95% ระบุว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ได้เข้ามาช่วยพวกเขาในการใช้ชีวิตช่วงปิดเมืองเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนให้การช้อปปิ้งออนไลน์ยังคงมาแรงต่อเนื่องจนแซงหน้าการช้อปปิ้งออฟไลน์ได้ในที่สุด

– 96% ของผู้บริโภคไทยเห็นว่าการช้อปปิ้งออนไลน์จะมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้นในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วน “การใช้จ่ายออนไลน์” เติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 25% ในปี 2563 เป็น 60% ในปี 2564 และคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป แซงหน้าช่องทางออฟไลน์แล้วที่มีสัดส่วนจาก 75% ในปี 2563 ปรับลงมาอยู่ที่ 40% ในปี 2564

– 86% ของผู้บริโภคไทยเชื่อว่าพวกเขาจะใช้ช่องทางดิจิทัลในการช้อปปิ้งมากยิ่งขึ้นอีกในอนาคต ด้วยความคุ้นเคยและการปรับตัวที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนหลักอีกด้วย โดยจากผลการศึกษาพบว่าคนไทยกว่า 92% รู้สึกคุ้นเคยและมีความคล่องตัวในการใช้เทคโนโลยีดีจิทัลมากขึ้น

Future Shopper

Future Shopper

นอกจากนี้ คนไทยยังชื่นชอบความยืดหยุ่นของการทำงานจากที่บ้าน (Work from home)

– 82% ของผู้บริโภคไทยหวังว่าจะได้ทำงานจากที่บ้านมากยิ่งขึ้นในอนาคต

– 88% ของผู้บริโภคไทยช้อปออนไลน์บ่อยครั้งในขณะที่ Work From Home สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 69%

– 82% ของผู้บริโภคไทยค้นพบแบรนด์ใหม่ และร้านค้าปลีกใหม่ในขณะทำงานจากที่บ้าน

Future Shopper

 

2. ผู้บริโภคไทยชอบช้อป “Omnichannelแบรนด์ต้องปรับตัวสู่ยุค Hybrid

แม้สัดส่วนการช้อปผ่านออนไลน์ จะแซงหน้าออฟไลน์ แต่ถึงอย่างไรผู้บริโภคไทยยังคงชอบที่จะซื้อสินค้าจากทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ดังนั้นแบรนด์ หรือผู้ค้าปลีกต้องปรับโมเดลการค้าสู่รูปแบบ Omnichannel  

– 79% ของผู้บริโภคชาวไทยชอบจับจ่ายกับแบรนด์ที่มีทั้งหน้าร้านจริงและร้านออนไลน์ (Omnichannel) และพวกเขายังอยากให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อช่องทางต่างๆ อย่างราบรื่นแบบไร้รอยต่อได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ดังนั้นแบรนด์และผู้ค้าปลีก (Retailer) จะต้องเตรียมพร้อมให้รอบด้านครอบคลุมในทุกมิติธุรกิจด้วยการใช้ “กลยุทธ์ Omnichannel” ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

Future Shopper

โดยต้องกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กับช่องทางออฟไลน์และหน้าร้านจริง พร้อมกับยกระดับประสบการณ์ภายในร้านเพื่อเชื่อมต่อการช้อปปิ้งให้ราบรื่นแบบไร้รอยต่อ โดยเติมมิติทางดิจิทัลให้กับการช้อปปิ้งภายในร้าน เช่น

– การคิดเงินที่ลูกค้าทำได้ด้วยตนเอง หรือมีขั้นตอนที่ต่อเนื่องไร้การสะดุด การชำระเงินแบบไร้การสัมผัส

– มีห้องลองเสื้อผ้าแบบอินเตอร์แอคทิฟ

– การเยี่ยมชมร้านแบบเสมือนจริง และประสบการณ์ช้อปปิ้งในร้านที่เสริมด้วยความจริงเสมือน (AR)

– บริการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อรับสินค้าที่ร้าน และการจองนัดที่ร้าน

ยิ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการความยืดหยุ่นของการทำงานที่บ้านทั้งเต็มเวลาและการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน (Hybrid work) ทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ หรือพฤติกรรมใหม่ในอนาคต แบรนด์และผู้ค้าปลีกยิ่งต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เช่น นำเทคโนโลยี อี-คอมเมิร์ซใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับโมเดลธุรกิจแต่เนิ่นๆ, การนำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการเฉพาะบุคคลมากขึ้น หรือการสร้างประสบการณ์ที่ตอบสนองพฤติกรรมต่างๆ อย่างเช่นการตัดสินใจซื้อจากแรงกระตุ้นตรงหน้า (Impulse Buying)

Mobile

 

3. e-Marketplace ช่องทางอันดับ 1 เข้าถึงทุก Customer Journey แต่แบรนด์ควรร้างสมดุลด้วย “D2C

เมื่อเจาะลึกช่องทางที่สามารถเข้าถึง Customer Journey ได้ตลอดทั้ง 3 ขั้นคือ ขั้นแรงบันดาลใจ (Inspiration Stage) – ขั้นค้นหาสินค้า/แบรนด์ (Search Stage) – ขั้นการตัดสินใจซื้อ (Purchase Stage) พบว่า “e-Marketplace” เช่น LAZADA, Shopee กลายเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่สามารถเข้าถึงตลอดทั้ง Customer Journey

Future Shopper

– 65% ของผู้บริโภคไทยเข้าไปยัง e-Marketplace เพื่อหาแรงบันดาลใจ ขณะที่รองลงมาคือ Social Platform (48%), YouTube (31%)

Future Shopper

– 73% ของผู้บริโภคไทยเข้าไปยัง e-Marketplace เพื่อค้นหาสินค้า หรือแบรนด์ รองลงมาคือ Social Platform (48%), Search Engine (33%)

Future Shopper

– 51% ของผู้บริโภคไทยใช้จ่ายผ่านออนไลน์กับ e-Marketplace เป็นหลัก รองลงมาคือ แพลตฟอร์ม Aggregator ทั้งหลาย เช่น Grab, LINE MAN, Foodpanda (19%) และแพลตฟอร์มออนไลน์ของห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัล, เดอะมอลล์, โรบินสัน (17%)

ทั้งนี้ถึงแม้นักช้อปชาวไทยชื่นชอบการเลือกซื้อสินค้าหลากหลายกลุ่มได้ในแหล่งเดียว ซึ่งเป็นจุดเด่นของตลาด e-Marketplace แต่ก็พบว่านักช้อปก็อาจปันใจ ไปซื้อที่อื่นหากพบว่าได้ราคาที่ดีกว่า มีทางเลือกในการจัดส่งที่น่าสนใจกว่า หรือนำเสนอในแบบเฉพาะบุคคลได้มากกว่า

Future Shopper

นอกจากนี้นักช้อปไทยยังมีข้อกังวลเรื่องสินค้าปลอม และรีวิวที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยพบว่า

– 30% เคยพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจเป็นของปลอม

– 26% เคลือบแคลงใจว่ารีวิวต่างๆ อาจไม่ใช่ความคิดเห็นที่แท้จริงของลูกค้า

อย่างไรก็ตามในขณะที่ e-Marketplace กลายเป็นช่องทางหลักของการช้อปออนไลน์ไปแล้ว ขณะเดียวกันแบรนด์ควรวางกลยุทธ์ “D2C” (Direct-to-Consumer) ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มของแบรนด์เอง เพื่อบาลานซ์ช่องทางการขายระหว่าง Own Platform กับการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอื่น

เพราะถึงแม้ e-Marketplace จะมีบทบาทอย่างไร แต่หัวใจสำคัญแบรนด์ต้องดึงการซื้อขายกลับมาที่แพลตฟอร์มของแบรนด์เอง รวมทั้งสามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภค สร้างประสบการณ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์​กับลูกค้าได้โดยตรง

Future Shopper

 

4. Social Platform ต่อยอดสู่ “Social Commerce” เป็นมากกว่าเสพคอนเทนต์ความบันเทิง

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Social Media พัฒนาไปสู่การเป็นแพลตฟอร์ม “Social Commerce” ด้วยเช่นกัน และได้กลายเป็นช่องทางสำคัญของนักช้อปชาวไทย

– ประเทศไทยมีผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซในสัดส่วนสูงที่สุดในโลก (88%)

– Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทิ้งห่างแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งในด้านแนวโน้มที่จะซื้อ (62%) และประสบการณ์โซเชียลคอมเมิร์ซที่ดีที่สุด (62%)

– TikTok และ LINE มีการเติบโตอย่างน่าสนใจของการเป็น Social Commerce

Future Shopper

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าบนช่องทาง Social Commerce มากขึ้น พบว่า

– ความง่ายในการซื้อ (44%)

– ราคา, โปรโมชั่น (40%)

– ข้อเสนอพิเศษ (35%)

เมื่อ Social Platform เป็นมากกว่าเรื่องของความบันเทิง และมีจุดเด่นตรงที่แบรนด์สามารถจบการซื้อจนเสร็จสมบูรณ์ หรือแม้แต่ขายพ่วงขายเพิ่มได้โดยไม่ต้องออกจากแพลตฟอร์มเดิม ดังนั้นแบรนด์จึงสามารถใช้ Social Commerce เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงกลุ่ม ฟีเจอร์ใหม่ๆ และสิ่งจูงใจต่างๆ เช่น Twitter Super Follows  ช่วยทำให้เชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจยิ่งขึ้นและขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างผู้สร้างคอนเทนต์กับผู้บริโภค พร้อมกับเปิดโอกาสให้แบรนด์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานั้นๆ

นอกจากนี้การซื้อขายผ่านการสนทนา (Chat หรือ Conversational Commerce) สามารถทำให้การบริการเฉพาะบุคคลกลายเป็นผลกำไร โดยเป็นการมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคลในแบบเรียลไทม์ให้กับนักช้อปได้อย่างรวดเร็วและสะดวกง่ายดาย

Future Shopper

 

5. นักช้อปไทยช้อปผ่าน “Livestream CommerceTop 3 ของโลก

การไลฟ์ขายสินค้า (Livestream Commerce) เป็นเทรนด์ใหม่ซึ่งนักช้อปชาวไทย โดย Top 3 ผู้บริโภคทั่วโลกที่นิยมช้อปสินค้าเมื่อแบรนด์/ผู้ค้าปลีก Livestream Commerce คือ

– 77% ของผู้บริโภคจีนช้อปผ่าน Livestream Commerce

– 75% ของผู้บริโภคอินเดียช้อปผ่าน Livestream Commerce

– 72% ของผู้บริโภคไทยช้อปผ่าน Livestream Commerce

นี่จึงทำให้ Streamer หรือนักจัดรายการสดแบบ Livestream เป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตตีคู่ไปกับกลุ่มคนดัง (Celebrity)  ในฐานะผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ซึ่งถือเป็นโอกาสของแบรนด์ ส่วนอิทธิพลของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และ KOL พบว่าเริ่มแผ่วลงเล็กน้อย

ดังนั้น แบรนด์ยังสามารถใช้ Livestream เพื่อเร่งให้เกิดการซื้อผ่านการนำเสนอบริการที่ดีกว่า โดยนำแง่มุมเรื่องความสะดวกมาช่วยยกระดับการ Livestream ซึ่งนอกจากการพูดคุยเรื่องผลิตภัณฑ์และราคาแล้ว การเอ่ยถึงเรื่องบริการต่างๆ ด้วย เช่น การจัดส่งด่วน จะช่วยให้ชนะใจนักช้อปได้

ขณะเดียวกันคอนเทนต์จากการ Live ก็ไม่จำเป็นต้องหมดคุณค่าเมื่อช่วงเวลาของการ Live สิ้นสุดลง เพราะนักช้อปให้ความสำคัญกับรีวิวและข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างมาก จึงสามารถนำคอนเทนต์จาก Livestream มาช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับหน้าผลิตภัณฑ์ หรือทำให้คอนเทนต์บน Social Media ดูน่าสนใจ และสร้างการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

Future Shopper

 

6. “ความสะดวก ง่าย เร็ว” ปัจจัยสำคัญมากกว่าราคา แบรนด์ควรสร้างเส้นทางการซื้อขายที่สั้นกระชับ

แม้ช้อปปิ้งออนไลน์จะห่ำหั่นกันด้วยราคา แต่สิ่งที่นักช้อปไทยให้ความสำคัญมากกว่าราคา คือ “ความสะดวก ความง่าย ความรวดเร็ว” ถ้าแบรนด์ หรือผู้ค้าปลีกสามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ จะสร้างประสบการณ์การช้อปที่ดีให้กับลูกค้า และสามารถสร้าง Brand Love ได้ในระยะยาว  

ดังนั้นแบรนด์ควรสร้าง “เส้นทางการซื้อขายที่สั้นกระชับ” (Compressed Commerce) ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือเรื่องสำคัญ โดยจะต้องช่วงชิงการเป็นผู้จุดแรงบันดาลใจ แล้วรีบชักนำผู้บริโภคเข้าสู่ช่วงของการค้นหาและการซื้ออย่างรวดเร็ว เนื่องจากชาวไทยเป็นนักช้อปออนไลน์ที่ใจเร็ว และต้องการความไวที่สุด ผลสำรวจพบว่า

– 95% ต้องการก้าวจากช่วงของแรงบันดาลใจไปสู่ช่วงของการซื้อให้รวดเร็วที่สุด

– การบริการลูกค้า ความรวดเร็วในการจัดส่ง และความง่ายในการค้นหาผลิตภัณฑ์ (98% เท่ากันทั้งหมด) ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกในการตัดสินใจ โดยอยู่เหนือปัจจัยด้านราคา (97%)

การได้ลูกค้าและรักษาฐานนักช้อป กลยุทธ์ช่องทางจำหน่ายที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักช้อปได้อย่างสมดุลจะต้องเอื้อให้ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์และเลือกช้อปปิ้งบนช่องทางใดก็ได้ เมื่อไรก็ได้ และจากที่ใดก็ได้ที่ต้องการ เพราะนักช้อปอาจจะพบแรงบันดาลใจ เริ่มค้นหา และตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางต่างๆ อย่างหลากหลาย และพวกเขายังคาดหวังอีกด้วยว่าแต่ละช่องทางจะต้องเติมเต็มความต้องการได้ครบทุกช่วงตลอดเส้นทางการซื้อ

แบรนด์และผู้ค้าปลีกจะต้องร่นระยะเส้นทางลูกค้าให้สั้นลงเพื่อให้พวกเขาตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นพวกเขาอาจหลุดมือไประหว่างเส้นทาง ซึ่งตัวช่วยต่างๆ เช่น การจบทุกขั้นตอนการซื้อได้ในปุ่มเดียว การบันทึกข้อมูลส่วนตัว การเข้าดูรีวิวและคะแนนความพึงพอใจได้ง่าย จะช่วยให้พวกเขามุ่งตรงจากแรงบันดาลใจสู่การซื้อได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องตระหนักว่าราคาไม่ใช่ทุกสิ่งเสมอไป เพราะการบริการลูกค้าคือสิ่งที่พิชิตใจนักช้อป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยกระดับประสบการณ์โดยรวม และไม่ทุ่มเทกับการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงทุนเพื่อแข่งขันในเรื่องความรวดเร็ว ความง่ายในการค้นหาสินค้า และความใส่ใจต่อนักช้อปและความต้องการของพวกเขา การสร้างความไว้วางใจต่อแบรนด์ผ่านบริการลูกค้าที่ดีเยี่ยมจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของนักช้อปอย่างต่อเนื่องได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงได้ลูกค้าใหม่และดึงดูดให้พวกเขาหวนกลับมาซื้ออีก

Gaming

 

7. นักช้อปออนไลน์ ให้ความสำคัญกับการจัดส่งรวดเร็ว – ยืดหยุ่น ติดตามคำสั่งซื้อได้

“การจัดส่ง” กลายเป็นส่วนสำคัญในการมอบประสบการณ์ที่ดีสู่นักช้อป และนับวันผู้บริโภคจะยิ่งไม่ทนกับประสบการณ์ที่แย่ๆ ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ด้านการจัดส่งที่ตรงใจนับว่ามีความสำคัญอย่าง ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า

– สิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยอยากเห็นการปรับปรุงมากที่สุดในเรื่องของการจัดส่ง คือ การจัดส่งรวดเร็วขึ้น (58%) และค่าจัดส่งถูกลง (50%)

– ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสินค้าภายใน 2 – 3 วันนับจากที่สั่งซื้อ และโดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคชาวไทยจะไม่ทนรอการจัดส่งที่ใช้เวลานานเกิน 6 วัน

ยิ่งทุกวันนี้นักช้อปมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อ และหากพวกเขาไม่ได้รับบริการที่คิดว่าสมควรได้รับ ก็พร้อมจะย้ายไปที่อื่นในทันที

ดังนั้นการมอบประสบการณ์ในการจัดส่งที่ดีคือส่วนสำคัญในความคาดหวังของผู้บริโภค แบรนด์จึงต้องวางแผนการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งมีสินค้าพร้อมส่ง, การจัดส่ง, การมอบทางเลือกในการจัดส่งที่มีความยืดหยุ่น, การติดตามคำสั่งซื้อผ่านระบบของแบรนด์ และการติดตามเส้นทางการจัดส่งได้ในแบบเรียลไทม์ รวมไปถึงขั้นตอนการคืนสินค้า ซึ่งช่วยยกระดับประสบการณ์ความพึงพอใจให้กับลูกค้า

Future Shopper

 

8. ผู้บริโภคเลือกซื้อแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และมี Purpose ในการทำธุรกิจ

นักช้อปคาดหวังให้แบรนด์ดำเนินธุรกิจบนแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ลดทอนคุณภาพด้านการบริการลง ผลสำรวจพบว่า

– ประเทศไทยครองอันดับ 1 ทั่วโลก โดยนักช้อปถึง 83% ระบุว่าจะเลือกซื้อกับแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

– 83% ยังต้องการให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกมีวิธีปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น เช่น ใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์น้อยลง สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยลง และใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดส่ง

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต้องระมัดระวังด้วยการไม่อวดอ้างความรักษ์โลกจนเกินจริง เพราะจะเสี่ยงต่อการดูเสแสร้งและทำให้ผู้บริโภคตีตัวออกห่าง นอกจากนี้แนวทางในการฟื้นฟูยังจะส่งให้แบรนด์ก้าวขึ้นนำหน้าคู่แข่งได้ ซึ่งหลายๆ แบรนด์กำลังบุกเบิกโครงการต่างๆ ที่มิเพียงลดการทำร้ายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นและเยียวยาความเสียหายต่างๆ ที่ได้เคยก่อไว้กับโลกอีกด้วย

Future Shopper

 

9. Gaming – Metaverrse – NFT คือ โอกาสสำคัญของแบรนด์และธุรกิจ

เกมออนไลน์​ หรือโลก Gaming (เกมมิ่ง) ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นช่องทางที่มีศักยภาพสูงที่แบรนด์สามารถสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการในวงกว้าง ไปจนถึงสร้าง Engagement กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และผลักดันยอดขายได้เลยทีเดียว

– 98% ของนักช้อปชาวไทยเล่นเกมออนไลน์ ดังนั้น เกมคือแพลตฟอร์มเข้าถึงนักช้อปได้แทบจะครบถ้วนทุกเพศและกลุ่มอายุ

ขณะที่อุปกรณ์การเล่นเกมออนไลน์พบว่า

– 90% เล่นเกมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ

– 63% ผ่านคอมพิวเตอร์

– 31% ผ่านคอนโซล

– 16% ผ่านอุปกรณ์ Virtual Reality

นอกจากนี้พบว่านักช้อปไทย ยังใช้ Metaverse ในการซื้อสินค้า

– 38% ของนักช้อปชาวไทยบอกว่าเคยใช้ Metaverse เพื่อซื้อสินค้าออนไลน์มาแล้ว หรือยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

ส่งผลให้นิยามของ “ผู้บริโภค” อาจกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากความหมายดั้งเดิม โดยมีความไร้ตัวตนที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น และในอีกไม่ช้าเราอาจจะทำตลาดและขายสิ่งต่างๆ ให้กับผู้บริโภคที่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป แต่เป็น “อวตาร์” ของพวกเขาในโลก Gaming หรือ Metaverse

Future Shopper

ขณะเดียวกัน NFT” ก็เป็นสิ่งที่ต้องคอยจับตาต่อไปด้วยเช่นกัน จากการที่นักช้อปชาวไทยดูจะมีทั้งความเข้าใจว่า NFT คืออะไร (75%) และความประสงค์ที่จะซื้อ NFT (84%) สูงกว่านักช้อปทั่วโลกโดยเฉลี่ย (47% และ 70% ตามลำดับ)

ในส่วนของความแตกต่างของคนแต่ละรุ่น พบว่า Gen Y เป็นผู้นำในด้านการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการช้อปปิ้ง ขณะที่ Gen Z เป็นกลุ่มหลักในเรื่อง Metaverse แต่นักช้อปรุ่นสูงอายุกว่าก็เป็นกลุ่มที่มองข้ามไม่ได้ในหลายด้านเช่นกัน เช่น ชีวมิติ (Biometrics) หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการจำแนกอัตลักษณ์ ทางกายภาพของบุคคล ตลอดจน สกุลเงินคริปโต

เพราะฉะนั้นการเจาะเข้าสู่โลก Gaming จะช่วยให้แบรนด์มุ่งสู่เป้าหมายทางธุรกิจของตนได้สำเร็จ เช่น โฆษณาในเกม ความร่วมมือกับเกมต่างๆ และการใช้ Streamer เป็นตัวอย่างของวิธีการที่จะช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ สร้างการมีส่วนร่วมของนักช้อป หรือแม้กระทั่งขับเคลื่อนยอดขายได้

ในการเตรียมพร้อมสำหรับผู้บริโภคในอนาคตที่อาจจะก้าวข้ามสิ่งที่จับต้องได้ และเริ่มมองเห็นมูลค่าของสิ่งของดิจิทัล แบรนด์และผู้ค้าปลีกมีโอกาสที่จะขยับขยายผลิตภัณฑ์และบริการของตนไปสู่การเปิดรับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเมตาเวิร์ส (Metaconomy) ที่ขับเคลื่อนด้วย NFT กำลังก่อตัวขึ้น

รวมถึงมีเสียงเรียกร้องให้สกุลเงินคริปโตเป็นที่ยอมรับตามกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีสกุลเงินดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลระดับชาติ ก็อาจนำไปสู่การปฏิวัติวิธีการที่ผู้บริโภคใช้ในการชำระเงิน

ยิ่งไปกว่านั้นการอุบัติขึ้นของ Direct-to-Avatar หรือ D2A ซึ่งเป็นโมเดลของสินค้าหรือบริการที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มผู้ใช้ร่าง Avatar โดยเฉพาะ ได้ทำให้แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ได้คว้าโอกาสเริ่มลงมือทำกันอย่างจริงจังแล้ว เช่น Gucci, Ralph Lauren และ American Eagle

Metaverse

 

10. อย่าหลงลืมนักช้อป “Silver Gen – Gen X

แบรนด์อย่าหลงลืมนักช้อป Silver Gen และนักช้อป Gen X เพราะผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้มีพลังการจับจ่ายสูง และปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ดี สามารถเป็นแหล่งนักช้อปกลุ่มสำคัญให้กับธุรกิจได้

โดยผู้บริโภคกลุ่ม Silver Gen มีทั้งเวลาและกำลังซื้อ เช่นเดียวกับ Gen X ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถ adapt เข้ากับเทคโนโลยีได้ดี เพราะฉะนั้นแบรนด์ควรทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค 2 กลุ่มนี้ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจได้


  • 387
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ