รู้จัก IShowSpeed สตรีมเมอร์ Gen Z สุดเกรียนที่มาบุกไทย กิน KFC ขับตุ๊กตุ๊กชนกำแพงวัดตั้งแต่สตรีมแรก!

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ใครที่ติดตามวงการสตรีมเมอร์ คงไม่มีใครไม่รู้จัก IShowSpeed ยูทูปเบอร์หนุ่มชาวอเมริกัน วัย 19 ปี ที่โด่งดังสุดๆจากสไตล์การไลฟ์สตรีมสุดป่วน เล่นเกมแหกปากไม่ห่วงหลอดเสียง จนกลายเป็นมีมไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต และล่าสุดกับการปรากฏตัวที่ประเทศไทยในฐานะผู้เข้าร่วมแรลลี่ Gumball 3000 แรลลี่รถหรูนับร้อย ผ่านเส้นทางจากไซง่อน เข้ากรุงเทพ มุ่งสู่สิงคโปร์ ในเดือนกันยายน สร้างสถิติ Guinness Book of Records สำหรับการจัดแสดงซูเปอร์คาร์ที่ใหญ่ที่สุด

โดยแรลรี่ครั้งนี้ที่มีคนดังเข้าร่วมมากมายและหนึ่งในนั้นก็คือ Speed เจ้าของช่อง iShowSpeed ที่ได้เข้าร่วมในเส้นทางประเทศไทยและใช้โอกาสนี้สตรีมวิดีโอให้แฟนๆได้ดูกันด้วย อย่างไรก็ตามเปิดทริปเอเชียทริปนี้จะไม่สวยหรูตั้งแต่เริ่ม เมื่อเจ้าตัวประสบอุบัติเหตุขับตุ๊กๆชนเข้ากับกำแพงวัด ในช่วงไม่กี่นาทีแรกของการสตรีม! จนบาดเจ็บหัวโน หลังจากนั้นกลายเป็นฉากที่ Speed และทีมต้องเข้าไปกราบขอโทษเจ้าอาวาส ตามมาด้วยคอนเทนต์กินไก่ทอด KFC อย่างที่เราเห็นกันไปก่อนหน้านี้ รวมไปถึงสตรีมล่าสุด ที่ Speed บุกเมืองพัทยาขึ้นไปต่อยมวยทะเลกับแฟนๆที่ตลาดน้ำพัทยาจนตกน้ำเปียกทั้งตัว

แน่นอนว่าก็คงมีหลายคนมีคำถามว่า เด็กสุดเกรียนคนนี้คือใครกันแน่?

IShowSpeed หรือชื่อจริงว่า Darren Jason Watkins Jr. เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ในชื่อ Speed เป็นหนุ่มสตรีมเมอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากที่สุดคนหนึ่งของโลกในหลายๆแพลทฟอร์มเลยไม่ว่าจะเป็น

  • YouTube มีผู้ติดตาม 28.8 ล้านคน
  • TikTok มีผู้ติดตาม 29.4 ล้านคนบน
  • Instagram 23.9 ล้านคน

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสตรีมเมอร์ของเขาเริ่มต้นขึ้นในปี 2016 ด้วยการเปิดช่อง Youtube ในชื่อว่า iShowSpeed ชื่อที่มีที่มาจากความสามารถในการวิ่งได้เร็วจนเพื่อนให้ฉายาว่า “Speedy” โดยคอนเทนต์แรกๆ iShowSpeed อัปโหลดวิดีโอเกมอย่าง NBA 2K รวมถึง Fortnite ลงบน YouTube แต่ยอดวิวในช่วงแรกนั้นเฉลี่ยเพียงแค่ 2 View เท่านั้นเอง

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2021 Speed เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากคลิปวิดีโอรีแอคชั่นเกมสุดฮา ที่เจ้าตัวมักจะแสดงอาการหัวร้อนแบบสุดๆจนกลายเป็นมีมโด่งดังหลายครั้ง อย่างไรก็ตามพฤติกรรมแบบเกินๆหลุดๆของเขาบางครั้งก็เกินขอบเขตจนทำให้เขาถูกแบนจากจากหลายๆแพล็ตฟอร์มเช่น Twitch รวมถึงเกม Valorant ด้วย

แม้จะโดนแบนแต่ Speed ยังคงความเกรียนแบบเสมอต้นเสมอปลาย มีเทคนิคในการทำคอนเทนต์แบบรวดเร็วทันกระแสเรื่องราวดังๆ ใช้เทคนิคการ Live Stream พร้อมกับการ “ด้นสด” ดึงดูดคนดูให้ดูไลฟ์ได้แบบยาวนาน 3-4 ชั่วโมงได้ และดึงดูดคนเข้ามาดูมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆรวมถึงกลุ่มเยาวชนในวัยเดียวกัน

หลังจากนั้นในปี 2022 Speed เริ่มหันมาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับฟุตบอลมากขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้นจากเกม FIFA22 ทำคอนเทนต์เกรียนๆ ฮาๆจนกลายเป็นไวรัลออกมาหลายคลิป แต่สิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในโลกฟุตบอลมากที่สุดก็คือ ความคลั่งไคล้ในตัวนักฟุตบอลชื่อดังอย่าง “คริสเตียโน โรนัลโด้” ถึงขั้นลงทุนเดินทางไปดูโรนัลโด้ถึงขอบสนามหลายครั้งโดยเฉพาะในฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา

ความฮอตของ Speed ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโลกของเกมและฟุตบอล เพราะในปี 2022 เขายังได้รับรางวัล Streamy Award สาขา Breakout Streamer of the Year ในงาน Streamy Awards เมื่อปี 2022 รวมถึงมีผลงานเพลงใน YouTube ที่มีคนชมมากถึง 60 ล้านวิวเลยทีเดียว

แน่นอนว่าความโด่งดังของ Speed ย่อมสร้างรายได้มหาศาลตามมา โดย Celebrity Net Worth ประเมินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ IShowSpeed ในปี 2024 ไว้ที่ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์หรือราว 330 ล้านบาท ในขณะที่ Net Worth Spot ประเมินว่า IShowSpeed ​​มีรายได้ราว 30 ล้านบาทต่อปีจาก AdSense ของช่อง YouTube โดยพิจารณาจากยอดวิวเฉลี่ย 8.43 ล้านครั้งต่อเดือน และยอดวิวประมาณ 614,380 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ยอดรายได้จาก TikTok ประเมินว่าจะมีรายได้สูงราว 500,000 บาทต่อโพสต์

การเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้พร้อมๆกับไกด์ท้องถิ่นที่เป็นสตรีมเมอร์ชาวไทยหลายๆคนได้พา Speed ไปโชว์วัฒนธรรม Soft Power ของไทยหลายอย่างทั้งการขับรถตุ๊กๆ การเข้าวัด การขี่ช้าง กินผัดไทย รวมไปถึงการกิน KFC นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ภาพของประเทศไทยจะถูกส่งไปสู่เด็กๆทั่วโลกเช่นเดียวกับแบรนด์ต่างๆในไทยอย่าง KFC รวมถึงขนมขบเคี้ยว “ไดโนพาร์ค” ที่ก็ได้ Earned Media จากคอนเทนต์ของ Speed ไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย

iShowSpeed ขณะลองต่อยมวยทะเลที่ตลาดน้ำพัทยาในสตรีมเมื่อวันที่ 10 กันยายน

นี่คือประวัติโดยย่อของคอนเทนต์ครีเอเตอร์สุดเกรียนที่แม้จะมีวีรกรรมสุดป่วนจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า IShowSpeed เป็นอีกหนึ่งสตรีมเมอร์ Gen Z ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการด้วยคาแรกเตอร์สุดจัดจ้าน และแน่นอนว่าเป็นอีกช่องทางของแบรนด์ในการเข้าถึงกลุ่ม GenZ ทั่วโลกหากไม่ห่วงด้านภาพลักษณ์มากนัก โดยเฉพาะการเข้าถึงเยาวชนโดยเฉพาะในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก


  •  
  •  
  •  
  •  
  •