หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ผ่านมา ให้ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูร้อน และเข้าสู่ “ฤดูฝน” อย่างเป็นทางการ ซึ่งฤดูฝนจะอยู่ไปอีกระยะเวลา 6 เดือน หรือสิ้นสุดในช่วงเดือนตุลาคม 2565 และความชุ่มฉ่ำของสายฝนนี้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ผลประโยชน์สูงสุด ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 1/65 หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลค่อนข้างสดใสมาก ผลประกอบการส่วนใหญ่เป็นบวก เนื่องจากรับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย
โดยการคาดการณ์ของฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่าก่อนหน้านี้ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวลงไประดับหนึ่งแล้ว บวกกับตลาดรอปัจจัยใหม่ และยังมีแรงกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น จึงหาที่พักปลอดภัยมาที่กลุ่มโรงพยาบาลเพื่อหนีความเสี่ยง ขณะที่บล.เคทีบีเอสที มองการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลรับการผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จะออกมาดีจากตัวเลขผู้ติดเชื้อมีโอกาสพุ่งขึ้นสูง รพ.ประกันสังคมได้ประโยชน์ในส่วนนี้หลังรัฐจำกัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนใช้สิทธิตามสุขภาพพื้นฐาน
กลุ่มหุ้นโรงพยาบาลน่าสนใจ รับประโยชน์ช่วงหน้าฝน ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2565
หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล
เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ฤดูฝน อากาศย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สุขภาพอาจเก็บไข้ป่วย เช่น เป็นไข้หวัด ไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน มีน้ำมูก ไข้เลือดออกเนื่องจากในฤดูกาลนี้รับเชื้อได้จากยุ่งลาย หรือโรคทางผิวหนัง เช่น โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า เป็นต้น จึงส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ประชาชนจะต้องเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่น่าสนใจ 5 หลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลงานเป็นบวก ได้แก่
1. PR9 (บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า)
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้รวม 979.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 678.3 ล้านบาท จำนวน 300.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44% และมีกำไรสุทธิ 157.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 38.5 ล้านบาท จำนวน 118.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 308%
ส่วนแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 2/65 บริษัทมองว่าเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 เนื่องจากมีแนวโน้มปริมาณผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้ป่วย OPD และ IPD โดยรายได้เฉลี่ยต่อการรักษาจากกลุ่มผู้ป่วยใน (IPD Revenue per admission) สะท้อนถึงศักยภาพและความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาลในการรองรับการรักษาโรคซับซ้อนได้ดี ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงมีความจำเป็นและความต้องการการรักษาพยาบาลที่มีความซับซ้อนสูง
• มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 11,165.46 ล้านบาท
• ราคาปิดที่ 14.20 บาท (2 มิ.ย.65)
• ค่า P/E อยู่ที่ 30.37 เท่า
• ค่า P/BV 2.52 เท่า
2. THG (บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป)
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1/65 ของ THG ยังคงเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125.4% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่ทำได้ 1,566 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิของงบการเงินรวมอยู่ที่ 552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 347.5 % พลิกฟื้นจากงวดเดียวกันปี 64 ซึ่งขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 223 ล้านบาท
ปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการมีทิศทางที่ดี เป็นผลจากบริษัทมีการปรับตัวให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงภายใต้มาตรฐานการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ที่มีรายได้ 3,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 135.2 % จาก 1,464 ล้านบาทในงวดเดียวกันปี 64 โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องทั้งการให้บริการใน Hospitel และโรงพยาบาลสนาม รวมทั้ง THG มีการให้บริการฉีดวัคซีนภาครัฐและวัคซีนทางเลือก ขณะที่การควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายก็ทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
• มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 54,026.05 ล้านบาท
• ราคาปิดที่ 63.75 บาท (2 มิ.ย.65)
• ค่า P/E อยู่ที่ 25.98 เท่า
• ค่า P/BV 5.71 เท่า
3. CMR (บมจ.เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์)
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 บริษัท เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ งวดไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีกำไรสุทธิ 115.89 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 82.38 ล้านบาท หรือมีกำไรเพิ่มขึ้น 0.03 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับปี 2564 มีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.02 บาท ทั้งนี้ CMR (บมจ.เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์) เป็นผู้ดำเนินการโรงพยาบาลเอกชน มีห้องตรวจโรคให้บริการรักษาโรคทั่วไป โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคทุกสาขาพร้อมอุปกรณ์การรักษาและวินิจฉัยโรค
• มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 10,942.90 ล้านบาท
• ราคาปิดที่ 2.72 บาท (2 มิ.ย.65)
• ค่า P/E อยู่ที่ 33.61 เท่า
• ค่า P/BV 2.65 เท่า
4. VIBHA (บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี)
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2565 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2565 โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 454.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136.95% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 191.90 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,395.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.64% เนื่องมาจากบริษัท, บริษัทย่อย และบริษัทร่วมให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา-19 ทำให้ผู้มาใช้บริการเพิ่มมากกว่าปีก่อน และบริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 88.95 ล้านบาท
• มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 34,754.22 ล้านบาท
• ราคาปิดที่ 2.56 บาท (2 มิ.ย.65)
• ค่า P/E อยู่ที่ 16.81 เท่า
• ค่า P/BV 2.64 เท่า
5. VIH (บมจ.ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์)
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ VIH โรงพยาบาลวิชัยเวช แจ้งผลประกอบการรวมบริษัทย่อย งวดไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 371.96 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 มีกำไรสุทธิอยุ่ที่ 61.81 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.65 บาท เมื่อเทียบกับปี 2564 มีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.11 บาท
กลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวชฯ ประกอบด้วยโรงพยาบาลในกลุ่ม 4 โรงพยาบาล คือ 1. โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย 2. โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม 3. โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล สมุทรสาคร และ 4. โรงพยาบาลวิชัยเวช แยกไฟฉาย ซึ่งทั้ง 4 โรงพยาบาลให้บริการด้านการรักษาพยาบาลในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ระดับทุติยภูมิ (Secondary) มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทุกสาขา และมีความโดดเด่นด้านโรคกระดูกและข้อ พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง
• มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 5,991.99 ล้านบาท
• ราคาปิดที่ 10.50 บาท (2 มิ.ย.65)
• ค่า P/E อยู่ที่ 3.83 เท่า
• ค่า P/BV 2.02 เท่า
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันมีความเสี่ยงสารพัดอยู่รอบด้าน ฉะนั้นแล้วทุกการลงทุนย่อมมีทั้งขึ้นและลงเสมอ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มใด หรือหลักทรัพย์ใดต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ พิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้พอร์ตของเรานั้นไม่ติดลบ
ธุรกิจเฮลท์แคร์ไปต่อ! THG & BDMS กำไรอู้ฟู้ หมอบุญ – หมอปุย เถหน้าตักซื้อหุ้นบิ๊กล็อต