ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อพุ่ง ค่าครองชีพสูง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศระหว่างรัสเซียกับยูเครน จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Products : GDP) จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ทั่วโลกใช้เป็นตัวชี้วัดศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เห็นว่า แต่ละประเทศนั้นมีทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจดีหรือแย่อย่างไร
ส่อง GDP 5 ประเทศ ไทย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม ปี 2565
GDP ประเทศไทย
ภายหลังจากที่ประเทศต้องเจอปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 พบ GDP ขยายตัว 2.2% ส่วนแนวโน้มทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 2.5 – 3.5%โดยปรับลดลงจากเดิมที่ประเมินว่าจะขยายตัว 3.5 – 4.5% เพราะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ขยายตัวลดลง รวมทั้งปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยประเมินเครื่องชี้ต่าง ๆ ของ GDP ดังนี้
• มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.3%
• การอุปโภคบริโภคขยายตัว 3.9%
• การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.5%
• การลงทุนภาครัฐขยายตัว 3.4%
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วง 4.2 – 5.2%
• ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุล 1.5%
GDP ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ไตรมาส 1/2565 GDP ขยายตัวอยู่ที่ 4.8% แต่ยังออกมาต่ำกว่าเป้าหมาย GDP ตลอดปี 2565 ที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ระดับ 5% ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบของการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ยอดค้าปลีกเดือนมีนาคม 2565 ของจีนปรับตัวลง 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลงเพียง 1.6%
โดยข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ระบุว่า ในปี 2565 จีนได้กำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ GDP ขยายตัว 5.5% จากปัจจัย ดังนี้
- จากการสร้างงานใหม่มากกว่า 11 ล้านคน และอัตราการว่างงานจากการสำรวจไม่เกิน 5%
- จากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI เพิ่มขึ้น 3%
- จากรายได้ประเทศเติบโตในระดับเดียวกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน
- จากการค้าระหว่างประเทศมีเสถียรภาพและสามารถยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออก
- จากการสร้างความสมดุลของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศในภาพรวม
- จากปริมาณผลผลิตข้าวสารและธัญพืชเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่า 5 แสนล้านกิโลกรัม และ
- จากปริมาณการปล่อยมลพิษลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายและแนวทางของจีนเป็นปัจจัยผลักดันมาสู่ไทยที่จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าที่ส่งออกไปจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ข้าวสาร และธัญพืชให้มีคุณภาพและตอบโจทย์อุปสงค์ของผู้บริโภคชาวจีน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของจีนประจำปี 2565 โดยเฉพาะการรักษาความมั่นคงด้านอาหาร ผลผลิตข้าวสารและธัญพืช ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในปีนี้
นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง โดยปัจจุบัน จีนกำลังผลักดันการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ 5G และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดังนั้น เศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นจุดเน้นของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งไทยจึงควรรักษาพลวัตและเพิ่มพูนความร่วมมือให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจีน ซึ่งจะเอื้อต่อการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับจีนและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา
GDP ประเทศญี่ปุ่น
การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มตัวเลข GDP หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ที่แท้จริงในปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 3.2% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.2% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังคาดการณ์ว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนของระบบเศรษฐกิจโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งจะขยายตัว 4% ในปีงบประมาณ 2565
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่า ยอดส่งออกในปีงบประมาณ 2565 จะเพิ่มขึ้น 5.5% หลังจากที่มีการขยายตัว 11.4% ในปีงบประมาณ 2564 ส่วนการใช้จ่ายด้านทุน ซึ่งเป็นมาตรวัดการลงทุนของภาคเอกชนนั้น คาดว่าจะขยายตัว 5.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2%
GDP ประเทศอินเดีย
ในช่วงไตรมาส 1/65 ทางการอินเดียรายงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 4.1% ซึ่งเศรษฐกิจอินเดียได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางอินเดียหาทางสกัดเงินเฟ้อโดยไม่กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับปีงบประมาณใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดียให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ตลอดทั้งปี GDP จะขยับเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
โดยก่อนหน้านี้เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศรายงานว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวภายในปีนี้ หลังประสบภาวะหดตัวเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 S&P คาดการณ์ว่า อินเดียจะสามารถขยายตัวได้ 10% จากเศรษฐกิจอินเดียซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ ทั้งนี้เศรษฐกิจอินเดียจะกลับมาฟื้นตัวในปีงบประมาณ 2565 จากการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่เริ่มทรงตัว รวมถึงการใช้จ่ายที่ฟื้นตัวขึ้นของภาครัฐล้วนเป็นปัจจัยที่หนุนเศรษฐกิจ
GDP ประเทศเวียดนาม
สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.03% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยขยายตัวจาก
-
- ภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมงที่เพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ส่วนอุตสาหกรรมและการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 38% และ
- การบริการเพิ่มขึ้น 58%
ขณะเดียวกันธนาคารโลกได้คาดการณ์ช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.5% หากในปีนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถควบคุมได้
วิธีการคำนวณตัวเลข GDP
สำหรับการคำนวณ GDP หรือ Gross Domestic Product คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เป็นการคำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า GDP เป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ เช่น ถ้าตัวเลข GDP ของไทยสูงขึ้น แปลได้ว่ามีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ภาครัฐมีการลงทุนโครงการต่าง ๆ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวมาใช้เงินในประเทศมากขึ้น เป็นต้น โดยการคำนวณ GDP จะนับเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากเป็น GDP ประเทศไทย ก็จะนับเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในไทย โดยไม่เกี่ยวว่ามาจากคนสัญชาติไหน
สูตรการคำนวณตัวเลข GDP ประกอบไปด้วย
GDP = C + I + G + (X – M)
C = Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชน เป็นการจับจ่ายใช้สอยทั่วไป เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ช้อปปิ้งสินค้า สาธาณูปโภค เป็นต้น
I = Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน
G = Government Spending คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล หรือการลงทุนภาครัฐ
X = Export คือ การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
M = Import คือ การนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP จะเป็นตัวเลขที่สะท้อนมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่ได้ถูกนับใน GDP อาทิ การซื้อสินค้ามือสอง เพราะไม่ได้เป็นการเพิ่มผลผลิตปัจจุบันและจะเป็นการนับมูลค่าซ้ำซ้อน, กลุ่มสินค้าผิดกฎหมายและสินค้าเลี่ยงภาษี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น หุ้น กองทุน ตราสารหนี้ ก็จะไม่ถูกนับรวมเป็น GDP เช่นกัน
อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการที่ GDP จะบวกหรือลบได้นั้น มาจากความสัมพันธ์ของ 4 ส่วนประกอบ ได้แก่ การบริโภค การลงทุนเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล และการส่งออกสุทธิ ซึ่งสะท้อนถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจทุกส่วนในประเทศ ดังนั้น ถ้า GDP เป็นบวก ก็แปลว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น คนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย ในทางตรงกันข้ามถ้า GDP ติดลบ ก็แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีถดถอยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จีดีพีถือเป็นตัวเลขที่สำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศได้ แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบโดยรวมหลายปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเพื่อเป็นตัวชี้วัดอีกระดับหนึ่ง เราที่เป็นผู้บริโภคถายในประเทศก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง หากปีนี้จีพีดีปรับลดลงไปมากบวกกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย นั่นบ่งบอกว่าได้ว่า เศรษฐกิจอาจย่ำแย่ได้