ถ้าให้ทายว่า “3 ยักษ์ไอที” ที่มูลค่าบริษัท (Valuation) แตะหลัก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีใครบ้าง … เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะตอบถูก อย่างน้อยก็ 2 ใน 3 ชื่อ
แน่นอน!!! บริษัทที่มูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Cap) ลอยลำแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (Trillion Dollars) เป็นรายแรกของโลก ได้แก่ Apple (ชื่อย่อหุ้น AAPL) โดย Market Cap เริ่มแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 2018 และมูลค่าบริษัทเคยแตะจุดสูงสุดที่กว่า 1.103 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ (iPhoneXS และ iPhoneXS Max) ราคาเริ่มต้นที่ 999 ถึง 1,449 เหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 8 พ.ค. 2019) มูลค่าตลาดของหุ้น Apple ประมาณ 933.56 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ชื่อที่สองที่ลอยลำตาม Apple เข้าเส้นชัยไปติด ๆ ได้แก่ Amazon (ชื่อย่อหุ้น AMZN) ห่างกันเพียง 5 สัปดาห์ โดยมูลค่าบริษัทเคยแตะจุดสูงสุดที่ 1.008 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ในช่วงเวลาอันสั้น หลังจากนั้น มูลค่าตลาดก็ตกลงมา แล้วจบวันที่น่ายินดีอยู่ที่ราว 995 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างความกังขาว่า Amazon สมควรถูกเรียกว่าบริษัท “Trillion-dollar Public Company” ได้หรือไม่? อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน (ณ วันที่ 9 พ.ค. 2019) มูลค่าตลาดของหุ้น Amazon อยู่ที่ประมาณ 944.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงกว่า Apple เล็กน้อย
สำหรับบริษัทล่าสุดที่มูลค่าบริษัทเพิ่งแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ Microsoft (ชื่อย่อหุ้น MSFT) และแตะมูลค่าสูงสุดที่ 1.011 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลาย เม.ย. ปัจจุบัน (ณ วันที่ 9 พ.ค. 2019) มูลค่าตลาดของ Microsoft อยู่ที่ประมาณ 961.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หมายความว่า ณ เวลานี้ Microsoft ได้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดแซง Apple และ Amazon ไปแล้ว
ย้อนดูจุดสำเร็จของ Trillion-dollar Public Companies ทั้ง 3 ราย
Dan Gallagher คอลัมนิสต์จาก Wallstreet Journal (WSJ) มองว่า จุดที่ทำให้ Tech Company ทั้ง 3 บริษัทก้าวมาสู่การเป็นบริษัทที่มี Market Cap สูงสุดทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเพราะ“ทั้ง 3 บริษัทต่างก็มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งผลกระทบเชิงลึกต่อชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ที่แม้แต้บริษัทขนาดใหญ่หลายๆแห่งที่อยู่มานานยังไม่สามารถทำได้มาก่อน”
iPhone จุด Leapfrog ของ Apple
“… So, three things: a widescreen iPod with touch controls; a revolutionary mobile phone; and a breakthrough Internet communications device. An iPod, a phone, and an Internet communicator. These are not three separate devices, this is one device, and we are calling it iPhone. Today, today Apple is going to reinvent the phone, and here it is.”
สาวก Steve Jobs น่าจะยังจำวาทกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ของเขาได้ เพราะเป็นคำกล่าวก่อนเปิดตัว iPhone เครื่องแรกของโลกเมื่อ 12 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มูลค่าบริษัท Apple ก้าวมาสู่หลักล้านล้านเหรียญสหรัฐฯก่อนหน้า iPhone จะถือกำเนิดขึ้นบนโลก ทั่วโลกมีบริษัทผลิตมือถือและสมาร์ทโฟนหลากหลายยี่ห้อ แต่ไม่มีใครที่เคยทำกำไรได้มากเท่าที่ iPhone ทำ และสำคัญที่สุดคือ Apple ได้เข้ามาปฏิวัติธุรกิจสมาร์ทโฟน ในแง่ของการทำให้มือถือกลายเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อเป็นเจ้าของ iPhone
นับตั้งแต่ปี 2007 ที่เปิดตัว iPhone เครื่องแรก มาถึงวันนี้ (ตามผลประกอบการ FY 2018) ยอดขาย iPhone ถือเป็นแหล่งรายได้หลักของ Apple คิดเป็นสัดส่วนราว 62% หรือ 2 ใน 3 ของยอดขายรวมทั้งหมดของ Apple ซึ่งก็กลายเป็นจุดอ่อนในแง่ความมั่นคงของบริษัท เพราะการที่พอร์ตรายได้ไม่มีการกระจายน้ำหนักย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจ
นี่จึงเป็นที่มาของการประกาศปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของ Apple ช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ด้วยการเปิดตัวบริการใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริการระบบบอกรับสมาชิกสำหรับ Apple TV (TV Streaming), Apple News Plus, Apple Arcade (Game Streaming) และ Apple Card (Credit Card) เพื่อมาเสริมรายได้จากบริการ App Care, Apple Pay และบริการอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจากผลประกอบการ 2018 (FY 2018) สัดส่วนยอดขายในธุรกิจบริการอยู่ที่ 14.97% สูงเป็นอันดับ 2 รองจาก iPhone แต่ก็ยังทิ้งห่างกันอยู่หลายขุม
การสร้างฐานรายได้ในธุรกิจบริการของ Apple เพื่อยกระดับสัดส่วนให้เพิ่มขึ้น จึงนับเป็นความท้าทายของ Tim Cook แต่ก็เป็นการสร้างรากฐานเพื่อปูทางให้ Apple กลายเป็น “บริษัทล้านล้านเหรียญฯ” ที่ยั่งยืน
จุดขายของ Amazon คือ Innovation & Excitement
ปัจจุบัน ถือเป็นค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก งานวิจัยจาก eMarketer ระบุว่า ทุก 1 ดอลล่าร์ที่ซื้อขายผ่าน e-Commerce ในสหรัฐฯ 49 เซนต์จะถูกจ่ายให้กับ Amazon ส่งผลให้รายได้ปี 2018 (FY2018) สูงถึง 232.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 30%
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ Amazon หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า บริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่รายนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 1994 ด้วยการขายแค่หนังสือและ DVD ผ่านไป 10 ปี ก็ยังคงขายหนังสือและ DVD โดยมียอดขายปี 2004 ประมาณ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่คู่แข่งอย่าง eBay มียอดขายอยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ กระทั่งปี 2005 ที่มีการเปิดตัว Amazon Prime ระบบสมาชิกที่การันตีการส่งด่วน (ภายใน 2 วัน) โดยคิดค่าธธรมเนียมเพียง 79 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งปรากฏว่ามีคนสมัครหลายล้านคน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้การซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
New York Times ลงความเห็นว่า สินค้าบนเว็ป Amazon มีมากมายหลายหลาย ตั้งแต่เนยถั่ว หนัง หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ ฯลฯ ยันดีลบริการนัดหมายช่างประปา ระบบสมาชิกดูหนัง จนถึงบริการเช่าพื้นที่เก็บข้อมูล (Cloud) แต่สิ่งที่ Amazon ขายให้กับลูกค้า นักลงทุน และสื่อต่าง ๆ เสมอมาคือ ความตื่นเต้น (Excitement) ที่เกิดจากนวัตกรรมทางความคิดและทางเทคโนโลยี
เริ่มจากความตื่นเต้นในการซื้อหนังสือรูปแบบใหม่ โดยการซื้อผ่านระบบออนไลน์ จากนั้นก็เป็นความตื่นเต้นในการหนังสือ ด้วยการอ่านผ่าน Kindle มาถึงความตื่นเต้นในกระบวนการพิมพ์หนังสือผ่าน CreateSpace จนมาถึงแนวคิด Amazon Prime ที่มาพร้อมกับไอเดียในการส่งสินค้ารูปแบบใหม่ที่เร็วขึ้น เช่น ความพยายามนำ Drone มาใช้ เพื่อพัฒนามาตรฐานการส่งสินค้าให้กับลูกค้า Prime จาก 2 วัน เหลือ 1 วัน
ตลอดจนบริการ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ช่วยเพิ่มพลังการประมวลผลบนอินเตอร์เน็ตด้วยระบบ Cloud จากเพื่อรองรับธุรกิจของ Amazon เอง ยังขายให้บริษัทอื่นร่วมใช้บริการ ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถยกระดับเครือข่ายการประมวลผลและคลังข้อมูลในต้นทุนต่ำ ทำให้สตาร์ทอัพแถวหน้าหลายราย อาทิ Lyft, Uber, Spotify, Airbnb, yelp, shazam เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ AWS ก็โตขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีความตื่นเต้นจากความพยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการช้อปปิ้งผ่านร้านค้าไฮเทคไร้แคชเชียร์ที่ชื่อ Amazon Go และความตื่นเต้นจาก Amazon Alexa ระบบซอฟต์แวร์ควบคุมด้วยเสียง (อัจฉริยะ) ที่จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฮเทคในบ้านให้สามารถทำงานอัตโนมัติด้วยคำสั่งเสียงผ่าน Alexa รวมถึงก้าวย่างสำคัญในการซื้อ Whole Foods เพื่อต่อยอดความเป็นผู้ขับเคลื่อนคุณค่าใหม่ให้กับธุรกิจเดิม (Value Driver)
ทั้งหมดนี้ทำให้สรุปได้ว่า สิ่งที่ทำให้ Amazon ก้าวมาสู่การเป็นบริษัทหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ มาจากการไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมและความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจค้าปลีกและประสบการณ์ของนักช้อป และวิถีใหม่ในการช้อปปิ้งและการใช้ชีวิตให้กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อย่างมหาศาล
จุด Turnaround ของ Microsoft เพราะมี.. Satya Nadella
“The future of Windows is to let the computer see, listen and even learn.”
ประโยคอมตะของ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft และขับเคลื่อนให้ Windows กลายเป็นระบบปฏิบัติการทุกบ้านและทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้งานในช่วงปี 1995 จนกระทั่ง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ ที่มือถือมีวิวัฒนาการกลายเป็นคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับคนยุคใหม่ทดแทนการใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบกับการที่ Microsoft ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นบริษัทไอทีเบอร์หนึ่งของโลกกลับดูเหมือน “ตกขบวน” เทรนด์สำคัญทางด้านเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เกี่ยวกับสมาร์ทโฟน, Search Engine และ Social Network ทำให้ชื่อ Microsoft ลดความสำคัญลงไปอย่างมาก
กระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญใน Microsoft นั่นคือการเข้ามาของ CEO คนปัจจุบันของ Microsoft นั่นคือ Satya Nadella ซึ่งภายใต้การนำของเขา ทำให้ปัจจุบัน Microsoft มียอดสมัครสมาชิก (Subscriber) สูงกว่า Netflix มีรายได้จากบริการระบบ Cloud Computing มากกว่า Google และเป็นครั้งแรกที่รายได้ต่อปีทะลุ 1 แสนล้านบาทในปี 2018 (อยู่ที่กว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) รวมถึงล่าสุดคือมี Market Cap ทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อ 25 เม.ย. นี้ นับว่าเรียกเกียรติแห่งความยิ่งใหญ่ให้ Microsoft ได้อีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดขึ้นในยุคของ Bill Gates
“At our core, Microsoft is the productivity and platform company for the mobile-first and cloud-first world. We will reinvent productivity to empower every person and every organization on the planet to do more and achieve more.” Nadella กล่าวตอนรับตำแหน่งปีแรก
ย้อนไป 5 ปีก่อน สิ่งที่ซีอีโอคนนี้เปลี่ยนเป็นอย่างแรก คือวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะการปรับวิธีคิดของทีมจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset พร้อมกับตัดงบที่เคยให้กับธุรกิจ Windows แล้วนำไปทุ่มให้กับธุรกิจ Cloud Computing ในชื่อ Microsoft Azure ซึ่งเป็น Cloud Platform ทำหน้าที่เป็นรากฐานเพื่อการสร้าง ติดตั้ง รวมถึงจัดการโซลูชันในการดูแลและจัดการฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบเครือข่ายให้องค์กรทุกขนาด
กระทั่งปี 2016 Satya Nadella ตัดสินใจหยุดธุรกิจ Windows ทั้งหมด แล้วทุ่มทรัพยากรไปยังธุรกิจ Cloud อย่างจริงจัง จนทำให้วันนี้ Microsoft กลายเป็นผู้เล่นที่มีสัดส่วนตลาดในธุรกิจ Cloud เป็นอันดับ 2 รองจาก AWS ของ Amazon ขณะที่ Google ตกเป็นอันดับ 3
Satya Nadella เคยกล่าวไว้ว่า “การลุ่มหลงกับความสำเร็จในอดีตคือการเริ่มต้นของจุดจบ” ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ Microsoft เคยมีประสบการณ์มาแล้วแต่เขาจะไม่ยอมให้กับดักความสำเร็จเช่นนั้นเกิดขึ้นอีกกับความสำเร็จในการเข้าเส้นชัย “Trillion-dollar Company” …อย่างน้อยก็ในยุคของเขา!
ส่ิงที่หลายคนจับตาต่อจากนี้…
Alphabet Inc. หรือ Google คือรายต่อไปที่ถูกคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นมาสู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดทะลุล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะเป็นบริษัทเทคโนโลยีอีกแห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างลึกซึ้ง จนเป็นแพลตฟอร์มการค้นหาที่มีขนาดผู้ใช้งานใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้เองที่ตลาด(หุ้น)ตั้งคุณค่าเอาไว้สูงสุด
นอกจากประเด็นที่ว่า Trillion-dollar Public Company รายที่สี่จะเป็นใคร? หรือ Alphabet จะเข้าเส้นชัยเมื่อไหร่? อีกประเด็นที่หลายคนจับจ้องต่อจากนี้คือ ใน 3 บริษัทที่ทะลุ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปได้แล้วนั้น ใครจะทะลุ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้เป็นคนแรก…เพราะการก้าวสู่ “2 ล้านล้านดอลลาร์” นี้น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนทั้ง “ความเจ๋ง” และ “ความยั่งยืน” ของบริษัทนั้นได้เป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูล Wall Street Journal, New York Times, Bloomberg Businessweek