พฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างมากตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาด คนไทยเองก็เช่นเดียวกัน โดยผลสำรวจล่าสุดจาก ข้อมูลผู้บริโภคแบบรอบทิศ 360 องศา (Nielsen CMV) ที่สอบถามกลุ่มตัวอย่างกว่า 9,000 คนพบว่า ผู้บริโภคยังใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นสำหรับการซื้อของ แม้ว่า COVID-19 จะเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่สินค้าที่นักช้อปซื้อทางออนไลน์ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ซึ่งในการสำรวจนี้ทาง Nielsen CMV ได้สรุป Top 5 ประเภทสินค้าที่นักช้อปออนไลน์คนไทยซื้อมากที่สุด ได้แก่
-
สินค้าแฟชั่น ซึ่งจะรวมทั้งเสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องประดับ ซึ่งโตจากปี 2019 มากถึง 206%
-
สินค้าสะดวกซื้อ หรือ สินค้าอุผโภคบริโภค
-
สินค้าประเภทเครื่องสำอาง
-
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
-
สินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งโตมาจากปี 2019 มากที่สุดถึง 798%
นอกจากนี้ บริการต่างๆ โดยเฉพาะบริการจากร้านอาหาร และแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาด โดยบริการด้านนี้โตจากปี 2020 มากถึง 647% ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะว่าคนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเหมือนเดิม, Work From Home ซึ่งแนวโน้มที่บริการเหล่านี้ยังโตขึ้นเรื่อยๆ ยังมีอยู่สูง
‘ตลาดโฆษณาดิจิทัล’ ต้องจับตาเพราะคนไทยเริ่มเชื่อมั่น
จริงอยู่ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์อยู่กับคนไทยมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่คนไทยจะเชื่อมั่นใจโฆษณาทางออนไลน์ แต่ผลสำรวจล่าสุดที่เปิดเผยถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะว่ามีสัญญาณที่ดีจากนักช้อปออนไลน์ที่ให้ความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับ online ads
โดย 41% คนไทยจะพิจารณาที่จะซื้อสินค้าที่เห็นจากโฆษณา และ 38% คนไทยจะตัดสินใจซื้อสินค้าทันทีหลังจากที่เห็นโฆษณาทางออนไลน์ สะท้อนให้เห็นว่าการที่แบรนด์โฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลในปัจจุบันถือว่าเป็นช่องทางที่คนไทยยอมรับ
ขณะเดียวกัน เทรนด์ที่ธุรกิจหรือแบรนด์จัดสรรงบประมาณสำหรับการโฆษณาทางออนไลน์โดยเฉพาะก็เติบโตมากขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจาก Nielsen Ad Intel ระบุว่างบโฆษณาในสื่อดิจิทัลโตประมาณ 11% เทียบกับปี 2020 ส่วนในหลายอุตสาหกรรมก็มีการอัดเงินในช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าสะดวกซื้อ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม Nielsen CMV ได้พูดถึงความท้าทายต่อแบรนด์เกี่ยวกับโฆษณาดิจิทัลว่า สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือจะทำอย่างไรให้โฆษณาตรงกับกลุ่มเป้าหมายและถูกใจผู้บริโภค อีกทั้งในยุคปัจจุบันมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น เรื่องความเป็นส่วนตัว หรือการที่แบรนด์นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการวัดและระบุทาร์เก็ต รวมถึงการวัดผลโฆษณาดิจิทัล (Digital Ad Rating)
ถึงแม้ว่าจะช่วยให้แบรนด์เห็นภาพ target group ของโฆษณามากขึ้น แต่บางทีแบรนด์ต้องใส่ใจว่าการลงทุนเหล่านั้นจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ และเทคโนโลยีต่างๆ จะช่วยให้เข้าใจความต้องการของชาวเน็ตมากขึ้นจริงหรือไม่
ข้อมูลโดย Nielsen CMV