เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี 2557 เป็นปีที่ห้างไทยสองค่ายใหญ่ ออกมาประกาศเปิดตัวโครงการใหม่กันอย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ เดอะมอลล์กรุ๊ป ที่ประกาศเปิดตัว 6 โครงการ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ก่อนที่ เซ็นทรัลกรุ๊ป จะเปิดตัว Central Embassy เพียง 2 วัน
6 โครงการใหม่ที่ว่าของเดอะมอลล์กรุ๊ป คือ EmQuartier, EmSphere, BLU PORT หัวหิน, BLU PEARL ภูเก็ต, Bangkok Mall รวมถึง Emporium ที่รีโนเวทใหม่ด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจใหญ่ในประเทศที่มีเจ้าของเป็นคนไทย แน่นอนว่าอยู่มาจนถึงวันนี้ เดอะมอลล์กรุ๊ป มีสตอรี่มากมายที่
รู้หรือไม่ เดอะมอลล์สาขาแรกในไทยตั้งอยู่ที่ไหน??? เดอะมอลล์แห่งแรกคือ สาขาราชดำริ เปิดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2524 อยู่ติดกับเกษรพลาซ่า และโรงแรมอโนมา ในยุคนั้นผู้เล่นในสนามห้างค้าปลีกบ้านเราส่วนใหญ่เป็นต่างชาติอย่าง ไทยไดมารู เมโทร โซโก้ คาเธ่ย์ โอเดียน โรบินสัน เกิดใหม่เบ่งบานกันก็เยอะ แต่เจ๊งกันก็ไม่น้อย ยุครีเทลเฟื่องฟูเกิดขึ้นก่อนที่ยุคโมเดิร์นเทรดจะเข้ามา แต่ถ้าในย่านเมืองอย่างราชดำริ ราชประสงค์ โดยมากจะเป็นห้างญี่ปุ่น อยู่มานานและแข็งแรง “เดอะมอลล์ราชดำริ” คือผู้เล่นหน้าใหม่ในดงฉลาม และแน่นอนว่าอยู่ยาก..
เดอะมอลล์สาขาต่อมาจึงเกิดขึ้นที่รามคำแหง เมื่อปี 2526 เป็นย่านที่ยังไม่มีใครไปปักหมุด นับเป็นศูนย์การค้าครบวงจรในย่านรามคำแหง ได้รับความนิยมจากชาวรามคำแหงและย่านใกล้เคียงเป็นอย่างมาก 3 ปีถัดมา เดอะมอลล์รามคำแหง3 จึงเกิดขึ้นที่ฝั่งตรงข้าม เดอะมอลล์รามคำแหง2 มีสะพานเชื่อมกันระหว่างสองเดอะมอลล์
แล้วเดอะมอลล์ก็สร้างปรากฎการณ์ให้ชาวฝั่งธนด้วยการมาของ เดอะมอลล์ท่าพระ ปี 2532 เป็นห้างแบบครบวงจร และมีสวนน้ำลอยฟ้าอยู่ชั้นบนสุดของห้าง ถ้าในยุคนั้นก็ถือว่าเป็นเป็นศูนย์การค้าที่เพียบพร้อมและทันสมัยที่สุดในฝั่งธน แต่ปัจจุบันไม่มีสวนน้ำแล้ว หลังจากปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี 2550 เพราะเจอเสาร้าวและทรุดตัว 5 ต้น จึงปิดซ่อมแซมอาคารนานหลายเดือน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เดอะมอลล์จำเป็นต้อง เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การปิดห้างในปีนั้นทำให้เดอะมอลล์ท่าพระ สูญรายได้เฉลี่ยวันละ 6 ล้านบาท สวนน้ำถูกเปลี่ยนเป็นชั้นโรงหนัง และ ฟิตเนส เพราะสวนน้ำมีส่วนทำให้โครงสร้างอาคารต้องแบกรับน้ำหนักที่มากเกิน
ตามมาติดๆกับเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ที่เปิดให้บริการปี 2534 บนถนนงามวงศ์วาน เป็นศูนย์การค้าครบวงจรอีกแห่งที่เปิดในพื้นที่ชานเมือง (ในตอนนั้น)
เดอะมอลล์สร้างความฮือฮาไปทั่วเมืองเมื่อ วันที่ 5 สิงหาคม 2537 ด้วยการเปิดตัว ศูนย์การค้า 2 แห่งพร้อมกัน คือ เดอะมอลล์บางกะปิ และ เดอะมอลล์บางแค เป็นปรากฎการณ์ที่แกรนด์มาก เพราะห้างทั้งสองแห่งเป็นศูนย์การค้าที่ครบครันและอยู่ในทำเลที่ยังค่อยไม่มีใครไปลงทุน และแกรนด์ด้วยพื้นที่รวมกันกว่า 600,000 ตารางเมตร ทั้งสองแห่งจะมีสวนน้ำที่แรกว่า FANTASIA-LAGOON ไม่ใช่สวนน้ำเล็กๆ แต่คือเต็มพื้นที่ของชั้นบนสุดา รวมถึงมี THE MALL CONVENTION CENTER เป็นฮอลล์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ไว้สำหรับจัดงานแสดงใหญ่ๆ หรือคอนเสิร์ตระดับนานาชาติ
ครั้งแรกของเดอะมอลล์ในต่างจังหวัดเกิดขึ้นที่นครราชสีมาหรือ เดอะมอลล์โคราช หัวเมืองใหญ่ที่เดอะมอลล์ไปปักธงขยายสาขาเมื่อปี 2543 โดยเลือกทำเลใจกลางเมืองบนพื้นที่ 200,000 ตารางเมตร ซึ่งปีนี้มีการรีโนเวทครั้งใหญ่
The Emporium Shopping Complex
ศูนย์การค้าไฮเอนด์แห่งแรกที่มีบูทิคแบรนด์เนมจากต่างประเทศมากที่สุด เปิดบริการเมื่อปี 2540 บนถนนสุขุมวิทใจกลางเมือง เป็นการร่วมทุนระหว่าง เดอะมอลล์กรุ๊ป และ ธนาคารกรุงเทพ จุดที่เราสนใจคือ ทำไมเดอะมอลล์จึงเลือกเปิดตัวศูนย์การค้าใหม่ในปีที่เกิดวิกฤติหลังรัฐบาลไทยประกาศลดค่าเงินบาทเพียงใหม่กี่วัน ปีนั้นธุรกิจล้มกันระเนระนาด แต่การลงทุนหลักๆของเดอะมอลล์อาศัยการทำกำไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวือหวาหรือมีความเสี่ยงมากนักเพราะไม่ได้พึ่งพาทุนจากต่างประเทศ จึงไม่ประสบภาวะหนี้สินจนดูน่าอันตราย อีกทั้งการขยายสาขาของเดอะมอลล์เป็นไปอย่างมั่นคง ทั้งเลือกทำเล และพยายามลดความเสี่ยงในทุกด้าน คือไปแล้วเดอะมอลล์ต้อง win จึงจะไป และจะเห็นได้ว่าทำเลที่เดอะมอลล์ไปปักหมุดไม่ใช่ “เรด โอเชียน” เป็นการโตแบบไม่เกินตัว จึงไม่มีความเสี่ยงใหญ่ๆอะไรมาทำให้ต้องสะดุด
Siam Paragon เปิดให้บริการเมื่อปี 2548 เป็นห้างที่เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่าง เดอะมอลล์กรุ๊ป และ สยามพิวรรธน์ ร่วมกันจัดตั้ง “บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด” และ “บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด” สยามพารากอน ถูกสร้างขึ้นด้วยงบกว่า 1,500 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร เป็นศูนย์การค้าที่รวมเอาแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์มาอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ยังมี พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์, ซุปเปอร์มาเก็ต, กูเม่ร์ มาร์เก็ต, ศูนย์ประชุมและการแสดงนิทรรศการระดับนานาชาติ “รอยัล พารากอน ฮอลล์” “พารากอน ซีนีเพล็กซ์” และ “สยาม โอเชี่ยน เวิลด์” อะควอเรี่ยมแห่งแรกที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง
อาจเรียกได้ว่าครบวงจรที่สุดสำหรับศูนย์การค้าที่เป็นทั้งห้างค้าปลีก และ สถานที่หย่อนใจ ดูดนักท่องเที่ยวปีนึงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ถ้าพูดตรงๆก็คือเป็นห้างแรกๆที่เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ และยังเป็นสถานที่ที่ถูกถ่ายถาพและเช็คอินมากที่สุดในอินสตาแกรมเมื่อปี 2013
The EM District
mega project ล่าสุดที่น่าติดตามของ เดอะมอลล์กรุ๊ป The EM District มีมูลค่าโครงการเกือบ 30,000 ล้านบาท ด้วยงบลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท (งบก้อนนี้รวมไปถึงรีโนเวทเอมโพเรียมด้วย) มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 650,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 50 ไร่ ใจกลางเมือง และเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ ได้ที่ทองขนาดนี้มาได้ ก็วินไปแล้วครึ่งนึง เพราะมันไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าแต่มันคือ “ย่านใหม่ในกรุงเทพ” ที่เกิดขึ้นจาก 3 ศูนย์การค้า คือ Emporium, EmQuartier และ EmSphere โครงการนี้ยังเปิดตัวไม่หมด แต่เราเชื่อว่า เดอะมอลล์ เปิดไพ่มาถึงขนาดนี้แล้ว EmSphere ที่กำลังจะมาก็คงไม่ได้มาเล่นๆ เป็นอีกแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่น่าจับตาไม่น้อยทีเดียว
นอกจาก The Em Distric อีก 3 โครงการที่อยู่ในเมกกะโปรเจค คือ Bangkok Mall ที่ไปได้ทำเลทองกรุงเทพฝั่งตะวันออกเส้นบางนา, BLU PORT ที่หัวหิน และ BLU PEARL ที่ภูเก็ต สองหัวเมืองใหญ่ที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนและนักท่องเที่ยว แต่ทั้ง 3 โครงการยังไม่มีกำหนดเปิดตัวที่แน่นอน ซึ่งปีที่ผ่านมาเราทราบกันดีว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจบ้านเราชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ความฝืดเคืองที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายธุรกิจประสบปัญหาการเงิน
แต่ทว่าภาพรวมการใช้จ่ายปลายปี 2558 ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอยู่เล็กน้อยในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ซึ่งก็มีปัจจัยเสริมต่างๆ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน, ราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง, จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายจากรัฐบาลที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายกันมากขึ้น ทำให้ยอดขายของเดอะมอลล์กรุ๊ปโตขึ้นถึง 20% ในช่วง 7 วันที่รัฐบาลประกาศนโยบายซื้อสินค้าลดหย่อนภาษี เดอะมอลล์กรุ๊ป จึงปิดยอดขายสิ้นปี 2558 ได้ตามเป้าที่วางไว้ คือ 58,000 ล้านบาท เติบโต 4 % อันนี้ถือเป็นข้อมูลตัวเลขเพิ่มเติมที่เราอยากเสริมให้ผู้อ่านได้ทราบเอาไว้
กว่า 35 ปีมาแล้วที่ เดอะมอลล์กรุ๊ป ค่อยๆเติบโตโดยเริ่มจากความเล็กและก็ได้เรียนรู้ว่าธุรกิจนี้ถ้าเล็กแล้วไม่มีอะไรแตกต่างคืออยู่ยาก เล็กในที่นี้หมายถึงขนาดของศูนย์การค้า ภาพรวมในการเติบโตของเดอะมอลล์ที่เรามองเห็นจึงเป็นในลักษณะ ค่อยๆขยายไปทีละขั้น ช้าแต่มั่นคง และเดอะมอลล์กรุ๊ปมีความเฉียบคมในการเลือกทำเล และการพยายามสร้างความแตกต่าง เราในฐานะผู้สังเกตการณ์ก็ขอเอาใจช่วยผู้ประกอบการค้าปลีกทุกค่าย ซึ่งเราเชื่อว่าทุกองค์กรมีส่วนในการเป็นฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย