สรุป! Virtual Bank คืออะไร? ทำไมไทยต้องมี? จะได้ใช้กันเมื่อไหร่? อ่านแบบเข้าใจง่ายๆ ที่เดียวจบ!

  • 23
  •  
  •  
  •  
  •  

ช่วงนี้ข่าว Virtual Bank มาแรงมาก! หลายคนอาจจะยังงงๆ ว่ามันคืออะไร? ทำไมต้องมีในไทย? บทความนี้ Marketing Oops! สรุปมาให้อ่านแบบเข้าใจง่ายๆกัน

Virtual Bank คืออะไร?

ลองนึกภาพธนาคารที่เราคุ้นเคย มีสาขาให้เราไปทำธุรกรรม มีตู้ ATM ให้กดเงินได้ แต่กลับกัน Virtual Bank นั้นจะไม่มีสาขา ไม่มีตู้ ATM เลย ทุกอย่างทำผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ 100% เหมือนเรามีธนาคารส่วนตัวอยู่ในมือ ไม่ว่าจะฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล หรือแม้แต่ขอสินเชื่อก็ทำได้หมด ผ่านแอปฯ หรือเว็บไซต์

อีกช่องทางสำคัญคือ “ตัวแทนธนาคาร” (Banking Agent) ที่ทำหน้าที่เหมือนสาขาย่อยของธนาคาร เช่น ร้านสะดวกซื้อ หรือไปรษณีย์ ที่เราสามารถไปทำธุรกรรมทางการเงินได้ด้วย

ต่างจากธนาคารแบบเดิมยังไง?

หลายคนอาจจะสงสัยว่าธนาคารที่เราใช้อยู่ก็มีแอป มีเว็บไซต์ให้ทำธุรกรรมเหมือนกัน แล้วมันต่างกันยังไง? จริงๆ แล้ว Virtual Bank กับธนาคารแบบเดิมมีจุดที่ต่างอยู่หลายเรื่องนอกจากเรื่องไม่มี “สาขา” และ “ตู้ ATM” ต้องทำธุรกรรมกับตัวแทนธนาคาร หรือเบิกเงินก็ต้องเบิกกับตู้ ATM ของธนาคารอื่นๆแล้ว

นอกจากนี้ Virtual Bank ยังมีโครงสร้างต้นทุนที่แตกต่างจากธนาคารแบบเดิมด้วย เนื่องจากการที่ Virtual Bank ไม่มีสาขา ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของธนาคารต่ำกว่าธนาคารแบบเดิมเยอะ ทำให้ Virtual Bank อาจจะสามารถให้บริการทางการเงินได้ในราคาที่ถูกกว่าหรือมีผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่า

และด้วยความที่ Virtual Bank เน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและข้อมูลอย่างเช่น พฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา ในการพัฒนาบริการทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้มากขึ้น เช่น การให้สินเชื่อที่เหมาะกับคนค้าขายออนไลน์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

สิ่งเหล่านี้ทำให้ Virtual Bank มักจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีเป้าหมายในการให้บริการลูกค้ากลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่ม SMEs หรือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารแบบเดิมได้

ทำไมประเทศไทยต้องมี Virtual Bank?

Photo Credit: charnsitr / Shutterstock.com

รัฐบาลเปิดให้ภาคธุรกิจเข้ามาสมัครขออนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตั้งแต่ช่วงปีก่อน เพราะรัฐบาลมองว่า Virtual Bank เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์หลายๆ อย่างในบ้านเราได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น” ลองนึกถึงคนที่อยู่ไกลจากธนาคาร หรือคนค้าขายเล็กๆ ที่อาจจะกู้เงินจากธนาคารยากหน่อย Virtual Bank จะช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้เหตุผลสำคัญก็คือ Virtual Bank เป็นรูปแบบธนาคารที่สามารถ “ลดต้นทุน” Virtual Bank ไม่มีสาขา ทำให้ค่าใช้จ่ายของธนาคารลดลง และอาจจะทำให้เราได้ใช้บริการทางการเงินที่ถูกลง ความหมายคือ เราอาจได้สินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น

ในอีกมุมการมี Virtual Bank ก็ยัง “กระตุ้นให้ธนาคารเดิมปรับตัว” ด้วย การมีธนาคารรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา จะทำให้ธนาคารที่เราคุ้นเคยต้องปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้นด้วย

ใครได้รับใบอนุญาต Virtual Bank บ้าง?

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลือกผู้สมัคร 3 กลุ่มจาก 5 กลุ่มที่เสนอตัวจะได้ตั้ง Virtual Bank ในไทยแล้ว ซึ่งทั้งหมดผ่านหลักเกณฑ์ เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของระบบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างเช่น ต้องมีแผนธุรกิจที่ดี, มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี, มีระบบที่ปลอดภัย, มีเงินทุนที่แข็งแกร่ง หรือหมายถึงมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่สูงถึง 5,000 ล้านบาทในระยะเริ่มต้น และ 10,000 ล้านบาทในระยะปกติ

สำหรับ 3 กลุ่มที่ได้รับคัดเลือกได้แก่

1.กลุ่มธนาคารกรุงไทย KTB, Gulf, AIS, OR

กลุ่มนี้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินในระบบสถาบันการเงินจาก KTB มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนจาก Gulf, มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและฐานลูกค้าจำนวนมากจาก AIS มีเครือข่ายจุดให้บริการที่ครอบคลุมจาก OR ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีจุดแข็งด้าน ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ เครือข่ายครอบคลุม เงินทุนและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และความเชี่ยวชาญด้านการเงินดั้งเดิมด้วย

2. กลุ่ม SCBX, KakaoBank, WeBank

เป็นกลุ่มที่มีบริษัท SCBX บริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ มีฐานลูกค้าและทรัพยากรที่แข็งแกร่ง บวกความเชี่ยวชาญด้าน UX ที่เข้าใจผู้ใช้จาก  KakaoBank จากประเทศเกาหลีใต้) ได้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและมีฐานลูกค้าจำนวนมากจาก WeBank ประเทศจีน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ฐานลูกค้าและทรัพยากรที่แข็งแกร่ง UX ที่เข้าใจผู้ใช้ และเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่

3. กลุ่ม Ascend Money, CP, Ant Financial 

กลุ่มนี้ประกอบด้วย Ascend Money ผู้ให้บริการ TrueMoney ที่มีฐานผู้ใช้บริการจำนวนมากและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารแบบเดิมได้ CP Group ที่มีความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายค้าปลีก  Ant Financial บริษัทภายใต้ Alibaba ที่สนับสนุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานผู้ใช้บริการจำนวนมาก การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินได้และมีเทคโนโลยีสินเชื่อและเครือข่ายค้าปลีกที่แข็งแกร่งเช่นกัน

เราจะได้ใช้ Virtual Bank เหล่านี้เมื่อไหร่?

หลังจากที่ ธปท. เลือก 3 กลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอรายชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในกลางปี 2568 หลังจากได้รับอนุมัติแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องเตรียมความพร้อมและเปิดให้บริการภายใน 1 ปี

ซึ่งก็ต้องบอกว่า Virtual Bank จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นแน่นอน และอาจจะทำให้ธนาคารที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไป เราอาจจะได้เห็นบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่สะดวกสบายและตอบโจทย์เรามากขึ้นในอนาคต

ข้อกังวลเกี่ยวกับการมี Virtual Bank ในประเทศไทย

แม้จะมีข้อดีอยู่มากมาย ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น แต่ก็มีนักวิชาการหลายท่านที่กังวลว่าอาจจะทำให้ธนาคารรายเล็กแข่งขันยากขึ้นได้

เหตุผลที่กังวลแบบนั้นก็เพราะ เงื่อนไขการขอใบอนุญาต Virtual Bank ที่กำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนสูง อาจกีดกันผู้เล่นรายเล็ก เช่น Startup หรือ FinTech ทำให้มีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้การแข่งขันในตลาดไม่คึกคักเท่าที่ควร

อีกเรื่องคือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่อาจมุ่งเน้นไปที่การทำกำไรอย่างรวดเร็ว โดยการดึงลูกค้าที่มีศักยภาพในการชำระหนี้สูงจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ซึ่งหมายความได้ว่าอาจไม่ช่วยให้กลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบได้รับประโยชน์อย่างที่เป็นความตั้งใจเริ่มแรกได้อย่างเต็มที่

และสุดท้ายก็คือแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีเครื่องมือในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน แต่การมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดก็อาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ หากไม่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีพอนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว Virtual Bank ถือเป็นรูปแบบธนาคารแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง ด้วยศักยภาพในการเพิ่มความสะดวกสบาย ลดต้นทุน และขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับผู้คนในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลที่เหมาะสมและการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ Virtual Bank สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม”


  • 23
  •  
  •  
  •  
  •