อย่างที่รู้กันดีว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่อยู่บนระบบบล็อกเชน ดังนั้น การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลจึงจะต้องใช้กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกกันว่า “wallet” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกระเป๋าที่เก็บสตางค์ของเรานั่นเอง โดยจะมีความแตกต่างจากการเงินในรูปแบบเดิมที่เราคุ้นเคยสามารถจับต้องได้
โดย Wallet สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ให้ข้อมูลว่า มีลักษณะของการใช้งานและข้อควรระวังที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งตามการให้บริการได้ 2 รูปแบบคือ custodial wallet เป็นการให้บริการกระเป๋าเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้งานหรือลูกค้าด้วย โดยผู้ให้บริการ custodial wallet จะเป็นผู้เก็บรักษา private key ให้แก่ลูกค้า เช่น wallet ที่ออกโดย exchange หรือผู้ให้บริการ custodial wallet อื่น ๆ การใช้งาน wallet ในรูปแบบนี้ จึงมีความสะดวกในการทำธุรกรรม และไม่ต้องกังวลว่าจะทำ private key สูญหาย
อย่างไรก็ดี ความปลอดภัยของสินทรัพย์ดิจิทัลใน custodial wallet จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ ดังนั้น หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย จึงมีแนวทางที่จะกำกับดูแล ผู้ให้บริการในลักษณะของ custodial wallet เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ใช้งานในเรื่องมาตรฐานและความ ปลอดภัย ตลอดจนการป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
และแบบ non-custodial wallet เป็นกระเป๋าเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผู้ให้บริการเป็นเพียงผู้พัฒนาโปรแกรมหรือ แอปพลิเคชัน โดยไม่ได้ทำหน้าที่เก็บรักษา private key ให้แก่ผู้ใช้งาน การใช้งาน wallet ลักษณะนี้ มีข้อดีคือ ผู้ใช้งานจะเป็นผู้เก็บรักษา private key ของผู้ให้บริการ แต่อาจต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น โดยหากทำ private key รวมถึง recovery seed / phrase ซึ่งเป็นกลุ่มคำสำหรับการกู้คืน wallet ที่สูญหาย หรือการรักษาความ ปลอดภัยของอุปกรณ์ไม่ดีพอ ก็อาจทำให้สูญเสียสินทรัพย์ดิจิทัลที่เก็บไว้ใน wallet นั้นได้
Non-custodial wallet มี 3 รูปแบบ ได้แก่
• แบบ hardware wallet มีลักษณะเป็นอุปกรณ์ หรือ device โดย private key จะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ใน ลักษณะ offline ทำให้มีความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางไซเบอร์สูง
• แบบ paper wallet โดยผู้ใช้งานจะสร้าง wallet จากเว็บไซต์ แล้วจดหรือพิมพ์ private key เก็บไว้บน กระดาษ ทำให้มีความปลอดภัยจากการโจรกรรมทางไซเบอร์สูง แต่ก็มีความเสี่ยงที่หมึกจะจางหรือกระดาษ สูญหายได้ รวมทั้งการใช้งานอาจไม่สะดวก เนื่องจากต้องนำรหัสมาใส่ลงในระบบเพื่อใช้งาน
• แบบ desktop หรือ mobile wallet เป็นการการติดตั้งโปรแกรม wallet ไว้ที่คอมพิวเตอร์หรือ โทรศัพท์มือถือ โดยเก็บ private key ที่เข้ารหัสแล้วบนอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้ private key ได้สะดวก ในขณะที่ความปลอดภัยจะขึ้นอยู่กับระดับการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์นั้น ๆ
การกำกับผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ
ในต่างประเทศมีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการในลักษณะ custodial wallet เช่น สหภาพยุโรป มี 5th Anti-Money Laundering Directive หรือ AMLD5 ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการ custodial wallet มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น ต้องทำ due diligence และ รายงานพฤติกรรมที่น่าสงสัยของลูกค้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับ Financial Action Task Force หรือ FATF ที่กำหนดมาตรฐานให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการกำกับดูแลผู้ให้บริการ custodial wallet เพื่อป้องกันการนำ สินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการกระทำความผิด การฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ในไทยผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับใบอนุญาต
สำหรับผู้ที่จะให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้การเก็บรักษาทรัพย์สินเป็นไปอย่างมีมาตรฐานที่ดีและมีความปลอดภัย ป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการกระทำความผิด ซึ่ง ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อนการให้บริการ โดยต้องมีคุณสมบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
และผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตและมีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าต้องมีระบบการจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล และการบริหารจัดการกุญแจเข้ารหัส เพื่อการจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล และให้ผู้ใช้บริการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อประโยชน์ในการระบุตัวตนเจ้าของบัญชี
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 17/2564 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบหลักการในการกำกับดูแลเรื่องการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าสำหรับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หากจะต้องเลือกใช้กระเป๋าเงินเงินดิจิทัล หรือ Crypto Wallet อาจจะต้องทำการศึกษาให้ดีอย่างรอบครอบเพื่อความปลอดภัย และไม่เสี่ยงนั่นเอง