ในช่วงที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวฮือฮาเกี่ยวกับ Virtual Artist ซึ่งอ้างว่าสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ตามมาเป็นวงกว้างว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเพียงเทคโนโลยี Deepfake เท่านั้น คำถามก็คือเทคโนโลยี AI และ Deepfake นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร? มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมคนถึงเข้าใจผิดคิดว่าทั้งสองเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งเดียวกัน
AI คืออะไร?
AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือความหมายในภาษาไทยคือ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นวิทยาการคอมพิวเตอร์ขั้นสูงที่ถูกพูดถึงในวงการมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่ง Steven Spielberg ก็ยังเคยนำแนวคิดมีสร้างภาพยนต์ที่มีชื่อว่า Artificial Intelligence: AI ออกฉายเมื่อปี 2001 ด้วยเช่นกัน
หลักการพื้นฐานของ AI ก็คือเทคโลยีที่ถูกออกแบบมาให้มีระบบการทำงานของสมองมนุษย์ที่สามารถ เก็บข้อมูล เรียนรู้จากข้อมูลและประมวลผลเป็น Output ออกมาให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้มากที่สุด และสามารถนำข้อมูลที่มีและข้อมูลใหม่ๆมาประยุกต์ใช้และประมวลผลใหม่ในอนาคตได้ด้วยตัวเองด้วย
ตัวอย่างเทคโนโลยี AI
ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยี AI ก้าวหน้าไปมากขึ้นเรื่อยๆและอยู่รอบตัวเราโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวยกตัวอย่างเช่นผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Siri ของ Apple ระบบ Google Now ของ Google, Alexa ของ Amazon ที่สามารถทำ่งานแทนมนุษย์ ทำตารางนัดหมาย ค้นหาข้อมูลและสั่งการแอพพลิเคชั่นต่างๆได้
หรือจะเป็นเทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์อย่างระบบ Self-Driving ในรถยนต์ Tesla ก็ถือว่าเป็น AI เช่นเดียวกันเนื่องจากมีการประมูลผลและเรียนรู้ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา อีกตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ AlphaGo โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถเล่นโกะ ได้จนชนะแชมป์โลกที่เป็นมนุษย์ได้สำเร็จเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน AI มีความสามารถล้ำหน้าไปมากอย่างที่เป็นที่ฮือฮาเมื่อไม่นานที่ผ่านมาก็คือ AI ที่สามารถวาดรูปได้ตามคำสั่งอย่าง Midjourney รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นวาดภาพเหมือนที่นำข้อมูลจากงานศิลปะผนวกรวมเข้ากับภาพถ่ายประมูลผลออกมาเป็นงานศิลปะอย่าง Lensa ที่กำลังได้รับความนิยมนั่นเอง
คลิกอ่าน กระแสมาแรง! เปลี่ยนรูปภาพเซลฟี่ให้กลายเป็นภาพวาดสุดเจ๋ง ผ่านการวาดจาก AI
Deepfake คืออะไร?
Deepfake คือ synthetic media หรือ “สื่อสังเคราะห์” เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้บุคคลในรูปภาพหรือวิดีโอถูกแทนที่ด้วยอีกบุคคลหนึ่งได้อย่างแนบเนียนทั้งรูปร่างหน้าตามรวมไปถึงเสียงพูดด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ คลิปวิดีโอของสถานีโทรทัศน์ Chanel4 ของอังกฤษที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ทำคลิปสมเด็จพระราชินาถเอลิซาเบธตัวปลอมกล่าวอวยพรในวันคริสต์มาสเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงแต่พูดอย่างเดียวแต่ยังเต้นอีกด้วย
การตัดต่อใบหน้าของคนหนึ่งไปใส่กับอีกคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ Deepfake สามารถทำได้อย่างแนบเนียนจนแทบจะจับผิดไม่ได้เลย โดยเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Deepfake ก็คือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเรียนรู้และประมวลผลภาพและเสียงจำนวนมาก มาแสดงผลบนคลิปวิดีโอ ซึ่งนั่นก็หมายว่า Deepfake มี AI ช่วยประมวลผลและมี output ออกมาเป็นคลิปที่ถูกปลอมใบหน้าแล้วนั่นเอง
คลิป deepfake หากจะทำให้แนบเนียนมากที่สุดจำเป็นต้องมีการประมวลผลภาพและเสียงจำนวนมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ส่วนใหญ่คนดังจะถูกทำ Deepfake มากกว่าคนทั่วไป นั่นเป็นเพราะว่ามีภาพและเสียงอยู่ในสื่อสาธารณะให้ประมวลผลมากกว่าคนทั่วไป และหากภาพและเสียงที่มีให้ประมวลผลมีไม่มากพอก็จะทำให้คลิปนั้นทำได้ไม่แนบเนียนนั่นเอง
Virtual Artist ที่สร้างขึ้นจาก Deepfake คือ AI หรือไม่?
เมื่อทำความเข้าใจ AI และ Deepfake แล้วก็คงจะเห็นถึงความแตกต่างของทั้งสองเทคโนโลยีนี้แล้ว ดังนั้น Virtual Artist ที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี Deepfake คงจะไม่อาจกล่าวได้ว่า Virtual Artist คนนั้นคือเทคโนโลยี AI แต่เป็นเพียงผลผลิตหรือ output ของ Deepfake ที่ทำงานบนพื้นฐานของเทคโนโลยี AI เท่านั้น
นั่นหมายความว่าหากจะมี Virtual Airtist ซักคนที่จะเป็น AI ได้นั้น Virtual Airtist คนนั้นจะต้องมีเทคโนโลยีเบื้องหลังในการเก็บข้อมูล เรียนรู้ข้อมูล ประมวลผล ออกมาเป็น output เช่นสามารถเรียนรู้การร้องเพลง เรียนรู้การเต้น ทำการแสดงได้แบบมนุษย์ รวมไปถึงสามารถตอบโต้กับแฟนๆได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ระบบ Deepfake เปลี่ยนใบหน้าของมนุษย์ที่กำลังเต้นหรือกำลังร้องเพลงอยู่เท่านั้นนั่นเอง