รู้จัก Colin Huang Zheng เจ้าของ Temu เด็กชานเมืองหางโจวผู้คว้าเหรียญคณิตศาสตร์โอลิมปิก สู่มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในจีน

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

หากพูดถึงแอปพลิเคชั่น Temu ตอนนี้คนไทยคงรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้วเพราะเป็นแอปที่เพิ่งเริ่มเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยและหลายคนก็ส่งเสียงถึงความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบกับธุรกิจในประเทศได้ได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการขายสินค้าราคาถูกด้วยการตัด “คนกลาง” ออกทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้าโดยตรงจากโรงงานในประเทศจีนได้ การผลิตสินค้าในในปริมาณมากตามความต้องการของลูกค้าแบบ Real-Time สร้าง Economy of Scale  เพื่อลดต้นทุนทำให้แข่งขันด้านราคาได้เป็นอย่างดี  แต่หากพูดถึง “ผู้ก่อตั้ง” หรือเจ้าของ Temu อย่างคุณ Colin Huang Zheng หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเว็บไซต์ Bloomberg รายงานว่า Huang ผู้ถือหุ้นใหญ่ PDD Holding เจ้าของแอป Temu แอป e-commerce ขายของราคาถูกที่รุกตลาดต่างประเทศรวมถึงประเทศไทยอย่างรุนแรง พุ่งทะยานกลายเป็นมหาเศรษฐี ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว ตามการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index และขยับขึ้นมาเป็นเป็นคนรวยที่สุดอันดับที่ 25 ของโลกด้วยมูลค่า 48,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท

Huang ในวัย 44 ปี ในปีนี้รวยแซงหน้า Zhong Shanshan เจ้าของธุรกิจน้ำดื่มที่ครองตำแหน่งคนรวยที่สุดในจีนมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2021 นับเป็นมหาเศรษฐีสาย Tech คนแรกที่ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งคนรวยที่สุดในจีนได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หลังจากรัฐบาลจีนกดดันธุรกิจเอกชนในจีนอย่างหนักจนนักธุรกิจคนดังอย่าง Jack Ma แห่ง Alibaba ต้องตกอันดับไปก่อนหน้านี้

พรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์เปลี่ยนชีวิต

Hangzhou Foreign Language School (HFLS)

Huang เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานในมืองหางโจว ประเทศจีน เมืองที่สำนักงานใหญ่ Alibaba ของ Jack Ma ตั้งอยู่ ในวัยเด็ก Huang ใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของ Huang เองที่ทำให้ชีวิตเด็กจากชานเมืองเปลี่ยนไปตลอดกาลตั้งแต่ในวัย 12 ปี

Huang ที่ในเวลานั้นที่เรียนอยู่ในโรงเรียนประถมท้องถิ่นเก่งคณิตศาสตร์มากจนครูส่งไปแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกจนสามารถคว้าเหรียญมาได้ หลังจากนั้นครูก็แนะนำให้ Huang ไปสอบเข้าโรงเรียนระดับ Elite อย่าง Hangzhou Foreign Language School (HFLS) โรงเรียนที่มอบโอกาสมหาศาลให้เด็กจีนคนหนึ่ง

Huang เล่าไว้ว่าในตอนแรกตนเองคิดว่าโรงเรียนนี้เน้นสอนภาษาต่างประเทศ ไม่ได้โฟกัสที่คณิตศาสตร์ ฟิสิก เคมี อย่างที่ตัวเองสนใจ แต่สุดท้ายครูก็โน้มน้าวให้ Huang เลือกโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีแนวทางการสอนแบบเสรี เปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก

ได้ใช้ internet ในยุค 90 ก่อนฝึกงานใน Microsoft

ในวัย 18 ปี Huang ได้เข้าเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และตั้งแต่เข้าศึกษาในปีแรกความสามารถไปเข้าตามูลนิธิ Melton ที่ตั้งขึ้นโดยผู้ก่อตั้ง VeriFone บริษัทเทคโนโลยีชำระเงินระดับโลก

มูลนิธินี้จะคัดเลือกนักศึกษาที่โดดเด่นทั่วโลกให้ได้รับสิทธิพิเศษในการได้ใช้คอมพิวเตอร์และเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหาข้อมูลและติดต่อสื่อสารกับนักเรียนทุนคนอื่นๆ และจะได้เดินทางไปยังประเทศสมาชิกหลายๆประเทศในแต่ละปี สิ่งนี้ Huang บอกว่าทำให้ได้รับมุมมองในระดับสากล เป็นโอกาสที่ได้มากกว่าคนจีนส่วนใหญ่ในประเทศในเวลานั้น

หลังจากนั้น Huang ได้เรียนต่อในระดับปริญญาโทด้าน Computer Science ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา  Huang ก็ได้ฝึกงานและรับเงินเดือนจากบริษัท Microsoft เป็นที่แรกโดยทำงานช่วงสั้นๆกับ Microsoft สำนักงานกรุงปักกิ่ง รวมไปถึงได้ไปลองทำงานกับ Redmond ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

โอกาสที่ Google ความโชคดีขั้นสุด

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโท อาจารย์ที่ปรึกษาของ Huang เป็นคนแนะนำให้ไปทำงานกับบริษัทที่มีชื่อว่า Google บริษัทที่ยังไม่ได้แม้แต่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐ โอกาสที่ Huang ระบุว่าเป็นเรื่องโชคดีอย่างที่สุด

Huang เข้าทำงานใน Google ในฐานะ Software Engineer ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่ง Product Manager ในเวลานั้นก็ได้มีส่วนในการเข้าไปตั้งสำนักงาน Google ในประเทศจีนด้วย

Huang เป็นคนที่ได้เห็นการเติบโตของ Google กับตาตัวเอง เพราะหลังจาก Huang เข้าทำงานกับ Google ได้เพียง 6 เดือน Google ก็ทำ IPO เป็นครั้งแรกในปี 2004 หลังจากนั้นบริษัทก็สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลพร้อมๆกับคนที่มาร่วมงานก็ Google ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับเงินในบัญชีของ Hauang ที่โตตามไปด้วย

Huang เคยบอกเอาไว้ว่าโอกาสที่ได้ทำงานในบริษัทอย่าง Google นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งในชีวิตแบบ 10-20 ปีมีครั้งและ Huang ก็เพิ่งรู้ว่าเขาโชคดีมากขนาดไหนก็หลายปีหลังจากที่ออกจาก Google มาแล้วนั่นเอง

ออกจาก Google เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง

Huang ลาออกจาก Google ในปี 2007 และเปิดเว็บไซต์ e-commerce ที่มีชื่อว่า “Oukou” ที่เน้นขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะขายบริษัทออกไปในปี 2010 จากนั้นก็เริ่มสร้างธุรกิจที่สองที่มีชื่อว่า Leqi บริษัทเทคที่ช่วยแบรนด์ต่างชาติในการสร้างร้านค้าออนไลน์ในแพลทฟอร์ม e-commerce ใหญ่ๆในจีนอย่าง Tmall รวมถึง JD.com

บริษัทที่ 3 ที่ Huang ก่อตั้งก็คือบริษัทผู้ผลิตเกมที่มีชื่อว่า Xunmeng ที่สร้างเกมเล่นแบบ Web-Base ที่มีตัวละครหญิงแนวเซ็กซี่ ก่อนที่ในปี 2013 ด้วยวัย 33 ปี Huang เคยเล่าเอาไว้ว่าด้วยปัญหาสุขภาพจากการติดเชื้อที่หูทำให้เขาตัดสินใจ Early Retire ออกจากการทำงานแต่สุดท้าย Huang เองก็หยุดทำงานได้ไม่นานนักและลงลุยตลาด e-commerce ในจีนที่มี Alibaba และ JD.com ครองตลาดอยู่ด้วยแพลทฟอร์มที่ประสบความสำเร็จด้วยความแตกต่างอย่าง Pinduoduoในปี 2015 นั่นเอง

Game x e-commerce = Pinduoduo

Credit : Dennis Diatel / Shutterstock.com

ด้วยประสบการณ์จากการสร้างเกม และแพลทฟอร์ม e-commerce กลายเป็นไอเดียให้ Huang นำทั้งสองอย่างนี้มาใช้กับการขายของออนไลน์ กลายเป็นแพลทฟอร์ม e-commerce แนวใหม่ที่มีชื่อว่า Pinduoduo โมเดลธุรกิจที่สามารถระดมทุนได้นับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

แนวคิดของ Huang ก็คือเอาความสนุกของเกม มาผสมกับแอปพลิเคชั่นซื้อของออนไลน์ มีเกมที่ดึงดูดให้คนเข้าแอปพลิเคชั่นทุกๆวัน กลยุทธ์ที่ Huang เปรียบเทียบว่าอยากจะทำให้ Pinduoduo เป็นเหมือนกับห้าง Costco ห้าง Warehouse store แบบรับสมาชิกแบบเดียวกับ Top Club ที่คนไทยเคยสัมผัสอยู่ระยะหนึ่ง เข้ากับความสนุกของ Disneyland มอบความสนุกด้วยการให้เงินรางวัลกับการเล่นเกม รวมไปถึงการมอบส่วนลดเยอะๆสำหรับการชวนเพื่อนมาซื้อของในแบบ Group-Buy

กลยุทธ์ของ Pinduoduo ในการคิดค่าคอมมิชชั่นจากคนขายที่นำสินค้ามาโปรโมทในแอปเพียงเล็กน้อย ดึงดูดใหนคนขายจำนวนมากเข้ามาสู่แพลทฟอร์ม Pinduoduo ให้สามารถขายของได้โดยไม่มีสต็อกสินค้าเป็นของตัวเอง นอกจากนี้แพลทฟอร์มยังสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาจากร้านค้าได้เป็นจำนวนมาก และเรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักของแพลทฟอร์มก็ว่าได้เพราะเป็นส่วนที่สร้างรายได้มากกว่ารายได้จากยอดขายซะอีก

หลังจากปี 2015 Pinduoduo เติบโตแบบพรวดพราดนับตั้งแต่นั้น ความร่ำรวยของ Huang พุ่งตามจนติดอันดับโลกหลังบริษัท PDD Holdign เจ้าของแพลทฟอร์ม Pinduoduo เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กในปี 2018

ลาตำแหน่ง CEO ในปี 2020 เปิดทางผู้นำรุ่นใหม่

Huang ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท PDD Holdign เจ้าของแพลทฟอร์มของ Pinduoduo ในปี 2020 เปิดทางให้ Chen Lei พนักงานรุ่นก่อตั้งผู้เคยดำรงตำแหน่ง Chief Technology Officer (CTO)ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนเพื่อเป็นการเปิดทางให้ผู้นำรุ่นใหม่ และหันไปทำตามความสนใจส่วนตัวในการวิจัยด้านอาหารและด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตามอีกเหตุผลหนึ่งที่นักวิเคราะห์มองเข้าไปก็คือ ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนอย่างเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งบริหาร อย่างไรก็ตาม Huang ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้น PDD Holding ในสัดส่วนสูงสุดที่ 25%

Temu รุกตลาดสหรัฐ ซื้อโฆษณาใน Super Bowl

แพลทฟอร์ม Temu แอปพลิคชั่นในเครือ Pinduoduo ที่รุกตลาดนอกประเทศจีนด้วยได้ เปิดตัวในสหรัฐครั้งแรกในเดือนกันยายน 2022 ใช้กลยุทธ์ขายของราคาถูกแบบที่เรารู้กันดี อย่างไรก็ตามในช่วงแรกนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่ง Temu เปิดตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ด้วยการทุ่มซื้อโฆษณาใน Super Bowl การแข่งขันอเมริกันฟุตบอลที่ชาวอเมริกันทั้งประเทศรวมถึงคนทั่วโลกติดตามชม

การเปิดตัวสู่สายตาคนอเมริกัน พร้อม tagline “Shop Like A Billionaire” หรือ “ช้อปปิ้งแบบเศรษฐีพันล้าน” ในครั้งนั้นทำให้ Temu เป็นแอพที่ครองแชมป์ยอดดาวน์โหลดสูงสุดทั้งใน Google Play store และ Apple App Store แซงหน้า TikTok, Amazon และ Instagram เลยทีเดียว

ในไตรมาสแรกของปี 2024 PDD Holdign บริษัทเจ้าของแพลทฟอร์ม Pinduoduo และ Temu รายงานผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากถึง 246% อยู่ที่ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 137,000 ล้านบาทโดย Temu สามารถครองตลาดร้านค้าออนไลน์แบบให้ส่วนลดในสหรัฐอเมริกาได้สัดส่วนถึง 17% แล้ว

ในขณะที่ในจีน Pinduoduo เองก็ครองส่วนแบ่งตลาด e-commerce ได้มากถึง 19% (ข้อมูลกลางปี 2023) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 7.2% ในปี 2019 ตามหลังแพลทฟอร์ม Taobao และ Tmall สองแพลทฟอร์ม e-commerce ของ Alibaba ที่ครองส่วนแบ่งรวมกัน 44% ส่วน JD.com ครองตลาดในสัดส่วน 24%

Temu กับเสียงวิจารณ์จากหลายประเทศ

ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่เป็นกังวลกับการทำธุรกิจของ PDD Holding เจ้าของแอป Temu ที่อาจจะเข้ามาสร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจในประเทศ หลายๆประเทศก็วิพากษ์วิจารณ์และเตรียมออกข้อบังคับออกมาควบคุมแพลทฟอร์ม Temu ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะในยุโรป ที่กลุ่มผู้บริโภคกล่าวหาว่า Temu ใช้ “กลอุบายโน้มน้าวใจ” ให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเกินตัว และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ

ที่เกาหลีใต้เองก็มีรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามาตรวจสอบแพลทฟอร์ม Temu ในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริงและใช้วิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งคุณ Chen ประธาน PDD Holding คนปัจจุบันเองก็ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า บริษัทพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลในหลายๆประเทศด้วยทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวชีวิตบางส่วนในชีวิตของ Colin Huang ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo และ Temu ที่กำลังเป็นที่สนใจในเวลานี้ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้ Huang กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนในเวลานี้

ที่มา: Bloomberg, Business Insider, South China Morning Post, CNN


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •