เรื่องของศัพท์แสงทางการตลาด เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้อัปเดทกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะการทำการตลาดและธุรกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจในเรื่องราวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเกิดว่าไปพบลูกค้าหรือเคยได้ยินคำศัพท์เหล่านี้ขึ้นมาก็จะสามารถเข้าใจบทสนทนาหรือสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วทันที โดยไม่ต้องไปเปิด Google หรือคนหาความหมายให้วุ่นวาย ถ้าหากว่าเราหมั่นเรียนรู้กันแต่เนิ่นๆ แล้ว ดังนั้น ลองมาอัปเดทคำศัพท์ที่อาจจะเรียกว่าเป็นศัพท์แสงที่เป็นคำ Buzzwords ในวงการมาร์เก็ตติ้งที่เราอาจเคยผ่านหูผ่านตากันมาแล้ว แต่อาจจะไม่ได้โฟกัสจริงๆ ว่าหมายถึงอะไรกัน
#1 DEI – Diversity, Equity, and Inclusion
DEI เป็นคำย่อจากคำ 3 คำ ได้แก่ Diversity หมายถึง ความหลากหลาย, Equity หมายถึง ความเท่าเทียม และ Inclusion หมายถึง การผนวกรวม หรือ การรวมกัน หรือในที่นี้คือการสื่อว่า ไม่ว่าจะมีความแตกต่างใด แต่จากนี้จะถูกผนวกรวมเข้าด้วยกันเป็นสิ่งใหม่ที่รวมไว้ซึ่งความหลากหลายนั่นเอง
ทั้งสามคำนี้มักจะเห็นบ่อยๆ ในช่วงเทศกาล Pride month ที่แบรนด์หรือองค์กรจะหยิบมาพูดถึงการให้ความสนับสนุนและสส่งเสริมผู้คนทั้ง 3 ด้านนี้ จนเรียกรวบคำว่าเป็น DEI นั่นเอง ความสำคัญของ 3 คำนี้ ในโลกของธุรกิจและการตลาดมีความสําคัญมากทีเดียวในปัจจุบัน เพราะงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคพร้อมที่จะยอมรับและให้กับแบรนด์ที่มีค่านิยมคล้ายกันกับพวกเขาทันที โดยเฉพาะประเด็นการให้การสนับสนุน DEI ซึ่งที่ผ่านมามีหลายแบรนด์สร้างสรรค์แคมเปญเกี่ยวกับประเด็นนี้ออกมามากมาย โดยประเด็นของ DEI ครอบคลุมตั้งแต่ เรื่องสีผิว เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม เพศหรือรสนิยมทางเพศ อายุ ศาสนา ภาษาสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถ และแม้แต่มุมมองทางการเมืองด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับ DEI ก็ถูกจับตาเช่นกันว่าไม่ควรทำแบบฉาบฉวย หรือที่เรียกว่า “Rainbow-Washing” เพราจะทำให้เกิดกระแสตีกลับไปยังแบรนด์ทันทีแทนที่จะเป็นเสียงชื่นชม
#2 Digital Maturity
Digital maturity ‘วุฒิภาวะทางดิจิทัล’ หมายถึง การวัดความสามารถของแบรนด์หรือนักการตลาดในการตอบสนองอย่างรวดเร็ว มีการปรับตัวที่ไวต่อเทคโนโลยีดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากการดิสรัพท์ของเทคโนโลยีเพื่อยกระดับธุรกิจของคุณ
หนึ่งในสิ่งที่ขับเคลื่อนการที่เราต้องรู้จัก ‘วุฒิภาวะทางดิจิทัล’ ก็คือวิวัฒนาการที่ (โคตร) เร็วแบบติดสปีดของเทคโนโลยี โดยที่แบรนด์หรือธุรกิจจำเป็นจะต้องก้าวไปให้ทันให้ได้เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลังเลย
ทั้งนี้ การวัดว่าองค์กรหรือแบรนด์ของคุณนั้นมีความสามารถทางดิจิทัลที่ว่องไวมากน้อยแค่ไหนเป็นสิ่งจำเป็น โดยที่บริษัทของคุณจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง หรือพูดง่ายๆ ว่าคุณไม่สามารถหยุดได้เลย การก้าวให้ทันและติดตามเทคโนโลยีเหมือนกับการวิ่งมาราธอนที่ไม่สิ้นสุด การทําความเข้าใจวุฒิภาวะทางดิจิทัลของแบรนด์คุณเป็นกุญแจสําคัญในการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเครื่องมือในการวัดระดับ ‘วุฒิภาวะทางดิจิทัล’ มากมาย ที่พัฒนาโดย Google และ Boston Consulting Group ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง โมเดลนี้มุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อให้เกิดการเติบโตทางดิจิทัลในทุกด้านของธุรกิจ
#3 Newsjacking / Trendjacking
Newsjacking หรือ Trendjacking บางคนก็เรียกว่า เป็นการตลาดแบบโหนกระแส คือการใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ข่าว หรือเรื่องราวดราม่าเพื่อโปรโมทธุรกิจ ซึ่งคำศัพท์นี้ คนที่เริ่มต้นนิยามได้แก่ David Meerman Scott กูรูด้านการวางกลยุทธ์สื่อสารดิจิทัล เจ้าของหนังสือ เรื่อง “Newsjacking” ให้นิยามคำนี้ว่า “The process by which you inject your ideas or angles into breaking news, in real-time, in order to generate media coverage for yourself or your business.” หรือหมายถึง กระบวนการที่คุณใส่ความคิดหรือมุมไอเดีย ของคุณลงไปในข่าวด่วน กระแสเรียลไทม์ เพื่อสร้างกระแสให้กับธุรกิจของคุณ ยกตัวอย่าง เช่นกระแสไวรับคำว่า ‘ขอให้พระลงโทษอย่างหนัก’ , ‘งานไม่หนักแน่นะวิ’ แล้วอาจจะมีการพิมพ์ข้อความเหล่านี้ลงบนโปรดักส์ของคุณเช่น บนเสื้อ หรือบนแก้ว เป็นต้น หรืออย่างที่เราเห็นบ่อย ๆ ที่ Burger King หรือ Tops Market เล่นกับกระแสบนโซเชียล
อย่างไรก็ตาม พึงระวังว่าการเล่นกับข่าวหรือกระแส ก็มีสิทธิที่จะดราม่าได้เช่นกัน กรณีอย่าง Ye นักร้องและดีไซนเนอร์ชื่อดัง โหนกระแสของ Black Lives Matter แต่กลับมาใช้ในวลีว่า White Lives Matter ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเสียดสีประเด็น Racism ซึ่งผลเสียทำให้หลายแบรนด์ไม่ขอที่จะข้องเกี่ยวกับเจ้าตัวด้วยแล้ว
#4 SoLoMo (Social, Local and Mobile)
SoLoMo เป็น Buzzwords ที่มาจาก 3 คำได้แก่ Social, Local และ Mobile ใช้ในเชิงการตลาดที่สื่อถึงการมาบรรจบกันของทั้งสื่อสังคม ท้องถิ่น และมือถือ ซึ่งเดิมนั้นอาจจะอยู่แบบแยกกัน แต่เมื่อ 3 คำนี้รวมกัน ก็จะเกิดพลังของการปฏิวัติด้วยเทคโนโลยี สร้างโฉมใหม่ของอีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง สื่อ และการประชาสัมพันธ์ด้วย
คำว่า SoLoMo รวมๆ แล้วเป็นคำที่อธิบายไอเดียที่ว่าทุกวันนี้ ลูกค้าหรือผู้บริโภคในปัจจุบันเสพคอนเทนต์จำนวนมากผ่านมือถือและเชื่อในความเห็นของคนในคอมมูนิตี้ (Social) รอบๆ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตัวเอง (Local) นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า 80% ของผู้ใช้มือถือยังชื่นชอบโฆษณาในท้องถิ่น และ 75% ของผู้ดูโฆษณาในท้องถิ่นก็มีแนวโน้มที่จะเทคแอคชั่นมากกว่าข่าวสารจากแหล่งอื่น
นักการตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากแนวทาง SoLoMo เพื่อวางโพสิชั่นทางธุรกิจและแบ่งเซ็กเมนต์ที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกได้ รวมไปถึงเพื่อให้สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ ผ่านช่องทางที่ทำให้เกิดแอ็คชั่นโดยเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ รวมไปถึงมอบบริการและประสบการณ์ความเป็นเพอร์ซันนอลไลซ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้าได้ด้วย เช่น การใช้ประโยชน์จากจุดเช็คอินต่างๆ เป็นต้น
#5 Social Proof
เป็นอีกคำที่สะท้อนว่าสังคมออนไลน์มีอิทธิพลต่อการทำการตลาดและการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพราะเวลาที่เราซื้อของเชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องเสิร์ชอ่านรีวิวสินค้าก่อนสั่งซื้ออย่างแน่นอน โดยข้อมูลของ Trustpilot ผู้ซื้อ 89% อ่านบทวิจารณ์ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ดังนั้นคำว่า Social Proof (หรือแปลตรงๆ ว่าหลักฐานทางสังคม ในที่นี้หมายรวมถึงพลังโซเชียลมีเดียด้วย) จึงเป็นการสื่อว่าสิ่งนี้สังคมเขาได้พิสูจน์กันแล้วว่า …. นั่นเอง
รูปแบบพฤติกรรมสังคมและจิตวิทยาที่ผู้คนติดตามกลุ่มคนจำนวมาก หรือคัดลอกสิ่งที่คนอื่นกําลังทํากันอยู่เป็นหลักฐานทางสังคมว่าผู้คนส่วนใหญ่อธิบายถึงอิทธิพลที่การกระทําและพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากๆ นั้นมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
การสร้าง Social Proof ส่งอิทธิพลถึงวิธีที่ลูกค้ารับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ของเราได้ ไม่เฉพาะแค่เรื่องการสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ยังนำไปสู่การกระตุ้นและเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายอื่นได้เข้ามาซื้อสินค้าของคุณได้ด้วย การรับรองและบทวิจารณ์เชิงบวกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคุณ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณมีคุณค่าต่อพวกเขามากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากเราสามารถใช้พลังของสิ่งที่เรียกว่า Social Proof ผ่านแคมเปญการตลาดต่างๆ ได้ก็จะสามารถพาแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้ไม่ยาก
5 คำศัพท์แสงแบบ Buzzwords เกี่ยวกับการตลาด ซึ่งบางคำแม้จะไม่ใหม่กิ๊ก แต่ก็เป็นคำที่เริ่มได้ยินบ่อยมากขึ้น หรือบางคนเคยได้ยินแล้วแต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร บทความนี้น่าจะช่วยคลี่คลายความสงสัยได้ดีทีเดียว.
Source :