กรณีศึกษา Herbalife กับคดีแชร์ลูกโซ่ที่จบด้วยการจ่ายค่าเสียหาย 6,600 ล้านบาท และบทบาทของ FTC ควบคุมธุรกิจขายตรงในสหรัฐ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ในช่วงที่ผ่านมาเกิดข่าวครึกโครมเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่กำลังถูกกล่าวหาว่าดำเนินธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ข่าวนี้สร้างความตื่นตระหนกและตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้จากธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ที่แฝงมาในคราบของโอกาสทางธุรกิจ เหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึงกรณีศึกษาของ Herbalife บริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่เคยถูกสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FCT (Federal Trade Commission) ฟ้องร้องในข้อหาทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ หรือ Pyramid Scheme เมื่อปี 2016 จนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจมาแล้ว

การศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Herbalife จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงปัญหาของการทำธุรกิจ MLM ที่เข้าข่ายการเป็นแชร์ลูกโซ่ ป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อ รวมไปถึงเข้าใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันไม่ให้ธุรกิจประเภทนี้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคได้

Herbalife กับคดีธุรกิจแชร์ลูกโซ่ในปี 2016

Herbalife บริษัทขายตรงระดับโลก ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและควบคุมน้ำหนัก เคยตกเป็นข่าวใหญ่จากการถูก FTC ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา ฟ้องร้องในข้อหา ดำเนินธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยคดีสิ้นสุดไปแล้วด้วยการที่ Herbalife จ่ายเงินค่าเสียหายเพื่อยุติคดีโดยมีการนำเงินเหล่านั้นไปชดเชยให้กับผู้เสียหาย

คดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 นั้น FTC ระบุว่า Herbalife ใช้ กลยุทธ์การตลาดแบบพีระมิด  (Pyramid Scheme) หรือธุรกิจรูปแบบแชร์ลูกโซ่ ที่เน้นการรับสมัครสมาชิกใหม่มากกว่าการขายสินค้าจริง โดยสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนจากการชักชวนคนอื่นเข้าร่วมเครือข่ายมากกว่าค่าตอบแทนจากการขายสินค้า ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระดับล่างๆ ของพีระมิด แทบไม่มีโอกาสสร้างรายได้ได้จริงๆ

ในคดีนั้น FTC ระบุว่าการทำธุรกิจของ Herbalife ในเวลานั้นเป็นแชร์ลูกโซ่เนื่องจากเน้นการรับสมัครสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า ให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่ายสมาชิกมากกว่าการขายสินค้าจริง สมาชิกได้รับแรงจูงใจให้รับสมัครสมาชิกใหม่เพื่อสร้างรายได้มากกว่าการขายผลิตภัณฑ์

ที่สำคัญก็คือ Herbalife ในเวลานั้นมีการบังคับให้สมาชิกซื้อสินค้าโดยสมาชิกจะถูกบังคับหรือกดดันให้ซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อรักษาสถานะ หรือเพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระดับล่าง นอกจากนี้ FTC ยังระบุว่า Herbalife ยังมีระบบผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ระบบการจ่ายผลตอบแทนของ Herbalife ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกที่อยู่ระดับบนของพีระมิด สมาชิกระดับล่างมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาเกินจริง เกี่ยวกับศักยภาพในการสร้างรายได้ของสมาชิกด้วย

จบคดีด้วยการจ่ายค่าเสียหาย 6,600 ล้านบาท

คดีความนี้สิ้นสุดลงด้วยการที่ Herbalife ยอมจ่ายเงินค่าเสียหาย 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,600 ล้านบาทให้กับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อยุติคดี และตกลงที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการขายสินค้ามากกว่าการรับสมัครสมาชิก รวมถึงปรับปรุงระบบการจ่ายผลตอบแทนให้เป็นธรรม นอกจากนี้ Hebalife ยังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างเช่น การจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้จัดจำหน่ายตามยอดขายปลีกจริง ไม่ใช่จากการรับสมัครสมาชิกใหม่ รวมปถึง FTC กำหนดให้ ผลตอบแทนที่จ่ายให้กับผู้จัดจำหน่ายอย่างน้อย 2 ใน 3 จะต้องมาจากยอดขายปลีกที่ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ Herbalife ยังถูกห้ามไม่ให้แสดงข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับรายได้ที่อาจเกิดขึ้น และต้องชดเชยให้กับผู้บริโภคสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวง

การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจทั้งหมดนี้ FTC กำหนดให้มีผู้ตรวจสอบอิสระเข้าไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นต่อเนื้องเป็นเวลา 7 ปีด้วย

หลังจากการถูกฟ้องร้องในปี 2016 Herbalife ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามข้อตกลงกับ FTC โดยเน้นการขายสินค้าและให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและสนับสนุนสมาชิกในการขายสินค้ามากขึ้น โดยในปัจจุบัน Herbalife ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจและมีผลประกอบการที่ทรงตัว โดยในไตรมาสล่าสุดที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา Herbalife มีรายได้ 1,280 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -2.50% ซึ่งทำให้รายได้ของบริษัทในช่วงสิบสองเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,040 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -0.01% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

FTC กับมาตรการควบคุม MLM ในสหรัฐอเมริกา

FTC มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจ MLM ในสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันไม่ให้ ธุรกิจแบบ MLM ดำเนินธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดย FTC ได้กำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การออกกฎหมายและข้อบังคับ เพื่อควบคุม MLM เช่น Business Guidance Concerning Multi-Level Marketing ที่กำหนดให้ MLM ต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญแก่ผู้เข้าร่วม รวมถึงการกำหนดให้ MLM ต้องมี Income Disclosure Statement” เพื่อแสดงข้อมูลรายได้ของสมาชิกอย่างโปร่งใส

สำหรับ Income Disclosure Statement หรือเอกสารแสดงรายได้ ที่ FTC กำหนดให้ MLM ต้องจัดทำขึ้น เพื่อแสดงข้อมูลรายได้ของสมาชิกอย่างโปร่งใส โดยทั่วไปแล้ว เอกสารนี้จะประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ เช่น รายได้เฉลี่ย ช่วงรายได้ของสมาชิกแต่ละระดับ ค่าใช้จ่าย และข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆเพื่อให้คนที่จะเข้าร่วมงานได้พิจารณาก่อนตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม Income Disclosure Statement เองก็ยังคงมีปัญหา โดยจากการศึกษาของ FTC พบว่า Income Disclosure Statement ของ MLM หลายแห่ง ไม่ได้แสดงข้อมูลที่ครบถ้วนและชัดเจน เช่นไม่รวมผู้เข้าร่วมที่ไม่มีรายได้ หลายๆ เอกสารจะแสดงข้อมูลรายได้โดยไม่รวมผู้เข้าร่วมที่ทำรายได้น้อยหรือไม่ได้เลย ทำให้ภาพรวมของรายได้ดูสูงกว่าความเป็นจริง

ซึ่งจากการศึกษาเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของ FTC ที่จะพัฒนาระบบการตรวจสอบเพื่อให้การ กำกับดูแล และ บังคับใช้กฎหมาย เป็นไปอย่างเข้มงวด เพื่อให้ MLM แสดงข้อมูลใน Income Disclosure Statement อย่างครบถ้วน ชัดเจน และเป็นธรรมต่อไป

นอกจากมาตรการเหล่านี้แล้ว FTC ยังมีอำนาจในการดำเนินคดีกับ MLM ที่ละเมิดกฎหมาย หรือมีพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค รวมไปถึงมีบทบาทในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับ MLM ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคระบุและหลีกเลี่ยงแชร์ลูกโซ่ได้

มาตรการเหล่านี้มีขึ้ ทั้งก่อนและหลัง กรณี Herbalife โดย FTC มีบทบาทในการควบคุม MLM มาอย่างต่อเนื่อง และกรณี Herbalife เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายของ FTC เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นของ Herbalife ในหสรัฐอเมริกานั้นทำให้เราได้เรียนรู้ว่าธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะรูปแบบของ MLM มีความเสี่ยงบางอย่างอยู่เพราะบางธุรกิจอาจทำธุรกิจที่กลายเป็นแชร์ลูกโซ่ได้หากธุรกิจนั้นๆเน้นการรับสมัครสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูล ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจ MLM จึงควรต้องทำอย่างรอบคอบ ศึกษาแผนการตลาด ระบบการจ่ายผลตอบแทน และอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง ในขณะที่ภาครัฐเองก็สามารถเรียนรู้จากมาตรการต่างๆของ FTC ได้เพื่อนำมาปรับใช้และป้องกันไม่ให้ธุรกิจที่เข้าขายแชร์ลูกโซ่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคซ้ำได้อีกในอนาคต


  •  
  •  
  •  
  •  
  •