คนไทยวิตกหนัก! เงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพพุ่ง น้ำมันแพง กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบ 9 เดือน ดัชนีการครองชีพครัวเรือนกอดคอร่วงด้วย

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

เงินเฟ้อ

หรือจะเข้าสู่ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หลังจากที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ต่างออกมาให้ข้อมูลต่อความกังวลเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2565 หอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร

ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงเป็นลำดับและรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจธุรกิจและการเปิดประเทศมากขึ้นแล้วก็ตามซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 34.3 37.8 และ 48.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 34.6 38.0 และ 49.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม

ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.7 เป็น 40.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

เงินเฟ้อ

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนจากระดับ 25.4 มาอยู่ที่ 25.7 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะคลี่คลายลงเป็นลำดับและรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจธุรกิจและการเปิดประเทศมากขึ้น แต่ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำมากแสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 48.0 มาอยู่ที่ระดับ 46.9 เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีมากขึ้น ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำมากเช่นเดียวกันและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยผู้บริโภคเริ่มมีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3.0% ในปีนี้

ดัชนีการครองชีพครัวเรือนของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ร่วงต่ำเป็นเดือนที่ 3

ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ของภาครัฐได้ทยอยสิ้นสุดลงต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม 2565 ทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่สี่ และเริ่มมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ส่วน 10 มาตรการบรรเทาผลกระทบที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 เน้นครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ขณะที่ระดับราคาสินค้ายังปรับสูงขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. 65 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 7.1% YoY (Year on Year Comparison เป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในระยะเดียวกันของ 2 ปี) ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ปี โดยราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดโดยเฉพาะราคาอาหารสด +5.82% และพลังงาน +37.24% ทั้งจากการทยอยปรับขึ้นค่าน้ำมัน / ก๊าซหุงต้ม และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร สถานการณ์การดังกล่าวกดดันดัชนี KR-ECI (ดัชนีการครองชีพครัวเรือนของครัวเรือนไทย) ในเดือนพฤษภาคม 2565 และ 3 เดือนข้างหน้า ให้ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันอยู่ที่ 31.2 และ 34.0 จาก 32.5 และ 35.5 ในเดือนเม.ย.65 ครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาพลังงาน

และเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการใช้จ่ายทั้งจากฝั่งรายได้และรายจ่ายพบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นปรับลดลง ขณะที่มีจำนวนครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปรับสูงขึ้น บ่งชี้ว่าในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ในฝั่งของรายได้ครัวเรือนยังปรับลดลง เนื่องจากตลาดแรงงานที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จากสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานในไตรมาส 1/2565 จะลดลงอยู่ที่ 1.5% จาก 1.7% ในไตรมาส 4/2564 แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.78 ล้านคน จาก 2.63 ล้านคนในไตรมาส 4/2564 โดยจำนวนการทำงานที่ลดลงดังกล่าวบ่งชี้ว่า แม้ยังมีงานทำแต่ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงส่งผลให้รายได้ปรับตัวลดลง ความไม่สอดคล้องกันระหว่างรายได้และรายจ่ายจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อไปในระยะข้างหน้า

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคิดเห็นในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือ/บรรเทาผลกระทบสินค้าราคาสูงจากภาครัฐฯ พบว่า 35.1% ของครัวเรือนมองว่า มาตรการดังกล่าวช่วยบรรเทาผลกระทบได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะที่ 24.5% มองว่าไม่สามารถเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ได้ เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการบางมาตรการเข้าถึงได้ยาก อย่างไรก็ดี อีก 26.0% มองว่าช่วยบรรเทาปัญหาได้จริง

เงินเฟ้อ

เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่าอยากให้ทางภาครัฐปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างไรบ้าง ผลสำรวจระบุว่าครัวเรือนร้อยละ 37.7 อยากให้ภาครัฐออกมาตรการที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ขณะที่ 28.3% อยากให้มีการแก้ไขการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ให้เข้าถึงได้ง่ายแก่คนทุกกลุ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผลสำรวจ 32.2% ระบุว่าอยากให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการที่แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เช่น การออกมาตรการที่ช่วยเพิ่มทักษะความรู้ที่สามารถนำมาใช้เพิ่มรายได้

สถานการณ์สินค้าราคาสูงจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไปอีกสักระยะ เมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้ผลิตพบว่าปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงที่ 13.3% YoY ซึ่งจากนี้จะเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคมากขึ้นซึ่งจะยิ่งกดดันให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น

โดยสาเหตุหลักของการปรับขึ้นของราคาสินค้ามาทั้งจากทางด้านอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ด้านอุปทานยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซียยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเฉพาะราคาพลังงาน แม้ว่ากลุ่มโอเปคจะมีแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิต แต่การยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไปยังยุโรป การคลายล็อกดาวน์ของจีนยังกดดันราคาพลังงานในตลาดโลก นอกจากนี้บางประเทศ เช่น ตุรกี รัสเซีย ยูเครน ห้ามส่งออกอาหาร เช่น ข้าวสาลี เนย เนื้อวัว ต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งกดดันให้ราคาอาหารต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจะมีการปรับโควิด-19 จากโรคติดต่อสู่โรคประจำถิ่น น่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของภาคครัวเรือนบางส่วน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์สินค้าราคาสูงในช่วงที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จะยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนให้มีความเปราะบางต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ฉะนั้นแล้วจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งมือแก้ไขเพื่อให้ในอนาคตประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดนั่นเอง


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
sabuysuk
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้กำไร